วันชัย เบียผะ "ไม่ใช่ในหลวงก็ไม่ได้อยู่แผ่นดินนี้"
"ในหลวงเสด็จมา ท่านมาบอก มาสอนไว้ให้รักกัน สามัคคีกันให้มากขึ้น แล้วเรื่องทะเลาะเบาะแว้งก็ไม่มี"
โดย...สมแขก
เซอเบือหรือซึงที่วางนิ่งไว้ภายในบ้าน บ่งบอกว่าพ่อเฒ่าชาวไทยภูเขาเผ่าลีซู อากูตา หรือ วันชัย เบียผะ วัย 78 ปี ผู้เคยเล่นดนตรีถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ขณะพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ที่บ้านปางสา ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย เมื่อปี พ.ศ. 2523 พ่อเฒ่า บอกว่า หลายปีแล้วที่ไม่ได้เล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้บ่อยนัก ประกอบกับอายุมากขึ้นทำให้นิ้วไม่ค่อยมีแรง นอกจากความชราที่ทำให้นิ้วติดขัด ความโศกเศร้าที่ผ่านมาก็ทำให้ผู้เฒ่าเล่นดนตรีชิ้นนี้น้อยลงไปด้วย แต่เมื่อนึกถึงความหลังก็มีความสุข
หมู่บ้านปางสา อ.แม่จัน นับเป็นหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเพียงแห่งเดียวที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จเยี่ยมถึง 3 ครั้งติดต่อกัน คือนับตั้งแต่ พ.ศ. 2522-2524 ความประทับใจอย่างไม่รู้ลืมเมื่อครั้งได้เล่นซึงถวาย จากปากคำของผู้เฒ่าวัย 78 ปี ที่เอ่ยภาษาไทยกระท่อน
กระแท่น แม้เจ้าตัวบอกว่าตอนนี้ดีกว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วมากนัก และถึงภาพในหลวง รัชกาลที่ 9 จะแจ่มชัดในความรู้สึก ทว่า ความแม่นยำจากปากบางเหตุการณ์ อาจบอกได้ไม่เท่าเอกสาร
บันทึกของชาวบ้านปางสา ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในปีแรกนั้นเสด็จพร้อมกัน 4 พระองค์
ในหลวง รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วย ม.จ.ภีศเดช รัชนี ทรงประชุมร่วมกับผู้นำหมู่บ้านต่างๆ คือ ปางสา จะหยี เล่าฝู่ โป่งป่าแขม ซึ่งขอพระราชทานพื้นที่ในทุ่งโป่งป่าแขมประมาณ 200 ไร่ เพื่อปรับเป็นพื้นที่ทำนา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รับสั่งให้กรมชลประทานสำรวจพื้นที่ทำฝายเพื่อส่งน้ำเข้าที่นา ขณะที่อีกสามพระองค์เสด็จเยี่ยมประชาชนนับพันคนจากหมู่บ้านต่างๆ ที่มาเฝ้ารับเสด็จโดยพากันมารอตั้งแต่เช้า แม้จะรู้ว่าจะเสด็จมาถึงช่วงบ่าย 4 โมงเย็น แต่ทุกคนก็เต็มใจจะรอ
ผู้นำประเพณีได้ทำพิธีเรียกขวัญผูกด้ายสายสิญจน์ที่ข้อพระกร และถวายสุราพื้นบ้านจอกเล็ก ซึ่งทรงยกดื่มโดยไม่มีความรังเกียจ เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นอาคารเรียนของโรงเรียนชั่วคราวบ้านปางสา ซึ่งชาวบ้านสร้างด้วยไม้ไผ่ มุงหญ้าคา ตามที่หาได้ในท้องถิ่น จึงทรงพระราชทานเงิน 2 หมื่นบาท เพื่อสร้างอาคารเรียนใหม่
กว่าทุกพระองค์จะเสด็จกลับได้ก็เป็นเวลาฟ้ามืดแล้ว คืนนั้นยังอยู่ในความทรงจำจนทุกวันนี้ เพราะมีลมพายุ ลมแรง เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งบินขึ้นไปแล้วสักครู่ ฝนและลูกเห็บก็ตกหนัก จนถึงเช้าวันรุ่งขึ้นลูกเห็บบนพื้นดินยังอยู่หนาเป็นคืบ ซึ่งปรากฏการณ์ลูกเห็บตกหนักเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นอีกหลังจากนั้น
ปี พ.ศ. 2523 เป็นครั้งที่สองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จเยี่ยมประชาชนลุ่มน้ำแม่จัน โดยครั้งนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ เสด็จด้วย ในหลวงทรงประทับเสวยพระกระยาหารกลางวันที่ริมน้ำจันอันร่มรื่น จากนั้นเสด็จเยี่ยมบ้านปางสา มีการดีดเซอเบือหรือซึงถวายพระองค์ท่าน ซึ่งก็คือตาวันชัย
ครั้งนั้นเขามีโอกาสได้อยู่กับพระองค์ท่านนานกว่า 1 ชั่วโมง ได้เล่าความหลังอันแสนตรึงใจผ่านภาพสุดประทับใจในอ้อมกอดผู้เฒ่าอากูตามีถึงสองภาพ ทั้งสองภาพใส่กรอบอย่างดี ภาพหนึ่งเป็นภาพที่ตาวันชัยในวัยหนุ่มกำลังดีดซึง ส่วนอีกภาพเป็นจังหวะที่ตาวันชัยยืนถวายรายงานถึงอาชีพและความเป็นอยู่ ครั้นที่พระองค์ตรัสถามผู้เฒ่าเริ่มเล่าเหตุการณ์
“ตอนที่เข้าเฝ้าอายุ 42 ปี ตอนนั้นยังหนุ่มอยู่เลย ยิ่งอยู่ยิ่งแก่มาก (หัวเราะ) ตอนนี้อายุ 78 ปีแล้ว ได้เข้าเฝ้าในหลวงทุกครั้งที่ท่านมา ได้ดีดซึงให้ฟังด้วย ชื่อเพลงอะไรจำไม่ได้แล้ว เป็นคนเดียวในหมู่บ้านตอนนั้นที่ได้ดีดซึงให้ในหลวงฟัง ตอนนั้นในหลวงมาสอน มาบอกชุมชน ประชาชนเรื่องทำมาหากิน ท่านถามว่าทำมาหากินอะไรอยู่ ทำอาชีพอะไร แล้วผมก็บอกในหลวงไปว่าทำไร่ปลูกข้าวโพด ปลูกถั่ว ปลูกงา ปลูกพริก ทำสวน ทำนา ปลูกข้าวกิน หมูเลี้ยงไว้ไม่ได้ซื้อกิน ไก่ก็เหมือนกัน ไม่ได้ซื้อกิน ซื้อตลาดแค่เกลือกับเสื้อผ้า อย่างอื่นไม่ได้ซื้ออะไรซักอย่าง
“ตอนนี้ทำไร่ฝิ่นไหม?” ท่านถาม ผมบอกว่า เมื่อสองปีก่อน (ก่อนปี 2522) ทำอยู่ ตอนนี้ไม่ทำแล้ว เมื่อก่อนปลูกฝิ่นไกลๆ โน้น ก่อนในหลวงมา 2 ปีก็เลิกปลูก เพราะสมัยก่อนทางการก็ห้าม หลังจากราชการห้ามก็เลิก
ในหลวงบอกว่า “ดีแล้ว ไม่ต้องปลูกฝิ่น” แล้วก็บอกว่า “ปลูกผัก ปลูกผลไม้กินดีกว่า” ท่านพระราชทานพันธุ์ผักไว้ให้เยอะแยะ หลังจากนั้นพัฒนาสงเคราะห์ชาวเขาก็มาส่งเสริมให้ปลูกเงาะ ปลูกลิ้นจี่ อีกเรื่องหนึ่ง ท่านก็ถามว่าประชาชนมีกินไหม พอเราบอกว่าไม่มีที่ทำกินไม่มีนา ในหลวงก็แบ่งที่นาให้คนละแปลงตามคนในบ้าน
ตอนที่ในหลวงเสด็จมาตาพูดไทยได้นิดหน่อย ก็พอเข้าใจที่ท่านถาม แต่ผมตอบไม่ได้แค่นั้นเอง พูดไม่ชัด ตอนนั้นผมเสียดายพูดภาษาไทยไม่เป็น เสียดาย (เสียงสั่น) เหมือนกับเดี๋ยวนี้อยากจะพูดอะไรก็พูดได้บ้าง แต่ตอนนั้นพูดไม่เป็น ไม่รู้จะพูดยังไงดี ถ้าในหลวงไม่เข้ามาที่หมู่บ้านปางสา ก็ไม่เจริญ พระเจ้าอยู่หัวเข้ามา บ้านปางสาเจริญขึ้นเยอะ ตอนนั้นขาดน้ำ ไม่มีน้ำ แล้วก็ชลประทานมาทำน้ำให้ หลังจากนั้นมาดีขึ้นเยอะ ตอนนั้นในชุมชนในหมู่บ้านไม่สามัคคี หลังจากในหลวงเสด็จมา ท่านมาบอก มาสอนไว้ให้รักกัน สามัคคีกันให้มากขึ้น แล้วเรื่องทะเลาะเบาะแว้งก็ไม่มี”
เมื่อถามถึงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้เฒ่าวัย 78 ปี บอกสั้นเพียงว่า “ดีใจ ในหลวงใจดี ในหลวงดีที่สุด” ทราบภายหลังว่าคำว่าพระมหากรุณาธิคุณในภาษาชนเผ่าไม่มีคำอธิบายใดได้ใจความมากไปกว่าคำว่า “ดีที่สุด” อีกแล้ว ดังนั้น ความรู้สึกที่ปลาบปลื้มใจในแบบชาวไทยภูเขาก็คือคำบอกเล่าเปื้อนรอยยิ้มพร้อมบอกว่า “ในหลวงดีที่สุด ถ้าไม่ใช่ในหลวงก็ไม่ได้อยู่แผ่นดินนี้”
สิ่งที่ยืนยันคำเล่านี้ก็คือ เหรียญชาวเขาที่ผู้เฒ่าเผ่าลีซูห้อยติดตัวมาตลอดตั้งแต่ได้รับพระราชทานเพื่อแสดงว่าเขาเป็นพสกนิกรใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร “ตาห้อยเหรียญชาวเขาที่รัชกาลที่ 9 พระราชทานมาให้ตลอด ศรัทธาเหมือนพ่อ ห้อยติดตัวตลอด เก็บไว้คนมาขอซื้อ 2 แสนก็ไม่ขาย สมัยก่อนคนที่ไม่มีบัตรประชาชนต้องมีเหรียญนี้ สมัยแรกๆ ท่านพระราชทานไว้ให้เพื่อแทนบัตรประชาชนสำหรับชาวไทยภูเขา”
ผู้เฒ่าเผ่าลีซูหยิบเหรียญจากคอออกมา และเล่าว่า “พระเจ้าอยู่หัวให้มาเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นลูกบ้าน เป็นประชาชนของท่าน ตอนนั้นไม่ใช่ว่าคนบนดอยไม่มีบัตรเยอะ ตอนนั้นชาวเขาเราไม่รู้ว่าเขตที่เรามาปักหลักปลูกบ้านคือตรงไหน เขาบอกว่าที่นี่เมืองไทยนะ เราก็ไม่รู้ ระหว่างชายแดนก็ไม่รู้ ดังนั้นใครที่มีเหรียญนี้ก็เหมือนเป็นบัตรประชาชน เลขตัวนี้จะอยู่ที่อำเภอ ตอนนั้นได้ 3 เหรียญ ผม ลูกคนโต และเมียผม”
การเสด็จปี พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงตรวจฝายที่ห้วยโป่งขมของกรมชลประทาน เพื่อนำน้ำมาใช้ในที่นาที่พระราชทานแก่ชาวบ้าน 30 กว่าราย 4 หมู่บ้าน บนเนื้อที่ 200 ไร่ ซึ่งเป็นความปลื้มปีติของราษฎรเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง
แม้เวลาจะผ่านไปแล้วกว่าสามสิบปี รอยพระบาท รอยแย้มพระสรวล ด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม ยังตราตรึงอยู่ในดวงใจของราษฎรทุกชาติพันธุ์ โดยส่งความกตัญญูกตเวทิตานี้แก่ลูกหลานรุ่นต่อๆ ไปอย่างต่อเนื่อง
ความปลาบปลื้มของตาวันชัยนั้นนับเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของชีวิต และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงซาบซึ้ง แม้จะโศกเศร้าที่ได้สูญเสียผู้ปกครองที่มอบดวงใจถวายให้แล้ว แต่สิ่งที่ผู้เฒ่าเผ่าลีซูคนนี้ทำเสมอมาตั้งแต่หนุ่มกระทั่งตอนนี้ ก็คือการกราบพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ทุกครั้งที่ตื่นและก่อนนอน