40 ต่างชาติลี้ภัยในเมืองกรุง ความหวังของการหนีตาย
ผู้ลี้ภัยยังเผชิญปัญหาในด้านต่างๆ ทั้งในเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพ การเข้าถึงการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยยังคงเป็นไปอย่างลำบาก
โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ
คงไม่มีใครอยากที่จะจากบ้านเกิดเมืองนอน หากแต่เพราะความจำเป็นถึงชีวิต เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการลี้ภัย
ประเทศไทยถือเป็นอีกจุดหมายปลายทางของผู้ลี้ภัยจากต่างชาติ หรือพื้นที่ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการเมือง สถานะความเป็นอยู่ การถูกคุกคามต่างๆ
ผู้คนร่วมโลกกว่า 40 ชาติ จำนวนกว่า 1.2 แสนคน กระจุกอยู่ในประเทศไทย จำนวนนี้มี 1.1 แสนคนที่หนีภัยการสู้รบจากประเทศเพื่อนบ้าน และอีกจำนวนที่เหลือ คือคนที่ลี้ภัยอยู่ในมุมเมืองต่างๆ ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
นัยหนึ่ง ประเทศไทยปฏิเสธไม่ได้ของการมีอยู่ในกลุ่มผู้ลี้ภัย และหากสะท้อนในแง่หลักสิทธิมนุษยชน นโยบายจากภาครัฐที่ต้องเข้ามาจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบและเป็นธรรม พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งเพื่อห้สอดรับกับทิศทางโลก โดยเฉพาะสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ที่ห่วงในประเด็นดังกล่าว
เวทีเสวนาเรื่อง “เปิดสถานการณ์ผู้ลี้ภัยกว่า 40 ชาติในประเทศไทย สู่ความคุ้มครองและการจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย” จึงเกิดขึ้น เพื่อสะท้อนปัญหา และเสนอข้อแนะนำให้รัฐบาลไทยมีนโยบายด้านการดูแลผู้อพยพลี้ภัยในประเทศให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยผ่านกลไกการจัดการถาวรอย่างการร่างกฎหมายและแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยที่ชัดเจน
สถิติผู้ลี้ภัย ณ สิ้นเดือนพ.ค.2560 มีผู้ที่ได้รับการรับรองสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจาก UNHCR จำนวน 4,100 คน และผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่รอผลการพิจารณาอีก 3,300 คน และมีผู้ลี้ภัยที่ถูกกังอย่างไม่มีกำหนดที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอีก 260 คน
“ผู้ลี้ภัยยังเผชิญปัญหาในด้านต่างๆ ทั้งในเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพ การเข้าถึงการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยยังคงเป็นไปอย่างลำบาก การทำงานที่ทำไม่ได้ เนื่องจากผู้ลี้ภัยยังไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจน พวกเขาจึงต้องหาทางลักลอบทำงานแบบผิดกฎหมายเพื่อให้อยู่รอด” ศิววงศ์ ฉายภาพปัญหา
กระนั้น แม้ประเทศไทยจะมีพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เป็นแม่บทกำกับดูแลในด้านนี้ แต่สิ่งที่ศิววงศ์กังวลคือ กฎหมายดังกล่าวมักถูกใช้ในการป้องกันปราบปรามผู้ลี้ภัย หรือผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย มากกว่าจะใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน
“ประเทศไทยสามารถจัดการได้แน่นอนในระยะยาว โดยผ่านกลไกของกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลมีกฎหมายที่คุ้มครอง และให้บริการทางสังคมที่ดีอยู่ในระดับหนึ่ง หากแต่จำเป็นจะต้องเลือกใช้อย่างถูกต้อง ทั้งการลงทะเบียนผู้ลี้ภัย การกำหนดสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะต้องไม่ลืมว่าผู้ลี้ภัยก็คือมนุษย์เหมือนกัน และเขาหนีความตายมาจึงมาขอพึ่งพิง” ศรีประภา นิยามถึงผู้ลี้ภัย
สิ่งที่เห็นได้ชัดจากแนวคิดของศรีประภา คือรัฐบาลไทยจะต้องให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัย และไม่พยายามผลักดันกลับไป เพราะสิ่งนี้คือมาตรฐานของหลักมนุษยธรรมทั่วโลก แต่กระนั้น ศรีประภาเข้าใจดีว่า องค์ประกอบทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ ก็อาจเป็นแรงกดดันอีกด้านหนึ่งที่ทำให้ไทยต้องเลือกระหว่างผู้ลี้ภัย หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
อดิศร ยอมรับว่า เป็นทิศทางที่ดีของรัฐบาลที่ใส่ใจปัญหา แต่ระหว่างรอกระบวนการขึ้นรูป รัฐบาลควรเข้ามาจัดการปัญหา และวางแนวปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยระยะสั้นได้ทันที โดยเฉพาะกลุ่มผู้ลี้ภัยเปราะบาง คือ เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วย ที่รัฐควรจะ “ไม่จับกุม” กลุ่มคนเหล่านี้ และเพิ่มสิทธิพื้นฐานทั้งด้านการเข้าถึงการซื้อหลักประกันสุขภาพ การศึกษา ผ่านหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบอยู่ รวมถึงการวางหลักเกณฑ์การประกันตัวผู้ลี้ภัยที่ถูกจับกุม เพราะในปัจจุบันการประกันตัวอยู่ที่ราคา 5 หมื่นบาท ซึ่งสูงเกินไปสำหรับผู้ที่ลี้ภัย
เสียงจากผู้ลี้ภัยชาวซีเรียคนหนึ่ง ชายในวัยราว 40 ปี ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครอย่างผิดกฎหมาย สถานะของเขาในชั่วโมงนี้ อาจถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ไร้ตัวตนทางกฎหมาย เขาเล่าความทุกข์ยากผ่านวีดีทัศน์ที่เปิดฉายในเวทีเสวนาว่า “ในพื้นที่ซีเรีย มีแต่ระเบิด การสู้รบ และอันตรายเกินกว่าที่จะอยู่อาศัยได้ ผมไร้เพื่อน ไร้สังคม และไร้ครอบครัว ชายหลายคนในละแวกบ้านถูกเกณฑ์เป็นทหารเพื่อสู้รบตั้งแต่อายุ 18 ปี
“ซีเรียเคยเป็นประเทศที่สวยงามมากที่สุดในตะวันออกกลาง ผู้คนเป็นมิตร อาหารการกินสมบูรณ์ ทุกอย่างดูดีงามหมด แต่ 5 ปีให้หลัง ซีเรียกลายเป็นเมืองที่ไร้ซึ่งชีวิต หากแต่ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม ผมเองก็อยากจะกลับบ้าน บ้านของผม”
“คำว่าผู้ลี้ภัย เป็นคำพูดหนึ่งที่สะท้อนความต่ำต้อยของผม และดูถูกความเป็นมนุษย์ด้วยกัน ไม่มีใครอยากอยู่ในสถานะของผู้ลี้ภัย”ชายชาวซีเรีย บอกเล่าด้วยความสะท้อนใจ