"งานหนัก-เงินน้อย-ชีวิตไม่มั่นคง" เสียงจากพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว ทำไมถึงต้องบรรจุ?
คุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ที่กำลังส่งเสียงเรียกร้องไปทั่วสังคมว่า วันนี้พวกเขาไม่ได้รับความยุติธรรม
โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด
การบรรจุพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข เข้าเป็นข้าราชการประจำนั้นกำลังกลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ในสังคม เมื่อเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ชวนกันแสดงพลังประกาศลาออกในวันที่ 30 ก.ย. นี้ หลังคณะรัฐมนตรีมีมติไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา
คำถามคือ การบรรจุเป็นข้าราชการประจำนั้นมีความหมายขนาดไหนสำหรับพวกเขา ?
โหมงานหนัก เงินเดือนน้อย คุณภาพชีวิตต่ำ
เป็นที่รับรู้กันดีกว่าบุคลากรทางการแพทย์ในเมืองไทยไม่ว่าตำแหน่งไหนก็ล้วนขาดแคลน ส่งผลให้พวกเขาต้องทำงานหนักและรับผิดชอบหลากหลายหน้าที่
วราพร เลขาธิการเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว เล่าว่า ความแตกต่างระหว่างผู้ที่ได้รับบรรจุเป็นข้าราชการกับลูกจ้างชั่วคราวคือ เงินเดือน สวัสดิการ ความมั่นคงในชีวิต ตลอดจนความภาคภูมิใจในอาชีพการงาน
“เงินเดือนของข้าราชการขึ้นอยู่กับงบประมาณแผ่นดิน ผิดกับเงินเดือนของลูกจ้างชั่วคราวที่ขึ้นอยู่กับกำลังด้านการเงินของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ที่ไหนมีสภาพคล่องมากก็จ้างได้มาก เริ่มต้นราวๆ 11,000–12,000 บาท ปีไหนเงินไม่มีก็ขึ้นเงินเดือนไม่ได้ จมอยู่เท่านั้นไปเรื่อยๆ ผิดกับข้าราชการที่ขึ้นเงินเดือนทุกปีตามลำดับขั้น”
ในแง่สวัสดิการ พนักงานชั่วคราวใช้สิทธิรักษาพยาบาลด้วยประกันสังคม ขณะที่ข้าราชการเป็นสิทธิเบิกจ่ายตรงซึ่งสามารถดูแลคนในครอบครัวได้ ด้านอื่นๆ เช่น วันลาหยุดประจำปีที่ได้รับ 10 วัน แต่ในทางปฏิบัติด้วยภาระที่หนักและบุคลากรขาดแคลน ทำให้หาวันลาที่เหมาะสมได้ยาก
“ชีวิตพยาบาลไม่ได้สวยงาม ด้วยความที่ขาดแคลนคน ทำให้ต้องขึ้นเวรยาวนานในแต่ละวัน บางคนเข้างาน 7.30 น. ต้องลากยาวไปถึง 24.00 น. กว่าจะได้ลงเวร ส่งเวร ก็ราวๆ 01.00 น. ได้นอนจริงๆ ก็ 02.00 น. ไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องตื่นไปเข้างาน 7.30 น. อีกแล้ว มันไม่ใช่เรื่องปกติแต่เป็นเรื่องที่เราทำจนชิน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เดือนหนึ่งมี 30 วันแต่ชั่วโมงการทำงานจริงเทียบกับอาชีพอื่นเสมือนเราทำงาน 35 วัน แลกกับค่าเวร 6 ร้อยบาท”
เลขาธิการเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพฯ บอกว่า ลูกจ้างชั่วคราวนั้นมีภาระงานหนักอึ้ง ไม่ได้เกิดจากงานในกรอบของพยาบาลเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงงานนอกที่ทุกคนต้องทำ เช่น หากเป็นโรงพยาบาลชุมชน พยาบาลต้องทำหน้าที่ตรวจคนไข้แทนแพทย์ เป็นฝ่ายการเงิน และดูแลงานเอกสารในช่วงเข้าเวรด้วย
ทั้งหมดเป็นคุณภาพและปัญหาชีวิตที่เหล่าลูกจ้างชั่วคราวพบเจอ หากวันหนึ่งพวกเขาทนไม่ไหวจะเริ่มมองหาโอกาสใหม่ที่ดีกว่า ผลกระทบจึงตกอยู่กับภาครัฐที่สูญเสียบุคลากรที่มีประสบการณ์ไป
“รพ.เอกชน มีคนไข้น้อยกว่า รับผิดชอบแค่ในหน้าที่ของเขา ไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนอัตรากำลัง เงินเดือนก็มากกว่าภาครัฐเกือบๆ 2 เท่า”
พยาบาลรายนี้บอกว่า ผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดในเรื่องนี้หนีไม่พ้นพี่น้องประชาชน เพราะหากพยาบาลชั่วคราวที่มีประสบการณ์ลาออกจากการทำงานในโรงพยาบาลรัฐ กระทรวงสาธารณสุขก็จำเป็นต้องเร่งผลิตบุคลากรขึ้นมาทดแทน ซึ่งหนีไม่พ้นพยาบาลหน้าใหม่ที่เพิ่งเรียนจบการศึกษา ประสบการณ์น้อย ทำให้ความเสี่ยงตกอยู่กับคนไข้
สำหรับ วราพร ปัจจุบันสอบติดบรรจุรับราชการเรียบร้อยแล้ว สาเหตุที่มาร่วมเรียกร้องเพราะต้องการช่วยเหลือรุ่นน้องเพราะเข้าใจชะตากรรมในอดีตที่เคยพบเจอ
“เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิทธิสวัสดิการของตัวเองและครอบครัวก็มีมากขึ้น ในแง่ความภาคภูมิใจและความมั่นคงในอาชีพก็มีมากกว่าเดิม เอาง่ายๆ ถ้าคุณเป็นลูกจ้างชั่วคราวคุณไม่มีสิทธิจะไปยื่นเอกสารกับธนาคารขอกู้เงินซื้อบ้าน เขาบอกว่า เอ้า.....คุณเป็นพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวหรอกเหรอ ไม่ได้นะ ต้องรอเป็นข้าราชการก่อน”
ไม่มีความก้าวหน้า–ย่ำอยู่กับที่–ผลเสียตกอยู่กับประชาชน
ภาณุพงษ์ พังตุ้ย ประธานเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราววัย 26 ปี ทำงานประจำที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหน่วยบริการปฐมภูมิแห่งหนึ่งในจ.อุดรธานี เล่าให้ฟังว่า ปฏิบัติหน้าที่มาแล้ว 4 ปี ได้รับเงินเดือนแรกเข้าที่ 11,230 บาท รวมกับค่าเข้าเวรและค่าอื่นๆ รวมประมาณ 16,000-17,000 บาท โดยได้พิจารณาขึ้นเงินเดือนทุกปีปีละ 500-600 บาทตามความสามารถและผลงานที่ทำ
เขา บอกว่า พนักงานชั่วคราวไม่มีหลักประกันความมั่นคงให้กับชีวิตตัวเองและไม่รู้ว่าจะถูกเลิกจ้างเมื่อไหร่ มีสวัสดิการที่แตกต่างกับข้าราชการมาก เช่น สิทธิรักษาพยาบาล ความก้าวหน้าในอาชีพ ผิดกับข้าราชการที่มีสิทธิเติบโตต่อเนื่องตามลำดับขั้นทั้ง พยาบาลปฏิบัติการ พยาบาลชำนาญการ พยาบาลชำนาญการพิเศษ เป็นต้น
“พวกเราทำงานกันค่อนข้างหนัก และคาบเกี่ยวกับวิชาชีพอื่น เพราะคนขาดแคลน เช่น งานเอกสาร จ่ายยา เจาะเลือด ต้องทำหมด เมื่อวันเวลาผ่านไปปีแล้วปีเล่า หากไม่ได้บรรจุสักที ก็น่าจำเป็นต้องมองหาโอกาสอื่นๆ ในชีวิต”
ภาณุพงษ์ บอกว่าเขาและเพื่อนๆ รู้สึกหมดกำลังใจในการทำงาน หากสุดท้ายไม่มีการแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์ลูกจ้างชั่วคราวได้ วันที่ 30 ก.ย. นี้ ตั้งใจกันว่าจะลาออกและอาจเข้าสมัครเข้าทำงานในรพ. เอกชนต่อไป
“ทุกวันนี้น้องใหม่เรียนจบมา 1-2 ปีก็พากันลาออกแล้วครับ การไม่ได้รับบรรจุเป็นเหตุผลที่ทำให้คนเรียนจบมาไม่อยู่ในระบบของโรงพยาบาลรัฐ สุดท้ายผลเสียตกอยู่กับประชาชน เพราะส่วนใหญ่พวกเขาต่างเข้ารับการบริการของรัฐด้วยข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่าย”
รมว.สธ. ย้ำให้ความสำคัญพยาบาลชั่วคราวและเร่งแก้ปัญหา
“ขอให้พยาบาลทุกคนมีขวัญและกำลังใจในการทำงานเพื่อประชาชน ท่านนายกรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขห่วงใยและกำลังแก้ไขปัญหา ซึ่งหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติดังกล่าว ท่านนายกรัฐมนตรีได้เขียนโน้ตถึงผม ให้ช่วยนำตำแหน่งว่างที่มีอยู่มาบริหารจัดการ บรรจุพยาบาลที่รอบรรจุอยู่ เมื่อดำเนินการบริหารจัดการจนถึงที่สุดแล้ว ยังมีปัญหาอยู่ ก็ให้มาพูดคุยกันอีกครั้ง” เสียงจาก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายหลังเสียงสะท้อนปัญหาจากบรรดาลูกจ้างชั่วคราวดังสนั่นไปทั่วสังคม
นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ได้ให้ผู้เกี่ยวข้องเรื่องแผนกำลังคนกระทรวงสาธารณสุข มาทบทวนการบริหารจัดการตำแหน่งว่าง ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 มีตำแหน่งว่าง 11,026 ตำแหน่ง โดยเป็นตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ 2,621 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้ใช้เลื่อนระดับและรับโอน รับย้าย บรรจุกลับ เหลือที่สามารถดำเนินการบรรจุใหม่ได้ 1,200 ตำแหน่ง ซึ่งได้ทยอยดำเนินการแล้ว คาดว่าจะบรรจุได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ และจะมีตำแหน่งว่างของผู้เกษียณอายุอีก 785 อัตราในเดือนตุลาคม 2560
เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีเจ้าหน้าที่จำนวน 4 แสนกว่าคน ตำแหน่งที่ว่างร้อยละ 5 ของหน่วยงาน เมื่อเทียบกับอัตรากำลังก็ถือว่ามีจำนวนไม่มากนัก สำหรับการขอตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ 10,992 อัตรานั้น เป็นการขอตำแหน่งสำหรับ 3 ปี ทั้งนี้หลังการบริหารจัดการแล้วตำแหน่งว่างจะเหลือประมาณร้อยละ 2-3 ซึ่งไม่ใช่เฉพาะตำแหน่งของพยาบาลวิชาชีพแต่เป็นตำแหน่งของเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม จะได้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข, ก.พ. และ คปร. เนื่องจากพยาบาลเป็นกำลังที่สำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำงานบริการประชาชนร่วมกับสหวิชาชีพจำเป็น ต้องมีอัตราส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้การบริการประชาชนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยเตรียมตั้งคณะทำงานร่วมกันและมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอก เช่น มหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องอัตรา โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีพยาบาลทุกการจ้างงาน 100,855 คน เป็นข้าราชการ 87,252 คน พนักงานราชการ 260 คน พนักงานกระทรวงสาธารณสุข 6,538 คน และลูกจ้างชั่วคราว 6,805 คน