ศาสนาทำให้สังคมล้าหลัง ปรับโครงสร้างสงฆ์-แยกศาสนาออกจากรัฐ
"สิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการมากที่สุดไม่ใช่มหาเถรสมาคม ไม่ใช่คนที่ออกมากำจัดธรรมกายเพื่อศาสนา แต่พระพุทธเจ้าน่าจะต้องการให้คนมีเสรีภาพในการลองผิดลองถูก และคิดใคร่ครวญหาคุณค่าความหมายของชีวิตด้วยตัวเอง ดังนั้นต้องตั้งคำถามให้ถูกต้องว่า ศาสนาพุทธคืออะไรกันแน่"
โดย...เอกชัย จั่นทอง
เรื่องศาสนา ณ เวลานี้ ไม่มีอะไรน่าสนใจไปกว่าเรื่องของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ดำรงตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชและเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กทม. กับการมีชื่อเป็นเบอร์ 1 สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20
ถัดมาเป็นการเรื่องคดีพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี ผู้ต้องหาคดีร่วมกันฟอกเงิน หลังมีชื่อรับเช็คจาก ศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธาน สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ทั้งหมดคือปมปัญหาล้วนสร้างความสั่นคลอนให้กับสังคมในห้วงเวลานี้ จนเกิดความแตกแยกในหมู่สงฆ์ ประชาชนเบื่อหน่ายศรัทธาศาสนา
แต่มุมมองของคนรุ่นใหม่อย่าง วิจักขณ์ พานิช เคยแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์พุทธศาสนาในสังคมไทยยุคปัจจุบันอย่างน่าสนใจผ่านบทความต่างๆ มากมาย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับโพสต์ทูเดย์ ถึงต้นตอการเสื่อมศรัทธาทางศาสนาที่ถดถอยอย่างต่อเนื่อง โมงยามลงตัวก่อนเปิดฉากสนทนาให้ฟังว่า พระสังฆราช มหาเถรสมาคม (มส.) องค์กรสงฆ์ และครอบคลุมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับสงฆ์ทั้งหมด คือเป็นโครงสร้างที่รวมศูนย์แบบรัฐ ส่วนที่ตรงข้ามคือคณะสงฆ์ที่รวมศูนย์ของรัฐ เป้าหมายคือต้องการรวมศูนย์ ต้องการมั่นใจว่าพุทธศาสนามีมาตรฐานเดียว แบบเดียว และเป็น “พุทธศาสนาแบบรัฐ” ที่ต้องการเผยแพร่คำสอนไปในโรงเรียน เป็นพุทธพิธี ตักบาตรทั่วประเทศ และพระสงฆ์ต้องขึ้นตรงกับอำนาจส่วนกลาง
ซึ่งโครงสร้างคณะสงฆ์แบบรัฐมันก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 4 และมาชัดเจนเป็นรูปธรรมช่วงรัชกาลที่ 5 โดยเป็นโครงสร้างคณะสงฆ์แบบรัฐและรวมศูนย์ นั่นสะท้อนรูปแบบการเมืองการปกครองแบบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์”
“โครงสร้างแบบนี้ถือเป็นโครงสร้างที่ล้าหลังมาก มันเป็นปัญหาเมื่อยุคช่วงล่าอาณานิคมผ่านไปแล้ว ตอนนี้เราเข้าสู่โลกสมัยใหม่ เป็นการแข่งขันอย่างเสรี ประเทศต้องเปิดกว้างเข้าสู่สากล เรียนรู้จากภายนอก ยิ่งประเทศไหนที่ได้รับการกระจายอำนาจ มีการเรียนรู้ เปิดกว้าง ประเทศเหล่านั้นก็จะนำไปสู่การพัฒนา”
โดยมุมมองของคนรุ่นใหม่อย่างวิจักขณ์ เห็นว่าโครงสร้างสังคมเราไม่ใช่แบบนั้น แม้จะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเมื่อปี 2475 แล้วก็ตาม เรายังติดแหง็กอยู่กับโครงสร้างแบบการรวมศูนย์อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง และศาสนา ทั้งคู่ยังติดแหง็กกับโครงสร้างแบบรวมศูนย์อยู่
โครงสร้างพระสงฆ์ไทยเก่าไม่ก้าวหน้า
อย่างโครงสร้างคณะสงฆ์ปัจจุบัน ที่มีสมเด็จพระสังฆราช พระมหาเถรสมาคม มีพระผู้ใหญ่ที่อายุมากๆ ทั้งหลายอยู่ อันนี้แสดงให้เห็นเลยว่าเป็นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นผลผลิตของระบอบเก่า ซึ่งพระมหากษัตริย์ต้องการพระเหล่านี้เป็นที่ปรึกษาทางจิตใจและทางการปกครอง
“ประเทศก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่แล้ว แต่ทุกวันนี้เราติดอยู่กับระบอบเผด็จการระบอบทหารอยู่ ขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็ยังติดกับระบอบเดิม ที่ว่าใครจะเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อไป แล้วก็ทะเลาะกัน แล้วก็มาโยงเข้ากับวัดพระธรรมกาย มีเรื่องกลุ่มก้อนต่างๆ ใครสนับสนุนใคร มีความเห็นแย้งสองฝ่าย จนกลายเป็นเรื่องการเมือง”
วิจักขณ์ เล่าต่อว่า ธรรมกายอยู่ภายใต้การปกครองของคณะสงฆ์และยังมีอิทธิพลภายในโครงสร้างคณะสงฆ์ ธรรมกาย สามารถใช้โครงสร้างสงฆ์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไปเผยแพร่ความเชื่อของตัวเองได้ เหมือนที่มีข่าวว่าวัดพระธรรมกายสนับสนุนช่วยเหลือวัดนั้นวัดนี้ ก็เหมือนกับนักการเมืองทั่วไป เพียงแต่นักการเมืองเหล่านี้คือ “พระสงฆ์”
ย้อนถามว่ามีทั้งกลุ่มคนที่ชอบและไม่ชอบวัดพระธรรมกาย แต่ทุกวันนี้ที่สังคมบอกจะกำจัดธรรมกาย ขอตั้งคำถามว่า?? เราจะจัดการเขาอย่างไร คิดว่าจะใช้หลักการหรือวิธีคิดแบบใดไปจัดการ
“ที่บอกว่าให้เข้าไปตรวจสอบเส้นทางการเงิน เรื่องที่ดิน ผลประโยชน์ ของธรรมกาย แล้วพระพุทธะอิสระ ทำไมไม่ไปตรวจสอบด้วย หรือคุณเลือกปฏิบัติเพียงเพราะว่าคุณไม่ชอบเขา หรืออย่างที่บอกว่าธรรมกายเผยแพร่คำสอนไม่ตรงตามหลักคำสอน แล้วพระพุทธะอิสระตรงหรือเปล่า”
วิจักขณ์ อธิบายความเห็นต่อไปว่า หากจะมีการตรวจสอบวัด ทุกวัดก็ต้องมีการตรวจสอบเป็นมาตรฐานเดียวกันหมด แล้วคำสอนของศาสนาที่มองว่าธรรมกายบิดเบือนคำสอน “ต้องมองว่าคำสอนของพระแต่ละสำนักไม่มีใครสอนตรงกันเลย สันติอโศกสอนอย่าง พุทธทาสสอนอย่าง พระไตรปิฎกสอนอย่าง พุทธะอิสระสอนอย่าง หมอผีก็สอนอย่าง”
ดังนั้น เราต้องตระหนักว่าไม่มีใครสอนตรงกันเลย เพราะฉะนั้นความพยายามที่ต้องการให้คำสอนเป็นมาตรฐานเดียวกันหรือแบบเดียวกันทั้งหมด คือสิ่งที่ผิด เพราะศาสนาไม่ควรไปตั้งมาตรฐาน
เรื่องศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อ เรื่องการทดลองของแต่ละบุคคล อย่างพระพุทธเจ้าแสวงหาสัจธรรมความจริง พระพุทธเจ้าก็ต้องไม่ให้ใครมาชี้นำ สิ่งที่พุทธศาสนาต้องการและช่วยให้พุทธธรรมงอกงามได้ดีที่สุด ก็คือเรื่อง “เสรีภาพทางศาสนา” ถามว่า พระพุทธเจ้าต้องการค้นพบสิ่งใดมากที่สุด นั่นคือการค้นพบการตื่นรู้ ความกรุณา
“สิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการมากที่สุด ไม่ใช่มหาเถรสมาคม ไม่ใช่คนที่ออกมากำจัดธรรมกายเพื่อศาสนา แต่พระพุทธเจ้าน่าจะต้องการให้คนมีเสรีภาพในการลองผิดลองถูก และคิดใคร่ครวญหาคุณค่าความหมายของชีวิตด้วยตัวเอง ดังนั้นต้องตั้งคำถามให้ถูกต้องว่า ศาสนาพุทธคืออะไรกันแน่ มันคือเรื่องการเรียนรู้ ตื่นรู้ การภาวนา การเผชิญความทุกข์ คุณไม่ต้องการอำนาจของรัฐมากดขี่ควบคุมมาบอกว่าสิ่งใดผิดหรือถูก
“ศาสนาพุทธมาจากความทุกข์ของทุกคน แทนที่จะเอาหนังสือธรรมะไปยัดเยียดให้เด็กในโรงเรียนท่องจำ แต่ให้พาเด็กออกมาจากโรงเรียนให้เห็นผู้คนกับคนไร้บ้าน คนในสลัม ที่ยากลำบาก อันนี้ต่างหาก ที่จะทำให้เข้าใจเรื่องของทุกข์ จะทำให้เด็กเหล่านั้นเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นคนที่มีการศึกษาและเห็นใจคนที่ไม่มีโอกาสเหมือนเขา ดังนั้นพุทธศาสนาแบบรัฐ ที่ปกป้องค้ำจุน ที่อยู่ในธงชาติสีขาว ผมว่ามันผิดทั้งหมด”
อย่างไรก็ตาม คนหนุ่มไฟแรงอย่างวิจักขณ์ยังได้แสดงความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับคุณค่าในศาสนาพุทธ ว่าศาสนาพุทธในสังคมไทยทุกวันนี้ควรให้คุณค่ากับความเป็น “พุทธศาสนาแบบชาวบ้าน” และนั่นก็กำลังตายลงไปเรื่อยๆ เพราะอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์มาควบคุม รุกล้ำเสรีภาพ อิสรภาพในการลองผิดลองถูกของคน แล้วทำให้พระสงฆ์ไปอิงอยู่กับอำนาจนอกตัว คือ “อำนาจรัฐ”
จึงเชื่อว่าพุทธศาสนาในอดีต มีชีวิตชีวา เป็นพุทธศาสนาที่มีความกล้าหาญ พุทธศาสนาที่มีสัมพันธ์กับความทุกข์ของชาวบ้าน และพุทธศาสนาที่สัมผัสชีวิตจริงของสังคมได้
ส่วนมุมมองเรื่องการปฏิบัติธรรมของสงฆ์ในปัจจุบัน วิจักขณ์ ระบุว่า การปฏิบัติธรรมทำเพื่อสรรพสัตว์ เพื่อความทุกข์ของผู้อื่นคือเรื่องดี “แต่คุณปฏิบัติธรรมเพื่อชาติ เพื่อพระศาสนา มันผิดรูปแบบ จึงกลายเป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อความดีบ้างอย่างที่สูงกว่า ทั้งที่จริงการปฏิบัติควรทำเพื่อขัดเกลาตัวเอง เผชิญความทุกข์ตัวเองก่อน แล้วจึงจะเห็นว่าคนอื่นมีความทุกข์ไม่ต่างจากเรา และนั่นจะทำให้มีจิตใจอ่อนน้อมถ่อมตนร่วมสุขร่วมทุกข์กับคนอื่น จนนำไปสู่ความเข้าใจเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์”
วัดเป็นฐานเสียงนักการเมือง คล้ายระบบเจ้าพ่อ
วิจักขณ์ บอกอีกว่า เมื่อศาสนาพุทธถูกดึงเป็นเครื่องมือหรือกลไกการปกครองตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา มันทำให้ศาสนาพุทธหมดความเป็นตัวเอง มันเป็นศาสนาพุทธที่ถูกตีความว่าเป็นการดำรงอยู่ของอำนาจชนชั้นนำหรือโครงสร้างแบบเก่า เป็นศาสนาพุทธแบบอุปถัมภ์
“มีคนที่สูงกว่า ต่ำกว่า คนที่สูงกว่าเพราะเป็นคนดี อุปถัมภ์ค้ำจุนศาสนา ไปวัดทุกวัน คนกลุ่มนี้ก็ดูสูงส่งขึ้น แล้วพระก็จะกลายเป็นประจบประแจงคนทำบุญ ไม่ใช่เรื่องของการปฏิบัติธรรม ตักเตือนกัน จึงกลายเป็นการเมืองโดยธรรมชาติ ไปสู่พุทธศาสนาแบบชนชั้นนำ จนกลายเป็นพุทธศาสนาที่สนับสนุนระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่มีการต่อสู้เพื่อคนชั้นล่าง ไม่มีการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ไม่เป็นปากเป็นเสียงให้กับคนทุกข์ พระไม่มีความกล้าหาญ กลายเป็นพระที่หมดความเป็นตัวของตัวเอง” วิจักขณ์ กล่าวและว่า
วัดเป็นฐานเสียงของนักการเมืองและเป็นการเมืองแบบอุปถัมภ์คล้ายระบบเจ้าพ่อ ปัจจุบันพระไม่เป็นตัวของตัวเอง คำนึงแต่ผลประโยชน์ พระเป็นส่วนหนึ่งของระบบเจ้าพ่อ
อย่างใน กทม.ก็แบ่งเป็นซุ้ม เป็นก๊ก เป็นเหล่าเต็มไปหมด และอย่างเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ส่วนตัวของวิจักขณ์สะท้อนออกมาว่า ระบบการตั้งสังฆราชเละทั้งหมด หากวิเคราะห์เราไม่มีทางรู้เลยว่าใครจะเป็นพระสังฆราชองค์ต่อไป เพราะเราไม่มีสิทธิรู้ มันไม่มีกฎเกณฑ์ มันเป็นเรื่องของใครรู้จักใคร เส้นทางมายังไง ขั้วอำนาจทางการเมืองต่างๆ ทั้งหมดเป็นเรื่องของการเมืองชนชั้นนำ มองเป็นเรื่องพวกพ้อง คนรุ่นใหม่มองเรื่องนี้เป็นความเบื่อหน่าย
“ใครจะเป็นพระสังฆราชองค์ต่อไป แล้วเราจะมีชีวิตที่ดีขึ้นไหม ใครจะเป็น ผบ.ทบ.คนต่อไป เราจะมีชีวิตดีขึ้นไหม มันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเราเลย มันถึงไม่สอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่และการศึกษา ที่เราเรียนเสริมสร้างความคิดมากมายสุดท้ายไปใช้ระบอบอุปถัมภ์”
วิจักขณ์ กล่าวด้วยว่า พระสงฆ์ที่ทะเลาะกันเกิดขึ้นตั้งแต่อดีต มันเหมือนการเมืองสองฝั่ง มีนิกายธรรมยุตและมหานิกาย แต่ละฝ่ายก็มีก๊กมีเหล่า ซึ่งระบอบของคณะสงฆ์ถือว่าเป็นเรื่องการเมืองอย่างยิ่ง ย้ำว่าพุทธศาสนาไทยเป็นการเมือง
เสนอยุบ มส. พศ.-วัดเป็นตลาดมืดจุดฟอกเงิน
ระหว่างสนทนา วิจักขณ์ ตั้งคำถามย้อนมาว่า จะทำยังไงให้พ้นจากการเมืองชนชั้นนำโดยปลดปล่อยศาสนาพุทธออกมาจากโครงสร้างทางการเมืองแบบอุปถัมภ์ แบบเผด็จการ ทำอย่างไรให้ศาสนาพุทธกลับมาเป็นสติปัญญาของประชาชนและมีอิสระ ศาสนาพุทธแบบชาวบ้านที่เลือกและลองเอง
เพราะปัญหาของศาสนา คือ การไม่มีอิสรภาพ เสรีภาพ ศาสนากลายเป็นเรื่องของพระ และพระกลายเป็นชนชั้นนำ สุดท้ายศาสนาจึงไม่ใช่เรื่องของเรา จึงรู้สึกว่าจะทำอย่างไรให้ “พุทธศาสนาฆราวาส” ตื่นตัวขึ้นมาเพื่อความเป็นอิสระทางศาสนา
สำหรับองค์กรทางสงฆ์ เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาเถรสมาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยกำกับดูแลปกครองสงฆ์ ส่วนตัวของวิจักขณ์ มองว่า “ยิ่งองค์กรเหล่านี้แข็งแรง ยิ่งเป็นผลร้ายต่อศาสนาพุทธโดยรวม” และองค์กรเช่นนี้ไม่สามารถแข็งแรงได้แน่นอน เพราะโลกเป็นเสรีภาพทางความคิด เป็นโลกสมัย ดังนั้นตัวศาสนาต้องวางตำแหน่งของตัวเองให้ถูก เพราะตอนนี้ศาสนาวางตำแหน่งของตัวเองผิด เลยยิ่งเป็นอุปสรรคทำให้ตัวศาสนาและสังคมล้าหลังไม่ก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้
วิจักขณ์ ถามอีกว่า เราจะออกจากวงจรอุบาทว์นี้อย่างไร?? “วงจรที่มีปัญหาคณะสงฆ์ ศาสนาพุทธไม่ควรอยู่ในโครงสร้างของ มส.และ พศ.ตั้งแต่แรก ดังนั้นให้ยุบองค์กรเหล่านี้ทิ้ง แล้วศึกษาให้ดีว่าสังคมสมัยใหม่อยู่กับศาสนาอย่างไร เขาวางตำแหน่งศาสนายังไงที่ทำให้เกิดเป็นสังคมที่ยอมรับความหลากหลายทางความเชื่อ ความคิดของคน และไม่เอาศาสนามาเป็นเรื่องทะเลาะกัน”
นอกจากนี้ วัดหรือศาสนาควรเป็นรูปแบบมูลนิธิหรือเอกชน สามารถตรวจสอบการเงิน ตรวจสอบการก่อตั้งองค์กร เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ที่เห็นชัดเจนอย่างกรมสรรพากรต้องมีความกล้าตรวจสอบพระและวัด จะอ้างความเชื่อความเป็นพระไม่ได้ ดังนั้นจึงทำให้เห็นว่าตัวศาสนาไปผูกอยู่กับรัฐ
“จึงทำให้เกิดมุมมืดทางสังคม กลายเป็นตลาดมืดจุดฟอกเงิน เวลาไม่มีใครไปตรวจสอบก็จะมีพวกกาฝาก เห็บเหา เกาะอยู่กับศาสนา”
วิจักขณ์ ยังยอมรับว่าศาสนาพุทธในเมืองไทยมีอำนาจทางสังคมและการเมืองมากเกินไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่ให้สังคมไทยไม่มีศาสนา แต่ตนย้ำมาตลอดว่าการแยกรัฐออกจากศาสนาไม่ใช่สังคมที่ไม่มีศาสนา เพียงแต่ว่าไม่เอาอำนาจทางศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของการปกครอง คือรัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา หวังว่าจุดเริ่มต้นแบบนี้จะเกิดขึ้น ในเรื่องการแยกรัฐออกจากศาสนา ไม่ได้หวังจะเกิดขึ้นในเชิงการเมืองอย่างเดียว หวังว่าจะมีคนเข้าใจในประเด็นที่ตนพูด
“ทุกวันนี้คนเราทำบุญไม่ได้ทำเพื่อขัดเกลาจิตใจตัวเอง แต่ทำเพื่อหวังอะไรบางอย่าง การทำบุญคือการบริจาค การสละ เพื่อคนที่มีความทุกข์ลำบากมากกว่า คนจนก็จนไป คนทำบุญพระก็รวยไป ต้องยอมรับว่าอดีตพระไม่สะสมเงินทอง ทรัพย์สินกระจายไปสู่คนลำบาก สวนทางกับปัจจุบันคนทำบุญหนึ่งอยากจะเอาล้าน ส่วนพระรับมาสิบ ก็อยากจะได้ร้อยได้พัน จึงกลายเป็นเรื่องธุรกิจทางศาสนา แล้วพระใช้ศาสนาหากินหรือเปล่า”
วิจักขณ์ ทิ้งท้ายอย่างมีหวังว่า ทางเดียวที่จะทำให้พุทธศาสนากลับมามีพลัง กลับมามีพลวัต ต้องปลดปล่อยตัวเองออกจากอำนาจรัฐให้ได้ ต้องเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นต้องมีอิสระ มีเสรีภาพ ส่วนองค์กรของรัฐที่จะควบคุมพุทธศาสนาควรยุบทิ้งไปให้หมด และคนได้เรียนรู้การเปิดให้แลกเปลี่ยนโต้เถียงกัน แล้วจะทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น
"อยากรู้ว่าอะไรมีความสุข" พลิกเปลี่ยนเส้นทางชีวิตศึกษาศาสนา
สําหรับ วิจักขณ์ พานิช ผู้ตัดสินใจพลิกเปลี่ยนเส้นทางชีวิต ทดลองค้นหาตัวเองด้วยการศึกษาระดับปริญญาโท “ประวัติศาสตร์ศาสนา” ที่สถาบันนาโรปะ แหล่งศึกษาทางศาสนาที่รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เป็นคนหนุ่มไฟแรงที่มีแรงบันดาลใจในเรื่องของการเรียนรู้ด้านในและวิถีพุทธธรรมในโลกสมัยใหม่ ซึ่งทำให้ค้นพบวิถีการตีความศาสนาแบบใหม่ที่ให้อิสรภาพมนุษย์ในการเลือกเส้นทางแห่งการหลุดพ้นอย่างเป็นตัวของตัวเองถึงที่สุด
มีคำถามว่าอะไรเป็นแรงขับเคลื่อนให้หันมาสนใจศึกษาเรื่องศาสนา วิจักขณ์ สะท้อนความคิดว่า ทุกคนตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตตัวเองทุกคน ว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตมีคุณค่า จึงต้องหันมาดูตัวเองว่าติดขัดหรือมีปัญหาเรื่องไหน หรือว่าสับสนตัวเองอยู่ ไม่อย่างนั้นคุณค่าของตัวเองคงไปไม่ไกล ดังนั้นเมื่อคิดว่ามีปัญหาก็ต้องเยียวยาเพื่อให้เข้าใจความสับสนของตัวเองมากขึ้น และอยากรู้ว่าอะไรมีความสุข แล้วสามารถแชร์ให้กับคนอื่นได้ นั่นมาจากคำถามในใจ
“เรียนโรงเรียน เรียนมหาวิทยาลัยมาหลายปีมันตอบไม่ได้เลยว่า เราคือใคร เราเกิดมาทำไม เรามีคุณค่าอะไร พอทำงานก็เริ่มคำนึงถึงเรื่องการอยู่รอด จึงเป็นคำถามของตัวเองมาโดยตลอด กระทั่งมีโอกาสไปเรียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กระทั่งเจอครู เจอพื้นที่การเรียนรู้บางอย่างที่ตอบโจทย์ส่วนนี้ได้ เลยรู้สึกว่าอยากจะสร้างพื้นที่แบบนี้ที่เมืองไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้บางอย่างที่ทำให้คนได้มองเข้าไปภายในตัวเอง คลี่คลายคำถามเกี่ยวกับชีวิตแบบลึกๆ เป็นศาสนาที่ตอบคำถามว่า คุณทำอะไรแล้วมีความสุข แชร์กับคนอื่นได้ เลยกลายเป็นจุดที่มาของการทำงานลักษณะนี้”
ส่วนตัวคิดว่ามีคนที่ต้องเป็นอะไรแบบนี้จำนวนมาก คนที่มีความทุกข์ สับสน หาตัวเองไม่เจอ คนเหล่านี้ต้องการกัลยาณมิตร ต้องการคนที่คุยได้เหมือนเพื่อน มีความเป็นกันเอง คนที่คุยในทางมิติศาสนธรรมที่ไม่ใช่แบบศาสนากับศาสนา แต่เป็นแบบธรรมดาๆ เพื่อแชร์ประสบการณ์ แชร์ความทุกข์ของคนเหล่านั้น
วิจักขณ์ ยังบอกด้วยว่า จากการศึกษาเล่าเรียนฝึกเกี่ยวกับการภาวนา จึงมีการเปิดคอร์สสอนอบรมการภาวนา โดยใช้กระบวนการนั่งสมาธิภาวนามาช่วยเรื่องการขัดเกลาจิตใจ เยียวยาจิตใจ อย่างคนที่มีความทุกข์ ความเครียด เขาต้องการพื้นที่มาเยียวยาหรือต้องการผ่อนคลายปล่อยวางจากความคิด การโทษตัวเองให้อภัยตัวเอง มีความกรุณา มีความรักกับคนอื่นและรอบข้าง คนก็มาฝึกเรียนรู้
กลุ่มที่มาเรียนมีทุกช่วงอายุ ตั้งแต่วัยรุ่น กลางคน คนแก่ คนอายุ 70 ปี เป็นการเรียนลักษณะแบบการศึกษาผู้ใหญ่ใครก็สามารถมาเรียนได้ นอกจากนี้ทุกวันอาทิตย์จะเปิดบ้านพักส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า “ติโรปะ” ทำสมาธิภาวนา มีลูกศิษย์และคนทั่วไปที่สนใจและเปิดรับความหลากหลายทางศาสนา และต้องการภาวนามาปฏิบัติกันพอสมควร
วิจักขณ์ เผยอีกว่า เท่าที่ทำมารู้สึกมีความสุข ยืนยันไม่ต้องการชื่อเสียง แต่คิดว่าอยากจะเป็นแรงบันดาลใจฝึกให้คนทำแบบตนเพิ่มขึ้นอีก มีคนที่ฟังคนอื่นและสอนคนอื่นแบบเปิดกว้าง อยากเห็นครูที่มีจิตวิญญาณ อยากเห็นนักข่าวที่มีจิตวิญญาณ อยากเห็นหมอ พยาบาลมีจิตวิญญาณ มาใช้ในชีวิตจริง ซึ่งมีความหวังมากๆ เนื่องจากมีคนสนใจเรื่องเหล่านี้เยอะ เพราะคนเริ่มเหนื่อยหน่ายกับ “ศาสนาพุทธรูปแบบเดิม” คนเลยหาทางเลือกในหลากหลายแบบเพิ่มขึ้น
สำหรับเรื่องการศึกษา วิจักขณ์ มองว่า ถ้าเรามีจิตใจเปิดกว้างรับฟังคนอื่น ก็จะเป็นพื้นที่ที่ดีมากในทางการศึกษา โดยไม่ยึดมั่นอยู่ในกรอบของตัวเอง และเปิดกว้างกับความเป็นไปได้อื่นๆ อยู่เสมอจนไปสู่การแลกเปลี่ยนแบบพลวัต
ปัจจุบัน วิจักขณ์ รับบท “เรือจ้าง” สอนพิเศษอยู่ที่วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนใหญ่สอนระดับ ปริญญาตรี ส่วนวิชาที่สอนจะเกี่ยวข้องกับวิถีพุทธธรรมในโลกสมัยใหม่ พุทธศาสนากับสังคมสมัยใหม่ จิตวิทยากับพุทธศาสนา เจ้าตัวบอกว่า เป็นอาจารย์สอนหนังสือมาหลายปีและยังได้รับเชิญไปสอนตามมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฯลฯ หรือแม้แต่การได้รับโอกาสไปบรรยายพิเศษมานับไม่ถ้วน
นอกจากนี้ยังเป็นคอลัมนิสต์ให้กับมติชน นิตยสาร way และทำหนังสือ แปลหนังสือ เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ปลากระโดด ซึ่งจะพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวข้องกับมิติทางจิตวิญญาณ แปลผลงานจากตะวันตกให้เห็นว่า ศาสนธรรม ศาสนาพุทธ เปิดกว้างและหลากหลายได้ขนาดไหน
ทว่าด้วยความเป็นคนพูดจาตรงไปตรงมาการวิพากษ์วิจารณ์อาจไม่เข้าหูเข้าใจคน จนมองตัวของ วิจักขณ์ ไม่เข้าใจเรื่องศาสนาอย่างแท้จริง เรื่องนี้ วิจักขณ์ สวนตอบด้วยน้ำเสียงเข้มแข็งว่า “ผมไม่แคร์” เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของพุทธธรรม ไม่มีใครเป็นเจ้าของพระพุทธเจ้า สำหรับคนที่คิดว่าเป็นเจ้าของศาสนาแล้วต้องปกป้องศาสนาของเขาเอง และการที่คิดว่าแสดงความคิดเห็นที่เห็นต่าง มีจินตนาการที่แตกต่างเป็นการเรื่องการทำลายศาสนา
“ผมว่ามันเป็นปัญหาของเขาไม่ใช่ปัญหาของผม เพราะผมคิดว่าอยู่ในสังคมประชาธิปไตยที่รองรับเสรีภาพในการนับถือศาสนาและคิดว่างานที่ผมทำเป็นงานสร้างสรรค์ไม่ใช่ทำลาย และผมไม่มีอำนาจไปบังคับใครให้เชื่อตามผม ผมมีแค่สติปัญญา และสองมือในการทำงานเชิงสร้างสรรค์”
วิจักขณ์ เล่าต่อว่า อย่างน้อยสิ่งที่สอนและทำก็เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่สนใจศาสนา เปิดจินตนาการ ก็เหมือนตนเป็นพระป่า เดินร่อนเร่ ไม่มีสำนักอะไร แต่ว่าพบปะผู้คนตลอด ซึ่งมองว่าพลังศาสนธรรมจะเกิดขึ้นจากตัวปัจเจกบุคคล พลังการตื่นรู้
ภาพใหญ่ในศาสนาพุทธของไทย เป็นแบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เหนือมนุษย์ ดังนั้นเวลาคนเข้าหาศาสนาพุทธส่วนใหญ่ก็ไปกราบไหว้พระพุทธรูป ขอหวย กราบไหว้หลวงพ่อที่มีพลังวิเศษดูจิตได้ แก้กรรมได้ และสภาพแบบนี้ทำให้เกิดพระอลัชชี มากกว่าดึงดูดพระที่ดี
“คุณไม่อยากเป็นเหรอ คุณห่มผ้าเหลืองเวลาคุณพูดอะไรทุกคนเชื่อหมดเลย วางตัวให้สุขุม นั่งสมาธิให้ได้นานๆคนก็มากราบคุณ หรือพูดอะไรให้ดูดีนิดนึง ก็กลายเป็นเซเลบขึ้นมา เงินก็ไม่รู้เท่าไหร่ คุณไม่อยากเป็นเหรอ ใครๆก็อยากเป็น มันง่าย”
วิจักขณ์ ย้ำว่า ตนไม่ได้ทำร้ายใคร งานที่ทำมันพิสูจน์ตัวเอง แล้วตัวพุทธธรรมแบบนี้ ถ้าเรามองในมุมที่กว้างจะเห็นเลยว่า สิ่งที่ตนพูดมันนิดเดียว หากเทียบกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ศาสนาพุทธที่เปิดกว้างหลากหลาย เกิดขึ้นในตะวันตก อินเดีย เวียดนาม ญี่ปุ่น เต็มไปหมด เชื่อว่าคนที่มองต่างมีปัญหาความคับแคบของตัวเอง ไม่ใช่ปัญหาของตนที่เปิดกว้าง คนที่เรียนกับตนจะรู้เองว่าสิ่งที่สอนมันใช้ได้จริงหรือไม่
เพราะงอกเงยทางศาสนธรรมหรือที่เรียกว่า Spirituality หรือคุณค่าทางจิตวิญญาณ จะสอดคล้องกับชีวิตของผู้คนสมัยใหม่ “ไม่มีใครสนใจแล้วเรื่องศาสนา แต่เขาสนใจเรื่องจิตวิญญาณ” ทำยังไงให้การดำเนินชีวิตมีแรงบันดาลใจ มีคุณค่า ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม
“เตือนคนที่ทะเลาะกันวนเวียนความขัดแย้งทางศาสนา ขอให้ตระหนักมันไม่ได้เป็นความหวังของคนรุ่นถัดไป แต่คุณกำลังไปทะเลาะกับสิ่งมันจะตาย และสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องเลยกับคนรุ่นหลัง แล้วศาสนาพุทธแบบนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความทุกข์ของผู้คน เพราะฉะนั้นตัวศาสนาพุทธต้องตั้งหลักให้ดี” วิจักขณ์ ฝากถึงสังคม