มุ่งมั่นและทำจริง สไตล์หญิงเหล็กแห่งไทยคม
สัมภาษณ์พิเศษ "ศุภจี สุธรรมพันธุ์" แม่ทัพหญิงแห่งไทยคมผู้นำบริษัทเกี่ยวกับดาวเทียมของไทยออกไปยืนอยู่ในระดับหัวแถวของอาเซียน
เรื่อง...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ / ภาพ...ประกฤษณ์ จันทะวงษ์
กว่า 22 ปี ในบริษัทข้ามชาติยักษ์สีฟ้า ไอบีเอ็ม ที่ต้องยืนอยู่ระดับหัวแถว และกว่า 4 ปี ที่นำบริษัทเกี่ยวกับดาวเทียมของไทยออกไปยืนอยู่ในระดับหัวแถวของอาเซียนไปสู่ระดับโลก “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” หญิงเหล็กวงการไฮเทค มีการตกผลึกภาวะผู้นำ จนสามารถส่งผ่านแพสชั่น (Passion) ให้ทีมงานมีแรงขับไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม เล่าให้ฟังถึงหลักการเป็นผู้นำว่า แนวคิดหลักของผู้นำ คือ เวลาทำอะไรต้องทำอย่างเต็มที่ เวลาเข้าไปทำงานที่ไหน เช่นเมื่อครั้งที่อยู่ที่ไอบีเอ็ม 22-23 ปี ในช่วงนั้นทุก 1-2 ปี จะโดนย้ายไปแต่ละแผนก
“ในมุมของการทำงาน พี่จะทำทุกอย่างตามความสามารถที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม จนกลายเป็นแพตเทิร์นไม่ว่าบริษัทจะย้ายให้ไปทำในหน้าที่อื่น ส่วนใหญ่จะย้ายไปทำงานในแผนกที่มีปัญหา มีเรื่องที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่ก็ต้องทำอย่างเต็มความสามารถ โดยใช้กลยุทธ์เรื่องของการเข้าไปให้ถึงปัญหา (Sweet Spot) และหาทีมงานที่มีความแข็งแกร่ง” ศุภจี กล่าว
ตอนตัดสินใจเข้ามาทำงานที่ไทยคมนั้น อย่างที่ทราบกันดีว่ามีผลประกอบการติดลบต่อเนื่องกว่า 6 ปี ทั้งยังมีในเรื่องของภาพลักษณ์และคดีค้างในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ แน่นอนว่าบริษัทที่ติดปัญหาแบบนี้นานๆ จะกระทบในเรื่องของความเชื่อมั่นของพนักงาน
“สิ่งแรกที่ดิฉันลงมือทำ คือ สื่อสารกับพนักงานชุดเดิมก่อนเป็นอันดับแรก โดยแจ้งกับทางบอร์ดบริหารว่า จะไม่แก้ปัญหาด้วยการเอาพนักงานออก เพราะคนกลุ่มนี้จะเป็นทีมที่มีศักยภาพ เพราะองค์กรของเราทำงานมาด้านเดียว ดังนั้นคนที่มีความสามารถแบบนี้จะหาไม่ได้ง่ายๆ และเริ่มค้นหาบุคคลที่มีศักยภาพในการเป็นคนต้นแบบให้กับพนักงานโดยรวม”ศุภจี กล่าว
การแยกกันทำงานไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ดี ในเมื่อองค์กรเป็นธุรกิจที่ควรทำแบบคอนเวอร์เจนซ์ ก็ต้องรู้จักทำงานร่วมกันได้ เพราะฉะนั้นจึงเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรให้เป็นฟังก์ชั่นเบส (Function Base) ไม่ใช่โปรดักต์ เบส (Product Base) ซึ่งทุกทีมจะต้องทำงานร่วมกันได้ จากนั้นคุยเรื่องแผนงานในอนาคต (Growth Plan) เพื่อให้องค์กรดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน
“ตั้งแต่ดิฉันเข้ามาทำงานที่นี่ ดิฉันมาตัวคนเดียว ไม่ได้เอาทีมงานส่วนตัวหรือใครเข้ามา ถ้าจะรับสมัครก็ต้องคัดเลือกจากความสามารถของคนใหม่ที่มาจากคนในตลาด ไม่ใช่จากคนของตัวเอง เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงในองค์กรนี้ สิ่งเดียวที่เปลี่ยนคือ ซีอีโอ”
จากนั้นเข้าไปดูในเรื่องของรายได้ ซึ่งตอนที่เข้ามาทำงานนั้น คือเดือน ส.ค. ที่กำลังจะปิดไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) ดังนั้นมีเวลาทำงานอีกแค่ 2 เดือน ตรงนี้ถือว่าเป็น Sweet Spot ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ให้เป็นบวกได้ ก็จะเรียกความเชื่อมั่นจากพนักงานให้หันกลับมาเชื่อมั่นในตัวซีอีโอคนใหม่และเดินต่อไปด้วยกันได้
“ปัญหาที่เราเห็นนั้น ผู้บริหารคนก่อนหน้านี้อาจไม่เห็น เพราะแต่ละคนมีพื้นฐานการทำงานมาไม่เหมือนกัน เดิมทีซีอีโอของไทยคมจะเป็นทีมวิศวกรทั้งหมด ทำให้มองคนละมุม ในการที่ดิฉันทำด้านบัญชี ต้องยอมรับว่าวิธีแก้ปัญหาของแต่ละองค์กรอาจจะไม่ใช่แบบเดียวกันทั้งหมด เราต้องดูความเหมาะสมของตลาดมากกว่า” ศุภจี ระบุ
อันดับต่อมาจึงเข้าไปดูธุรกิจในเครือด้วย ว่าจะสามารถทำงานแบบเดียวกันหรือเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันอย่างรวดเร็วได้หรือไม่ ซึ่งหลังจากที่บริหารจัดการในระยะเวลาที่มีเพียง 2 เดือน ก็สามารถทำกำไรได้ที่ 16 ล้านบาท ถือว่าเป็นกำไรขั้นแรก
ประสบการณ์และการทำงานของศุภจีนั้น ต้องเรียกได้ว่าเรียนรู้และทำอย่างต่อเนื่องโดยไม่ท้อ โดยดึงเอาความสามารถที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
“เรียกได้ว่า ประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการย้ายงานบ่อยและลงไปทำงานในที่ที่ไม่เหมือนเดิม ช่วยเพิ่มศักยภาพให้มีความรู้ที่ไม่เหมือนกัน และสามารถมองเห็นภาพที่เหมือนเป็นจิ๊กซอว์ขนาดใหญ่ เพราะได้ลงมือทำทั้งต้น กลาง ปลายน้ำ ข้อดีของดิฉันคือ มีความสามารถในเรื่องบัญชีมาก่อน เมื่อได้ขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น ก็จะทราบไวขึ้นว่าจะแก้ปัญหาไปอย่างไร”ศุภจี กล่าว
นอกจากนี้ ยังมองว่างานทุกงานไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กต่างก็มีคุณค่าทั้งนั้น อยู่ที่ว่าคนเรารู้จักให้ความสำคัญกับงานประเภทนั้นๆ อย่างไร และกลายเป็นความรู้อีกประเภทหนึ่ง
“เราเป็นคนที่สู้ไม่หยุด และจะไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ซึ่งทุกเรื่องต้องมีที่มาที่ไปเสมอ ปัญหาทุกอย่างต้องมีทางแก้ไข อยู่ที่ว่าเราจะใช้วิธีไหน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับวิธีเดิมๆ ถ้าเราวิ่งชนปัญหาที่เปรียบเหมือนกำแพง 3 ครั้งแล้ว ยังไม่เจอทางออก นั่นแสดงว่าเราต้องหาทางอื่นวิ่ง อาจจะไปถึงจุดหมายช้าหน่อย หรือมีงานให้ทำมากหน่อย แต่ก็ไปถึงเป้าได้เหมือนกัน ต้องเชื่อมั่นด้วยว่า ไม่เคยมีปัญหาใดที่แก้ไม่ได้ อยู่ที่ว่าจะเลือกหาทางใดเท่านั้น อีกทั้งนิสัยพื้นฐานของพี่เป็นคนที่มีความมุ่งมั่นสูง (Passion) และมีความสุขกับสิ่งที่ได้ลงมือทำ”ศุภจี กล่าว
ศุภจี กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า การหาความรู้เพิ่มเติมเป็นสิ่งที่จะเพิ่มทักษะและเพิ่มความสามารถของเราได้ไม่มีหมด ซึ่งนอกจากไปเรียนในหลักสูตรต่างๆ แล้ว ยังหาความรู้ใหม่ๆ ใส่ตัวด้วย ไม่ว่าจะเป็นคุยกับคนที่มีความสามารถ หาข้อมูลความรู้ในมุมใหม่ๆ รวมไปถึงการเป็นโค้ชถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนรุ่นใหม่ โดยมองว่าการถ่ายทอดประสบการณ์และให้คำปรึกษาแก่คนรุ่นใหม่ จะเป็นการปลูกฝังความรู้ความสามารถที่ดีแก่คนในอนาคต
ไม่ท้อต่อแรงกดดัน
การรับหน้าที่ใหม่หรือทำงานในองค์กรที่มีแนวความคิดแตกต่างกัน ถือว่าเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้สู้งานอย่างถึงที่สุด แม้จะเรียนจบมาในสายการเงิน แต่การผันตัวมารับหน้าที่ในสายงานเทคโนโลยี ก็เรียกได้ว่าศุภจีทำได้ดีไม่แพ้กัน
ศุภจียังได้บอกเล่าถึงเหตุการณ์การทำงานในอดีต ที่กลายมาเป็นประสบการณ์ทำงานที่สำคัญ และช่วยผลักดันด้านความสามารถให้มองเกมและแนวทางในการทำธุรกิจใหม่ๆ
“สมัยที่ร่วมงานกับไอบีเอ็ม ไม่ว่าจะสำนักงานใหญ่หรืออาเซียน มักจะถูกให้ไปทำงานในจุดที่ไม่มีความถนัดและคุ้นเคย อย่างที่บอกว่าเรียนจบมาด้านการเงินบัญชี บางครั้งแต่ก็ต้องไปนำทีมฝ่ายขาย การตลาด และธุรกิจร่วมกับคู่ค้า ข้อดีคือ เป็นแรงผลักดันให้เราพยายามเรียนรู้ขวนขวายกับบทบาทใหม่ที่จะได้รับเมื่อ ทำงานได้สักพักหนึ่ง ก็จะเริ่มรู้แนวทางและจับประเด็นได้ว่าต้องทำอย่างไรต่อไป”
สิ่งที่สำคัญในการเข้าไปจัดการอันดับแรก คือ เรื่องของคน เพราะทุกองค์กรหรือหน่วยงานจะขับเคลื่อนด้วยคนทั้งสิ้น จึงต้องค้นหาคนที่จะมาเป็นต้นแบบในการทำงานของเราได้ และต้องพิจารณาว่ามีทักษะหรือความรู้เพียงพอหรือไม่ จากนั้นค่อยดูในเรื่องของรูปแบบทางธุรกิจของแต่ละภาคส่วนว่าเหมาะสมในการทำงานให้บรรลุเป้าประสงค์หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งแรกๆ ที่จะเข้าไปดู
ด้วยความที่มีพื้นฐานเรื่องบัญชีและการเงิน สิ่งแรกที่เข้าไปดูแลก็คือ เรื่องของผลประกอบการ เรื่องประสิทธิภาพ ในการทำงานของแต่ละแผนก และดูระบบแผนงานย้อนหลังด้วย เพราะในทุกอุตสาหกรรมจะมีเทรนด์ไม่เหมือนกัน
“เป็นคนที่ชอบดูในเรื่องของเทรนดิ้ง เพราะในแต่ละธุรกิจเนี่ย มีรูปแบบการทำงานที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราต้องศึกษา เทรนด์ของมันกำลังจะตกหรือกำลังขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนงานที่จะทำต่อไปในอนาคตอย่างถูกทางมากขึ้น ซึ่งควรดูย้อนหลังอย่างน้อย 5 ปี เพื่อเอามาพิจารณาว่าปัญหาเกิดขึ้นที่จุดใด และแก้ไข Sweet Spot อย่างไร ซึ่งไม่ควรเกิน 3 เดือน หรือ 90 วันแรก เมื่อได้แกนปัญหาหลักแล้ว ต้องลงมือทันที” ศุภจี กล่าว
กรณีตัวอย่างหนึ่งคือ ตอนนั้นทำงานที่ไอบีเอ็ม เป็นผู้จัดการด้านการเงิน (Financial Service Management) และกำลังอยู่ในช่วงการปรับฐานองค์กรให้เหมาะสม หรือ Golden handshake ถือว่ากำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ซึ่งตอนนั้นมีการให้พนักงานออกเยอะมาก ในไทยเองมีการลดพนักงานออก ทำให้เหลือทีมงานไม่มากนักและหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละคนก็มากขึ้น
“ตอนนี้ต้องไปทำงานด้านพีซี (PC) ซึ่งตัวเองไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับด้านคอมพิวเตอร์มากนัก และเข้าไปในช่วงใกล้ปิดปี ผลประกอบการก็ไม่ดีนัก จึงค้นข้อมูลและพบปัญหาเกี่ยวกับคู่ค้าที่ยังขาดความหลากหลาย จึงเรียกเจรจากับคู่ค้าและให้เหตุผลว่า ถ้าไม่แก้ไขอย่างเร่งด่วนจะเจอปัญหาอย่างไร เราใช้วิธีการให้คู่ค้าสั่งซื้อสินค้าจากกลุ่มคู่ค้าด้วยกัน และบริษัทจะให้ราคาพิเศษ เพื่อไม่ให้ตัดราคากันเอง ซึ่งทางคู่ค้าให้ความร่วมมือดีมาก จนระยะเวลาเพียง 3-4 เดือน เราก็สามารถครองอันดับหนึ่งมาได้ในปีนั้น”
นอกจากนี้ ศุภจียังกล่าวถึงมุมมองในอนาคตว่า ตอนทำงานได้ขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของไอบีเอ็ม ซึ่งได้ทำถึงจุดที่รู้สึกว่าสูงที่สุดแล้ว แต่ก็ย้อนกลับไปมองว่า ถ้ายังอยู่ไอบีเอ็มจนถึงที่สุดแล้วอย่างไรต่อ ถึงแม้ว่าทุกอย่างแวดล้อมทั้งการทำงาน สังคม และครอบครัวเป็นสิ่งที่ดีมากแล้วก็ตาม
“ตอนนั้นรู้สึกว่ามันจะดีกว่านี้ไหม ถ้าเรากลับมาที่ประเทศไทย แล้วเราเอาบริษัทไทยออกไปนอกประเทศ และสร้างชื่อให้บริษัทไทย โดยเป็นมุมที่คนต่างชาติยังไม่รู้จักว่าเรามีความสามารถและประสบการณ์ด้านนี้อยู่ ซึ่งก็คือกลุ่มเทคโนโลยี จึงตัดสินใจเลือกกลับมาทำงานที่บริษัท ไทยคม และได้พัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างเป็นรูปธรรมจนขึ้นมาอยู่ในจุดที่เรียกว่าเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียได้แล้ว”ศุภจี กล่าวทิ้งท้าย
ยึดหลักธรรมบริหารงาน
หลักแนวคิดในการทำงานให้สำเร็จลุล่วงสไตล์ ศุภจี ศุธรรมพันธ์ นั้น ไม่ได้เป็นหลักการที่ยากเย็นหรือแตกต่างไปจากคนอื่นเลย นั่นคือการนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเข้ามาใช้
1. สติ - หากมีสติในการคิดพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ว่าปัญหาจะใหญ่หรือเล็กแค่ไหนก็สามารถก้าวข้ามปัญหานั้นไปได้
2. สมดุล - มองปัญหาให้เป็นรูปธรรม เมื่อปัญหาเกิดขึ้นต้องรู้จักสิ่งใดควรเร่ง สิ่งใดควรผ่อน เรื่องใดควรมองให้ลึก เรื่องใดควรมองให้ตื้น ปัญหาใดควรเร่งให้สั้น ปัญหาใดควรผ่อนให้ยาว พร้อมกันนี้ก็ต้องรู้จักที่จะรักและดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอด้วย
3. ไม่ประมาท - การทำงานควรมีแผนสำรองเสมอ เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น และหาทิศทางสำรองในการเดินไปข้างหน้าอย่างไม่ประมาท
นอกจากนี้ การพัฒนาความคิดควรจะมีเป้าหมายที่เหมือนกันสำหรับองค์กร นั่นคือ ผู้บริหารระดับสูงต้องมีความเชื่อมั่นในบุคลากรของตนเอง โดยมี 4 ด้าน ดังนี้
E - Excellenge Technology : มีกิจกรรมหรือเครื่องมือสำหรับพัฒนาความสามารถของคนในองค์กร
P - Passion to Challenge : สร้างแรงบันดาลใจให้คนในทีม
I - Innovation : เปิดโอกาสให้พนักงานรู้จักนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้งาน เพื่อผลักดันให้นำความสามารถที่มีมาใช้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
C - Commitment to Contribute : แก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างมีศักยภาพ