posttoday

"ขยัน มุ่งมั่น หัวการค้า" เมื่อนักศึกษาจีนมาเรียนเมืองไทย

11 มกราคม 2561

ความขยันพากเพียรของเด็กจีน กำลังกลายเป็นพลังให้นักศึกษาไทยต้องปรับตัวและหาหนทางมองอนาคตร่วมกัน

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ภาพผลการเรียนคุณภาพเกรดเฉลี่ย 4.00 ของนักศึกษาชาวจีนกว่า 20 รายจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคเหนือของไทยถูกส่งต่อผ่านโลกโซเชียลมีเดียและเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ส่วนใหญ่ชื่นชมนักศึกษาเพื่อนบ้านที่ขยันขันแข็งมุ่งมั่นจนสามารถสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ขณะที่บางส่วนตั้งคำถามถึงเหตุผลที่พวกเขาเข้ามาเรียน และถามต่อในระดับชาติว่า วันที่จีนแผ่ขยายอิทธิพลและความสามารถไปทั่วโลก เด็กไทยต้องปรับตัวอย่างไร ?

ที่ตั้ง-วัฒนธรรม-ธุรกิจ เหตุผลจีนเลือกไทย

จินดา สุขะนินทร์ รองประธานฝ่ายบริหาร สถาบันไอเก็ท ซึ่งเป็นเครือข่ายการศึกษานานาชาติไทย-จีน ยกข้อมูลจากสถานทูตจีนพบว่าปัจจุบันมีนักศึกษาจีนในประเทศไทยประมาณ 30,000 หมื่นราย โดยทยอยเดินทางเข้ามาเรียนปีละ 8,000-9,000 คน ตามมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาที่เปิดรับ

สาเหตุหลักที่เลือกมาเรียนต่างประเทศ เนื่องจาก 1.มหาวิทยาลัยรัฐในประเทศจีน ไม่เพียงพอรองรับนักศึกษาในประเทศ 2. ผู้ปกครองไม่อยากให้บุตรหลานต้องเผชิญความกดดันในการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศ 3. มองถึงคอนเนคชั่นทางธุรกิจในอนาคต หลังเรียนจบในต่างประเทศ

เป้าหมายหลักของเด็กส่วนใหญ่ยังเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ ขณะที่ประเทศไทยนั้นมีทิศทางและได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

“กลุ่มที่เลือกมาเมืองไทยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของจีนอย่าง หนานหนิง คุณหมิง  อาจเป็นเพราะอยู่ในพื้นที่ใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์กับไทยในเรื่องธุรกิจการค้าระหว่างกันค่อนข้างมาก เช่น ผู้ปกครองของเด็กอาจมีธุรกิจที่ทำร่วมกับไทย นอกจากนั้นคนจีนยังมองว่า การศึกษาไทยมีคุณภาพในระดับที่น่าพอใจและยอมรับได้”

เมื่อราว 8 ปีก่อนนักศึกษาที่เข้ามามักเลือกเรียนในภาคอินเตอร์ ขณะที่ในช่วง 3-4 ปีหลังเริ่มเลือกเรียนในภาคภาษาไทย ตามคณะต่างๆ ที่รองรับและเปิดโอกาสให้เด็กจีนได้เรียนร่วมกับเด็กไทย

“พวกเขาอาจมองว่าหลังเรียนจบน่าจะสามารถหางานได้หลากหลายและมีคอนเนคชั่นกับเพื่อนคนไทยมากกว่า ทำให้ตอนนี้สัดส่วนระหว่างผู้เรียนภาคอินเตอร์กับภาคปกตินั้นใกล้เคียงกันแล้ว”

รองประธานฯ สถาบันไอเก็ท บอกถึง 3 คณะที่นักศึกษาจีนเลือกมากที่สุด ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ คณะนิเทศศาสตร์ และคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม โดยสัดส่วนในกลุ่มแรกนั้นสูงสุดโดยมีมากกว่า 50 เปอร์เซนต์ เนื่องจากมองเห็นถึงโอกาสในอนาคตที่ค่อนข้างชัดเจนและสดใส เมื่อมองจากนโยบายระหว่างสองประเทศและทิศทางที่เปิดกว้างในโลกสมัยใหม่

ส่วนคณะนิเทศศาสตร์เนื่องจากคนไทยโดยเฉพาะในวงการโฆษณานั้นทำผลงานได้ดีและมีชื่อเสียงในระดับโลก ทำให้ภาพการรับรู้ของคนจีนที่มีต่อวงการนิเทศฯ ของไทยค่อนข้างดีและได้รับการยอมรับ ขณะที่กลุ่มการท่องเที่ยวและการโรงแรม ไทยขึ้นชื่อเรื่องงานด้านบริการอยู่แล้ว

นอกเหนือจาก 3 กลุ่มดังกล่าว เนื่องจากหลายโรงเรียนในแถบคุณหมิง มีหลักสูตรศิลป์-ภาษาไทย  ทำให้เด็กในระดับ ม.ปลายที่เรียนเอกไทย เดินทางมาเรียนต่อมากพอสมควร

“เมื่อก่อนเขาเลือกเรียนภาษาไทยโดยตรง แต่ช่วงหลังด้วยความที่การเรียนภาษาศาสตร์นั้นค่อนข้างเข้มข้น ทำให้เด็กหลายคนรู้สึกว่ายาก และหันไปเลือกวิชาที่มีภาคปฏิบัติค่อนข้างมากอย่างนิเทศฯ และการโรงแรม” เธอบอกว่าค่าครองชีพและค่าเทอมในเมืองไทยนั้นไม่เป็นปัญหาสำหรับนักศึกษาเนื่องจากอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างกันจากบ้านเกิด และส่วนใหญ่ผู้เรียนมักมีฐานะค่อนข้างดี ไม่มีปัญหาเรื่องเงินและความเป็นอยู่

“ค่าเทอมมหาวิทยาลัยรัฐบาลของจีนตกปีละประมาณ 1 แสนบาท เท่ากับเทอมละ 5-6 หมื่น เมื่อเทียบกับเอกชนไทยแล้วไม่แตกต่างกัน”

จินดา บอกว่าข้อกฎหมายที่ซับซ้อนยังเป็นอุปสรรคสำหรับนักศึกษาที่เรียนจบและอยากทำงานต่อที่เมืองไทย แม้องค์กรจีนที่เปิดในไทยหลายแห่งต้องการรับเข้าทำงาน ขณะที่บางส่วนเลือกที่จะกลับบ้านเกิดทันทีหลังเรียนจบเนื่องจากเหตุผลด้านครอบครัวและธุรกิจ

ทั้งนี้จากนโยบายระหว่างประเทศของจีนและสิ่งที่ชาวจีนได้รับจากเมืองไทยทั้งในแง่ธุรกิจ วัฒนธรรม ตลอดจนคุณภาพชีวิต ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการศึกษาต่อเชื่อว่า ตัวเลขนักศึกษาชาวจีนนั้นจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

\"ขยัน มุ่งมั่น หัวการค้า\" เมื่อนักศึกษาจีนมาเรียนเมืองไทย เอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล

อึด ขยัน หัวการค้า คุณสมบัติเด่นเด็กจีน

ผลการเรียนระดับสูงที่เราเห็นในโลกออนไลน์แม้ไม่ได้สะท้อนคุณภาพของนักศึกษาจีนทั้งหมดในไทย อย่างไรก็ตามมันก็พอบอกได้ว่า ในอนาคตนั้นพวกเขาเหล่านี้มีโอกาสสดใสที่จะพัฒนาตนเองและประเทศชาติ

เอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล (ฝ่ายไทย) บอกว่า คุณสมบัติของนักศึกษาจีน คือความกระตือรื้อร้น มุ่งมั่นและรับผิดชอบ หากเลือกชัดเจนกับเป้าหมายแล้ว พวกเขาจะมุมานะไปให้ถึงจนประสบความสำเร็จ ขณะที่ความฉลาดนั้นไม่แตกต่างกันกับเด็กไทย

“อาจเป็นคุณสมบัติที่อยู่ในดีเอ็นเอ ความมุ่งมั่น การพาตัวเองไปสู่เป้าหมายเขาจะชัดเจน มีลูกอึด กระตือรือร้นสูง เท่าที่สัมผัสเด็กจีนเป็นคนทำอะไรจริงจังแม้กระทั่งเรียน ถ้าไม่สนใจก็จะไม่ทำ ถ้าสมัครลงเรียนแล้วเขาต้องทำให้ได้ แต่แน่นอนว่าพวกเกเรนั้นต้องมีบ้างเพียงแต่น้อยมาก”

อีกคุณสมบัติเด่นของเด็กแดนมังกร คือ ความเป็นพ่อค้าอยู่ในสายเลือด เมื่อนักศึกษาไทยอาจต้องรอให้ตัวเองมั่นใจและเติบโตสักระยะก่อนจะลงมือทำการค้าจริง ขณะที่เด็กจีนนั้นเข้ามาจากต่างแดนได้สักระยะก็เริ่มค้าขายแล้ว

“เด็กไทยอาจจะต้องเรียนสักปี 3-4 ถึงจะหาธุรกิจทำ แต่เด็กจีนปี 1 ก็เริ่มขายของออนไลน์กันแล้ว เขาสามารถเขียนภาษาจีนได้ ไปสั่งของจากเถาเป่า อาลีบาบา มาขายฝั่งไทย หรือบางคนรับของจากไทยและเขียนเป็นภาษาจีนไปขาย

“เด็กบางหอพักเขาทำอาหารขายกันเลย มีเมนูร่อนตามห้องที่มีคนจีนอยู่ โทรสั่งได้ ไม่มีหน้าร้านแต่ทำกันในห้องและส่ง อันนี้คือสัญชาตญาณความเป็นพ่อค้าของเขา อาจเป็นเพราะมาจากต่างถิ่นด้วยเลยทำให้ต้องเอาตัวรอดมากกว่า”เอกรัตน์บอกว่า ข้อดีอีกอย่างของชาวจีนคือการปรับตัวง่าย หากรับรู้กฎระเบียบต่างๆ ของสถานที่แล้วก็พร้อมปฏิบัติตาม

 

\"ขยัน มุ่งมั่น หัวการค้า\" เมื่อนักศึกษาจีนมาเรียนเมืองไทย เจียง จั๋ว ฉวิน และ กาน เชี่ยว หลิง

 

โอกาสทางธุรกิจและคุณภาพชีวิตที่ดี

สถานที่ วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และเหตุผลด้านการศึกษาซึ่งมองจากนโยบายเส้นทางสายเศรษฐกิจวันเบลต์ วัน โรด (โอบีโออาร์) ของจีนกลายเป็นปัจจัยหลักให้ เจียง จั๋ว ฉวิน เดินทางจากเมืองต้าถง ในมณฑลซานซี มาเรียนในที่วิทยาลัยนานาชาติจีนอาเซียน สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์

“คนจีนเห็นไทยเป็นบ้านพี่เมืองน้อง มีหลายอย่างคล้ายกัน ไทยยังเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เหมือนปลั๊กที่เชื่อมไปสู่หลายๆ ประเทศ การเข้ามาเรียนและหาประสบการณ์ชีวิตน่าจะทำให้อนาคตผมสดใสและเปิดโอกาสในด้านการทำงานมากขึ้น”

เจียงไม่เคยเดินทางมาประเทศไทยก่อนเลยจนกระทั่งเข้ามาเรียน เขาบอกว่า ทุกอย่างที่ได้สัมผัสส่วนใหญ่ตรงกับข้อมูลที่ได้รับมาก่อนหน้า โดยเฉพาะความนอบน้อมต่อผู้ใหญ่และน้ำใจ ส่วนคุณภาพการศึกษานั้นดีกว่าที่คาดหวังไว้เสียอีก โดยปัจจุบันเขาทำเกรดเฉลี่ยได้ 2.9

“ทุกอย่างเหมือนที่คิด ทั้งความสวยงาม ความมีน้ำใจของคนไทย ข้อมูลด้านลบอย่างยาเสพติด พอมาอยู่จริงๆ ก็ไม่เห็นว่าแย่อย่างที่คิด”

ชายหนุ่มวัย 21 ปีหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ดูหลักสูตร สถานที่ บรรยากาศ สิ่งอำนวยความสะดวก โดยสิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัยมากที่สุดคือคำบอกเล่าจากรุ่นพี่และอาจารย์ที่เคยมีประสบการณ์ในเมืองไทย

ประธานชมรมวิทยายุทธจีนของ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ บอกต่อว่า เริ่มมีเพื่อนคนไทยหลายคน แรกๆ คนไทยดูจริงจัง แต่พอสนิทสนมแล้วเป็นคนอารมณ์ดี ขี้เล่นและมีน้ำใจมาก ให้การช่วยเหลือและต้อนรับอย่างอบอุ่น

กาน เชี่ยว หลิง นักศึกษาสาวจากวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เดินทางมาเรียนเมืองไทยเพราะอยากสัมผัสประสบการณ์และคุณภาพชีวิตที่แตกต่างจากบ้านเกิดในมณฑลกวางตุง โดยได้รับการบอกเล่าจากอาจารย์ที่เคยมาเรียนที่เมืองไทย

“ชีวิตเมืองจีนค่อนข้างเร่งรีบ ทำอะไรก็เร็วๆ เมืองไทยสบาย อาจารย์สอนภาษาไทยของหนูบอกว่า ชีวิตเมืองไทยนั้นสนุกสนานและดีกว่า” นักศึกษาที่ได้เกรดเฉลี่ย 2.6 บอก โดยเป้าหมายของเธอหลังเรียนจบคือการกลับไปเป็นครูสอนภาษาไทยที่บ้านเกิด

ทั้งนี้อุปสรรคสำคัญของนักศึกษาชาวจีนในเมืองไทย หลายคนบอกตรงกันว่าเป็นเรื่องของภาษา โดยสถาบันต่างๆ เริ่มมีการส่งเสริมกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างนักศึกษาทั้งสองชาติมากขึ้น เพื่อลดช่องว่างด้านความสัมพันธ์

 

\"ขยัน มุ่งมั่น หัวการค้า\" เมื่อนักศึกษาจีนมาเรียนเมืองไทย ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์

 

มองจีนเป็นมิตรไม่ใช่ศัตรู

ใครหลายคนกังวลว่าการเข้ามาของนักศึกษาจีน ส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรในประเทศไทยและยังเบียดเบียนโอกาสการทำงานของคนไทย อย่างไรก็ตาม ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนนานาชาติ  Wellington College International Bangkok ไม่คิดแบบนั้น

“ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เป็นเรื่องที่ดีมากด้วยซ้ำ คนพวกนี้ซับพอร์ตเศรษฐกิจของประเทศเราทั้งนั้น ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม  ไม่ควรจะปิดกั้น กีดกัน ยิ่งมาอยู่กับเรามากเท่าไหร่ ยิ่งเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ หากมีคอนเนคชั่นที่แน่นแฟ้น ก็ส่งผลต่อการพัฒนาขับเคลื่อนของทั้งสองประเทศ คือวินๆ ทั้งคู่”

ในด้านคุณภาพการศึกษา อธิการบดีม.ธุรกิจบัณฑิตย์บอกว่า แต่ละสถาบันถูกควบคุมโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือ สกอ. อยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงว่าการเข้ามาของชาวจีนจะมีผลลบต่อคุณภาพ หลักสูตรหรือการเรียนการสอน

ด้าน เอกรัตน์ ผอ.สถาบันขงจื่อฯ บอกว่า จีนจะเป็นภัยหรือเป็นมิตร ขึ้นอยู่กับการมอง หากมองในด้านดีและรู้จักปรับตัวพัฒนาตนเอง จีนคือเพื่อนและโอกาสที่สดใส

“จะปิดกั้นนั้นไม่ถูก แทนที่จะมองว่าทำไมเขามาแย่งงานเรา อยากให้มองว่าเราจะพัฒนาตัวเองอย่างไร ต่อให้เขาจะมาแย่งก็แย่งไม่ได้ มีหลายอย่างที่จีนทำไม่ได้ แต่เราทำได้ สู้เราสร้างความเป็นเพื่อน เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ ส่งเสริมเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน จากอิทธิพลของมหาอำนาจโลกทุกวันนี้ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วที่จะมีอนาคตร่วมกัน” ผอ.สถาบันขงจื่อฯ บอกทิ้งท้าย

-----

ภาพบางส่วนจาก สถาบันไอเก็ท , มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์