"พี่น้องลูกขนไก่" เมื่อละคร ตบจูบ-แย่งผัวเมีย กำลังถูกท้าทาย
ซีรีย์พี่น้องลูกขนไก่ กำลังส่งต่อความท้าทายให้กับผู้ผลิตละครทั่วฟ้าเมืองไทยในการพัฒนาละคร
โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด
Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ ซีรีย์ทางช่อง GMM25 ได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวางจากผู้ชม ตั้งแต่บทบาทการแสดงของนักแสดง เนื้อเรื่อง ไปจนกระทั่งการทำการบ้านและนำเสนอข้อมูลของทีมงาน
ความสำเร็จของพี่น้องลูกขนไก่ ส่งต่อความท้าทายให้กับผู้ผลิตละครทั่วฟ้าเมืองไทย
เมื่อวันนี้สมรภูมิละครกำลังเปลี่ยนแปลง เรตติ้งละครชิงรักหักสวาท ตบตี แม่ผัวลูกสะใภ้ ไม่มีความสมเหตุสมผลหรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กำลังลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องสวนทางกับละครซีรีย์ใหม่ๆ ที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น
สร้างกระเเสในเมืองใหญ่ ไม่ได้หมายถึงทั้งประเทศ
ต่อปัจจัยแห่งความสำเร็จและเสียงพูดถึงในทางบวกของ “พี่น้องลูกขนไก่”
แอดมินเพจเฟซบุ๊ก อวยไส้แตกแหกไส้ฉีก บอกกับโพสต์ทูเดย์ว่า ต้องชื่นชม บริษัท นาดาว บางกอก ที่สร้างวัฒนธรรมและพฤติกรรมในการบริโภคผลงานผ่านกลุ่มนักแสดงวัยรุ่นในสังกัด ซึ่งตัวท็อปจะมีแฟนคลับค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น ต่อ ธนภพ , สกาย วงศ์รวี , โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์ มีคนติดตามทางโซเชียลมีเดียระดับหลักแสนทุกคน รวมถึงทีมงาน GDH เองก็การันตีผลงานทั้งในด้านบทและความสามารถในการผลิตที่ผ่านมาอยู่แล้ว
“ทีมงานและทีมนักแสดงการันตีให้คนอยากดูอยู่แล้ว ยิ่งผลงานออกมาดี ยิ่งทำให้คนดูรักได้ไม่ยาก”
อย่างไรก็ตามในมุมมองของเพจวิพากษ์วิจารณ์ภาพยนตร์และละครที่มีผู้ติดตามเกือบ 8 แสนคน ไม่ได้เห็นว่า กระแสชื่นชมละครสร้างสรรค์ประเภทนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวงการละครเมืองไทย เนื่องจากพี่น้องลูกขนไก่ เป็นเพียงแค่ซีรีย์เรื่องเล็กๆ ไม่กี่ตอน เวลาออกอากาศน้อยมาก มีกระแสไม่นานในแต่ละสัปดาห์ ที่สำคัญคนดูนิยมแค่ในเมือง ส่วนต่างจังหวัดยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร
“เราต้องเข้าใจว่า GDH เอง ก็เหมือนรัฐอิสระ การที่เขาประสบความสำเร็จมันแทบจะไม่มีผลต่อวงการหนังละครในภาพรวมเลย เขามีแฟนของเขา ทีมงานของเขา แบบที่ไม่ต้องง้ออะไรในภาพรวมทั้งระบบเลย”
ภาพจาก Project S The Series
ภาพจาก Project S The Series
พฤติกรรมคนดูค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไป
อวยไส้แตกแหกไส้ฉีก บอกต่อว่า พฤติกรรมของคนดูเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการเข้ามาของเทคโนโลยีที่ทำให้ คนดูไม่ต้องรอดูสด สามารถรับชมย้อนหลัง สตรีมมิ่ง หรือกดข้ามโฆษณาได้ ไม่ง้อผู้จัดและสถานีโทรทัศน์แบบเดิมอีกแล้ว
ส่วนฝั่งคนดูที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง จะเป็นลักษณะติดตามหลงใหลในตัวนักแสดงเช่นเดิม ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งมีโอกาสได้รับชมละคร ซีรีย์ต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งมีบทละครและการเล่าเรื่องที่แตกต่างจากเดิมที่ค่อนข้างซ้ำซากจำเจ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับละครไทยและมีจำนวนมากเริ่มเบื่อละครไทยแบบเก่า
ป้าแจ๋ว-ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ นักแสดง ผู้กำกับละคร ผู้สร้างละครชื่อดัง เห็นว่า พฤติกรรมและความต้องการของคนดูนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามเจนเนอเรชั่น รวมถึงไปค่านิยม ความคิดเห็นและทัศนคติต่างๆ ตามการเติบโตของสังคม
“ยุคหนึ่งละครซีรีย์เกาหลีฮิตมากในเมืองไทย เด็กๆ ชอบมาก แต่ผู้ใหญ่บอกว่าไม่ชอบและสุดท้ายก็ค่อยๆ เงียบไป ขณะที่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ชอบเนื้อหาแบบฮอร์โมน , พี่น้องลูกขนไก่ แต่ถามว่าผู้ใหญ่สนุกไหม คนต่างจังหวัดชอบไหม ก็อาจจะไม่”
ผู้กำกับละครชื่อดัง เล่าว่า ผู้ชมในอดีตนั้นเติบโตมากับนวนิยาย ซึ่งละครชื่อดังแทบทั้งหมดในอดีตและปัจจุบันถูกสร้างขึ้นจากนวนิยายที่ได้รับความนิยม ตัวอย่างเช่น น้ำเซาะทราย เมียหลวง คู่กรรม ฯลฯ เนื่องจากช่องทางการสื่อสารมีเพียงแค่โทรทัศน์ ขณะที่ช่วงเวลาออกอากาศก็จำกัดไม่สามารถหาดูย้อนหลังได้ ทำให้กลุ่มเป้าหมายของผู้สร้างละครคือ กลุ่มคนอยู่บ้านมากกว่าที่ทำงาน ซึ่งหมายถึง ผู้หญิงหรือแม่บ้านนั่นเอง
“ผู้หญิงคือกลุ่มเป้าหมายสำคัญของวงการบันเทิงในอดีต เพราะส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน เวลาไปเจอกันที่ร้านเสริมสวยก็จะคุยกันเรื่องละคร นิยาย ชักชวนกันให้ดูจนกลายเป็นกระแส”
เขาบอกว่า ปัจจุบันสภาพสังคมนั้นเปลี่ยนแปลงไปและกลุ่มเป้าหมายของผู้ผลิตละครเริ่มเฉพาะเจาะจงมากขึ้น อย่างไรก็ตามเชื่อว่า แม้ละครรูปแบบสร้างสรรค์ไร้การชิงรักหักสวาทจะโดนใจคนรุ่นใหม่ แต่หากมองในภาพใหญ่ ยังถือว่าได้รับความนิยมน้อย และอาจต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะถึงการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง
“5-10 ปีข้างหน้า เนื้อหาลักษณะที่สร้างสรรค์และเต็มไปด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ขณะที่ละครแนวดราม่า ชิงรักหักสวาทหรือนิยายประโลมโลกจะลดต่ำลง ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตาม สภาวะของสังคม ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามอายุ การศึกษา และไลฟ์สไตล์ของเขา”
รูปจาก Yuttana Lorpanpaiboon
ปรับเปลี่ยนตามสภาพสังคมโดยรวม
เสียงวิพากษ์วิจารณ์โจมตีต่อละครแบบเดิมๆ มักปรากฎให้เห็นบ่อยครั้งโดยเฉพาะละครที่เป็นลักษณะชิงรักหักสวาท ตบตีเพื่อแย่งพระเอกหรือแม้แต่แม่ผัวไม่ยอมรับลูกสะใภ้
ป้าแจ๋ว บอกว่า ผู้จัดไม่เคยคิดดูถูกผู้บริโภค เพียงแต่การสร้างละครสักเรื่องให้ประสบความสำเร็จต้องคำนึงถึงปัจจัยจำนวนมาก นอกเหนือจากเรื่องราว บทและนักแสดงแล้ว ยังต้องคำนึงถึงพฤติกรรม การใช้ชีวิตของผู้บริโภคตลอดจนช่วงเวลาและสภาพสังคมขณะนั้นด้วยเช่นกัน เป้าหมายของเราคือตลาดใหญ่ระดับประเทศ ไม่ใช่ตามใจเพียงแค่คนกรุงเทพฯ หรือในเมืองใหญ่เท่านั้น ซึ่งต้องยอมรับว่า หลายพื้นที่ในต่างจังหวัดไม่ได้มีช่องทางและโอกาสเลือกรับสื่อเท่ากับคนในเมือง
“คนต่างจังหวัดดูพี่น้องลูกขนไก่ 100 คนอาจจะสนุกแค่ 20 คน ในขณะที่คนกรุงบอกว่า นี่คือการนำเสนอเรื่องราวที่ดี ให้แง่คิดในการใช้ชีวิตร่วมกับคนออทิสติก แต่คนต่างจังหวัดอาจจะต้องการอะไรที่เพลิดเพลิน สนุก ไม่ซับซ้อนและเข้าใจง่าย แม้กระทั่งลุกเดินไปเข้าห้องน้ำ ตักกับข้าวมากิน หายไป 2 นาที กลับมาดูยังเข้าใจละครเรื่องนั้นอยู่”
อย่างไรก็ตามผู้กำกับรายนี้บอกว่าถึงแม้ละครรีเมค โครงเรื่องหลักจะคล้ายเดิม แต่ยืนยันว่ามีการพัฒนาปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ทั้งการตีความ ตัดทอนเนื้อหาที่ล้าหลังและเป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน เพื่อยกระดับคนดู ให้แง่คิดและบทเรียน ขณะเดียวกันยังคงกลิ่นรสสัมผัสที่เขาคุ้นเคย
“สำหรับคนกรุงฯ ตัวอิจฉาอาจไม่จำเป็นต้องเสียงดัง แต่คนต่างจังหวัดถ้าตัวอิจฉาไม่เสียงดัง บางคนตั้งคำถามว่า ทำไมทุกคนดูเหมือนๆ กัน เฉยๆ กันไปหมด มันคนละมุมมองเลยเห็นไหม ฉะนั้นมันยากที่ผู้ผลิตจะทำละครเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของทุกคนในประเทศนี้ได้ทั้งหมด”
การทำละครสักเรื่องให้ตอบโจทย์คนจำนวนมากไม่ใช่เรื่องง่ายของผู้สร้าง แม้จะมีประสบการณ์สูงแค่ไหน แต่สภาพสังคมและความรู้สึกของคนที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ความล้มเหลวนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ
ยุทธนา บอกว่า ในอดีตเคยคิดจะสร้างละครที่ใกล้ตัวสะท้อนชีวิตคนต่างจังหวัดมากๆ พระเอกนางเอกทำไร่ทำนา และถูกกดขี่จากนายทุน อย่างไรก็ตามเมื่อลองสอบถามความคิดเห็นจากชาวบ้านกลุ่มหนึ่งกลับพบว่า พวกเขาไม่อยากดูละครที่เหมือนชีวิตตัวเองเกินไป แต่ต้องการเนื้อเรื่องที่ให้ความบันเทิงและเกินความจริงไปบ้างเพื่อความสนุกสนาน
“เขาบอกไม่อยากดู มันเหมือนตัวเขาเกินไป เบื่อ อยากดูอะไรเพ้อๆ เกินจริง เช่น นางเอกทุกข์ยากวันหนึ่งมีพระเอกเข้ามาช่วย สิ่งเหล่านี้เป็นความบันเทิง ได้จินตนาการและมีความสุขกับการเอาใจช่วยนางเอก”
ผู้กำกับรายนี้กล่าวต่อว่า เพราะการเปลี่ยนแปลงและความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันไม่มีสูตรสำเร็จของละคร
“วันหนึ่งทำแม่ผัวลูกสะใภ้แล้วโด่งดังวันนี้อาจไม่ใช่ วันหนึ่งฮอร์โมนดัง วันหน้าก็อาจไม่ใช่ หรืออย่างทุกวันนี้ คนทำละครเกย์ออกมาเยอะมาก แรกๆ คนชอบ แต่หลังๆ คนก็บ่นว่าเอียนแล้ว สปอนเซอร์ผู้สนับสนุนก็เห็นว่าเกินไป เริ่มเบื่อ”
ทั้งนี้สิ่งสำคัญในการสร้างละครของป้าแจ๋วคือ การมอบความบันเทิงพร้อมกับสอดแทรกประโยชน์ให้กับผู้ชม โดยเชื่อว่า ละครนั้นให้แง่คิดที่หลากหลายขึ้นอยู่กับว่าผู้ชมจะหยิบตรงไหนไปใช้
ภาพจาก Ch3Thailand
ละครไทยต้องสมเหตุสมผลมากขึ้น
ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,252 หน่วยตัวอย่างทั่วประเทศ เรื่อง “พฤติกรรมการรับชมละครของคนไทย” จาก “นิด้าโพล” และ“ไนน์เอ็นเตอร์เทน” เมื่อปี 2557 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ37.24 ระบุว่า ชอบดูละครแนวตลก รองลงมา ร้อยละ16.55 ระบุว่า ชอบดูละครแนวชีวิต ร้อยละ15.42 ระบุว่า ชอบดูละครแนวต่อสู้ บู๊ ร้อยละ8.57 ระบุว่า ชอบดูละครแนวรัก โรแมนติก ร้อยละ7.24 ระบุว่า ชอบดูละครแนวประวัติศาสตร์ ย้อนยุคร้อยละ5.42 ระบุว่า ชอบดูละครแนวสยองขวัญ / ระทึกขวัญ ร้อยละ4.33 ระบุว่า ชอบดูละครแนวสืบสวน สอบสวน ร้อยละ2.76 ระบุว่า ชอบดูละครแนววิทยาศาสตร์ ไซไฟ และร้อยละ2.46 ระบุว่า ชอบดูละครแนวอภินิหารแฟนตาซี
เมื่อถูกถามว่า นักแสดงนำมีอิทธิพลต่อการเลือกชมละครหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.75 ระบุว่า นักแสดงนำ ไม่มีอิทธิพลต่อการเลือกชมละคร ขณะที่ร้อยละ 44.25 ระบุว่า นักแสดงนำมีอิทธิพล
ลักษณะของนักแสดงนำในแบบต่าง ๆ ที่โน้มน้าวใจมากที่สุดให้เลือกชมละครเรื่องนั้น ๆ ส่วนใหญ่ ร้อยละ61.91 ระบุว่า เป็นคู่พระนางที่ตนชื่นชอบ รองลงมา ร้อยละ16.79 ระบุว่า เป็นคู่จิ้น ร้อยละ7.22 ระบุว่า เป็นดาราที่พลิกคาแร็คเตอร์ ร้อยละ5.96 ระบุว่า เป็นคู่พระนางที่ตรงกับบทประพันธ์ตามจินตนาการของตน ร้อยละ4.69 ระบุว่า เป็นคู่พระนางหน้าใหม่ ใสกิ๊ก ร้อยละ1.81 ระบุว่า เป็นคู่พระนางที่ไม่เคยประกบคู่กันมาก่อน ร้อยละ1.44 ระบุว่า เป็นคู่พระนางที่เป็นแฟนกันจริง ๆ นอกจอ ร้อยละ0.18 ระบุว่า อื่น ๆ เช่น เป็นคู่พระนางที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่นิยมในขณะนั้น
ต่อคำถามเรื่องการพัฒนาวงการละครไทย แอดมินเพจอวยไส้แตกฯ บอกว่า ทีมงานควรนำเสนอเนื้อหาให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง สังคมมนุษย์ไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ ตัวร้ายไม่ต้องเบิกตาโพลง ทำหน้าดุ หรือทำตาแบบเย้ยหยันแสยะยิ้มตลอดเวลา นางเอกไม่ต้องทำหน้าเศร้า เสียงสั่นเหมือนจะร้องไห้ มองโลกในแง่ดี หรือไม่ก็ทำตัวก๋ากั่นเป็นทอมบอย ใส่หนวดปลอมแล้วพูดฮะ คือพยายามทำให้มันดูเรียลและทำให้คนเชื่อ จะทำให้ละครสนุก
“บท การเล่าเรื่อง การหาข้อมูล รีเสิร์ชตัวละคร สำคัญที่สุด ทำให้คนดูเชื่อ มันจะทำให้ละครสนุกที่สุดครับ บทละครครบางเรื่องสร้างจากนิยายที่เขียนขึ้นเมื่อสามสิบปีก่อน แต่เอามาปรับเป็นปัจจุบัน โดยขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมก็ไปยกมาทั้งดุ้น สิ่งที่เห็นมันไม่ร่วมสมัย ผิดช่วงเวลา คนดูก็จะสงสัยว่าทำไมมันไม่เรียล ไม่มีเหตุมีผล ถ้าปรับตรงนี้ก็คงต้องไปตรงคนเขียนบทละคร ที่ควรพัฒนามากกว่านี้”
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า ความต้องการของผู้ชมนั้นหลากหลายขึ้น จำนวนมากมีโอกาสได้รับชมซีรีย์ของต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีช่องทางการเข้าถึงสื่อได้ง่ายกว่าอดีตมาก นับเป็นเรื่องท้าทายของผู้ผลิตละครแนวเดิมเห็นได้จากยอดเรตติ้งที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
“ละครหลังข่าวในอดีตเรตติ้งพุ่งขึ้นไปประมาณ 10 กว่า ปัจจุบันโอกาสถึงเลข 2 หลักนั้นน้อยมาก อยู่ที่ 3 หรือ 6 เท่านั้น ส่วนหนึ่งถูกแชร์ไปเพราะการเข้ามาของทีวีดิจิตอล ขณะทีอีกส่วน ในเชิงตลาดนั้นมีผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มอยู่แล้วและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้า บอกว่า ละครหรือซีรีย์ที่สร้างสรรค์ อาจยังไม่สามารถสร้างเรตติ้งได้เทียบเท่ากับละครรูปแบบเดิม อย่างไรก็ตามมีกลุ่มคนที่พร้อมสนับสนุนและรับชมมากขึ้นกว่าในอดีตแน่นอน นอกจากนั้นในแง่ของการสร้างรายได้จากโฆษณา นับเป็นโอกาสของละครสร้างสรรค์และเฉพาะกลุ่มเช่นกัน เนื่องจากบริษัทหลายแห่งเลือกลงทุนกับการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่แท้จริงมากขึ้น
“การเข้าใจถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญ อดีตที่มีช่องจำกัดทุกคนมองไปที่ตลาดแมส ผลิตเพื่อป้อนแมสแต่วันนี้ มีช่องทางการเสพย์สื่อมากขึ้น เพราะฉะนั้นละครหรือเนื้อหาต่างๆ ในสื่ออาจจะจำเป็นต้องคิดใหม่ในเรื่องการจับกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มมากขึ้น”
โดยสรุปคืออนาคตของวงการละครไทย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างไล่ตั้งเเต่สภาพเเวดล้อม กระเเสในสังคม ความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนสปอนเซอร์เเละผู้ให้การสนับสนุน ซึ่งการผลิตผลงานละครสักเรื่องขึ้นอยู่กับว่า บรรดาผู้สร้างต้องการทำเพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายใด
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก lakornonlinefan , Project S The Series