posttoday

1.7 แสนตันกำลังมาเยือน!! ปัญหาขยะมาจากนโยบาย

21 มิถุนายน 2561

"ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างชาติ ความผิดที่เกิดขึ้นมาจากฝีมือของกระทรวงอุตสาหกรรม"

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

ซากขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลที่ลอยล่องอยู่บนเรือบรรทุกสินค้า ก็ถึงท่าที่ประเทศไทยอย่างสมบูรณ์

เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า ประเทศไทยได้รับขยะไฟฟ้าหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนหลายร้อยหลายพันตันเข้ามาสู่ผืนแผ่นดิน หากตำรวจไม่เข้าไปปราบปรามและจับกุมโรงงานและบริษัทที่ลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย

ก่อนจะขยายผลถึงที่มา และทำให้สังคมไทยต้องหันมามองขยะจำนวนนี้อย่างจริงจัง เพราะนั่นหมายถึงสุขภาพของคนที่จะได้รับผลกระทบ ยังรวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะก่อตัวขึ้นและทำลายสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้แย่หนักลงไปอีก

คำถามคือเกิดอะไรขึ้น ทำไมประเทศไทยกลายเป็นปลายทางของขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างชาติกัน เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้คำตอบในภาพรวมว่า ความผิดที่เกิดขึ้นมาจากฝีมือของกระทรวงอุตสาหกรรมเอง

เพ็ญโฉม ขยายความว่า กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศกฎกระทรวงออกมาให้ยกเว้นขยะอันตราย ขยะที่ปนเปื้อนสารเคมีหลากชนิดภายใต้การกำกับดูแล นั่นหมายถึงว่าผู้ผลิตขยะเหล่านี้ ผู้นำเข้าเพื่อจัดจำหน่าย ครอบครอง จะได้รับการยกเว้นในบางมาตราของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นไปตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องการส่งเสริมให้ธุรกิจคัดแยกขยะได้ใช้ประโยชน์ จะเห็นได้ว่าเป็นเพราะต้นทางคือนโยบายที่ผิดมาตั้งแต่ต้น นักลงทุนก็เห็นช่องทางนี้ในการทำธุรกิจอย่างไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เราจึงเห็นขยะอิเล็กทรอนิกส์มหาศาลกองเกลื่อน

"ผลพวงต่อเนื่องถูกส่งต่อมายุคปัจจุบัน เพราะคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก็ไฟเขียวในมาตรา 44 ยกเว้นระงับการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง รวมถึงเอื้อให้กิจการแปรรูปขยะต่างๆ ด้วย พื้นที่สีเขียวที่หลากหลายก็เลยเป็นพื้นที่ที่สามารถตั้งโรงงานคัดแยกขยะขึ้นมาได้อีก" เพ็ญโฉม ย้ำ

ข้องดเว้นดังกล่าวนั้นยังเอื้อให้นักลงทุนต่างชาติที่มีขยะของเสียทั้งเคมี อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ใช้เป็นช่องทางกระจายขยะของพวกเขาเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้ และปลายทางของช่องที่ว่าก็คือประเทศไทย และมาถึงจุดนี้ เพ็ญโฉมมองพร้อมตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับนโยบายของรัฐบาล ถึงได้ ส่งเสริมและเปิดช่องกับเรื่องนี้ หรือเพราะว่าเห็นประโยชน์จากธุรกิจดังกล่าวหรือไม่ เพราะขยะมหาศาลก็มาพร้อมกับเงินไม่น้อยเช่นกัน แม้จะไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดนัก แต่ก็ไม่อาจถูกตั้งคำถามได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลทำนั้น ถูกโยงไปทิศทางที่ไม่บริสุทธิ์ ไม่มีความโปร่งใส

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ สะท้อนว่า สังคมเห็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ เข้าก็ฮือฮาเพราะตำรวจไปจับจำนวนมหาศาล แต่ในแง่กฎหมายเราเอาผิดเขาไม่ได้ หรือถ้าเอาผิดก็มีแค่โทษปรับในหลักไม่กี่หมื่นบาท ซึ่งมันน้อยมากหากเทียบว่าคุณภาพการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ของเรามันแย่แค่ไหน รวมถึงคุณภาพการควบคุมจากหน่วยงานรัฐก็อ่อนแอ ทั้งการควบคุมแหล่งกำเนิด มาตรฐานทางสิ่งแวดล้อม การกำจัดที่ไม่ถูกวิธีไม่มีคุณภาพ มันกระทบทั้งหมด

"เราต้องถามรัฐบาลไทยว่า ยินดีจะส่งเสริมอุตสาหกรรมคัดแยก แปรรูปของเสียให้กับประเทศอื่นๆ หรือไม่ ถ้ารัฐบาลคิดว่ามีอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ ที่ดีกว่าและน่าลงทุนกว่า ก็ต้องรีบปิดช่องทางกฎหมายเหล่านี้ทั้งหมดที่เอื้อให้เอาขยะของเสียมาในประเทศ" เพ็ญโฉม แนะทางออก

มือปราบที่ลงพื้นที่และเขย่าปัญหาให้สังคมได้รับทราบ อย่าง พล.ต.อ. วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บอกถึงสถานการณ์ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจว่า ขณะนี้มี 7 บริษัทที่มีใบอนุญาตจากกรมโรงงานฯ ให้สามารถนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกกฎหมาย และทั้ง 7 บริษัทมียอดนำเข้ามารวมกันที่กว่า 2 แสนตัน และช่วงปี 2560 ถึงปัจจุบันมีการนำเข้ามาแล้วกว่า 9 หมื่นตัน ยังเหลือยอดที่ต้องเอาเข้ามาอีก

ราว 1.7 แสนตัน แต่บริษัทที่นำเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย กลับกระจายหรือส่งต่อขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปยังบริษัทอื่น หรือโรงงานคัดแยก กำจัดอื่นๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งปัญหาเกิดจากจุดนี้ เพราะแทนที่จะทำเอง กำจัดเอง คัดแยกเองตามที่กำลังของบริษัทสามารถทำได้ แต่เลือกส่งต่อ และโรงงานเหล่านี้ก็ไม่มีคุณภาพ ทำให้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหน่วง และอันตรายอย่างยิ่ง

"ยังมีบริษัทอีกหลายแห่งที่สำแดงเท็จเอาขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าประเทศด้วย โดยแจ้งว่านำเข้าเศษพลาสติก หรือเม็ดพลาสติก แต่กลับเอาขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามา ซึ่งตำรวจก็สืบสวนจนติดตามจับกุมได้ แต่ที่ผ่านมายอมรับว่ามีการสำแดงเท็จเอาขยะเข้ามามาก และผมมั่นใจว่ามากกว่าการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายด้วย" รอง ผบ.ตร. ผู้นี้ สะท้อนสถานการณ์ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน

พล.ต.อ.วิระชัย ทิ้งท้ายว่า มีเบาะแสการลักลอบเอาขยะเข้ามาแบบใหม่ด้วยเช่นกัน ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ นั่นคือมีการอ้างว่ามาพักท่าเรือของประเทศไทย และแจ้งว่าขยะดังกล่าวจะถูกนำไปส่งต่อที่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็พบว่ามีการนำไปขึ้นฝั่งที่ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเรากำลังตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน