กางเอกสาร"ทัพเรือ" ทำไมประเทศไทยต้องมีเรือดำน้ำ?
กองทัพเรือเผยแพร่เอกสารชี้แจงความจำเป็นในการมีเรือดำน้ำเนื่องในโอกาส 79ปี วันเรือดำน้ำไทย 4 ก.ย. ด้าน "บิ๊กป้อม" มั่นใจได้ซื้อในรัฐบาลนี้
กองทัพเรือเผยแพร่เอกสารชี้แจงความจำเป็นในการมีเรือดำน้ำเนื่องในโอกาส 79ปี วันเรือดำน้ำไทย 4 ก.ย. ด้าน "บิ๊กป้อม" มั่นใจได้ซื้อในรัฐบาลนี้
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. กองทัพเรือ (ทร.) ได้เผยแพร่เอกสาร "ความจำเป็นในการมีเรือดำน้ำ ในโอกาส 79ปี วันเรือดำน้ำไทย 4 กันยายน" โดยเอกสารดังกล่าว ระบุว่า ความต้องการที่จะมีเรือดำน้ำ เข้าประจำการในกองทัพเรือไทยมีมานานกว่า 100 ปี มาแล้ว
สำหรับเนื้อหาภายในเอกสารดังกล่าวมีดังนี้
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของ จอมพลเรือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงถวายบันทึกรายงานความเห็นเรื่อง เรือ "ส" (หมายถึงเรือดำน้ำ "ส" คือ Submarine) ต่อ นายพลโท พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร เสนาธิการทหารเรือ เมื่อ พ.ศ.2458 ว่าการมีเรือ "ส" ในประเทศไทยมีได้แน่และจะได้ประโยชน์ดังความตอนหนึ่งว่า
“ถ้าเรามีเรือ ส แล้ว ข้าศึกจะต้องนึกถึงเรือ ส ของเราด้วยในเวลาที่เขาจะจัดกองทัพเข้ามาตีกรุงสยามสงครามคราวนี้ได้แสดงให้เห็นความสำคัญของเรือ ส เพราะฉะนั้นเพื่อจะหนีอันตรายเรื่องเรือ ส ข้าศึกคงไม่ส่งเรือใหญ่เข้ามาเพื่อให้เป็นเป้าแก่เรือ ส ได้”
จนกระทั่งกองทัพเรือได้จัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการจากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 4 ลำ ในปี พ.ศ.2477 โดยได้มีการเสนอพระราชบัญญัติบำรุงกำลังกองทัพเรือต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกองทัพเรือ ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการบำรุงกองทัพเรือ และได้คัดเลือกแบบเรือดำน้ำของบริษัทมิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 4 ลำ ซึ่งทั้ง 4 ลำนี้ เป็นเรือดำน้ำขนาดเล็ก สำหรับใช้รักษาชายฝั่ง ได้รับพระราชทานชื่อจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ว่า เรือหลวงมัจฉานุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล
โดย เรือหลวงมัจฉานุ และเรือหลวงวิรุณ ได้ต่อเสร็จสมบูรณ์ก่อนสองลำแรก และได้ทำพิธีส่งมอบให้แก่ กองทัพเรือ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2480 ด้วยเหตุนี้ กองทัพเรือและนักดำเรือดำน้ำแห่งราชนาวีจึงได้ถือเอาวันที่ 4 กันยายน ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกเรือดำน้ำไทย
ในอดีตเรือดำน้ำเคยช่วยทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการถูกยึดครอง และ เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ในกรณีพิพาทไทย–อินโดจีนมาแล้ว และจากประวัติการรบกับฝรั่งเศสจนเกิดยุทธนาวี ที่เกาะช้างที่กองทัพเรือต้องเสีย ร.ล.ธนบุรี ร.ล.ชลบุรี และ ร.ล.สงขลาไปนั้น มีหลักฐานว่าฝรั่งเศสระแวงเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยอย่างมาก หลังจากต่อตีเรือของกองทัพเรือแล้ว จึงรีบถอนกำลังทางเรือกลับทันที
ต่อมาเรือดำน้ำของกองทัพเรือได้ถูกปลดประจำการไปพร้อมกันเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 จึงทำให้ประเทศไทยขาดรั้วที่สำคัญไปหนึ่งด้าน มาเป็นเวลากว่า 64 ปี จึงถือเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางทะเล ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคปัจจุบัน
เรือดำน้ำกับความมั่นคงในสถานการณ์และภัยคุกคามปัจจุบัน
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผลประโยชน์ทางทะเลคิดเป็นมูลค่าประมาณ 24 ล้านล้านบาทต่อปี และนับวันจะทวีมูลค่ามากขึ้นในอนาคต
ดังนั้น การปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยการเสริมสร้างกำลังทางเรือจึงเป็นความจำเป็น เพื่อให้มีกำลังทางเรือที่สมดุลทัดเทียมกันในภูมิภาค หรือ เพื่อให้มีศักยภาพในการรบที่ใกล้เคียงกันหรือเหนือกว่า
ทั้งนี้ในปัจจุบันประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้เสริมสร้างกำลังทางเรือเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกำลังเรือดำน้ำ ทำให้เมื่อเปรียบเทียบขีดความสามารถของกำลังทางเรือแล้ว กองทัพเรือมีความเสียเปรียบอย่างยิ่ง จึงมีความจำเป็นต้องจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการ เพราะการมีเรือดำน้ำเท่านั้น จึงจะรักษาสมดุลย์กำลังทางเรือในการรักษาความมั่นคงทางทะเลในปัจจุบันได้
โดยเรือดำน้ำ ถือเป็นเรือรบที่มีศักยภาพสูงที่สุดในบรรดาเรือรบด้วยกัน เป็นอาวุธที่มองไม่เห็น ตรวจจับยาก ปฏิบัติการได้ไกล และมีอำนาจการทำลายรุนแรง สามารถสร้างความยำเกรงให้กับฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังทางเรือเหนือกว่าอย่างมากได้
เรือดำน้ำจึงเป็นตัวคูณกำลังหรือ Force Multiplier ซึ่งจะเข้ามาเสริมเติมเต็ม ให้กองทัพเรือมีขีดความสามารถครบทุกมิติ คือ ผิวน้ำ ใต้น้ำ และ ในอากาศ ด้วย
คุณสมบัติของเรือดำน้ำ ที่สามารถซ่อนพรางอยู่ใต้น้ำได้ ทำให้ไม่มีใครสามารถหาเจอหรือพิสูจน์ทราบได้ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามกังวลและยำเกรงอยู่ตลอดเวลา ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมของกำลังรบ หากเกิดความขัดแย้งและสถานการณ์ที่อ่อนไหวระหว่างประเทศที่อาจเกิดขึ้นด้วยสาเหตุที่คาดไม่ถึง
ดังนั้น การที่กองทัพเรือมีความพร้อมในการรบทุกๆ ด้าน จะทำให้ประเทศมีความมั่นใจในการรักษาอธิปไตยของชาติได้เป็นอย่างดี
เรือดำน้ำกับผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
ประเทศไทยมีการนำเข้า-ส่งออก สินค้าทางทะเลสูงถึงร้อยละ 95 มีเรือสินค้าผ่านเข้าออกอ่าวไทยปีละประมาณ 15,000 ลำ โดย อ่าวไทย ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางคมนาคม ที่มีการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่สำคัญที่เชื่อมทวีปยุโรป เอเชีย และอเมริกา เข้าไว้ด้วยกัน โดยผ่านทางช่องแคบมะละกา ซึ่งหากเกิดปัญหาการปิดล้อมพื้นที่หรือข้อพิพาททางทะเลไม่ว่าที่ใด ย่อมส่งผลกระทบต่อการคมนาคมทางทะเลโดยตรง ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก
ทั้งนี้อ่าวไทย เป็นพื้นที่ มีความเสี่ยงสูงทางด้านภูมิศาสตร์ในการที่จะถูกปิดอ่าวหรือขัดขวางการใช้เส้นทางเดินเรือ เนื่องจากปากอ่าวมีความกว้างประมาณ 200 ไมล์ทะเล หรือ 400 กิโลเมตร หากเกิดกรณีพิพาทหรือความขัดแย้งกับต่างประเทศขึ้น การถูก ปิดอ่าวจะทำให้การขนส่งทางทะเลสายนี้หยุดชะงักทันที ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดความเสียหาย อย่างไม่สามารถประเมินค่าได้
แม้ว่ากองทัพเรือจะมีเรือผิวน้ำและอากาศยาน ในการสกัดกั้นการรุกรานทางทะเลอยู่แล้ว แต่การประกอบกำลังทางเรือที่สมบูรณ์จะต้องมีครบทั้ง 3 มิติ เพราะในมิติใต้น้ำ ต้องใช้เรือดำน้ำในการปราบเรือดำน้ำด้วยกัน สำหรับยามปกติ เรือดำน้ำจะทำหน้าที่ป้องปรามไม่ให้เรือใดๆ ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามคิดเข้ามารุกรานประเทศไทย เปรียบเสมือนเป็นรั้วให้กับประเทศ เรือดำน้ำจึงเปรียบเสมือนกองกำลังใต้น้ำที่จะสร้างความน่าเกรงขามให้กับประเทศไทย
จากสถานการณ์ปัจจุบันที่หลายคนมองว่าคงจะไม่เกิดสงครามในระยะใกล้นี้ แต่ความขัดแย้งในทะเลยังคงมีอยู่และไม่มีใครยืนยันได้ว่าสถานการณ์จะไม่บานปลายไปถึงขั้นการใช้กำลัง ต่อกันเมื่อใด
การมีเรือดำน้ำจึงเป็นเครื่องมือประเภทหนึ่งที่จะป้องปรามไม่ให้เกิดสงคราม ซึ่งการรักษาดุลกำลังทางเรือในภูมิภาคจึงมีความจำเป็น เพื่อให้มีการยับยั้งชั่งใจในการใช้กำลังทางเรือและนำไปสู่การเจรจาต่อรองที่มีความทัดเทียมกัน
ในแง่ความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ นั้นประเทศไทยมีแผ่นดินติดกับทะเล 2 ด้าน คือ ด้านตะวันตกเป็นทะเลอันดามันและช่องแคบมะละกา ส่วนด้านตะวันออกเป็นอ่าวไทย มีพื้นที่ทางทะเลประมาณ 320,000 ตารางกิโลเมตร มีความลึกเฉลี่ยที่ประมาณ 50 เมตร ความลึกที่สุดอยู่บริเวณกลางอ่าว ประมาณ 85 เมตร ความใสของน้ำสามารถเห็นได้ลึกสุดไม่เกิน 16 เมตร
จากพื้นที่ที่มีบริเวณกว้างและสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการซ่อนพรางของเรือดำน้ำ ทำให้การค้นหาเรือดำน้ำด้วยสายตาจากบริเวณผิวน้ำ หรืออากาศยาน เป็นไปด้วยความยากลำบาก เรือดำน้ำจึงสามารถเข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทยได้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายที่จำเป็นต่อการพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
ในอดีตช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เรือดำน้ำ USS Sealion ของกองทัพเรือสหรัฐฯ เคยเข้ามาจมเรือหลวงสมุย ขณะกำลังลำเลียงน้ำมันจากสิงคโปร์บริเวณอ่าวไทยตอนใต้
ส่วนในปัจจุบันเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของกองทัพเรือสหรัฐซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าในอดีตมาก ก็เข้ามาฝึกกับกองทัพเรือในอ่าวไทยเป็นประจำ โดยสามารถปฏิบัติการใต้น้ำในอ่าวไทยได้โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ทั้งนี้ เรือดำน้ำยุคใหม่ จะมีอุปกรณ์การเดินเรือที่ทันสมัย มีระบบรักษาความลึกขณะดำน้ำโดยอัตโนมัติที่มีความเที่ยงตรงสูง ดังนั้นการปฏิบัติการในเขตน้ำตื้นถือเป็นเรื่องปกติของเรือดำน้ำ เพราะในบางภารกิจเรือดำน้ำจำเป็นต้องเข้าใกล้ฝั่งมาก ในอ่าวไทยมีน้ำลึกเฉลี่ย 50 เมตร จึงไม่ใช่อุปสรรคในการปฏิบัติการของเรือดำน้ำปัจจุบัน และการมองเห็นจากเครื่องบินเมื่อเรือดำน้ำดำลึกกว่า 20 เมตรก็ไม่สามารถมองเห็นได้
จากเหตุผลความจำเป็นที่กล่าวมาทั้งหมดดังที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าการจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการในกองทัพเรือ มีความจำเป็น ในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ด้วยการเพิ่มศักยภาพของกำลังทางเรือของกองทัพเรือให้ทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้าน และรักษาดุลกำลังทางเรือในภูมิภาคให้มีความสมดุล ซึ่งนับว่ามีความคุ้มค่าอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติทางทะเลที่ยั่งยืนตลอดไป
ในอดีตการทำสงครามจะทำกันเฉพาะบนบกกับในทะเลบริเวณเหนือผิวน้ำเท่านั้น ส่วนการรบทางอากาศกับใต้น้ำนั้นยังไม่มีเนื่องจากวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีสมัยนั้นยังไม่มี ความเจริญก้าวหน้าดังเช่นปัจจุบันที่ได้มีการทำสงครามเต็มรูปแบบทั้ง 4 มิติ ดังนั้น องค์ประกอบของกำลังรบในกองทัพปัจจุบัน จึงต้องมีทั้งกำลังทางบก กำลังทางเรือ และกำลังทางอากาศ โดยเฉพาะกำลังทางเรือนั้น ต้องมีทั้งในส่วนของเรือผิวน้ำและเรือดำน้ำ ซึ่งกองทัพในนานาอารยประเทศต่างก็ได้มีการพัฒนากำลังรบดังกล่าวให้มีความเข้มแข็งเพื่อที่จะสามารถปฏิบัติภารกิจในการป้องกันอธิปไตยของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานาวิกานุภาพของกองทัพเรือไทยได้มีการเสริมสร้างกำลังทางเรือ อาทิ เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เรือส่งกำลังบำรุงขนาดใหญ่ เรือฟริเกต เรือคอร์เวต เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง เรือยกพลขึ้นบก เรือล่าทำลายทุ่นระเบิด และกำลังอากาศนาวีอีกจำนวนหนึ่ง เรียกได้ว่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
การที่ประเทศไทยไม่มีเรือดำน้ำนั้น ทำให้เสียเปรียบบางประเทศที่มีเรือดำน้ำ เนื่องจากเรือดำน้ำเป็นอาวุธเชิงรุกที่สามารถข่มขวัญฝ่ายตรงข้ามได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการที่จะส่งเรือรบผิวน้ำเข้ามาประชิดยังทะเลอาณาเขตจึงต้องใช้ความระมัดระวังที่สูงมาก ซึ่งสร้างความหวาดหวั่นแก่ฝ่ายตรงข้ามอยู่ไม่น้อย แม้ว่าเรือดำน้ำจะเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับยุทโธปกรณ์แบบอื่น ๆ
แต่ก็ถือว่ามีความจำเป็นที่รัฐบาลควรจะให้ความสนใจ และจัดหาไว้เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจได้ว่ากำลังทางเรือของไทยจะสามารถปกปักรักษาอธิปไตยของชาติทางทะเลได้อย่างสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม การจัดหาเรือดำน้ำต้องมีการใช้ระยะเวลา เพราะการต่อเรือและการฝึกกำลังพลให้พร้อม ต้องใช้เวลานาน 7 ถึง 10 ปี กองทัพเรือจึงต้องเร่งขจัดความเสี่ยงต่อความล่อแหลมที่อาจจะเกิดขึ้นได้นี้ ด้วยการเริ่มโครงการจัดหาเรือดำน้ำตั้งแต่ปี 2558 นี้ เนื่องจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ล้วนแล้วแต่มีเรือดำน้ำเข้าประจำการเป็นส่วนใหญ่ จึงมีขีดความสามารถที่เหนือกว่ากองทัพเรือไทยไปล่วงหน้า 8 – 10 ปี
ประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันมีเรือดำน้ำประจำการ 6 ลำ และกำลังต่อเพิ่มอีก 2 ลำ
ประเทศเวียดนามสั่งต่อเรือดำน้ำจากรัสเซียจำนวน 6 ลำ ขณะนี้เข้าประจำการแล้ว 4 ลำ
ประเทศอินโดนีเซียมีเรือดำน้ำประจำการ 2 ลำ กำลังต่อเพิ่มที่เกาหลีใต้อีก 3 ลำ
ประเทศมาเลเซียปัจจุบันมีเรือดำน้ำประจำการ 2 ลำ เป็นต้น
กองทัพเรือ ได้เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ ใช้งบประมาณ 36,000 ล้านบาท หากมองระยะยาวเมื่อนับอายุการใช้งานของเรือดำน้ำที่มีอย่างน้อย 30 ปีรวมกับค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการต่อปีแล้ว คิดเป็นเพียง 0.006% ของผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
การจัดซื้อเรือดำน้ำจึงมีความคุ้มค่า เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งหากการคมนาคมขนส่งทางทะเลมีความมั่นคง ก็จะสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจในด้านการลงทุนได้เป็นอย่างดี
สำหรับยามปกติ เรือดำน้ำจะทำหน้าที่ป้องปรามไม่ให้เรือใดๆ ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามคิดเข้ามารุกรานประเทศไทย เปรียบเสมือนเป็นรั้วให้กับประเทศ เรือดำน้ำจึงเปรียบเสมือนกองกำลังใต้น้ำที่จะสร้างความน่าเกรงขามให้กับประเทศไทย จากสถานการณ์ปัจจุบันที่หลายคนมองว่าคงจะไม่เกิดสงครามในระยะใกล้นี้
แต่ความขัดแย้งในทะเลยังคงมีอยู่และไม่มีใครยืนยันได้ว่าสถานการณ์จะไม่บานปลายไปถึงขั้นการใช้กำลัง ต่อกันเมื่อใด
การมีเรือดำน้ำจึงเป็นเครื่องมือประเภทหนึ่งที่จะป้องปรามไม่ให้เกิดสงคราม ซึ่งการรักษาดุลกำลังทางเรือในภูมิภาคจึงมีความจำเป็น เพื่อให้มีการยับยั้งชั่งใจในการใช้กำลังทางเรือและนำไปสู่การเจรจาต่อรองที่มีความทัดเทียมกัน
ทั้งนี้การพิจารณาคัดเลือกเรือดำน้ำของกองทัพเรือ นั่นได้ดำเนินการคัดเลือกเรือดำน้ำ โดยพิจารณาจากความเหมาะสมในหลายๆ ด้านทั้งในด้านสมรรถนะและขีดความสามารถ ความปลอดภัย การบำรุงรักษา ส่วนสนับสนุนบนบก การฝึกกำลังพล และอื่นๆ ที่ประเทศผู้ผลิตจะเสนอภายในวงเงินที่กำหนด
โดยกองทัพเรือได้พิจารณาข้อเสนอจากประเทศต่างๆ รวม 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส รัสเซีย สวีเดน และเยอรมนี
โดยผู้ผลิตจากจีนเป็นรายเดียวที่เสนอเรือดำน้ำ จำนวน 3 ลำ ในวงเงิน 36,000 ล้านบาท
ในขณะที่รายอื่นเสนอเพียงจำนวน 2 ลำ แต่ก็มิได้เป็นเหตุผลเดียว ที่นำมาตัดสิน หากแต่ได้มีการคำนึงถึงในทุกประเด็นที่กล่าวข้างต้น
ในส่วนของสมรรถนะและขีดความสามารถ ของเรือดำน้ำจีนที่กองทัพเรือพิจารณาจัดหานี้ มีระบบ AIP (Air Independent Propulsion) ทำให้สามารถปฏิบัติการใต้น้ำได้นาน โอกาสที่จะถูกตรวจจับจึงต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเรือดำน้ำประเทศอื่นที่อยู่ในน้ำได้อย่างมาก 4-5 วัน จึงต้องโผล่ขึ้นมาทำการชาร์จแบตเตอรี่
แต่เรือดำน้ำจีนสามารถอยู่ใต้น้ำได้เป็นเวลานาน 21 วัน โดยไม่ต้องขึ้นมาจากน้ำ ซึ่งหากในสถานการณ์รบที่ยืดเยื้อ หรือสถานการณ์คับขัน เรือดำน้ำ ที่อยู่ใต้น้ำได้นานโดยไม่ต้องขึ้นมาเปิดเผยตัวจะได้เปรียบทางการรบมากกว่า
นอกจากนั้น เรือดำน้ำจีน ยังมีการติดตั้งระบบอาวุธที่ครบถ้วนหลายชนิดมาพร้อมกับเรือ ได้แก่ อาวุธปล่อยนำวิถีที่สามารถยิงจากใต้น้ำสู่เป้าหมายเรือรบผิวน้ำ และยังสามารถยิงเป้าหมายบนฝั่งได้ รวมทั้งอาวุธตอร์ปิโด และทุ่นระเบิด จึงทำให้มีขีดความสามารถที่สมบูรณ์ที่สุดเมื่อเทียบกับแบบอื่นที่เสนอมา
นอกจากนี้ อุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับกำลังพลในการขึ้นสู่ผิวน้ำแบบฉุกเฉิน ก็ใช้อุปกรณ์ของยุโรป จึงมีความมั่นใจในความปลอดภัยของกำลังพลเช่นเดียวกันกับเรือดำน้ำของยุโรป
สำหรับความปลอดภัยของตัวเรือนั้น เรือเป็นแบบตัวเรือ 2 ชั้น (Double Hull) มีกำลังลอยสำรองสูงกว่าแบบตัวเรือชั้นเดียว (Single Hull) มีการออกแบบผนังกันน้ำภายในเรือและช่องทางออกจากตัวเรือที่สมบูรณ์ และช่องทางออกของเรือดำน้ำสามารถเชื่อมต่อกับยานกู้ภัยใต้น้ำได้ตามมาตรฐานนาโต้ จึงนับว่ามีความปลอดภัยอยู่ในเกณท์ที่ดี
สำหรับในด้านการบำรุงรักษาเรือ ทางบริษัทผู้สร้างเรือจะรับประกันอุปกรณ์ทุกระบบเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งมากกว่าของประเทศอื่นๆ ที่รับประกันเพียง 1 ปี และสนับสนุนอะไหล่เป็นเวลาถึง 8 ปี แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพของอุปกรณ์ต่างๆ นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเรือดำน้ำให้ กำลังพล ทร.อีกด้วย
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้า โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน ของ ทร. ว่า ถ้ามีเงิน ก็ซื้อ ถ้าไม่มีเงิน ก็ไม่ซื้อ
ส่วนจะได้ซื้อในรัฐบาล นี้หรือไม่ นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ก็น่าจะได้นะ ถ้างบประมาณ ผ่าน สภา สนช. ก็ค่อยว่ากัน"