posttoday

"อุทยานราชภักดิ์ไร้โกง" พ.อ.วินธัย สุวารี

06 ธันวาคม 2558

"การที่ใช้ความรู้สึกจากคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อุดมเดช แล้วเอาไปตีความโดยไปใช้คำว่าทุจริต คงไม่ได้ อยากให้ย้อนกลับไปฟังให้ดีว่าท่านไม่ได้พูดว่าทุจริต"

โดย....ธนพล บางยี่ขัน/ เลอลักษณ์ จันทร์เทพ

คำว่า “ทุจริต-ไม่โปร่งใส” กลายเป็นเงาสะท้อนของ “โครงการอุทยานราชภักดิ์” ไปเสียแล้ว และยังคงเป็นเรื่องที่คอยกัดกร่อนความศรัทธา “กองทัพบก-รัฐบาล-คสช.” อยู่ในขณะนี้ “เพราะโครงการอุทยานราชภักดิ์เป็นโครงการที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนคนไทยได้มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจและสร้างไว้ให้เป็นสมบัติของชาติ โดยไม่คิดหวังเอาผลประโยชน์กับสิ่งเหล่านี้ การดำเนินมาด้วยความตั้งใจและโปร่งใสทำให้เรียบร้อยที่สุดเท่าที่ทำได้” เป็นคำยืนยันจาก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช. กลาโหม อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และในฐานะประธานมูลนิธิอุทยานราชภักดิ์

ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้วหลายคณะ อาทิ คณะกรรมการสอบสวนของกองทัพบก ซึ่งผู้นำองค์กร คือ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. และได้ออกมาแถลงยืนยันด้วยตัวเองทันที ที่มีการตรวจสอบเสร็จสิ้นภายในกรอบ 7 วัน ว่า โครงการอุทยานราชภักดิ์ โปร่งใส ไม่มีทุจริต แต่กระนั้นเองการตรวจสอบดังกล่าวกลับไม่ถูกได้รับการยอมรับจากสังคม จึงทำให้เกิดการตั้งคณะกรรมการ อื่นๆ เข้ามาตรวจสอบเพิ่มอีก ทั้งกรรมการสอบสวนของกระทรวงกลาโหม โดยมี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัดกระทรวงกลาโหม และกรรมการนอกกองทัพ อาทิ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นต้น

ผลการตรวจสอบของหน่วยงานอื่นๆ ยังไม่มีผลสรุปที่ออกมาชัดเจน แต่ที่มีความชัดเจน คือ คำยืนยันจาก พ.อ.วินธัย สุวารี หรือ ผู้พันต๊อด โฆษกกองทัพบก และโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เปิดใจยืนยันหนักแน่นถึงความสุจริตของโครงการอุทยานราชภักดิ์กับทีมข่าวโพสต์ทูเดย์

“กองทัพบกได้ทำการตรวจสอบแล้วและยืนยันว่าโครงการนี้ไม่มีทุจริตในวันนี้ และกองทัพบกพยายามทำทุกอย่างให้อยู่ในขอบเขตของกรอบกติกาของราชการ ใครจะเข้ามาตรวจสอบสามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอน เราไม่ได้ปิดกั้น สามารถมาประสานข้อมูลได้” พ.อ.วินธัย กล่าว

โฆษกกองทัพบกยังสำทับข้อมูลอย่างรายละเอียด ว่า ทันทีที่เกิดข้อพะวงสงสัยขึ้นกับโครงการอุทยานราชภักดิ์ ผบ.ทบ.ได้ใช้วิธีในการให้เวลาการตั้งคณะกรรมการของกองทัพบกขึ้นมาตรวจสอบ 1 สัปดาห์ ซึ่งผลการตรวจสอบนั้น ผบ.ทบ.ได้ชี้แจงด้วยตนเองไปแล้วว่า “ไม่พบทุจริต” ซึ่งไม่มีหลักฐานใดปรากฏว่าเป็นเรื่องของการทุจริตเลย แต่จากนั้นสังคมกลับมีคำถามเกิดขึ้นอีกว่า ใครเป็นผู้ตรวจ และควรตรวจหรือไม่ควรตรวจสอบ

“ในความเป็นจริงแล้วเมื่อมีหน่วยงานสงสัยแล้วทำหนังสือเสนอมาเรากองทัพบก ก็ตอบคำถามไปตามปกติ เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เมื่อผู้นำองค์กร (ผบ.ทบ.) รับผิดชอบ ชี้แจงแล้วเท่ากับว่าเป็นการให้ข้อมูลแล้ว แต่ในขณะที่สื่อมวลชนหรือคนบางกลุ่มมีลักษณะที่ให้ข้อมูลที่ไม่เป็นทางการเพียงพอ ซึ่งจริงๆ กลไกตามระบบราชการมีอยู่แล้ว เราต้องปล่อยให้กลไกนั้นเดินไป ไม่ใช่เกิดจากการเรียกร้อง หรือโดยใช้ปัจจัยพิเศษ” โฆษกกองทัพบก กล่าว

พ.อ.วินธัย ชี้แจงต่อไปว่า การที่ใช้ความรู้สึกจากคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อุดมเดช แล้วเอาไปตีความโดยไปใช้คำว่าทุจริต คงไม่ได้ อยากให้ย้อนกลับไปฟังให้ดีว่าท่านไม่ได้พูดว่าทุจริต ซึ่ง พ.อ.วินธัย ได้นำเอกสารที่รวบรวมการลงคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อุดมเดช มาเป็นหลักฐาน และชี้แจงว่า จะเห็นว่าในประโยคที่ท่านให้สัมภาษณ์คือ “มีความไม่เรียบร้อยอยู่บ้าง” แต่เมื่อคนฟังตรงนี้แล้วก็เอาไปสร้างจินตนาการกันเอง บวกกับคำถามที่นักข่าวถามว่า “เรื่องหักค่าหัวคิว” นั่นคือสิ่งที่นักข่าวถามและท่าน พล.อ.อุดมเดช ก็ตอบในแนวทางเดียวว่า “มีส่วนหนึ่ง” โดยไม่ได้พูดว่าใช่หรือไม่

โดยจากที่ได้ศึกษาข้อมูลพบว่าคำว่า “ส่วนหนึ่ง” คือในส่วนของกระบวนการรับจ้างไปแล้ว ไม่ใช่กระบวนการว่าจ้างมันไม่เกี่ยวกัน และเข้าใจว่าคำตอบนั้นไม่ใช่คำที่เป็นทางการ ที่สำคัญกระบวนการรับจ้างของผู้ประกอบนั้นไม่ได้อยู่ในอำนาจของท่าน พล.อ.อุดมเดช ในฐานะอดีต ผบ.ทบ. เพราะกระบวนการของผู้รับจ้างจะไปมีกระบวนการอะไรเกิดขึ้นต่อก็ไม่มีใครที่จะทราบได้ ไม่รู้ว่าเขาจะไปทำอะไรอย่างไร เราไม่สามารถที่จะไปรู้ได้ว่าหุ้นส่วนการทำธุรกิจเขาทำกันอย่างไร จะไปช่วยเหลืองานกันอย่างไร

อย่างไรก็ตาม แม้เกิดกระแสกดดันตรวจสอบ พล.อ.อุดมเดช เพราะเห็นว่า พล.อ.อุดมเดช อาจจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า เพราะตัวท่านอยู่ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ในสังคมมากกว่า อยากให้เข้าใจว่าท่านไม่ได้อยู่ในมุมที่ท่านต้องดำเนินการอะไร เพราะฉะนั้นด้วยบทบาททางราชการก็จะไม่สามารถที่จะไปพูดถึงเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในกรอบความรับผิดชอบตัวเองได้ เราต้องเข้าใจว่าท่าน รมช.กลาโหม ต้องตอบในฐานะที่ท่านเป็นข้าราชการการเมืองในขณะนี้ ต้องตอบในกรอบที่ตัวเองรับผิดชอบ อยากจะขอให้ทุกส่วนใจเย็นๆ รอให้ข้อมูลออกมาทั้งในส่วนของรายละเอียดข้อมูลราคากลางต่างๆ

“ผมต้องถามว่าประเด็นเรื่องการหักหัวคิวมีที่มาจากกระแสข่าวใช่หรือไม่ วันนี้จะมาใช้คำว่ากระแสไม่ได้ ต้องมีหลักฐานที่มายืนยัน จะไปตีความเอาเองไม่ได้ว่าไม่โปร่งใส เพราะต้องไปตีความกับทางฝ่ายของผู้รับจ้างว่าทั่วไปทางธุรกิจเขาทำกันอย่างไร เช่น การขายที่ดิน ที่มีกระบวนการเรียกค่านายหน้า แล้วจะเรียกว่าการทำธุรกิจนั้นไม่โปร่งใสหรือไม่ ตรงนี้ผมไม่รู้คงต้องไปถามนักกฎหมาย หรือผู้รู้อีกที แต่จะนำเอาเรื่องคำว่าไม่โปร่งใส มาพาดพิงกองทัพให้เกิดความเสื่อมเสีย มันก็ไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ หากระบุว่าเซียนพระคนนั้นไม่มีความโปร่งใส ก็ต้องไปเถียงกันเองว่า ไม่โปร่งใสอย่างไร มีข้อเท็จจริงอย่างไร ซึ่งคนที่รู้คือเจ้าตัวเซียนพระและโรงหล่อเท่านั้น แต่สื่อไม่เคยเอาคำพูดของโรงหล่อมาพูด มาเสนอ แต่นำมาจินตนาการ มาปนกับเรื่องของกองทัพ คำว่าทุจริต เงินไปอยู่ในกระเป๋าใคร มันคนละเรื่อง และเรื่องงบประมาณ

“ถ้าสังคมมีความเป็นธรรม และคนที่ตั้งข้อสังเกตมีความบริสุทธิ์ใจจริง ผมคิดว่าโครงการลักษณะแบบนี้เป็นไปได้ยาก ไม่มีแรงจูงใจ เพราะเป็นแรงตั้งใจของคนทำที่ต้องไปขอรับการสนับสนุนจากผู้อื่น แล้วเขายังต้องทุ่มเทการทำงานด้วยความเหน็ดเหนื่อยโดยที่เขาไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ เพิ่มเติม”

โฆษกกองทัพบก ได้อธิบายรายละเอียดในส่วนของสร้างอุทยานราชภักดิ์ ว่า การสร้างมีการดำเนินการอยู่ 2 ทาง คือ ใช้เงินในการจ้าง และการรับการบริจาค ซึ่งการจ้างให้เกิดการก่อสร้างมีเพียง 3 ส่วน คือ 1.การทำลาน 2.การหล่อองค์พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยามทั้ง 7 พระองค์ และ 3.ตัวแท่นฐานของแต่ละพระองค์ โดยสิ่งที่เราจ้างไปเมื่อตรวจสอบแล้วก็พบว่าไม่มีการทุจริตเลย แต่สิ่งอื่นนอกจากนี้ ได้มาจากการบริจาคและได้รับมาจากการจัดกิจกรรมพิเศษ ซึ่งเงินที่เราได้มาคือเท่ากับว่าเราไม่ได้ลงทุน แต่เราเป็นผู้รับเท่านั้นซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการหารายได้ เช่น การจัดกิจกรรมที่ได้มาซึ่งต้นปาล์ม โดยไม่ใช่ได้มาจากทางพาณิชย์

ส่วนกรณีมีการเผยแพร่เอกสารราชการของสำนักงาน กสทช.เลขที่เอกสาร สทช.2001/570 ที่เรียนถึง ประธาน กสทช.ระบุเรื่องขอบรรจุวาระเพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายในการสนับสนุนการดำเนินการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์จำนวนเงิน 88 ล้านบาทนั้น ประเด็นเรื่องการรับเงินจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะจากหน่วยงานราชการ กลายเป็นอีกประเด็นที่สังคมต้องการคำตอบเช่นกัน 

ประเด็นนี้ พ.อ.วินธัย ชี้แจงว่า รายละเอียดไม่ทราบ แต่คำว่าเปิดรับบริจาค คงไม่ระบุว่าห้ามบริษัทไหน บุคคลไหน องค์กรไหน รวมถึงหน่วยงานของรัฐด้วย เพราะการบริจาคเป็นเรื่องที่ต้องทำหลักฐานต้องเป็นไปตามเงื่อนไขไม่ว่าใครบริจาคก็ตาม ส่วนตัวผมก็ยังไปบริจาคด้วยเลย แม้แต่คนในกองทัพก็บริจาค

“ประเด็นการตั้งข้อสงสัยต่างๆ ทั้งทุจริต ไม่โปร่งใส ต้องถามว่าการที่นำมาผูกโยงรวมกับราชภักดิ์นั้น มีเจตนาอะไรหรือไม่ เพราะเห็นอยู่ เจตนาการดำเนินการโครงการอุทยานราชภักดิ์นั้นโดยพฤตินัยมันไม่ใช่ ยังไงมันก็ไม่ใช่ ผมว่ามันอยู่ที่คนมอง ผมมีข้อสงสัยว่าคนที่จะเป็นผู้ประกอบการจะบริจาคไม่ได้หรืออย่างไร ทุกคนสามารถมีสิทธิที่จะบริจาคได้หมด โครงการอุทยานราชภักดิ์นี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เกิดจากความตั้งใจของกองทัพบกและหน่วยงานต่างๆ ต้องการสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวระหว่างสถาบันและประเทศไทยที่มีมากว่า 600 ปีแล้ว แต่หากเรื่องนี้เกิดการสื่อสารผิด เป็นความพยายามผลักดันสร้างความเข้าใจด้วยข้อมูลที่ไม่ครบ และไม่แยกแยะว่าอะไรเป็นอย่างไรเข้าใจผิดก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจเช่นกัน” พ.อ.วินธัย กล่าวตัดพ้อ

ต่อคำถามที่ว่า หากโครงการอุทยาน ราชภักดิ์สุจริตจริง ทำไมการตรวจสอบต้องมีกรรมการตรวจสอบชุดที่สอง และกรรมการตรวจสอบจากภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีก พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ประเด็นนี้ผมตอบไม่ได้ แต่อาจจะเพราะความไม่เชื่อในสิ่งที่ผู้นำองค์กรพูด ผบ.ทบ.ทั้งที่ท่านเป็นบุคคลที่มีเกียรติ เป็นผู้นำทางกองทัพ ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย ท่าน ผบ.ทบ.ออกมาแสดงความรับผิดชอบที่จะให้ข้อมูล และเมื่อท่านยืนยันไปแล้ว ส่วนตัวผมเองยังสงสัยว่าทำไมกระแสยังต้องไปมีเงื่อนไขอื่นๆ อีกทำไม ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าคิดเหมือนกัน ถ้าเป็นคนทำงานที่เขาพูดกันและได้รับฟังมา คนทำงานเขาก็เสียใจกับกรณีนี้

\"อุทยานราชภักดิ์ไร้โกง\" พ.อ.วินธัย สุวารี

คสช.ไม่หวั่นการเมืองขย่ม ปม "ราชภักดิ์"

แต่อย่างไรก็ตามการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์กลายเป็นหนังม้วนยาว ที่ยังมีชุดข้อมูลรายละเอียดชัดเจนมาประกอบคำอธิบายยืนยันความโปร่งใสได้ จึงไม่แปลกที่จะเกิดช่องว่างให้เกมการเมืองได้เดินเกมขย่มขวัญ ทั้งรัฐบาล คสช. และกองทัพบกไม่น้อย ล่าสุดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปคุมตัว จตุพร พรหมพันธุ์ และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่กำลังจะลงพื้นที่ไปยังโครงการอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งการกระทำแบบนี้มองว่าเป็นเรื่องความมั่นคงทางการเมืองหรือไม่

พ.อ.วินธัย ได้ชี้แจงว่า การกระทำเขาไม่ชัดเจนว่าเขาไปสืบหาข้อมูล เพราะกระบวนการสืบหาไม่ใช่การกระทำแบบนั้น เขาต้องไปสืบหาข้อมูลเอกสาร ไม่ใช่ไปป่าวประกาศเชิญชวน เราไม่ได้ไปปิดกั้น คุณตู่ คุณเต้น ที่จะไปสืบ แต่เรามองว่าเป็นกิจกรรมที่เข้าข่ายกิจกรรมทางการเมือง เพราะด้วยเหตุผลนานาประการ โดยต่างจากการกระทำแบบองค์กรอื่นๆ ที่เขาต้องการข้อมูลเช่นเดียวกัน และที่สำคัญขณะนี้มีองค์กรต่างๆ ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายกำลังดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งในส่วนของกระทรวงกลาโหม สตง. และอีกหน่วยงานที่พร้อมจะเข้ามาตรวจสอบ คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขณะนี้ทุกภาคส่วนที่มีหน้าที่โดยตรงดำเนินการแล้ว ดังนั้นการกระทำแบบต้องป่าวประกาศลงพื้นที่ไม่ได้เป็นเรื่องที่สมควร และนอกจากนี้มีกระแสข่าวออกมาด้วยว่ากลุ่มคนที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับณัฐวุฒิและจตุพร เริ่มที่จะมีการแสดงออกเคลื่อนไหวต่อต้านเช่นกัน ดังนั้นจึงอาจจะเข้าใจได้ว่าหากปล่อยไว้จะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองได้

พ.อ.วินธัย กล่าวชี้แจงว่า กรณีการทำหนังสือมา หรือเอกสารมายังกองทัพบก เพื่อสอบถามข้อมูลนั้น สามารถทำได้ ตามกรอบขอบเขต แต่เรื่องเวลาอย่างไรต้องดูอีกที เพราะการทำงานวันนี้เราต้องเร่งตอบสนองหน่วยราชการหลักๆ ที่มีอำนาจตามกฎหมายก่อน หรือแม้แต่กรณีที่สังคมสงสัย และมองว่าขณะนี้เกมการเมืองกำลังใช้ช่องโหว่ของโครงการราชภักดิ์ มาขย่มกองทัพ รัฐบาล คสช.หรือไม่นั้น พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ชัดเจนว่าทุกคนน่าจะมีธงอยู่ในใจที่จะปรักปรำ ถามว่าการสงสัยวันนี้มีทัศนคติที่อคติหรือไม่ การกล่าวหาว่าเป็นการทุจริต โดยอ้างอาศัยคำพูด พล.อ.อุดมเดช ไม่ครบถ้วน การเมืองทุกคนเป็นแบบนี้หมดใช่ไหม สำหรับข้อสงสัยที่ถามว่าการตรวจสอบกันเองจะช่วยกันเองหรือไม่ โฆษกกองทัพบก ตอบยืนยันชัดเจน บอกได้เลยว่าทุกคนต้องทำงานตามหน้าที่ การทำงานไม่มีเรื่องของชั้นยศหรือพวกพ้อง

“ส่วนจะนำมาขย่มกองทัพหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ เพราะกองทัพทำทุกอย่างตามกลไก ตามระบบราชการ ข้อสงสัยต่างๆ เราจะใช้ความรู้สึกไม่ได้ ผบ.ทบ.ที่ออกมาทำการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทันทีเลย และได้ยืนยันแล้วว่าทุจริตไม่มี แต่ถ้ารายละเอียดสำหรับบุคคล เราก็ไม่ทราบได้ว่าใครเป็นอย่างไรบ้าง หรือบุคคลใดที่อยู่ในส่วนของกำลังพลออกไปวิวาท ก็พร้อมที่จะดำเนินการทันที ตัวอย่างก็มีให้เห็นว่าเราไม่ได้ปล่อยปละละเลย”

พ.อ.วินธัย กล่าวย้ำอีกว่า วันนี้กองทัพบกเราทำงานตามหน้าที่ เราต้องแยกแยะวัตถุประสงค์ในส่วนต่างๆ กองทัพทำหน้าที่ดูแลความสงบ เราไม่ได้ทำเพราะจตุพรหรือณัฐวุฒิออกมาเคลื่อนไหวจะไปทำการตรวจสอบโครงการราชภักดิ์ แต่เราดูการเคลื่อนไหวปัจจัยอื่นเป็นหลัก ช่วงเวลานี้เจ้าหน้าที่ต้องประเมินสถานการณ์หนัก ยิ่งเป็นช่วงต้นเดือน ธ.ค.ที่เรามีกิจกรรมมาก ถ้าเราเป็นคนไทยเราจะต้องไม่มองที่จุดๆ เดียว เราต้องมองในภาพที่กว้างว่าจะมีเรื่องมีราวในเรื่องความขัดแย้งหรือไม่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่อง เพราะการมองเรื่องนี้เป็นเรื่องขัดแย้งไม่ควร วันนี้กองทัพเองเป็นองค์กรที่ชัดเจนในความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

ทันทีที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ การประกาศปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นเป็นวาระแห่งชาติและวาระเร่งด่วนในการปฏิรูป ดังนั้นทันทีที่กองทัพบกที่ถือเป็นฐานรากของรัฐบาล คสช. กลับมีเรื่องราวเคลือบแคลงใจเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชั่น จึงไม่แปลกที่สังคมจะตั้งคำถามถึงบรรทัดฐานการดำเนินการ และเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามทุจริต มากกว่ารัฐบาลที่มาจากภาคการเมือง

“ผมยืนยันเรายังมีมาตรฐานที่สูงอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม แม้แต่เรื่องโครงการอุทยานราชภักดิ์ แรกเริ่มเดิมที พล.อ.อุดมเดช ท่านบอกตั้งแต่แรกเลยว่าต้องมีความโปร่งใสมากที่สุดและทุกกระบวนการต้องตรวจสอบได้ ซึ่งพูดก่อนที่จะมีข้อสงสัยอีก เพราะท่านมองว่าการใช้เงินคนอื่นเป็นหลักจำเป็นที่ต้องมีอะไรสามารถชี้แจงผู้สนับสนุนเป็นหลักฐานได้” โฆษกกองทัพบก กล่าว

\"อุทยานราชภักดิ์ไร้โกง\" พ.อ.วินธัย สุวารี

มั่นใจคสช.เอาอยู่

ระยะเวลาการเข้ามามีอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านไปกว่า 1 ปี 6 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควร และที่ผ่านมาการทำงานด้านความมั่นคง ทั้งการสยบผู้มีอิทธิพล สยบความเคลื่อนไหวการเมือง แก้ปัญหาความขัดแย้ง การปราบทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ คสช.จะสามารถทำได้ควบคุมหรือกดไว้ได้อย่างราบรื่น แม้ว่าจะมีอำนาจทุกอย่างอยู่ในมือก็ตาม โดยเฉพาะสถานการณ์ความมั่นคง ทั้งการก่อเหตุวางระเบิดที่สาธารณะบริเวณรถไฟฟ้าบีทีเอส เหตุระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ หรือแม้แต่เหตุการวางระเบิดข่มขู่เป็นเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ก็ยังมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

ล่าสุด พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. และผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ออกมาให้ความสำคัญใน 2 ส่วน คือ การดูแลให้สังคมเกิดความเรียบร้อย และการสนับสนุนกิจกรรมในช่วงมหามงคลทุกรูปแบบ

ทว่า ที่มาปัจจัยหนึ่งของความเป็นห่วงความวุ่นวายการก่อเหตุร้ายนั้น มาจากประเด็นของ “ขอนแก่นโมเดล” ที่อยู่ๆ ก็มีการออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งสิ้น 9 คน โดยจะมีการก่อเหตุป่วนในงานสำคัญ จึงกลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต และถูกทำมองว่าเป็นกระแสข่าวที่ถูกนำเสนอออกมาเพื่อกลบกระแสข่าวโครงการอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งประเด็นนี้ พ.อ.วินธัย สุวารี ในฐานะโฆษก คสช. ได้ยืนยันกับทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ว่า “กรณีเจ้าหน้าที่จับกุมผู้เตรียมก่อความวุ่นวาย โดยพบว่าเชื่อมโยงกับขอนแก่นโมเดลไม่ได้มีการจัดฉากตามที่ฝ่ายการเมืองตั้งข้อสังเกต ถือเป็นการกล่าวหาและบิดเบือนข้อเท็จจริงของบางบุคคล หวังชี้นำความรู้สึกคนด้วยการดึงไปเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ ที่ไม่สมเหตุผล ซึ่งหวังทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่”

โฆษก คสช. ได้อธิบายและสำทับข้อมูลเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้เจ้าพนักงานมีหลักฐานเรื่องการติดต่อสื่อสาร และมีหลักฐานเพียงพอที่จะไปอนุมัติขอหมายจับ ตรงนี้สามารถพูดได้เต็มปากว่า ไม่ได้ยกเมฆขึ้นมา ไม่ได้นั่งเทียน ไม่ใช่จะไปเบี่ยงเบนประเด็นใดๆ และการที่ได้หลักฐานมาตั้งข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาก็สามารถไปต่อสู้ได้ตามกระบวนการได้ตามปกติ เราไม่ได้ปิดกั้นอะไร ทำทุกอย่างตามกระบวนการ

“ทันทีที่มีมูลเหตุขอนแก่นโมเดล ก็มีผู้ที่ให้ข้อมูลแย้งออกมา ถามว่า มีอะไรในมือหรือไม่ หรือมองเรื่องนี้เพียงแค่ผิวเผิน มีธงในใจหรือไม่ เลยตั้งคำถามไปก่อนว่า ผู้ต้องสงสัยอยู่ในเรือนจำตลอดจะไปทำอะไรได้อย่างไร ตรงนี้ต้องไปดูประวัติในทางคดี ซึ่งพบว่าเป็นไปได้ เพราะลักษณะกรณีที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำแล้วสามารถกระทำความผิดโดยใช้ช่องทางการติดต่อสื่อสารแบบนี้ก็มีตัวอย่างมาก่อนแล้วไปย้อนดูได้ ขอให้สังคมอย่าได้กังวล”

อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ความมั่นคงเริ่มมีการออกมาเคลื่อนไหวอยู่เป็นระยะทั้งในที่ลับและที่แจ้ง แต่ พ.อ.วินธัย ยืนยันว่า เรื่องความมั่นคงเราสามารถควบคุมได้ เพราะไม่ได้เกินกว่ากรอบที่ได้ประเมินไว้ และการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ค่อนข้างยืดหยุ่น ตักเตือนบ้าง ถือว่าใช้วิธีการอะลุ่มอล่วยอยู่พอสมควร เพื่อให้การปฏิบัติการมีความสมดุลต่อสถานการณ์ แต่เราก็ไม่ได้ละเลย เราเน้นมาตรการป้องกัน ป้องปรามมากกว่า แต่ขณะเดียวกันหากพบการเคลื่อนไหวในส่วนที่เกินขอบเขตการประเมิน เช่น การเตรียมการก่อการต่างๆ หรือการตรวจพบเจออาวุธสงคราม ตรงนี้เราต้องเข้มงวด คสช.และเจ้าหน้าที่พร้อมที่จะใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมายเข้าดำเนินการทันที ต่อผู้ที่มีพฤติกรรมเป็นภัยต่อสังคม จะไม่ปล่อยให้เกิดเหตุอิทธิพลแน่นอน

สำหรับโรดแมปของรัฐบาลอยู่ในระยะที่ 2 คือช่วงของการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นระยะที่ทุกฝ่ายและประชาชนทั่วประเทศจะต้องร่วมมือกันในการผลักดัน ขับเคลื่อนการปฏิรูปไปด้วยกันให้ได้ โดยเฉพาะการทำงานในภาคส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐและกองทัพ ซึ่งในส่วนนี้ พ.อ.วินธัย ยืนยันว่า กองทัพมีความพร้อมทุกอย่างที่จะสนับสนุนการทำงานตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศให้มากที่สุด ภารกิจของเราคือการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตอบสนองความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งด้านการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะขาดน้ำ น้ำแล้ง น้ำท่วม ปัญหาทางความมั่นคงได้รับการข่มขู่จากกลุ่มผู้มีอิทธิพลต่างๆ เราก็พร้อมเข้าไปช่วยเหลือ และที่สำคัญวันนี้กองทัพได้พยายามเข้าไปในพื้นที่บ้างในส่วนที่ข้อมูลข่าวสารเข้าไปไม่ถึง เราเข้าไปทำความเข้าใจที่ถูกต้องต่อข้อมูลข่าวสารต่างๆ 

“สถานการณ์ขณะนี้พบว่ามีบุคคลผู้ไม่หวังดีที่พยายามปลุกกระแสทำลายความน่าเชื่อถือเจ้าหน้าที่ เพื่อให้มีผลกระทบถึงรัฐบาลและ คสช. ดังนั้นขอให้ประชาชนได้ใช้วิจารณญาณต่อการรับฟังข่าวสาร และเชื่อมั่นเจ้าหน้าที่ในการป้องปรามป้องกัน มิให้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบเรียบร้อย ขอให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา จะได้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการทำงาน เราต้องใช้ระบบทางสังคมเข้ามาช่วยด้วย เพราะการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียว บางทีอาจจะไม่เต็มประสิทธิภาพ

สิ่งที่ดีที่สุดวันนี้เรามาทำความเข้าใจกันดีกว่า ว่าการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ภาพรวมแก่ประเทศเลย การที่คิดจะเอาชนะโดยกลุ่มคนหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ได้เกิดอะไรที่เป็นผลดีเลย มันคือเวลาที่เราต้องมาช่วยกันสู้เพื่อความชนะกันเพื่อประเทศให้เดินไปข้างหน้า อย่าไปมองเฉพาะแต่กลุ่มคน หรือมองที่พรรคการเมือง แต่ต้องมองภาพรวมของประเทศ ถ้าเราทำความเข้าใจแบบนี้ได้บรรยากาศประเทศก็จะดีได้”

อย่างไรก็ตาม พ.อ.วินธัย ทั้งในฐานะโฆษกกองทัพบก และโฆษก คสช. ยืนยันชัดเจนว่า กองทัพบกเป็นหน่วยราชการที่มีบทบาทหน้าที่ชัดเจน ซึ่งข้อสงสัยที่เกิดขึ้นอยากให้เข้าใจว่ามันคือข้อสงสัยที่มีต่อบุคคลไม่ใช่ภาพรวมขององค์กรทั้งหมด ในสภาพความเป็นจริงเราไม่ได้เห็นแบบนั้น เรามีระบบ มีสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจน และกระแสเกลาเหลาความขัดแย้ง ยืนยันได้ว่าไม่มี ที่เห็นมีแต่จากสื่อเท่านั้น