เภสัชมหิดลไม่เอา (ร่าง) พ.ร.บ.ยาฯ ขออย.ทบทวน-ยึดหลักประชาชนปลอดภัย
เสียงคัดค้านจาก "เภสัชกร มหาวิทยาลัยมหิดล" ที่เสนอให้ อย. ทบทวน ร่าง พ.ร.บ.ยา เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมาหารือ นำข้อเสนอที่เป็นทางออกของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยึดหลักความปลอดภัยของผู้ป่วย
เสียงคัดค้านจาก "เภสัชกร มหาวิทยาลัยมหิดล" ที่เสนอให้ อย. ทบทวน ร่าง พ.ร.บ.ยา เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมาหารือ นำข้อเสนอที่เป็นทางออกของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยึดหลักความปลอดภัยของผู้ป่วย
****************************
โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเสวนา "ผ่า (ร่าง)พ.ร.บ.ยา ฉบับ อย.-ทันสมัยและคุ้มครองประชาชนจริงหรือ?" ที่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป้าหมายเพื่อแสดงออกถึงการคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ.... ที่ส่งผลต่อการคุ้มครองความปลอดภัยด้านการใช้ยาของประชาชน หลังจากร่างพ.ร.บ.ยาฯ ถูกนำเสนอต่อสังคม ก็ได้รับการคัดค้านจากกลุ่มเภสัชกร เนื่องเพราะหัวใจของร่างพ.ร.บ.ยาฯ อาจกำหนดให้วิชาชีพอื่น สามารถจ่ายยาให้กับประชาชนได้เอง รวมถึงความไม่เป็นสากลตามที่กลุ่มคัดค้านได้กล่าวอ้าง
ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร อุปนายกสภาเภสัชกรรม ที่อธิบายภาพของพ.ร.บ.ยาฯว่าคืออะไร และมีไว้เพื่อใคร เขาระบุว่า แต่เดิมประเทศไทยเริ่มมีโรงเรียนแพทย์ปรุงยาในปี 2456 กระทั่งมีการปรับปรุงกฎหมายในช่วงนั้นคือปี 2566 ที่ระบุว่าผู้ที่มีหน้าที่ปรุงยา ขายยา จะต้องได้รับการร่ำเรียนอย่างถูกต้อง รวมถึงมีการจัดระเบียบแบ่งประเภทวิชาชีพไว้ชัดเจน และต่อมาในปี 2472 ข้อกำกับในเรื่องธรรมจรรยาในวงการแพทย์ก็เริ่มขึ้นอย่างชัดเจน ข้อกำหนดในกฎหมายระบุเอาไว้ชัดเจนว่า หากขึ้นทะเบียนวิชาชีพแล้ว จะต้องไม่ก้าวก่ายวิชาชีพอื่น เพราะไม่ได้ฝึกหัดด้านยาหรือด้านการแพทย์ จึงจะมีอันตรายต่อประชาชนหรือผู้ป่วย
“กระทั่งในปี 2537 มีกฎหมายแยกให้เภสัชกรรรมต้องดุแลตัวเอง มีหน้าที่ปรุงยา จ่ายยา และขายยา นี่คือขอบเขตเภสัชกรรม แต่ก็มีข้อยกเ้นเข้ามาในมาตรา 28 ระบุว่า หากไม่มีบุคลากร ก็ให้บุคลกรสายอื่นเข้าไปทำหน้าที่ ซึ่งกฎหมายทุกฉบับจะเขียนเอาไว้เช่นนี้ และทำให้สุ่มเสี่ยงอันตรายกับผู้บริโภค” ภก.วรวิทย์ กล่าว
ภก.ปัญจพล เหล่าพูนพัฒน์ ศิษย์เก่าเภสัชมหิดล สะท้อนว่า กลไกของสากลคือการแยกการจ่ายยา กับการสั่งยาออกจากกัน ข้อดีคือมีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ไม่ว่าแพทย์จากชุมชน หรือโรงพยาบาล เพราะแพทย์สั่งมาแล้ว เภสัชกรก็จะช่วยตรวจอีกครั้งก่อนจะให้กับผู้ป่วยพร้อมกับคำแนะนำ นี่คือการทำงานร่วมกัน อีกทั้งการใช้ใบสั่งยา คนไข้จะรู้ว่าได้ยาอะไรมาและตรวจสอบได้ว่าถูกต้องตามโรคและตามอาการหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็มีระบบตรวจสอบเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาล แต่เมื่อออกจากสถานพยาบาลแล้ว การตรวจสอบก็ไม่มี เมื่อมีข้อสงสัยก็ไม่สามารถสอบถามได้
"ปัจจุบัน ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย มีการแยกใช้ยาและการจ่ายยาออกจากกัน ขณะที่มาเลเซียก็ยังอยู่ระหว่างการทดลอง และแน่นอนว่าไทย ยังไม่มีการแยกบทบาทหน้าที่กันชัดเจน”
ภก.ปัญจพล ให้ภาพอีกว่า การเข้าถึงยาในประเทศไทยพบว่าคลินิคสามารถจ่ายยาได้ทั้ง 4 ประเภท คือยาควบคุมพิเศษ ยาอันตราย ยาที่ไม่ใช่ยาอันตราย และยาสามัญประจำบ้าน แม้จะไม่มีเภสัชกรก็ตาม ซึ่งทำให้ขาดการตรวจสอบร่วมกันว่ายาเหมาะสมกับผู้ป่วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่าประเทศไทยจำเป็นที่ต้องสร้างความปลอดภัยและควรเข้าถึงยาได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องมีเภสัชกรคอยควบคุมดูแลการใช้ยาอย่างถูกต้อง ในต่างประเทศทั้งฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ ก็มีการคัดค้านการจำหน่ายยาในร้านสะดวกซื้อโดยปราศจากเภสัชกรควบคุม เพราะมันอันตรายกับผู้บริโภค
ขณะที่มุมมองในด้านผลกระทบของพ.ร.บ.ยาฯ เมื่อเปรียบเทียบร้านขายขาระหว่างไทยกับต่างประเทศ รศ.ภก.ปรีชา มนทกานติกุล นักวิชาการจากภาควิชาเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ภาพว่า การใช้ยามีปัญหา ถึงขนาดมีการะบุในพ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรมฯ ว่า เภสัชกรจะมีหน้าที่ค้นหาป้องกันและหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยา เห็นได้ว่ามีข้อกำหนดเอาไว้เพราะยาถือเป็นเรื่องอันตราย นั่นจะส่งผลให้เห็นถึงการใช้ยามีผลอันตรายถึงกับชีวิตกับผู้ใช้ได้
ข้อมูลจากสธ. พบว่ามีรายงานผู้ป่วยได้รับอันตรายจากการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ มากถึงปีละ 4-5 หมื่นคนต่อปี และมีอันตรายรุนแรงในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันยามีความอันตรายมาก โดยเฉพาะยาด้านแก้อักเสบ หรือยาฆ่าเชื้อที่จะมีปัญหามากที่สุด
“กาแพ้ยาเราพบบ่อยมาก เพราะผู้ป่วยแพ้ยาตัวหนึ่งก็สามารถแพ้ยาอีกชนิดได้เช่นกัน ซึ่งเภสัชกรจะรู้ดี เพราะการแพ้ยามักเกิดจาการแพ้ในส่วนโครงสร้างของยา เมื่อคนไข้มาซื้อยาและมีการสอบถามประวัติการแพ้ยา เภสัชกรก็จะเห็นว่ายาตัวใดที่ผู้ป่วยแพ้ และหากให้ยาชนิดใดที่จะมีผลต่ออาการแพ้ได้บ้าง เภสัชกรจะมีความสำคัญอย่างมากต่อการใช้ยา ไม่ใช่ใครก็ได้เข้ามาดูแล” รศ.ภก.ปรีชา ให้ความเห็น
ด้าน ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ ศิษย์เก่าเภสัชมหิดล และอดีตนายกสภาเภสัชกรรม มองว่า ปัญหาพ.ร.บ.ยาฯ เหมือนมีอาถรรรพ์ เพราะพูดกันคราใดก็มีปัญหา เพราะครั้งก่อนเราต้องการให้มีการออกใบสั่งยาให้ชัดเจนก็ทะเลาะกับกลุ่มแพทย์ และล่าสุดในปี 2557 ที่เราเรียกว่าพ.ร.บ.ยา ฉบับกฤษฎีกา ก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง เพราะมีปัญหาอยู่ทั้ง 7 ประเด็น อาทิ การจัดประเภทยาที่ไม่เป็นสากล ข้อยกเว้นการประกอบวิชาชีพ ไม่ต้องขออนุญาต หรือการให้ผู้ไม่เชี่ยวชาญเป็นผู้ประกอบการด้านยาได้ หรือแม้แต่ให้นักวิทยาศาสตร์ด้านเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือการโฆษณาการรักษาโรคร้ายแรงได้ เป็นต้น เราก็มองว่าไม่ถูกต้องและพยายามขอให้แก้ไข แต่ก็ไม่เป็นผล
“ที่ผ่านมากลุ่มเภสัชกรเคยเสนอการจำแนกยาให้เป็นสากล โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยา ยาควบคุม และยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งก็ไม่ได้รับการแก้ไข แต่ยึดแบบเดิมเมื่อครั้งปี 2510 คือแบ่งออกเป็น 4 ประเภท” ภก.กิตติ กล่าว
ภก.กิตติ เสนอทางออกไว้ว่า ร่างพ.ร.บ.ยาฯ ที่ปรับแก้ควรต้องเป็นไปตามระบบสากล ที่สร้างมาเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน และประเทศไทยก็พัฒนาด้านการแพทย์ตามแนวทางแพทย์ตะวันตกก็น่าจะสมควร รวมถึงหากมีการจำเป็นจะต้องยกเว้นกรณีใด ต้องมีสาเหตุที่ชัดเจน และที่สำคัญคือกฎหมายยาไม่ควรไปก้าวล่าวงกฎหมายวิชาชีพ
ทั้งนี้ ก่อนการเสวนา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รวบรวมคณาจารย์ ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน รวมถึงเภสัชกรอาชีพ เข้าร่วมแสดงพลังเพื่อย้ำจุดยืนของวิชาชีพเภสัชกรรม โดย ภญ.สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืน โดยใจความในแถลงการณ์นั้นขอคัดค้านร่างพ.ร.บ.ยาฯ เหตุผลสำคัญคืออาจส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยในการใช้ยาหลายประการ แม้ก่อนหน้านี้ จะมีความเห็นจากหลายภาคส่วนให้ปรับแก้ไขจุดสำคัญของร่างพ.ร.บ.ยาฯ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับประชาชน แต่อย.ก็ยังคงไม่แก้ไข
ภญ.สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล อ่านถ้อยแถลงอีกว่า เภสัชกรเป็นวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญด้านยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพราะต้องมีความรู้อย่างลึกซึ้งตั้งแต่โครงสร้างของยา การพัฒนาสูตรตำรับยา กลไกการออกฤทธิ์ และความรู้เชิงลึกอื่นๆ ด้านยา ดังนั้น เภสัชกรจะต้องเป็นผู้ผลิตยา จ่ายยา และคุ้มครองผู้บริโภคด้านยา และขอย้ำว่า ยาทุกชนิดมีความอันตรายหากใช้ไม่เหมาะสม
“ประเทศไทยประสบปัญหาอย่างหนักด้านการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม ทั้งปัญหาเชื้อดื้อยา การใช้ยาอย่างฟุ่มเฟือย และการใช้ยาในทางที่ผิด เพราะรายงานของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2560 พบว่าการขายยาที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านในชุมชนสูงถึง 67% ซึ่งแน่นอนว่าผิดกฎหมาย และยังไม่นับรวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคที่ไม่จำเป็นสูงมาก สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่ามีความจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านยาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว”
ท้ายสุด ภญ.สุวัฒนา ได้เสนอทางออกเอาไว้ว่า อย.ต้องระงับการนำเสนอร่างพ.ร.บ.ยาฯ แล้วนำกลับมาทบทวนแก้ไขใหม่ เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมาหารือ นำข้อเสนอที่เป็นทางออกของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และต้องยึดหลักความปลอดภัยของผู้ป่วย และการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นสำคัญ รวมถึงต้องเป็นหลักสากลตามแบบประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่จะทำให้เกิดการตรวจสอบด้านความปลอดภัยของการใช้ยากับผู้ป่วยในทุกวิชาชีพ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้ใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุด