"ประชาธิปไตยแก้คอร์รัปชั่นได้ที่ดีที่สุด"ผาสุก พงษ์ไพจิตร
มุมมองของ "ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร" ต่อปัญหาคอร์รัปชั่นที่ฝังรากหยั่งลึกในสังคมไทย
โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด
"คอร์รัปชั่น" เป็นหนึ่งในคำที่คุ้นหูที่สุดในชีวิตของคนไทย
ถึงขนาดที่ใครหลายคนพูดติดตลก(ร้าย)ว่า "ถ้าไม่คอร์รัปชั่น ก็ไม่ใช่คนไทย"
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราภิชาน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "จะต่อสู้กับคอร์รัปชั่นอย่างไรดี?" ภายในงานสัมมนา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 5 ณ ห้องประชุมคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นิยามคำว่า "คอร์รัปชั่น"
ศ.ดร. ผาสุก ได้นิยามความหมายของคำว่า"คอร์รัปชั่น" ไว้ว่า คอร์รัปชั่นคือการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่หรืออำนาจที่ได้รับมอบหมายมาเป็นเครื่องมือกระทำการทุจริต ซึ่งพฤติกรรมนั้นอาจจะผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย แต่ขัดกับหลักจริยธรรมหรือขัดกับการคาดหวังที่สาธารณะชนมีต่อบทบาทของบุคคลสาธารณะ และบุคคลสาธารณะในที่นี้ก็คือ นักการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งคณะรัฐมนตรี ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรสาธารณะต่างๆ
“รูปแบบของคอร์รัปชั่น มีทั้งที่ จับต้องได้ไม่ถนัด เช่น การเล่นพรรคเล่นพวก การทับซ้อนของผลประโยชน์ และที่ จับต้องได้ที่เป็นตัวเงินของสินบนและเงินพิเศษ การสามารถหาประโยชน์ส่วนตัวจากการใช้ตำแหน่งหรืออำนาจในทางกฎหมาย ปรับแปลงกฎเกณฑ์นโยบายหรือผ่านกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ส่วนตน หรือประโยชน์ของบุคคลากรภาครัฐเป็นการเฉพาะแต่เป็นไปในแนวทางที่ขัดกับประโยชน์สาธารณะ ซึ่งส่วนหลังเป็นรูปแบบหนึ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า state capture หรือ Regulatory capture ซึ่งในเมืองไทยมักเรียกว่า “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ผลของการคอร์รัปชั่นต่อสังคมโดยรวม ได้สร้างความเสียหายหลายอย่างอันเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ทำให้มีการใช้ทรัพยากรสาธารณะอย่างไร้ประสิทธิภาพ ประชาชนขาดความเชื่อถือในระบอบประชาธิปไตย และกร่อนเซาะหลักการนิติธรรม”
"ค่าน้ำร้อนน้ำชา"สินบนแบบไทยๆ
ดร.ผาสุก กล่าวว่า คอร์รัปชั่นที่จับต้องเป็นตัวเงินได้ หรือที่เรียกว่า สินบนหรือเงินพิเศษ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ “คอร์รัปชั่นภาคครัวเรือน” และ “คอร์รัปชั่นภาคธุรกิจ”
สำหรับภาคครัวเรือน มีตัวชี้วัดระดับการเปลี่ยนแปลงที่จัดทำโดยคณะวิจัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2542 และ 2557 โดยสำรวจหัวหน้าภาคครัวเรือน ซึ่งใช้แบบสอบถามและวิธีวิทยาแบบเดียวกัน คำถามสำคัญมีอยู่ว่า เมื่อไปติดต่อหน่วยราชการ ถูกเรียกสินบนเงินพิเศษหรือไม่และเป็นเงินเท่าไหร่? ผลการสำรวจพบว่า ประชากรที่ถูกเรียกสินบนลดลงจาก ปี 2542 โดย 10 % ตอบว่าถูกเรียกสินบนลดเหลือ 4.8 % ในปี 2557 และวงเงินในราคาจริงที่ถูกเรียกก็ลดลงมากถึง 90 % สำหรับหน่วยงานที่ถูกเรียกสินบนเป็นมูลค่าสูงสุดทั้งสองปีนั้นคือ กรมที่ดิน ขณะที่อีก 3 อันดับถัดมาในปี 2542 คือตำรวจ กรมสรรพากร และกรมการขนส่งทางบก ขณะที่ปี 2557 สามอันดับถัดมาคือ ตำรวจ โรงเรียนรัฐบาล และกรมการขนส่งทางบก
ผาสุก อธิบายว่า การคอร์รัปชั่นภาคครัวเรือนลดลงเกิดจากการปฎิรูประบบราชการอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านวิธีการให้บริการ การตรวจสอบจากภายนอก การส่งเสริมจริยธรรม ที่สำคัญมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการให้บริการภาครัฐ ทำให้การเรียกรับสินบนเป็นไปได้ยากขึ้น เช่น ระบบอีดีไอที่กรมศุลกากร และการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านอินเตอร์เน็ตที่กรมสรรพากร อย่างไรก็ตามการปฎิรูปหน่วยงานให้บริการในภาคราชการนี้มีผลกับข้าราชการระดับล่างและกลางเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถเข้าถึงข้าราชการระดับสูง ทั้งทหาร พลเรือน ตุลาการและนักการเมืองได้ โดยเฉพาะระดับอธิบดีขึ้นไป
สำหรับคอร์รัปชั่นภาคธุรกิจในระดับวงเงินสูงนั้น สามารถจะดูได้จากดัชนีความโปร่งใส หรือ Corruption Perception Index (CPI) ขององค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ
“CPI เป็นดัชนีชี้วัดของคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ เมืองไทยตั้งแต่ปี 2541-2556 มีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก จะดีขึ้นก็เล็กน้อย และเห็นได้ชัดว่าไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ไทยเรายังมีอันดับลดลงจากที่เคยอยู่ในอับดับ 61 มาเป็น 102 สาเหตุที่แย่ลงก็เพราะประเทศอื่นๆเขาดีขึ้น ในสายตานักธุรกิจไทย ประเทศเราก็มีการคอร์รับชั่นมโหฬาร ซึ่งจากการศึกษาในปี 2541 มีการสอบถามนักธุรกิจจำนวน 430 รายที่สังกัดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยเกี่ยวการจ่ายเงิน"ค่าน้ำร้อนน้ำชา"ให้หน่วยงานราชการ พบว่า 63 % จ่ายเงินค่าน้ำร้อนน้ำชา หรือส่วย นอกเหนือจากค่าคอมมิชชั่นประมูลโครงการ 36% ตอบว่าไม่ได้จ่าย ขณะที่หน่วยงานที่นักธุรกิจระบุว่าจ่ายเงินตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไปต่อครั้งได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงานและสวัสดิการ กระทรวงสาธารณะสุข กระทรวงศึกษาธิการ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทบวงมหาวิทยาลัย ตามลำดับ"
วงเงินยิ่งสูงโอกาสรอดยิ่งเยอะ
ดร.ผาสุกบอกว่า คอร์รัปชั่นวงเงินสูงมักหลุดรอดจากการถูกลงโทษเสมอ ไม่เคยมีกรณีถูกลงโทษให้ได้เห็นกันจะๆ โดยยกตัวอย่าง 3 กรณีดังสุดอื้อฉาว เพื่อให้เห็นความซับซ้อนของคอร์รัปชั่นวงเงินสูง ได้แก่ 1.กรณีรัฐบาลถูกโกงเงินภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 4,300 ล้านบาท ให้บริษัทปลอม 63 บริษัท โดยมีผู้บริหารกระทรวงการคลังเกี่ยวข้อง 2.กรณีโจรช่วยจับคอร์รัปชั่น จากการที่อดีตข้าราชการระดับปลัดกระทรวงมีเงินที่ไม่สามารถระบุที่มาได้เกินกว่า 1,000 ล้าน และ 3.กรณีการทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX 9000 ซึ่งมีหลักฐานไม่ชอบมาพากล แต่ในท้ายที่สุดไม่มีใครผิด
“กรณีอื้อฉาวทั้ง 3 มีข้อสังเกตบางประการคือ เป็นคอร์รัปชั่นวงเงินสูง มีการใช้ตำแหน่งในการมิชอบของข้าราชการระดับสูงซึ่งอาจทำได้ด้วยตนเองหรืออาจจะร่วมมือกับนักธุรกิจหรือนักการเมืองเป็นพันธมิตร สองเส้าหรือสามเส้า เป็นคอร์รัปชั่นที่สมยอมกันระหว่างผู้ให้และผู้รับ ยากจะตรวจสอบ และส่งผลเสียต่อสังคมวงกว้างเพราะว่าใช้ทรัพยากรสาธารณะมาก”
ดร.ผาสุกวิเคราะห์ต่อไปว่า แม้ข้าราชการมีการศึกษาสูง มีความสามารถ ทำให้ก้าวหน้าในการงาน แต่ต้องปรับตัวรับกับขบวนการคอร์รัปชั่น โดยผ่านการอุ้มชูของผู้ใหญ่ทั้งในกระทรวงเองและจากบุคคลสาธารณะในระดับรัฐมนตรีที่ร่วมขบวนการ เนื่องจากอยู่ในหน่วยงานราชการที่มีช่องทางคอร์รัปชั่นสูง แต่ขาดกลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ
“การยอมรับให้กับวัฒนธรรมไม่สุจริต หรือวัฒนธรรมคอร์รัปชั่นได้กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในหน่วยงานเกรดเอของสังคมไทย นับว่าเป็นปัญหาใหญ่มาก ขณะเดียวกันกระบวนการเอาผิดหรือการหาผู้รับผิดชอบกับผู้ไม่โปร่งใสยังเป็นเรื่องยากมาก แม้จะมีเบาะแสความไม่ชอบมาพากลมาจากต่างประเทศก็ยังไม่สามารถที่จะเอาผิดกับใครได้”
ทั้งนี้ การที่เรื่องอื้อฉาวถูกเปิดโปงโดยคนภายนอก และเป็นไปโดยความบังเอิญ สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอขององค์กรตรวจสอบภายในราชการและองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น เช่น ปปช. ขณะเดียวกันทำให้เราได้แสดงอานุภาพของภาคประชาชนในการให้เบาะแส และบทบาทของสื่อมวลขนในการเปิดโปงคดี ทำให้สาธารณะชนได้รับทราบจนนำไปสู่การเอาผิดกับผู้ทุจริตได้ ซึ่งนับเป็นบทบาทสำคัญของภาคประชาสังคม
ทำไมถึงปราบได้ยาก?
สาเหตุที่ให้การปราบปรามคอร์รัปชั่นเป็นไปได้ยาก นักเศรษฐศาสตร์รายนี้วิเคราะห์ผ่าน 4 มุมมอง ประกอบด้วยมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ นักศีลธรรมจริยธรรม เศรษฐศาสตร์การเมือง และสังคมระยะเปลี่ยนผ่าน
มุมมองเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก คอร์รัปชั่นมีต้นทุน หากถูกจับได้ก็เข้าคุก ฉะนั้นต้องมีการคำนวณว่าคุ้มค่าหรือไม่ และ ตราบใดที่ผลประโยชน์สูงแต่ทุนต่ำ ผลได้สุทธิก็จะเป็นแรงจูงใจให้คอร์รัปชั่นต่อไป ซึ่งแนวโน้มเช่นนี้จะสูงในสังคมที่มีสถาบันอ่อนแอ และมีความเหลื่อมล้ำสูง
“สำหรับเมืองไทย การเมืองที่ผูกขาดอำนาจ ทำให้ข้าราชการมีอำนาจด้านดุลพินิจสูง เปิดโอกาสจากการทุจริตได้ง่ายแต่ต้นทุนต่ำเพราะระบบกฎหมาย ระบบพวกพ้อง ระบบปราบปรามคอร์รัปชั่นอ่อน บทบาทปปช.ในการลงโทษผู้กระทำผิดไร้ประสิทธิภาพ ทางออกจึงเน้นไปที่ทำให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นเข้มแข็ง สร้างระบบที่ดีให้มีหลักนิติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ จะช่วยลดพฤติกรรมคอร์รัปชั่นได้ “
มุมมองของนักศีลธรรมจรรยาธรรม แนวคิดนี้มุ่งไปที่ปัจเจกของแต่ละบุคคล ผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์ผลได้ที่เป็นตัวเงินจากการคอร์รัปชั่นและพร้อมจะทำการทุจริต เมื่อประโยชน์มากกว่าต้นทุนเสมอนั้นเป็นเพราะว่ามีการให้คุณค่ากับผลได้ที่ได้รับเป็นตัวเงินมากกว่าคุณค่าของการไม่ทุจริต
“การให้คุณค่ากับการไม่ทุจริตสูง จึงทำให้ช่วยลดคอร์รัปชั่นได้ ทางออกคือต้องทำคนให้เป็นคนดีด้วยการส่งเสริมหลักการคุณธรรม ในหมู่ข้าราชการและนักการเมือง แต่ยอมรับว่าการทำคนให้เป็นคนดีเป็นเรื่องที่ยากมาก”
มุมมองเศรษฐศาตร์การเมือง ปัญหาคอร์รัปชั่นเกี่ยวโยงกับกระบวนการสะสมทุนและระบอบการปกครองว่า ระบอบนั้นเป็นระบอบที่เปิดกว้างให้กับสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนในการร่วมรณรงค์ต่อสู้กับคอร์รัปชั่นมากน้อยเพียงไร ขณะเดียวกัน กระบวนการต่อสู้คอร์รัปชั่นโดยภาคประชาชนต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะการศึกษาในหลายประเทศพบว่า ผู้ทุจริตจะปรับตัวอยู่เสมอๆ จนกฎหมายตามไม่ทัน
“เมื่อคณะรัฐบุคคลได้จัดตั้งรัฐบาลจะพยายามเพิ่มรายได้จากสินบนและค่าเช่าทางเศรษฐกิจพร้อมๆกับลดต้นทุน โดยพยายามควบคุมกระบวนการยุติธรรม สื่อมวลชนและฝ่ายค้าน ต้นทุนคอร์รัปชั่นจะต่ำเมื่ออยู่ในยุคเผด็จการ แต่เมื่อระบบการเมืองเปิดมากขึ้น อย่างประชาธิปไตยครึ่งใบและเต็มใบ ความพยายามควบคุมจะปะทะกับบทบาทการตรวจสอบของสื่อมวลชน นักวิชาการ และประชาชนผู้ตื่นตัว ในการผลักดันให้รัฐบาลทำหน้าที่โปร่งใสและรับผิดชอบมากขึ้น สำหรับประเทศไทย น่าเสียดายที่ความพยายามสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้ยั่งยืนและลงรากลึกจนไปไกลกว่าเรื่องการเลือกตั้ง ถึงการลงหลักปลักฐานของหลักการนิติธรรม ระบบพรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และประชาชนที่มีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่มักถูกรัฐประหารแซงแทรกอยู่เสมอ”
มุมมองสังคมระยะเปลี่ยนผ่าน สังคมระยะเปลี่ยนผ่านมีระเบียบหรือคุณค่าทางการเมืองทางสังคมสองชุดที่ซ้อนทับย้อนแย้งแต่อยู่ร่วมกัน หมายความว่า บางคนคิดว่าคอร์รัปชั่นไม่ผิดเพราะสินบนช่วยซื้อความสะดวกหรือขจัดอุปสรรคที่ปิดกั้นและผู้กระทำได้ผลประโยชน์ของตัวเอง กลับกันกลุ่มอื่นเห็นว่าผิดเพราะมองเห็นผลเสียในระดับสังคมและชี้ว่าอุปสรรคนั้นต้องแก้ไขในระดับสังคมไม่ใช่ระดับปัจเจก
“สังคมระยะเปลี่ยนผ่านมีความสับสนว่าอะไรในคอร์รัปชั่นที่สร้างความเสียหายให้กับสังคมได้ ตัวอย่างเช่น ยังมีคนทีสับสนว่าอะไรคือเส้นแบ่งระหว่างสินน้ำใจกับสินบน ความสับสนนี่เองเป็นมูลเหตุประการหนึ่งทำให้เกิดคอร์รัปชั่น”
ผาสุก ทิ้งท้ายว่า สำหรับประเทศที่เริ่มก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตย คอร์รัปชั่นมักเพิ่มสูงขึ้นในระยะแรก เพราะการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้กับคนกลุ่มใหม่ๆได้เข้าถึงอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ถูกปิดกั้นอยู่ แต่เมื่อเผชิญขีดจำกัดจากการถูกเลือกปฎิบัติหรือปิดกั้นโดยกลุ่มอำนาจหรือกฎเกณฑ์เก่าที่ล้าสมัย ทำให้มีการใช้เงินติดสินบนเพื่อก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดดังกล่าว ครั้นเมื่อเวลาผ่านไปถึงจุดหนึ่งระดับคอร์รัปชั่นจะคงที่และเริ่มลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อสถาบันกฎหมาย นิติธรรมและระบบคุณค่าตามผลงานเข้าทดแทนระบบพวกพ้อง ระบบอุปถัมถ์ ประกอบกับมีแรงผลักดันจากภาคประชาสังคมให้ปฎิรูประบบสถาบันต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งในกระบวนการที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลาและระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
รัฐประหารไม่อาจแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้
ผาสุกชี้ว่า การต่อต้านคอร์รัปชั่น ต้องประกอบด้วยมาตรการใน 3 ระดับด้วยกัน
1.ระดับปฎิบัติเฉพาะจุดในหน่วยราชการที่เป็นปัญหามาก เมื่อมีหลักฐานว่ากระทำผิด ต้องมีการลงโทษทันทีและเป็นโทษที่หนักตามสมควร มิฉะนั้นก็จะขยายไปเป็นเรื่องใหญ่ ขณะที่ในระดับสถาบัน ต้องการมาตรการตรวจสอบภายในที่ได้ผล หน่วยงานที่มีการคอร์รัปชั่นมาเนิ่นนานอาจจะต้องสะสางด้วยการนิรโทษกรรมแล้วกำหนดว่าหลังจากนั้นอาจจะต้องใช้ยาแรง รวมถึงมีสถาบันตรวจสอบจากภายนอก มีระบบตุลาการ ระบบการกำกับที่เชื่อถือได้ ซึ่งหากศาลปัจจุบันใช้ไม่ได้ อาจจะต้องคิดถึงการมีศาลพิเศษที่ใช้กับกรณีคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะ หรือการออกกฎหมายตรวจสอบข้าราชที่ร่ำรวยผิดปกติทุกระดับ
2.ระดับประชาสังคม ประชาชน สื่อมวลชน ต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการเปิดโปงคอร์รัปชั่นและผลักดันการปฎิรูป ซึ่งองค์กรต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชั่นที่ภาคธุรกิจกำลังทำอยู่ในปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ
3.ระดับภาพรวมใหญ่ที่เกี่ยวกับระบอบการเมือง ต้องมีระบบกรเมืองที่เอื้อต่อการสู้คอร์รัปชั่น เรื่องนี้สำคัญที่สุดเพราะเป็นโครงสร้างใหญ่ที่เป็นปัจจัยกำหนดความสำเร็จที่ยั้งยืนในระยะยาว ประสบการณ์ของประเทศที่สามารถลดระดับคอร์รัปชั่นลงมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ชี้ว่า การปกครองในกรอบของประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมเท่านั้นที่จะเอื้อต่อการต่อต้านคอร์รัปชั่น เพราะหลักการเสรีภาพความเสมอภาพและสิทธิมนุษยชน จะเปิดโอกาสให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้มีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างมีประสิทธิภาพ
“ต้องทำให้ทุกคนเป็นคนดี แต่ตั้งคำถามว่า มีใครผู้กำหนดว่าใครดี ใครไม่ดี ดีนี้ดีเพื่อใคร แล้วใครจะเป็นผู้ตรวจสอบกำกับคนดีไม่ให้เขว ในเมื่ออำนาจผูกขาดจะคอร์รัปชั่นได้อย่างสุดๆ หากระบบคนดีไม่มีระบบตรวจสอบ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ก็ไม่มีความหมายใดๆ ซึ่งวิธีคิดแบบคนดีนั้นแคบเกินไป ไม่โยงกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคม จึงต้องมุ่งเน้นไปที่สถาบันตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพ มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง โดยให้ภาคประชาชน สื่อ และองค์กรตรวจสอบคอร์รัปชัน มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่
รัฐประหารไม่อาจแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้เพราะว่า หลายครั้งที่คณะรัฐประหารอ้างว่าทำเพื่อแก้คอร์รัปชั่น แต่เอาเข้าจริงก็แก้ไม่ได้สักครั้งเดียว บางครั้งอาจจะเห็นความพยายามแต่มันเป็นมาตราการระยะสั้น ที่สำคัญรัฐบาลแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารมักปรับแปลงสถาบันต่างๆ ให้หวนกลับสู่ระบบปิด สู่ค่านิยมอุปถัมถ์ที่เอื้อต่อการทุจริต แบบต่างๆ โดยเฉพาะ state capture หรือ Regulatory capture สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นยากขึ้นไปอีก"
ศ.ดร.ผาสุกสรุปว่า มาตรการแก้ไขคอร์รัปชั่นในเมืองไทย จะได้ผลก็ต่อเมื่อประชาชนและสื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในแนวทางที่ดีขึ้นของเรื่องคอร์รัปชั่นชัดเจนว่าเกิดขึ้นในสมัยของประชาธิปไตยมากกว่าสมัยรัฐบาลรัฐประหารอย่างแน่นอน.