posttoday

ไม่มีด่านแต่ไม่ไร้ใบสั่ง! เปิดระบบกล้องใหม่ตำรวจเมืองกรุง จับคนผิดกฎส่งภาพแจ้งปรับถึงบ้าน

21 พฤศจิกายน 2560

ส่องระบบกล้องใหม่ที่ตรวจจับรถฝ่าฝืนช่องเดินรถในเขตห้าม ที่จะมาช่วยการทำงานของตำรวจจราจรให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

หลังจาก พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ออกคำสั่งยกเลิกตั้งด่านตรวจกวดขันจราจรทั่วกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งแต่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา หลายคนอาจเบาใจว่าคงไม่ถูกจับหากทำผิดกฎจราจร ทว่าในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำระบบกล้องมาตรวจจับผู้กระทำผิดและส่งใบสั่งปรับไปให้ถึงบ้าน

งานนี้เรียกได้ว่าทำให้คนทำผิดกฎจราจรยากที่จะหลุดรอดจากการถูกจับปรับมากยิ่งขึ้นไปอีก... 

ระบบตรวจจับรถฝ่าฝืนช่องเดินรถในเขตห้าม หรือ กล้องเลนเชนจ์ เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) เตรียมนำมาใช้ดำเนินการตรวจจับผู้กระทำความผิดฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรซึ่งเตรียมเริ่มใช้จริงในพื้นที่ 15 จุดของกรุงเทพตั้งแต่ 30 พ.ย.นี้เป็นต้นไป

สำหรับ 15 จุดพื้นที่นำร่องที่จะใช้กล้องเลนเชนจ์ ประกอบด้วย สะพานแยกบางเขน ,สะพานข้ามแยกศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะขาออก ,ทางลอดแยกห้วยขวาง ,สะพานข้ามแยกบรมราชชนนีฯ ฝั่งขาออก ,สะพานข้ามแยกวงเวียนบางเขน ถนนแจ้งวัฒนะขาเข้า ,สะพานข้ามแยกราชเทวี ขาออก ,แยกสามเหลี่ยมดินแดง ขาเข้า ,สะพานข้ามแยกประชานุกูล ถนนรัชดาภิเษกขาออก ,สะพานศิริราช ฝั่งถนนอรุณอัมรินทร์ขาออก ,แยกรัชดา-ลาดพร้าว ถนนลาดพร้าว ขาออกและขาเข้า ,สะพานข้ามแยกวงศ์สว่าง ขาออก ,สะพานข้ามแยกพระราม 4 ขาออก ,สะพานพระพุทธยอดฟ้า ถนนประชาธิปกขาเข้า ,และสะพานข้ามแยกกำนันแม้น ถนนกัลปพฤกษ์ ขาออก

พ.ต.อ.กิตติ อริยานนท์ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร กล่าวว่าเหตุผลที่นำเทคโนโลยีกล้องเลนเชนจ์มาใช้ในพื้นที่กรุงเทพ นอกเหนือจากกล้องวงจรปิดซีซีวีทีที่มีกว่า 1,246 ตัว (กล้อง กทม. 158 ตัว ,บก.จร. 888 ตัว และกล้องบนทางด่วนอีกกว่า 200 ตัว) เพราะด้วยกล้องที่มีจำนวนมากเกินกำลังทำงานเจ้าหน้าที่ จึงดูได้เฉพาะพื้นที่ที่เป็นปัญหาและเพื่อทำให้การกวดขันกฎจราจรมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

ไม่มีด่านแต่ไม่ไร้ใบสั่ง! เปิดระบบกล้องใหม่ตำรวจเมืองกรุง จับคนผิดกฎส่งภาพแจ้งปรับถึงบ้าน ห้องศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร บก.02

 

รองผู้การตำรวจจราจร อธิบายหลักการทำงานออกใบสั่งรูปแบบที่ใช้อยู่เดิมด้วยกล้องซีซีวีที เจ้าหน้าที่ต้องไล่ดูภาพวิดีโอที่บันทึกได้จากกล้องซีซีทีวี หากพบผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรจึงจะดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดของรถที่กระทำความผิดก่อนออกใบสั่งไปยังบ้านเจ้าของรถ “แบบเดิมมันไม่มีระบบการทำงานของเทคโนโลยีไปจับ มันใช้กำลัง ใช้คน”

ขณะที่ ระบบกล้องเลนเชนจ์ สามารถตรวจจับรถที่กระทำผิดได้ทุกคันและตลอด 24 ชั่วโมง โดยการทำงานหนึ่งจุดจะมีกล้อง 3 ตัว กล้องตัวกลางมีเซ็นเซอร์คอยตรวจจับรถที่วิ่งทับเส้นทึบไปพร้อมกับบันทึกวิดีโอภาพเคลื่อนไหว จากนั้นเมื่อเซ็นเซอร์ตรวจพบการกระทำผิดจะสั่งการให้กล้อง 2 ตัว ทางด้านซ้ายขวา ถ่ายภาพก่อนและหลังการกระทำความผิด

จากนั้นระบบจะบันทึกและส่งภาพมายังศูนย์ บก.จร. เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบรถคันดังกล่าวว่ามีรายละเอียดตรงกับข้อมูลจดทะเบียนกรมการขนส่งทางบกหรือไม่ เช่น ทะเบียน รุ่น ยี่ห้อ สี จากนั้นจะดำเนินการออกใบสั่งไปยังบ้านเจ้าของรถภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน โดยข้อหาเบียดช่องจราจรหรือเปลี่ยนช่องทางเส้นทึบ อัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

รองผู้การตำรวจจราจร เปิดเผยว่า การพัฒนาระบบกล้องเลนเชนจ์อนาคตคาดว่าอาจติดตั้งเพิ่มบริเวณสี่แยกที่มีการฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรเป็นประจำ หรือจุดที่เกิดอุบัติเหตุหรือได้รับเรื่องร้องเรียนบ่อยครั้งเพื่อครอบคลุมทั่วกรุงเทพ แต่ถึงอย่างไรกล้องซีซีทีวียังคงใช้งานอยู่เพื่อดูแลเหตุต่างๆ เช่น รถจอดกีดขวางการจราจร รถเสีย ขับรถบนทางเท้า กลับรถจุดห้าม เพื่อเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ บก.จร. จะได้สั่งการให้ตำรวจในพื้นที่ลงไปดำเนินการดูแลแก้ไข

ไม่มีด่านแต่ไม่ไร้ใบสั่ง! เปิดระบบกล้องใหม่ตำรวจเมืองกรุง จับคนผิดกฎส่งภาพแจ้งปรับถึงบ้าน กล้องซีซีวีที(บนซ้าย) - กล้องเลนเชนจ์ (บนขวา) - คุณภาพกล้องเลนเชนจ์กลางคืน (ล่างขวา)

พ.ต.อ.กิตติ เชื่อว่าหากระบบดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์เชื่อมข้อมูล 3 หน่วยงาน คือ บก.จร.ทำหน้าที่ตรวจจับการกระทำความผิด กรมการขนส่งทางบก ทำหน้าที่ระงับต่อทะเบียนภาษีรถผู้ไม่ชำระค่าปรับ และหน่วยงานรับชำรถค่าปรับเสร็จทันสิ้นปี 2560 ตามกำหนดที่เคยมีการพูดคุยกันอาจทำให้ยอดชำระค่าค่าปรับด้วยกล้อง (ซีซีวีที) จากเดิมมี 30% เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการติดตั้งกล้อง 2 ทางเพื่อตรวจจับการกระทำผิดกฎจราจรของรถบางประเภท เช่น รถจักรยานยนต์ซึ่งมีแผ่นป้ายทะเบียนด้านหลังตัวรถนั้นอยู่ในขั้นตอนทดลอง แต่ตั้งใจว่าหลังเข้ามาทำงานด้านนี้จะรื้อระบบดังกล่าวพร้อมพยายามรวบรวมกล้องทั้งหมดให้เป็นเครื่องมือหลักอีกอย่างในการทำงานตำรวจเพื่อให้ครอบคลุมทุกเรื่อง

พ.ต.อ.กิตติ ทิ้งท้ายว่า การทำงานตำรวจจราจรในสายตาประชาชนที่ผ่านมามักถูกมองแง่ลบมาตลอด ไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหนทั้งคดีอาญา งานจราจร จับยาเสพติด เพราะประชาชนเชื่อว่าการตั้งด่านตรวจคือการหวังประโยชน์จากเงินรางวัล ดังนั้นจึงอาจต้องเปลี่ยนระบบด้วยการนำกล้องมาใช้เพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างตำรวจกับประชาชน

“ยุค 4.0 ต้องเน้นนำเทคโนโลยีมาใช้ เราจะใช้กล้องคอยตรวจจับการกระทำความผิด และให้ตำรวจพื้นที่เข้าไปดำเนินการแก้ปัญหาเป็นจุดๆ เพื่อลดขั้นตอนเผชิญหน้าและปัญหาระหว่างตำรวจกับประชาชน ซึ่งระบบนี้ต่อไปตลอด 24 ชั่วโมงไม่ว่าใครทำผิด ก็จะต้องถูกจับ”

ไม่มีด่านแต่ไม่ไร้ใบสั่ง! เปิดระบบกล้องใหม่ตำรวจเมืองกรุง จับคนผิดกฎส่งภาพแจ้งปรับถึงบ้าน หน้าจอแสดงผลการทำงานระบบการทำงานกล้องเลนเชนจ์

 

ไม่มีด่านแต่ไม่ไร้ใบสั่ง! เปิดระบบกล้องใหม่ตำรวจเมืองกรุง จับคนผิดกฎส่งภาพแจ้งปรับถึงบ้าน พ.ต.อ.กิตติ อริยานนท์ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร