สังคมก้าวไม่ทันกฎหมายผู้พิการ "อย่าจำนนเสพความช่วยเหลือ"
สภาพแวดล้อมที่พัฒนาขึ้นแต่ยังก้าวไม่ทันตัวกฎหมาย จึงมีความเหลื่อมล้ำทั้งการออกแบบสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ได้คำนึงถึงผู้พิการ
สภาพแวดล้อมที่พัฒนาขึ้นแต่ยังก้าวไม่ทันตัวกฎหมาย จึงมีความเหลื่อมล้ำทั้งการออกแบบสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ได้คำนึงถึงผู้พิการ
*************************
โดย...เอกชัย จั่นทอง
ในประเด็นเรื่องสิทธิผู้พิการ การเรียกร้องสารพัดที่ปรากฏออกสู่สาธารณะ ทำให้ใครหลายคนมองถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ยังมีให้เห็นต่อผู้พิการ อย่างกรณีการก่อสร้างทางเท้าภายในซอยพหลโยธิน 11 กลายเป็นข้อถกเถียงในสังคมออนไลน์ว่าสร้างขึ้นมาไม่คำนึงถึงผู้พิการที่อาจได้รับผลกระทบและไม่ได้รับความสะดวก แม้หลายฝ่ายพยายามจะยกคุณภาพชีวิตให้กับคนเหล่านี้ อันมาจากร่างกายที่บกพร่องตั้งแต่กำเนิด
ในมุมความคิดเห็นของ มณเฑียร บุญตัน ผู้พิการทางสายตาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในเส้นทางการเมืองมาตลอด เรียกว่าเป็นปากเสียงแทนผู้พิการทั้งหมดก็ไม่แปลก ที่ในปัจจุบันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และล่าสุดได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 2 ได้สะท้อนสถานการณ์คนพิการในสังคมไทยว่า กฎหมายเกี่ยวข้องกับผู้พิการถือว่าดีที่สุดในอาเซียน แต่ในทางปฏิบัติสังคมยังไปไม่ทันตัวกฎหมาย
“สังคมยังอยู่กับการสงเคราะห์เวทนานิยม สังคมเราปรับตัวช้ากว่ากฎหมายถือว่าเป็นเรื่องแปลกมาก แต่บางเรื่องสังคมไปเร็วกว่ากฎหมาย บางครั้งต้องออกกฎหมายตามหลังสังคม แต่เรื่องผู้พิการกฎหมายกลับนำหน้าสังคม เพราะสังคมไปไม่ทัน”
มณเฑียร ยังวิพากษ์ประเด็นเดิมว่า นโยบายเกี่ยวกับเรื่องสิทธิผู้พิการจึงยังลุ่มๆ ดอนๆ และขึ้นอยู่กับผู้บริหารภาคการเมือง ราชการ เข้าใจบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือสภาพแวดล้อม คนไทยอาจเข้าใจเฉพาะสภาพแวดล้อมทางกายภาพ แต่ความจริงไม่ใช่สภาพแวดล้อม ยังหมายรวมถึงกายภาพทาง ตึก ที่พักอาศัย รถสาธารณะ ดิจิทัล ข้อมูลข่าวสารต่างๆที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต
“สภาพแวดล้อมที่พัฒนาขึ้นแต่ยังก้าวไม่ทันตัวกฎหมาย จึงมีความเหลื่อมล้ำทั้งการออกแบบสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ได้คำนึงถึงผู้พิการ เวลาถูกร้องจึงเข้ามาแก้ไขเท่านั้น เกิดปัญหาก็ทุบซ่อมอยู่แค่นี้ เราเป็นสังคมทุบแล้วต่อเติม ปัญหาจึงยังคงเป็นเช่นเดิม แต่ก็ถือว่าดีกว่าเมื่อ 20-30 ปีก่อน เนื่องจากตัวกฎหมายเราดี”
ในประเด็นสำคัญที่ มณเฑียร ให้ความสำคัญและกังวลในวันนี้ คือผู้พิการยังเข้าไม่ถึงหรือใช้ประโยชน์ต่างๆ จากสวัสดิการทางภาครัฐ สังคม “เพราะว่าคนออกแบบคนก่อสร้างไม่คิดว่าคนพิการมีตัวตนที่จะใช้บริการ หรือเข้ามาถึงสิทธิเหล่านี้ เนื่องจากคิดว่าคนพิการไม่ได้มาร่วมใช้ด้วย การออกแบบก่อสร้างพัฒนาสิ่งต่างๆ จึงไม่ได้คิดถึงผู้พิการ” ตรงนี้เป็นปัญหา แต่ถ้ารัฐคิดว่าคนพิการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม คนเหล่านี้ควรเข้าถึงทุกอย่างเหมือนคนปกติคนอื่นๆ ที่เข้าถึงได้
ในฐานะตัวแทนผู้พิการ มณเฑียร ยังตอกย้ำภาพความเหลื่อมล้ำว่า หลายฝ่ายคิดว่าผู้พิการไม่มีส่วนร่วมพัฒนาขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ เวลาภาครัฐ เอกชนดำเนินการสิ่งใดก็จะไม่ได้คำนึงถึงผู้พิการ เพราะไม่ได้บอกว่ามาร่วมสร้าง ตัวอย่างเช่นธุรกิจสินค้า บริษัท บริการต่างๆ ที่ยังมองว่าผู้พิการยังไม่เป็นลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง กลับกันถ้าเมื่อใดที่ภาคเอกชน รัฐ มองว่าคนกลุ่มนี้มีส่วนช่วยขยายการค้า บริการ ธุรกิจ สินค้าและบริการต่างๆ จะถูกออกแบบให้ผู้พิการเข้าถึงได้
“เรื่องความเหลื่อมล้ำยังมี แต่มีแนวโน้มลดลง ชีวิตผู้พิการแปรผันไปตามสังคมโดยรวม สังคมเราเป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งใครจริงหรือไม่ ถ้าจริงคนพิการจะไม่ถูกทอดทิ้ง ในประเทศที่พัฒนามีการนำผู้พิการมาเป็นดัชนีชี้วัดว่าประเทศพัฒนาจริงหรือไม่ ดูจากผู้พิการที่ตกหล่น ถูกทอดทิ้ง เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา การทำงาน แหล่งทุนประกอบอาชีพ บริการสาธารณะ ฯลฯ ถือว่าผู้พิการเป็นตัวชี้วัดที่ดีมาก”
มณเฑียร ฉายภาพความห่วงใยว่า ถ้าสังคมใดพัฒนาดี โดยตัวชี้วัดจากผู้พิการการทอดทิ้งจะต่ำลง ทั้งยังชี้วัดสังคมแล้วยังเป็นตัวชี้วัดว่าเราพร้อมรับสังคมสูงวัยแล้วหรือไม่ เพราะคนสูงวัยกับผู้พิการบางคนก็มีชีวิตใกล้เคียงกัน ดังนั้นตัวชี้วัดจากผู้พิการคือมาตรวัดที่ดีว่า เราพร้อมดูแลคนเหล่านี้แล้วหรือยัง และนั่นจะเป็นต้นแบบสังคมในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร
ในขณะที่สังคมไทยยังมองว่าผู้พิการยังได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัว ภาครัฐช่วยเหลือ ในเมื่อมองผู้พิการเช่นนี้ว่ายังได้รับการดูแล จึงมีแต่รายจ่าย ไม่มีการลงทุนสร้างความเข้มแข็งให้ผู้พิการมีแต่เรื่องการสงเคราะห์ สัดส่วนการสงเคราะห์ยังสูง ซึ่งจะทำอย่างไรให้สัดส่วนการส่งเสริมพลังเพิ่มขึ้น ที่หมายถึงการช่วยเหลือผู้พิการในบริบทที่ถูกต้อง ช่วยให้ผู้พิการช่วยตัวเองได้ ไม่ควรช่วยเหลือให้อยู่ไปวันต่อวัน แต่มันคือการทำให้ผู้พิการมีพลัง
“ถ้าช่วยเหลือไปเรื่อย จะกลายเป็นว่าผู้พิการเสพความช่วยเหลือไปตลอด เป็นผู้ใช้อย่างเดียว ไม่สามารถเป็นผู้ผลิตร่วมพัฒนาได้ ทั้งที่กฎหมายในประเทศไทยมุ่งเน้นให้คนพิการเป็นพลัง ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมสร้างสังคม แต่คนส่วนใหญ่ยังมองว่าคนพิการเป็นภาระที่ต้องช่วยเลี้ยงดูให้มีชีวิตรอด เพราะฉะนั้นระดับการใช้เงินทรัพยากรจึงเป็นระดับการสงเคราะห์ให้ผู้พิการอยู่รอดมากกว่าการลงทุนเติมพลังให้ผู้พิการ ถ้าทำสำเร็จจะกลายเป็นพลเมืองที่มาเสียภาษีให้รัฐได้ ตรงนี้สำคัญมาก”
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้พิการที่จดทะเบียนในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 1.8 ล้านคน และยังมีผู้พิการที่ต้องการจดทะเบียนแต่ไม่มีโอกาสอีกจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งทั้งหมดยังไม่สามารถเข้าถึงโอกาส การทำงาน การศึกษา สาธารณูปโภคอื่นๆ และยังพบว่าผู้พิการยังเป็นช้างเท้าหลัง ยังเสพความช่วยเหลือจากสังคม ถือว่ายังไม่น่าพอใจ สุดท้ายประการสำคัญคือผู้พิการควรเป็นผู้ร่วมให้ความช่วยเหลือสังคม และให้ผู้พิการเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จการพัฒนาประเทศเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้วใช้กัน