ถอดรหัสสถาปนิกการเมือง สร้างสัปปายะสภาสถาน
การออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่นี้เรียกกันว่า “กระบี่ดาบเดียว” รวมเอาทุกมิติเข้าด้วยกัน อลังการงานสร้างทั้งภายใน ภายนอก ยังมีระบบคมนาคมครบวงจรรองรับทันทีที่สร้างเสร็จในปี 2558....
การออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่นี้เรียกกันว่า “กระบี่ดาบเดียว” รวมเอาทุกมิติเข้าด้วยกัน อลังการงานสร้างทั้งภายใน ภายนอก ยังมีระบบคมนาคมครบวงจรรองรับทันทีที่สร้างเสร็จในปี 2558....
โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม, ธนพล บางยี่ขัน
ทําพิธีวางศิลาฤกษ์ไปแล้ว เมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา ยืนยันว่าอาคารรัฐสภาแห่งใหม่สร้างแน่ หลังจากควานหาสถานที่มายืดเยื้อถึง 15 ปี
พื้นที่สร้างสภาใหม่มีอาณาบริเวณกว้างขวางถึง 119 ไร่ ตั้งอยู่บนบริเวณถนนทหาร (เกียกกาย) เขตดุสิต ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้แบบสถาปัตยกรรมก่อสร้าง “สัปปายะสภาสถาน” ของคณะ “สงบ 1051” ที่ชนะการประกวดโดย “ธีรพล นิยม” สถาปนิกเพื่อสังคมชื่อดัง ส่วนทีมงานก็ล้วนมีผลงานคับแก้วมากมาย ประกอบด้วย เอนก เจริญพิริยะเวศ ชาตรี ลดาลลิตสกุล บุญฤทธิ์ ขอดิลกรัตน์ และปิยเมศ ไกรฤกษ์
รัฐสภาแห่งใหม่กำหนดสร้างเสร็จในปี 2558 โดยใช้งบลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท เริ่มประมูลก่อสร้างต้นปีหน้า
ปักธงศีลธรรม ปลุกขวัญบ้านสร้างขวัญเมือง
ภาพกราฟฟิกรัฐสภาใหม่
อีก 4-5 ปี ประเทศไทยก็จะมีอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่งดงามเป็นเอกลักษณ์เชิดหน้าชูตาชาวโลกได้บ้าง เพราะอาคารรัฐสภาปัจจุบันใช้มา 35 ปี คับแคบจนแทบเน่า ประชุมทีไรไม่ต่างจากตลาดสด รถ ฯพณฯ และเจ้าหน้าที่ผู้ติดตามแน่นเอี้ยดจนไม่มีที่จอด อาคารทำงานของเจ้าหน้าที่สภาก็ต้องไปเช่าอยู่ที่อื่นคนละทิศละทาง
เมื่อรวมพฤติกรรมที่สื่อมวลชนตั้งฉายาให้เป็นสภา “ถีบ เถื่อน ถ่อย” จากภาพลักษณ์ของผู้ทรงเกียรติระดับชาติที่ตกต่ำมาทุกยุค ใช้ภาษาพ่อขุน ชูของลับ ท้าชกต่อย โดดประชุม สภาล่ม ยิ่งน่าอิดหนาระอาใจนัก
“สัปปายะสภาสถาน” เป็นสถาปัตย์ไทยตามคติ “ไตรภูมิ” นอกจากแสดงเอกลักษณ์ทางจิตวิญญาณถึงความเป็นไทย ยังมีความหมายลึกซึ้งเพื่อให้คนไทยและเหล่า ฯพณฯ ที่ดี และพวกเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล นักเลือกตั้งในเสื้อสูทประชาธิปไตย เมื่อเข้ามาอยู่ในสภาจะสำนึกถึง “บาปบุญคุณโทษ” พลิกฟื้นจิตใจผู้คนให้ประกอบกรรมดีขึ้นมาบ้าง
การออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่นี้เรียกกันว่า “กระบี่ดาบเดียว” รวมเอาทุกมิติเข้าด้วยกัน อลังการงานสร้างทั้งภายใน ภายนอก ยังมีระบบคมนาคมครบวงจรรองรับทันทีที่สร้างเสร็จในปี 2558 ทางน้ำมีท่าเทียบเรือประชาชน ทางบกมีประตูเข้าออกสองด้าน ถนนโดยรอบจะขยายใหม่กว้างกว่าเดิม ใต้ดินหรูเลิศด้วยสถานีรถไฟฟ้ารัฐสภาอยู่หัวมุมทางเข้า
ชาตรี อธิบายว่า การออกแบบรัฐสภาใหม่เน้นอุดมคติ 5 เรื่อง คือ ชาติ ศีลธรรม สติปัญญา สถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชน ตอบโจทย์ 4 ข้อ คือ 1.ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมจิตใจที่จะพลิกฟื้นจิตวิญญาณของคนในชาติ ในช่วงที่สังคมเกิดวิกฤต ศีลธรรมขณะนี้ 2.มีอัตลักษณ์เป็นไทย เป็นคุณค่าของแผ่นดิน 3.สร้างความเป็นเอกภาพระหว่างรัฐกับประชาชน และ 4.สร้างสำนึกของการคิดสร้างร่วมกันในสังคมไทย
“ตอนที่เริ่มงานเรานึกถึงรัฐสภาในฝัน เราก็เขียนถึงเรื่องใหญ่ๆ ก่อน เรื่องประชาชน เรื่องชาติ เรื่องอื่นๆ ว่าเราคิดอย่างไร แล้วเราก็ตอบคำถามทีละข้อ จนได้ออกมาว่าสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นต้องเป็นสถานที่ของการประกอบกรรมดี มีศีลธรรม เพราะชาวบ้านเลือก สส. สว. ให้เข้ามาทำความดี”
“แนวคิดประชาธิปไตยแบบตะวันตกต้องการแยกกติกาต่างๆ ออกจากกัน ระหว่างแนวคิดทางจิตใจซึ่งเป็นกติกาที่คลุมเครือ ไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครดี ไม่ดี แต่ของไทยผมยังเชื่อว่าศีลธรรมกับเรื่องการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน แยกไม่ออก ฉะนั้นเราเสนอตรงนี้ก็มีอารมณ์ของการตลาดด้วย หลายคนเห็นว่าบ้านเมืองกำลังมีปัญหา มีวิกฤต คนชั้นกลาง คนทุกชนชั้นใฝ่ฝันถึงศีลธรรม และคิดว่านี่จะเป็นยาวิเศษที่แก้ปัญหาของสังคมได้”
บุญฟทธิ์-ชาตรี-ธีรพล-เอนก
“ธีรพล” หัวหน้าคณะและรองอธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ขยายความว่า สถาปัตยกรรมของสภาใหม่นี้เน้นคุณค่าทางจิตวิญญาณเป็นสำคัญ แบบไตรภูมิที่ใช้เป็นการดัดแปลงเอาคติพุทธให้สังคมรู้จักบาปบุญคุณโทษ ละอายและเกรงกลัวต่อบาป
“เราเห็นว่าวิกฤตวันนี้คือวิกฤตทางจิตวิญญาณ วิกฤตทางศีลธรรม เช่น ที่พูดกันว่าโกงไม่เป็นไร ขอให้ทำงานได้ ซึ่งอันตรายมาก สำหรับสังคมที่จะอยู่กันอย่างมีสติปัญญาและร่มเย็น ที่เราเอาเรื่องไตรภูมิมาใช้ในสภาใหม่ เพื่อปักธงว่าสังคมไทยจะไปกันอย่างไร เชื่อว่าถ้างานสถาปัตยกรรมเป็นการแสดงออกถึงฝ่ายชนชั้นปกครอง เราจะปักธงศีลธรรมขึ้นมาในบ้านเมือง การใช้ไตรภูมิมันเป็นการสร้างขวัญบ้านขวัญเมือง ในยามที่ประเทศเกิดวิกฤต”
องค์ประกอบไตรภูมิใน “สัปปายะสภาสถาน” ธีรพล ยกตัวอย่าง กำแพงแก้วส่วนบน 4 ด้าน เป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญาแก่นแท้ของสังคมไทย ซึ่งประชาชนจะเดินขึ้นไปสัมผัสได้
ส่วน บุญฤทธิ์ จากบริษัท แปลน แอสโซซิเอทส์ เสริมว่า “อาคารสถาปัตยกรรม” จะตอบโจทย์เรื่องจิตวิญญาณของผู้มาใช้โดยตรงว่า คุณคือผู้ควบคุมกลไกระดับประเทศ ขณะเดียวกันอาคารแห่งนี้ก็มีมิติด้านกว้าง คือ มิติความเป็นชาติ หรือความเป็นไทย ไม่ได้หมายถึงแค่ สส. สว. รัฐบาล หรือทั้งสามอำนาจ
สภาใหม่-พิพิธภัณฑ์ชาติ สนามหลวง-สวนสาธารณะ
นอกจากนี้ สภาใหม่ยังเชื่อมโยงกับบริบทของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำงานร่วมกันกับเส้นขอบฟ้าของกรุงเทพฯ เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำแห่งชาติ และแม่น้ำเป็นตัวที่จะปฏิสัมพันธ์กับสถาปัตยกรรมเชิงจิตวิญญาณได้ดี ไม่ว่าวัดอรุณ วัดพระแก้ว พระราชวัง ซึ่งมันหยุดไปนานแล้ว การที่จะเกิดขึ้นอีกครั้ง ควรจะเกิดอย่างมีเหตุผลกับสถาปัตยกรรมเชิงศีลธรรมและความเป็นไทยของรัฐสภาไทย
“เรากำลังพูดถึงเรื่องความเป็นชาติ ความปรองดอง ตรงนี้จะตอบได้ทั้งมิติของ 3 อำนาจที่กุมกลไกประเทศ และตอบได้ถึงความเป็นชาติ เป็นการรวมกันแบบโฮลอินวัน”
แบบภายในอาคารยังสะท้อนความหมายอื่นอีก ดังที่ชาตรีกับธีรพลร่วมกันอธิบายว่า แกนกลางของอาคาร หมายถึง แกนกลางของความเป็นชาติ จะมีทั้งส่วนที่เป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และตรงยอดบนสุดจะเป็นโถงพระราชพิธีสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาเปิดประชุมรัฐสภา โดยไม่ต้องใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้จะอัญเชิญพระสยามเทวาธิราชซึ่งเป็นองค์จำลองที่รัฐสภา ไปประดิษฐานไว้ส่วนยอดสุดของอาคารรัฐสภา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจคนทั้งชาติ
ภาพกราฟฟิกภายในห้องประชุมรัฐสภาใหม่
สำหรับห้องประชุม สส. และ สว. จะสร้างแยกไว้สองปีก ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีชื่อว่า ห้องประชุมพระสุริยัน สะท้อนถึง “ความร้อน” ต้องใช้พลังสติปัญญา หนักหน่วงยาวนาน ห้องประชุมวุฒิสภาชื่อ ห้องประชุมพระจันทรา เน้นโทนเย็นนุ่มนวล ทั้งพระอาทิตย์และพระจันทร์เป็นต้นเหตุของพลังในการเคลื่อนสู่ความเจริญ เป็นการโน้มน้าวจิตใจให้ สส. และ สว. เห็นความสำคัญว่าภารกิจของเขาเทียบเท่ากับพระจันทร์และพระอาทิตย์ต้องทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพเหมือน “หยิน-หยาง”
ส่วนตรงกลางมีเมมเบอร์ ฮอลล์ ที่เหมือนจะเอื้อมมือมาจับโอบล้อมความเป็นชาติไว้ ข้างบนจะเป็นตัวสำนักงาน มีพิพิธภัณฑ์อยู่รอบๆ ส่วนบนสุดเป็นพิพิธภัณฑ์ชาติไทย จะเปิดให้เยาวชนคนในชาติเข้าชม เพื่อตระหนักว่าบรรพบุรุษของเรามีดีอะไรที่สามารถสร้างและรักษาชาติได้ถึงทุกวันนี้ เด็กดูแล้วจะรู้สึกรักประเทศไทย ซึ่งบ้านเราไม่ค่อยมี
บุญฤทธิ์ บอกว่า คนภายนอกมักเข้าใจว่ารัฐสภาคือที่ของ สส. สว. แต่แท้จริงแล้วรัฐสภาเป็นแหล่งรวมศูนย์เรียนรู้ทุกอย่าง จึงออกแบบให้มีพิพิธภัณฑ์ มีศูนย์ประชุม สัมมนา สามารถนำประชาชนเข้ามาจัดอบรมให้ความรู้ มีสโมสรจัดเลี้ยงระดับประเทศ ห้องทำงาน สส. สว. ครบครัน
“สัปปายะสภาสถาน” ถูกออกแบบเพื่อรองรับคน 5,000 คน ทั้ง สส. สว. ครม. ผู้ติดตาม ผู้ชี้แจง ข้าราชการ สื่อมวลชน จึงต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับใหญ่มาก ไม่ว่าส่วนจัดเลี้ยง โรงยิม สนามบาสเกตบอล ลู่วิ่ง คลับเฮาส์ ตลอดจนระบบรองรับต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้าย่อย ระบบเครื่องปรับอากาศประหยัดพลังงาน โรงเพาะชำขยะชั้นใต้ดิน
“รัฐสภาต้องเป็นสถานที่ให้ประชาชนเยี่ยมเยียนได้ตลอดเวลาเหมือนสนามหลวง สามารถเดินมุดเข้าไปข้างใต้พิพิธภัณฑ์ทะลุริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยไม่ต้องแลกบัตร เราจะมีพื้นที่ไว้ให้ประชาชนสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ ใครมายื่นหนังสือจะมีลานประชาสาธารณะอยู่หน้าอาคารสภา มีห้องอาหาร |มีห้องอาบน้ำไว้ดูแลม็อบ” ชาตรี ระบุ
ส่วน ธีรพล ฝันอยากเห็นประชาชนมาเยี่ยมชมเหมือนชุมชนเล็กๆ ซื้อของ กินข้าวในและรอบสภาข้างขอบแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะเปิดให้ประชาชนเข้ามานั่งชมทัศนียภาพได้ “เรายังฝันที่จะทำทางขึ้นไปส่วนยอดพระสุเมรุ ไม่ใช่ขึ้นเมรุนะ (หัวเราะ) แต่ก็จะมีลิฟต์สูงสุด 12 ชั้นรองรับไว้ ตอนเย็นถ้ามีคนขึ้นมาดูวิวเราจะดีใจมากเลย เราต้องการให้สภาเป็นเหมือนปอด หรือสวนสาธารณะในสภา นี่คือ Hidden Agenda ของเรา
เป็นมิตรรับทุกม็อบ 3 ด่านสกัดถึงอาคาร
ในแง่การป้องกันม็อบบุกสภา ยุทธภูมิสภาใหม่น่าจะเป็นคำตอบได้ระดับหนึ่ง เพราะด้านหลังติดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา หนีได้สบายมาก ต่างจากสภาปัจจุบันที่ออกได้เพียง 2 ทาง ม็อบมาทีไรสยองกันทั้งสภา
ชาตรี บอกว่า ได้วางระบบรักษาความปลอดภัยไว้ 3 ส่วนใหญ่ คือ 1.โครงสร้างกายภาพที่เราออกแบบไว้ป้องกันม็อบ 2.การจัดการ และ 3.ระบบเทคโนโลยีของฝ่ายรักษาความปลอดภัย “เราต้องการให้สภาเป็นมิตร เราจึงไม่มีรั้ว รั้วของเราเป็นน้ำกว้าง 13 เมตร ถ้าม็อบจะบุกก็ต้องว่ายน้ำข้ามมา นี่คือด่านที่หนึ่ง ถ้าหลุดเข้าถึงอาคารได้ ก็มีบ่อน้ำป้องกันรอบสภาอีก หลังจากน้ำก็มีเหว คือ เป็นหลุม เข้าอาคารไม่ได้นอกจากต้องมุดลอด แล้วเวลาที่ประชาชนกับ สส. เดินลอดผ่านกันก็จะไม่เจอกัน คล้ายๆ ระบบในศาลที่ผู้ต้องขังกับผู้พิพากษาเดินผ่านกันได้ไม่เจอกัน”
ถ้าเจอระเบิดคาร์บอมบ์ หรือถึงขั้นการปองร้าย อาคารรัฐสภาเนื้อที่ 3 แสนตารางเมตร จะมีระบบตรวจหลายชั้นตามแต่เหตุการณ์ ยังมีอุปกรณ์ช่วยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และโปรแกรมที่ใช้จัดการในช่วงเวลานั้นๆ
บุญฤทธิ์ ขยายความว่า มีทีมดีไซน์ระบบรักษาความปลอดภัยโดยตรง โดยยึดสมมติฐานต่างๆ ทั้งจากเหตุการณ์ม็อบปิดสภา หลักการจะเป็นทั้ง Passive และ Active สามารถป้องกันอันตรายไม่ให้เข้ามากระทบอาคารได้ แต่ถ้าเกิดมีระเบิดเข้ามาตัวอาคารก็รองรับแรงระเบิดได้ถึง 3 กิโลเมตร
“จริงๆ เราสามารถออกแบบรองรับระเบิด 10 กิโลก็ได้ แต่มันจะแพงมหาศาล”
ถามถึงห้องลึกลับทางหนีใต้ดินว่ามีหรือไม่ คณะ “สงบ 1051” บอกว่า ไม่มี เพราะการสร้างสภาใหม่ก็เพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติ
สำหรับ ธีรพล ในฐานะพี่ใหญ่ที่เชิญทีมงานมาร่วมให้สัมภาษณ์ “โพสต์ทูเดย์” ด้วย เพราะอยากให้คนเล็กๆ ได้พูดบ้าง
สำหรับตัวเขาเป็นผู้วางรากฐานร่วมก่อตั้งบริษัท แปลน อาคิเต็ค ตั้งแต่ปี 2518 จนวันนี้คว้ารางวัลการออกแบบ “สถาปัตยกรรมดีเด่น” จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ หลายโครงการ และยังเป็นนักกิจกรรมตัวยงตั้งแต่เรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยและสถาปัตย์ จุฬาฯ
ธีรพล ย้ำอีกครั้ง สถาปัตยกรรมสามารถโน้มน้าวจิตใจคนได้ระดับหนึ่งจึงพยายามสร้างปัจจัยภายนอกที่เป็นเงื่อนไขทำให้จิตใจพัฒนาไปสู่สิ่งที่สูงส่ง อยู่ที่ว่าใครจะได้ประโยชน์จากสัปปายะสภาสถานมากน้อยแค่ไหน
ตบท้ายที่ ชาตรี สถาปนิกรุ่นใหม่ผู้มีผลงานดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ มองว่าสถาปัตยกรรมนี้สร้างขึ้นบนความรู้สึกของประชาชนทั้งชาติที่รู้สึกว่ารัฐสภาเป็นที่ประกอบกรรมดี มีศีลธรรม แต่จะส่งผลสำหรับคนที่อยู่หรือไม่ก็ต้องอาศัยกระแสช่วยด้วย
“สถาปัตยกรรมรัฐสภาทั่วโลกพยายามพูดถึงปรัชญาของประชาธิปไตยในประเทศนั้นๆ เช่น เยอรมันจะพูดถึงความโปร่งใส จะให้คนเดินไปข้างบน มองดูการประชุมได้ ส่วนของเราเป็นสิ่งที่อยู่ในเนื้อของสังคมไทย ถ้าเราเรียกความรู้สึกนี้ขึ้นมาได้ มันจะส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ นี่เป็นการคิดฝันที่ใหญ่ แต่พวกเราก็ไม่มีใครประกันได้ว่ามันจะเป็นอย่างนั้น”
นี่เป็นฝันที่ยิ่งใหญ่ของคณะสถาปนิกการเมืองผู้สร้างสภาใหม่ที่ซ่อนนัยบาปบุญคุณโทษเอาไว้ ให้ ฯพณฯ ผู้ทรงเกียรติได้สำนึก...