posttoday

กต.ตร.การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานตำรวจ

13 กรกฎาคม 2553

คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานจะเป็นเครื่องมือในการชี้วัดความสำเร็จหรือการปรับปรุงองค์กรตำรวจเพื่อประชาชนในอนาคตต่อไป

คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานจะเป็นเครื่องมือในการชี้วัดความสำเร็จหรือการปรับปรุงองค์กรตำรวจเพื่อประชาชนในอนาคตต่อไป

โดย...พล.ต.ท.เอก อังสนานนท์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) [email protected]

พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 16 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) โดยให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายการบริหารราชการตำรวจ และกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ปฏิบัติตามนโยบาย ระเบียบแบบแผน มติคณะรัฐมนตรี และกฎหมาย

กต.ตร.การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานตำรวจ

คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 คน ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ เรวัติ ฉ่ำเฉลิม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการงบประมาณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพดล อินนา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาองค์กร พล.ต.อ.ธวัชชัย ภัยลี้ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการวางแผนหรือการบริหารและจัดการ

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 18(6) ได้กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) จัดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) กรุงเทพมหานคร จังหวัด และสถานีตำรวจ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจในเขตพื้นที่ต่างๆ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จของการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานของตำรวจในภารกิจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) จะขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) ทุกระดับนั่นเอง

ตามระเบียบ ก.ต.ช.ว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ พ.ศ. 2549 กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็น กต.ตร. ดังนี้

กต.ตร.กทม. มีประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการ 2 ส่วน ส่วนแรก ประชาชนผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ รวม 7 ด้าน ด้านละ 1 คน รวม 7 คน ส่วนที่ 2 ประชาชนที่เคยเป็น กต.ตร.สถานีตำรวจ และมีประสบการณ์ด้านธรรมาภิบาล ด้านความมั่นคง ด้านการจราจรและอุบัติภัย ด้านการพัฒนา ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านการมีส่วนรวมของประชาชนและชุมชน ด้านละ 1 คน และประชาชนที่มีประสบการณ์ด้านใดด้านหนึ่ง จำนวน 3 คน เป็นกรรมการ รวม 10 คน

กต.ตร.จังหวัด มีประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการ 2 ส่วน ส่วนแรก ประชาชนในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ รวม 7 ด้าน ด้านละ 1 คน รวม 7 คน ส่วนที่ 2 ประชาชนที่เคยเป็น กต.ตร.สถานีตำรวจ จำนวน 3 คน รวม 10 คน

กต.ตร.สถานีตำรวจนครบาล (กต.ตร.สน.) มีประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการ 2 ส่วน ส่วนแรก ประชาชนในชุมชนที่ตำรวจในสถานีตำรวจแต่ละแห่งเป็นผู้เลือก จำนวน 3-6 คน ส่วนที่สอง ประชาชนที่ กต.ตร.สถานีตำรวจนครบาลโดยตำแหน่งเป็นผู้คัดเลือก จำนวนไม่เกิน 3 คน รวม 9 คน

กต.ตร.สถานีตำรวจภูธร (กต.ตร.สภ.) มีประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการ 3 ส่วน ส่วนแรก ประชาชนที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนัน ได้แก่ นายกเทศมนตรี นายก อบต. และกำนันกลุ่มละ 1 คน ส่วนที่ 2 ประชาชนในชุมชน/หมู่บ้านที่ตำรวจในสถานีตำรวจภูธรแต่ละแห่งเป็นผู้เลือก 3-6 คน ส่วนที่ 3 ประชาชนในชุมชน/หมู่บ้านที่ กต.ตร.สถานีตำรวจภูธรโดยตำแหน่งเป็นผู้คัดเลือก จำนวนไม่เกิน 3 คน รวม 10 คน

คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) กำหนดให้ กต.ตร.กทม. จังหวัด และสถานีตำรวจ มีภารกิจสำคัญๆ จำแนกได้ 3 ส่วน ดังนี้

ส่วนแรก เป็นภารกิจในการตรวจสอบติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของตำรวจข้าราชการตำรวจในเขตพื้นที่ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หรือหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาล/สถานีตำรวจภูธร ในการดำเนินการตามคำร้องเรียนที่มีผู้ส่งถึง กต.ตร.กทม. จังหวัด หรือสถานีตำรวจ แล้วแต่กรณี

ส่วนที่ 2 เป็นภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมให้ท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ และเสริมสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่าง กต.ตร.กับข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนในพื้นที่ตามนัยระเบียบ ก.ต.ช.ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการส่งเสริมให้ท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ

ส่วนที่ 3 เป็นภารกิจสนับสนุนการทำงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรจังหวัด สถานีตำรวจนครบาลและสถานีตำรวจภูธร ให้บรรลุผล ได้แก่ การให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิบัติงาน การให้ข้อมูลข่าวสาร ปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนในพื้นที่เพื่อหาทางแก้ไข ส่งเสริมการพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของตำรวจ และสนับสนุนการประชาสัมพันธ์

คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ต.ช. ได้เล็งเห็นว่าคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) ทุกระดับ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการควบคุมตรวจสอบและติดตามการบริหารงานของตำรวจ และมีความต้องการที่จะเห็นภาพความร่วมมือของพี่น้องประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการกำหนดนโยบายการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหาอาชญากรรม นโยบายการบังคับใช้กฎหมาย นโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด และการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในชุมชน ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนหรือชุมชนในพื้นที่ นอกเหนือจากบทบาทในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของหน่วยงานตำรวจ และการสนับสนุนด้านงบประมาณ และทรัพยากรในการบริหารงานตำรวจ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ต.ช. จึงได้มีคำสั่งคณะอนุกรรมการนโยบายตำรวจด้านการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ ที่ 1/2553 ลงวันที่ 9 เม.ย. 2553 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ด้านการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ โดยแต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพดล อินนา กรรมการ|ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาองค์กรในคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการงบประมาณในคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ เป็นรองประธาน และคณะอนุกรรมการอีกจำนวนหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่ประสานและติดตามการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) ทุกระดับ ในการดำเนินการตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ

ในช่วงเดือน ก.ค. 2553 นี้ คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) ได้แก่ กต.ตร.กทม. จังหวัด และสถานีตำรวจ ได้ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ 2 ปี และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) ชุดใหม่ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1.5 หมื่นคน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) ภาคประชาชน กต.ตร.กทม. และปริมณฑล (สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี) จำนวนทั้งสิ้น 1,500 คน ในวันเสาร์ที่ 17 ก.ค. 2553 เวลา 08.00–12.00 น. ณ สโมสรตำรวจ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ต.ช. จะได้เดินทางมาเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ กต.ตร.ภาคประชาชน เพื่อเป็นการปฐมนิเทศให้คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) ภาคประชาชนทุกคน ได้รับทราบบทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) อันส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันสมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในการประชุมครั้งนี้จะมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยกรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 11 เพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) ภาคประชาชนจังหวัดต่างๆทั่วประเทศได้รับชมการประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน

ในอนาคตคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงาน (กต.ตร.) กรุงเทพมหานคร จังหวัด และสถานีตำรวจ ควรจะต้องมีบทบาทในการกำหนดนโยบายของสถานีตำรวจในพื้นที่ของตน ติดตามการดำเนินการตามนโยบายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีบทบาทในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของประชาชนในชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นๆ ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกิจการตำรวจอย่างแท้จริง โดยคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงาน (กต.ตร.) จะเป็นเครื่องมือในการชี้วัดความสำเร็จหรือการปรับปรุงองค์กรตำรวจเพื่อประชาชนในอนาคตต่อไป

ประการสำคัญที่สุด เมื่อประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานตำรวจในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมอันถือเป็นปัญหาของสังคมในชุมชนนั้นโดยเฉพาะแล้ว ประชาชนก็จะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Sense of Belonging) ชุมชนพร้อมจะทุ่มเททรัพยากรเพื่อช่วยเหลืองานตำรวจ อันจะก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวมอย่างแท้จริงในที่สุด