posttoday

มหากาพย์รถเมล์ใหม่ "ซื้อทั้งทีขอให้ดีกว่าเดิม" จากใจคนใช้งานถึงขสมก.

06 พฤษภาคม 2560

ฟังเสียงสะท้อนประชาชนและพนักงานทั้งคนขับและกระเป๋ารถเมล์ ต่อประเด็น "การจัดซื้อรถเมล์ใหม่" ที่กินเวลานานแสนนาน

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

แอร์เสีย รถสั่น เครื่องดัง เบาะขาด หน้าต่างเปื้อน เหล่านี้คือสภาพของรถเมล์จำนวนมากในกรุงเทพมหานคร

ขณะที่คนกรุงกำลังเผชิญกับภาวะนี้ อีกด้านหนึ่งที่ท่าเรือแหลมฉบัง มีรถเมล์คันใหม่เอี่ยม สีฟ้าสดใสเกือบ 500 คันถูกจอดทิ้งไว้ เนื่องจากมีปัญหาข้อพิพาทระหว่างบริษัทผู้นำเข้ากับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

เมื่อรถใหม่ยังไม่ได้ใช้ รถเก่ายังต้องฝืนสังขารต่อไป ฝันร้ายเลยตกอยู่กับพี่น้องประชาชน พนักงานและกระเป๋ารถเมล์

รถเก่ายังดี–รถใหม่น่าเป็นห่วง

ปัจจุบันรถเมล์ของ ขสมก. มีให้บริการด้วยกัน 3 ลักษณะ ได้แก่ รถร้อนสีครีมแดง อายุการใช้งาน 26 ปีเข้าประจำการเมื่อปี 2534, รถปรับอากาศสีครีม-น้ำเงิน อายุ 22 ปี ประจำการเมื่อราวปี 2538 และรถปรับอากาศสีส้ม-ยูโรทู ชุดแรกมีอายุ 19 ปี ชุดสองมีอายุ 15 ปี 

สิ้นเสียงประตูกระแทกดังปังของรถเมล์ร้อนสีขาว-แดงรุ่นอีซูซุสาย 95 มณี พวงเเก้ว พนักงานขับรถวัย 53 ปีบอกว่า ถึงแม้รถจะผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน แต่ถึงวันนี้สมรรถนะยังยอดเยี่ยม แทบไม่เคยเกิดปัญหา เนื่องจากช่างติดตามซ่อมบำรุงอย่างสม่ำเสมอ 

“ผมขับมาตั้งแต่วันแรกของรถคันนี้ เจอปัญหาน้อยมาก ท่อหม้อน้ำรั่วและยางแตกแค่ครั้งเดียว เห็นรถเก่าๆ แต่สภาพยังดี คล่องตัว แข็งแรง พวงมาลัยอาจจะหลวมไปบ้างตามอายุ แต่แจ้งช่าง เขาก็ปรับปรุงแก้ไขได้รวดเร็ว เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่กระทบกับความปลอดภัย ลองสังเกตได้เลยรถของของขสมก. ถ้าเป็นอีซูซุ น้อยมากที่จะเสียระหว่างทาง ไม่เหมือนกับพวกรถร่วมเอกชน พวกนั้นเขาซ่อมกันเอง เนื้อตัวคนขับมอมแมมเลยเห็นไหม”

มณี บอกว่า ปัญหาที่ชัดที่สุดของรถเก่าก็คือสภาพควันดำจากท่อไอเสียโดยเฉพาะเมื่อรถรับน้ำหนักจากจำนวนผู้โดยสารที่หนาแน่น ทำให้ช่วงเร่งเครื่องมีไอเสียออกมามากเกิดเป็นมลพิษทางอากาศให้กับกรุงเทพฯ

ทำงานมาเกือบ 30 ปี สิ่งที่ผู้ชายคนนี้อยากแนะนำก็คือ  ควรเปลี่ยนรถร้อนเป็นรถปรับอากาศหมดทุกคันเนื่องสภาพอากาศที่ร้อนจัดนั้นส่งผลกระทบในแง่ลบทั้งต่อพนักงานและประชาชน นอกจากนี้ขนาดความสูงของบันไดขึ้นลงก็เป็นรายละเอียดสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร

“บ้านเราเป็นเมืองร้อน แถมสมัยนี้รถติดมาก มีผลต่ออารมณ์และการทำงาน ทั้งคนขับ กระเป๋า และผู้โดยสาร บางวันเป็นลมบนรถเลยก็มี อีกอย่างคือบันไดขึ้นลง ถ้าปรับให้ต่ำหน่อย ก้าวง่ายขึ้นก็จะดีมากสำหรับผู้หญิงและคนสูงอายุ ช่วงคนเยอะแย่งกันก้าว สายตาเอาแต่มองที่นั่งว่างๆ ก้าวพลาดกันบ่อย”

มหากาพย์รถเมล์ใหม่ \"ซื้อทั้งทีขอให้ดีกว่าเดิม\" จากใจคนใช้งานถึงขสมก.

พล ด่านลำมะจาก อายุ 52ปี โชเฟอร์รถปรับอากาศสีน้ำเงิน-ครีม สาย 543 บอกว่า จากประสบการณ์ของคนขับ รถเมล์เบอร์หนึ่ง คือ อีซูซุ เนื่องจากสมรรถนะเยี่ยม ช่วงล่างแน่น ระบบเบรคดี มีช่างซ่อมบำรุงสม่ำเสมอและใช้งานได้ดีต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้

“กล้าพูดเลยตัวนี้ดีสุด สีน้ำเงินครีม ความยาวตัวรถสมดุล แอร์เย็น ระบบเบรคเยี่ยม ช่วงล่างดี วิ่งไกลๆ ยึดถนนดีมา คันนี้ยังแกร่ง ลองไปดูรถรุ่นหลังๆ จากจีนของรถร่วมเอกชนสิ ยังไม่ถึง 10 ปีสภาพไม่เหลือแล้ว แอร์ไม่เย็น ตัวนี้โอ้โห คนนั่งบอก รถอะไรจะหนาวขนาดนี้”

พนักงานมากประสบการณ์รายนี้ บอกว่า แม้จะอยากได้รถใหม่แต่ค่อนข้างเป็นกังวลว่าแนวทางที่ภาครัฐสนับสนุนให้ใช้รถเมล์เอ็นจีวีจะกลายเป็นปัญหาต่อการใช้งานและซ่อมบำรุง เนื่องจากยังมั่นใจว่าการขับเคลื่อนด้วยน้ำมันนั้นดีกว่า

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ สุชาติ น้อยไม้กรุด พนักงานขับรถวัย45 ปี ประจำรถปรับอากาศสีส้มยูโรทูสาย 129 ที่ยืนยันว่า การขับเคลื่อนด้วยน้ำมันดีสุด เวลากว่า 20 ปีพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าปัญหาน้อย ยิ่งหากมองบริษัทอื่นๆ ที่นำรถก๊าซเข้ามาใช้จะเห็นเลยว่าปัญหานั้นแตกต่างกันมาก

“รถก๊าซแรกๆ มาสวยงาม แต่ผ่านไป 3-4 ปี สภาพเริ่มแย่แล้ว ช่วงล่างดูไม่ดี เห็นขับเด้งๆ ประจำ รถเมล์มันไม่ค่อยได้พัก เพราะงั้นเอารถก๊าซมาอาจเป็นปัญหาได้ บางทีจอดไม่กี่ชั่วโมงต้องออกไปอีกแล้ว เรื่องตำแหน่งการวางเบาะก็ไม่เหมาะกับคนนั่ง ยิ่งข้างหลังยิ่งลำบาก”

สุชาติ บอกอีกว่า หากเลือกได้อยากได้รถที่มีสมรรถนะดีมีระบบจีพีเอส สะดวกสบายสำหรับคนขับและนั่ง แม้อะไหล่จะแพงแต่ก็น่าลงทุนกว่าการไปซื้อรถเมล์ที่สภาพทรุดโทรมรวดเร็วและต้องซ่อมบำรุงบ่อย

มหากาพย์รถเมล์ใหม่ \"ซื้อทั้งทีขอให้ดีกว่าเดิม\" จากใจคนใช้งานถึงขสมก.

สุระ แฝงด่านกลาง พนักงานขับรถประจำรถปรับอากาศสีส้มยูโรทู เผยว่า นอกจากรถใหม่แล้ว สิ่งที่คนขับต้องการก็คือ ประกันภัยชั้น 1 ที่จะสร้างความเชื่อมั่นในการทำงานได้มากกว่าปัจจุบันที่เป็นชั้น 3 ขณะเดียวกันยังฝากไปถึงพี่น้องประชาชนด้วยว่า เมื่อได้ใช้รถใหม่แล้ว ขอทุกคนร่วมดูแลรักษาไปพร้อมๆ กัน

“คนใช้ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้รถเมล์โทรมถึงเวลาเปลี่ยนทัศนคติและร่วมกันบำรุงรักษารถไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ชอบกรีด ชอบเขียน ทำลายเบาะ พฤติกรรมแบบนี้ต้องเลิก เพราะมันทำให้ของสาธารณะเสื่อมโทรม”

ด้านพนักงานเก็บค่าโดยสารสาวประจำสาย 543 บุญช่วย ถาวรบอกว่า โครงสร้างรถเมล์ในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นปัญหาต่อการยืน เดิน และพยุงตัวในการทำงาน ที่ผ่านมากว่า 20 ปี รถสีน้ำเงิน-ครีมยังคงทำหน้าที่ได้ดี

“สำหรับกระเป๋า เรื่องสำคัญก็คือการทรงตัว เราสัมผัสได้ว่ารถรุ่นนี้ยังโอเค ถามว่าอยากได้คันใหม่ไหม อยากได้ แต่กังวลว่าจะไม่ทนเท่าคันนี้ ยิ่งรถก๊าซจากประเทศจีน บางคันไม่กี่ปีแอร์ไม่เย็นแล้ว ช่วงอากาศร้อนๆ นี่ไม่ต้องคิดเลย”

กัญจนา แสนหลวง สาวใหญ่ประจำรถร้อนสีครีมแดงสาย95 บอกว่า รถยังคงยอดเยี่ยม ปัญหาน้อยมากจนแทบนึกไม่ออกว่าครั้งสุดท้ายนั้นเสียหายเมื่อไหร่ เพราะช่างมีการติดตามดูแลเสมอ สิ่งที่อยากได้มากที่สุดก็คือ การติดตั้งพัดลมให้กับรถร้อนทุกคัน

“อยากให้ติดตั้งพัดลมทุกคัน คนใช้งานน่าจะสบายมากขึ้น ประชาชนและเราจะได้ไม่หงุดหงิดเวลาร้อนๆ หรือรถติด”

ทั้งนี้ช่างซ่อมบำรุงรถเมล์รายหนึ่งบอกว่า หากบริษัทผู้ดูแลรถเมล์มีการตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอ ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์อย่างมีมาตรฐาน รถอายุ 20 ปีก็ไม่เป็นปัญหา รถส่วนใหญ่ของ ขสมก. อุปกรณ์ภายในปรับเปลี่ยนให้อยู่ในสภาพดีมาตลอดอยู่แล้ว

“บอกยากว่าอุปกรณ์ชิ้นไหนเสียหายบ่อยที่สุด หากปรับเปลี่ยนดูแลตามอายุการใช้งาน ตามระยะทาง มันไม่มีปัญหาหรอก อายุเกิน 20 ปีก็ไม่มีปัญหา ถึงเวลาเราเปลี่ยนเลย ไม่ต้องรอให้เสีย ทำงานเชิงรุก ไม่ใช่เชิงรับ ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าเขาเอาใจใส่มากน้อยแค่ไหน” ช่างซ่อมประจำอู่รถเมล์ระบุ

มหากาพย์รถเมล์ใหม่ \"ซื้อทั้งทีขอให้ดีกว่าเดิม\" จากใจคนใช้งานถึงขสมก. รถร้อนสีครีมแดงที่ปัจจุบันอายุการใช้งานล่วงเลยมา26ปีแล้ว ขณะที่พนักงานเก็บค่าโดยสารให้ความเห็นว่าควรติดพัดลมทุกคันเพื่อบรรเทาความร้อนขณะใช้บริการให้กับผู้โดยสาร

แอร์เย็น ตำแหน่งที่นั่งดี กระจกสดใส

ความต้องการของประชาชนคนเดินทางนั้นเป็นเรื่องที่หนีไม่พ้นต้องรับฟัง..

อมรรัตน์ วิโล สาวออฟฟิศวัย 28 ปี บอกว่า พูดแบบยุติธรรม รถ ขสมก. โดยเฉพาะรถปรับอากาศยังมีสภาพที่พอรับได้อย่างน้อยๆ ก็ดีกว่ารถร่วมเอกชน แต่ในฐานะคนใช้ก็หวังได้นั่งรถใหม่ โดยรูปแบบและลักษณะที่อยากได้คือ เครื่องปรับอากาศดี ทางขึ้นลงสะดวก ที่สำคัญมีตำแหน่งการนั่งที่เหมาะสม ไม่มีบันไดหรือเบาะที่ทำให้รู้สึกอึดอัด

“อยากนั่งรถใหม่ แต่มันเลือกไม่ได้ ถ้าจะมีก็ขอให้แอร์เย็น นั่งสบาย ไม่ใช่บางคัน จะนั่งข้างหลังต้องก้าวขึ้นบันไดงอเข่านั่ง คับแคบมาก ซื้อทั้งทีขอให้คำนึงถึงการใช้งาน ไม่ใช่คิดเอาแต่ราคาถูกอย่างเดียว”

เรื่องสำคัญที่ขสมก.และผู้มีอำนาจตัดสินใจไม่ควรมองข้ามก็คือ กระจกรอบด้านรถเมล์ที่ปัจจุบันหลายคันคำนึงถึงธุรกิจมีการติดแผ่นโฆษณาเต็มพื้นที่ ส่งผลให้การมองเห็นสถานที่ปลายทางของผู้ใช้งานมีปัญหา

“บางที่เราไม่ค่อยได้ไป ต้องคอยมองทางตลอด แต่มันมองลำบาก เพราะติดแผ่นโฆษณา จริงๆ กระจกควรจะใส และไม่เป็นปัญหาต่อการมอง”

ณัฐพล กันศิริ อายุ 21 ปี นักศึกษา บอกว่า รู้สึกเสียประโยชน์ที่ยังไม่ได้นั่งรถเมล์ใหม่เนื่องจากมีปัญหาในระดับการจัดซื้อจัดจ้างและตรวจสอบ อนาคตต้องการให้รถเมล์ทุกคนมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่เพียงแค่รถของ ขสมก. เท่านั้น

“ถ้าเป็นของขสมก. อย่างรถปรับอากาศยูโร ผมว่ายังดีอยู่ สบายๆ แอร์เย็น ตัวใหม่ที่จะซื้อก็ขอให้คงมาตรฐานไว้และพัฒนาเพิ่มเติม อยากให้ทุกคันมีแอร์หมด พวกรถร้อนก็เอาไปทำเป็นรถเมล์ฟรีเพื่อบริการประชาชน ส่วนพวกรถร่วมฯ ผมอยากให้มีมาตรฐานกว่านี้ สะอาด สบาย และปลอดภัย เท่าเทียมกับบริการจากขสมก.”

ด้าน ธีรพันธ์ ลิ้มมหาคุณ นักออกแบบตกแต่งภายในวัย 27 ปี  แสดงความต้องการ 5 ข้อหลักจากหัวใจคนเดินทาง

1.รถเมล์ใหม่ควรจะมีทางขึ้นลงที่เหมาะสมกว่าปัจจุบันที่หลายรุ่นบันไดไม่เท่ากัน บางคันสูงมาก อยากให้การออกแบบคำนึงถึงความสอดคล้องกับพฤติกรรมคนใช้งานจริง ขณะเดียวกันทางขึ้นลงหรือชานพักควรกว้างและราบเรียบเท่ากันกับระดับความสูงของทางเท้า

2.ประตูรถเมล์ หากเป็นไปได้อยากให้มีระบบเหมือนในประเทศสิงคโปร์ ชำระค่าโดยสารอัตโนมัติทางประตูหน้าและเดินลงประตูกลางลำตัวรถ ทำให้ทุกคนปฏิบัติตามกฏอย่างเป็นระเบียบ แก้ปัญหาผู้คนแย่งกันขึ้นลงได้มาก

3.รถเมล์ควรออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานสำหรับผู้คนทุกประเภท ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้พิการ ต้องรองรับได้หมด บ้านเราควรคำนึงตรงนี้ให้มากเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว

4.วัสดุพื้นรถเมล์ ไม่น่าจะใช้ไม้ที่ผุพังง่ายพื้นที่ดีควรจะกันลื่นและคำนึงถึงการยืนทรงตัว เช่นกันกับราวจับที่ต้องคิดให้รอบคอบและเป็นประโยชน์ต่อการใช้งานจริง

5.ระบบ จีดีเอส กับ แอพพลิเคชั่น ถึงเวลาที่เมืองไทยควรมีได้แล้ว เพื่อให้ประชาชนสามารถคำนวณหรือประมาณเวลาในการเดินทางได้ ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตในส่วนอื่นๆ อีกมาก

“การรอคอยโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กอย่างทางเท้าและรถเมล์ที่ดีอย่างยาวนาน สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ร่วมมือกันของแต่ละหน่วยงาน รวมไปถึงความด้อยพัฒนาของระบบขนส่งมวลชน” ชายหนุ่มบอกด้วยสีหน้าเบื่อหน่าย

ทั้งนี้การคัดสรรรถเมล์จำเป็นต้องมองอย่างรอบด้าน ตัวอย่างเช่นออสโล เมืองหลวงของประเทศนอร์เวย์ ที่เลือกใช้รถเมล์ที่มีประตูถึง 4 ช่องทางเพื่อให้ประชาชนเข้าออกอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพย่นระยะเวลาการจอดแต่ละป้าย เพราะถ้าการหยุดแต่ละป้ายใช้เวลานานจะส่งผลให้การเดินทางด้วยรถเมล์นั้นนานไปด้วย จนในที่สุดผู้คนก็จะเลือกใช้รถยนต์แทน

มหากาพย์รถเมล์ใหม่ \"ซื้อทั้งทีขอให้ดีกว่าเดิม\" จากใจคนใช้งานถึงขสมก. รถปรับอากาศสีส้ม ยูโรทู ที่มีอายุการใช้งานเกือบ20ปีแล้ว

ความล่าช้าของรัฐ = ความเจ็บปวดของประชาชน

ทีมงานเฟซบุ๊กเพจ “รถเมล์ไทย.คอม Rotmaethai.com” เเสดงความเห็นว่า การที่ภาครัฐปล่อยให้ประชาชนต้องนั่งรถเมล์ซึ่งถูกใช้งานมาหลายสิบปี สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำงานของ ขสมก. ที่ดำเนินโครงการเพียงเรื่องเดียวใช้เวลานานกว่า 10 ปีโครงการยังไม่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่รถไฟฟ้าแล้วเสร็จเปิดใช้งานไปถึง 4 สาย

“ขสมก. ผิดพลาดในการบริหารจัดการรถ ขาดการวางแผนที่รอบคอบ มีการปล่อยรถไม่เต็มกำลัง มีการปลดระวางรถเก่าที่ยังวิ่งได้ และการที่ช่างซ่อมบำรุงไม่ซ่อมบำรุงรักษารถเก่า เพียงเพื่อรอรถเมล์ใหม่เข้ามาแทนที่ เมื่อรถเมล์ใหม่ยังไม่มา ในขณะที่รถเก่าบางส่วนปลดระวางไปหรือไม่ซ่อมแซมให้รถออกมาวิ่งได้ ย่อมทำให้รถเมล์ไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน”

นอกจากนั้นในฐานะที่ติดตามความเคลื่อนไหวของรถเมล์ไทยมาตลอด เขาบอกว่า ความล่าช้าของการพัฒนาสะท้อนไปไกลถึง ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเป็นระบบซึ่งยังมีอยู่ดังที่เป็นข่าว หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการปราบปรามการทุจริต ปฏิบัติงานช้า ไม่รู้เท่าทันวิธีการทุจริตตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาครัฐในเวลาต่อมา

ความล่าช้าของภาครัฐ และนโยบายรัฐที่ไม่ชัดเจน ไม่เด็ดขาด ทำให้ประชาชนขาดโอกาสในการใช้ระบบขนส่งที่ดี ราคาเหมาะสม ซึ่งเป็นระบบขนส่งสาธารณะขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงได้ ผลก็คือประชาชนใช้รถเมล์เก่าต่อไป โดยที่สภาพรถหลายสายไม่เต็มร้อย

“วิ่งๆ ไปแล้วรถเสียกลางทาง ทำให้เสียเวลาในการรอรถคันหลัง เมื่อรถเสีย ทำให้รถในสายมีจำนวนลดลง ประชาชนก็รอรถเมล์นานขึ้น ไม่ใช่แต่รถ ขสมก. ที่รอนาน ในบางสายของรถร่วมฯ ก็รอนานมากขึ้นด้วย เมื่อรอรถนานมากๆ คนก็หนีไปใช้ระบบขนส่งมวลชนอย่างอื่นหรือหันไปซื้อรถส่วนตัวแทนเพราะสะดวกสบายกว่า”ทีมงานเฟซบุ๊กเพจ รถเมล์ไทยฯ ระบุ

มหากาพย์รถเมล์ใหม่ \"ซื้อทั้งทีขอให้ดีกว่าเดิม\" จากใจคนใช้งานถึงขสมก. รถเมล์เอ็นจีวีรุ่นใหม่ที่ยังประสบปัญหาในการจัดซื้อ

อีก 5 ปีได้รถใหม่ครบ 3,450 คัน

ปัจจุบัน ขสมก. จัดบริการรถโดยสารประจำทางวิ่งรับส่งประชาชนในเส้นทางต่างๆ รวม 459 เส้นทาง มีจำนวนรถทั้งสิ้น 2,753 คัน (ณ 30 เดือน มิถุนายน 2559) แยกเป็นรถธรรมดา 1,562 คัน รถปรับอากาศ 1,095 คัน รถ PBC(รถเช่า) 177 คัน และมีรถของบริษัทเอกชนที่ร่วมวิ่งบริการกับ ขสมก. ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศจำนวน 12,267 คัน แยกเป็นรถธรรมดา 2,309 คัน รถปรับอากาศ 1,467 คัน รถมินิบัส 1,005 คัน  รถในซอย 2,170 คัน รถตู้โดยสารปรับอากาศ 5,185 คัน และรถตู้ CNG 131 คัน

สถานการณ์รถเมล์ NGV ชุดใหม่จำนวน 489 คัน ล่าสุด สมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงการคมนาคมรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.  บอกว่า ยกเลิกสัญญากับทาง บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ในการจัดซื้อรถโดยสารเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่าง จัดหารถเมล์เอ็นจีวี 489 คันมาทดแทนเร็วที่สุดภายในเดือนพ.ย.นี้ พร้อมกับจัดหารถเมล์ไฟฟ้าอีก 200 คัน ภายในเดือนมิ.ย. ปีหน้า รวมทั้งหมด 689 คันตามแผนจัดหารถจำนวน 3,450 คัน

"สำหรับแผนการปรับปรุง รถเมล์ในช่วง 5 ปี พ.ศ. 2560-2564 จะมีการจัดซื้อรถใหม่จำนวน 3,450 คัน ปลดระวางรถเก่า 2,753 คัน แบ่งเป็น ปี 2560 จัดหารถใหม่ จำนวน 689 คัน (รถ NGV 489 คัน รถเมล์ไฟฟ้า 200 คัน) ปี 2561 จัดหารถใหม่จำนวน 700 คัน ปลดระวางรถเก่า 501 คัน ปี 2562 จัดหารถใหม่จำนวน 600 คัน ปลดระวางรถเก่า 624 คัน ปี 2563 จัดหารถใหม่จำนวน 700 คัน ปลดระวางรถเก่า 699 คัน ปี 2564 จัดหารถใหม่จำนวน 761 คัน ปลดระวางรถเก่า 852 คัน โดยปีที่ 2-5 จะเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับรถใหม่ที่จะจัดหาอีกครั้ง"

ภารกิจจัดซื้อรถเมล์ใหม่ทดแทนรถเมล์เก่านับเป็นมหากาพย์ที่กินเวลากว่า 10 ปี มีการเสนอให้จัดซื้อตั้งแต่สมัยของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายมาเรื่อยๆ ผ่านสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ไม่สามารถจัดซื้อได้จริงขณะที่ในสมัยของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็ดันมีปัญหากับบริษัทผู้นำเข้า

คนกรุงต้องรอต่อไป...มาลุ้นกันว่าในเดือน พ.ย. นี้จะได้เฮหรือชอกช้ำกับคุณภาพเดิมๆ เช่นเคย