posttoday

ปรับตัวหนีถูกปิด ทางรอด"มหาวิทยาลัยไทย"

01 ตุลาคม 2561

มหาวิทยาลัยไทยกำลังเผชิญวิกฤตจากผู้เรียนลดลง การปรับตัวจึงเป็นโอกาสรอดจากการปิดตัว

มหาวิทยาลัยไทยกำลังเผชิญวิกฤตจากผู้เรียนลดลง การปรับตัวจึงเป็นโอกาสรอดจากการปิดตัว

***************************

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

เมื่อกรณีวิกฤตมหาวิทยาลัยไร้ผู้เรียนถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง สิ่งที่ได้ยินตามมาก็คือคำเตือนให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งหลายต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพราะไม่เพียงแต่ปัญหาผู้เรียนที่ลดลงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งที่ซ้ำเติมวิกฤตนี้จากข้อมูลของธนาคารโลกที่ระบุว่า แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับเด็กไทยในปี 2573 นั้นมีอีกปัญหาอื่นรออยู่ อย่างกรณีผู้ที่เรียนจบในอนาคตอาจต้องตกงานถึง 72% เพราะตำแหน่งงานที่เคยมีในปัจจุบันจะถูกแทนที่โดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เรียกกันว่าเอไอ ภาพรวมงานด้านต่างๆ ในประเทศไทยจะถูกแทนที่ด้วยเอไอถึงประมาณ 50%

การปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตจึงนับเป็นโจทย์ เป็นคำถามสำคัญว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ ของไทยจะมีศักยภาพทำได้หรือไม่

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ระบุว่า มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาผู้เรียนลดลงโดยใช้วิธี 3 แนวทาง คือ แบบแรก นำระบบการเรียนแบบออนไลน์มาช่วยและเพิ่มความยืดหยุ่นในการเรียนการสอน แบบที่สองคือ เปิดสาขาวิชาที่เป็นสาขาวิชาที่เป็นทางเลือกเฉพาะกลุ่ม เช่น เป็นสถาบันสำหรับช่าง วิศวกร และแบบที่สามคือ หันไปสอนหลักสูตรระยะสั้น

“การปรับตามแนวทางของอเมริกา เป็นเรื่องที่อาจจะทำได้อย่างลำบากในมหาวิทยาลัยไทย เพราะประเด็นปัญหาใหญ่ก็คือ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยไม่ได้มีองค์ความรู้ลึกขนาดนั้น พอจะปรับตัวต้องไปดูที่รากฐาน ซึ่งจะพบว่าเราไปทางไหนก็ยาก เช่น ถ้าเราจะเปิดสอนออนไลน์ เมื่อเด็กมาดูหลักสูตร ดูระบบ ดูอาจารย์ผู้สอนแล้วพบว่าไม่น่าเชื่อถือ โอกาสที่เด็กจะตัดสินใจเรียนก็ยิ่งน้อย ตอนนี้เรายิ่งตกอยู่ในสภาพน่ากังวลเรื่องคุณภาพอยู่ แล้วหันไปสอนออนไลน์ด้วย ก็เกิดคำถามว่าจะยิ่งจบง่ายกว่าเดิมและมีคุณภาพหรือไม่ในทันที”

เกียรติอนันต์ กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาซึ่งมีมหาวิทยาลัยประมาณ 4,700 แห่งนั้น กว่าที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับท็อป 30 จะตัดสินใจเปิดสอนระบบออนไลน์นั้น ต้องใช้เวลาเตรียมตัวกันนานมาก เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าหลักสูตรออนไลน์ที่จะเปิดนั้นมีความน่าเชื่อถือ และแม้จะเป็นการเปิดหลักสูตรออนไลน์ แต่บางช่วงได้มีการบังคับไว้ในหลักสูตรว่าต้องไปเรียนในที่จริง ต้องไปสัมผัสกับบรรยากาศห้องเรียนจริงๆ ในมหาวิทยาลัย

ขณะที่การเปิดสาขาวิชาที่เป็นสาขาวิชาที่เป็นทางเลือกเฉพาะกลุ่ม สาขาเฉพาะทาง ก็นับว่าเป็นเรื่องที่มีปัญหาอื่นๆ ให้ต้องกังวลเช่นกัน

“หากจะเปิดหลักสูตรเฉพาะทางเพื่อป้อนระบบอุตสาหกรรม ก็มีปัญหาเรื่องอาจารย์ที่ไม่มีองค์ความรู้ลึกพอ หรือตามไม่ทันอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ แต่จะรอให้อุตสาหกรรมจับมือกับมหาวิทยาลัยก็มักมีเงื่อนไขเรื่องอุตสาหกรรมจะได้ประโยชน์อะไร มหาวิทยาลัยต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่ามีองค์ความรู้อะไรที่อุตสาหกรรมยังขาดแคลนอยู่ ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวจะได้มาต้องมีการทำงานวิจัยที่เข้มข้น การจับมือกับระบบอุตสาหกรรมจึงเกิดขึ้นได้ยาก

หากจะเกิดขึ้นก็มักจะเป็นเรื่องการหวังผลระยะสั้น เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของการทำธุรกิจ ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยไทยลงนามเอ็มโอยูกับธุรกิจต่างๆ เป็นจำนวนมาก แต่ต้องตั้งคำถามว่านั่นคือการร่วมมือที่แท้จริง และแลกเปลี่ยนกันอย่างต่อเนื่องหรือไม่ มหาวิทยาลัยเองก็ต้องมีเป้าหมายระยะยาวที่กลายเป็นจุดแข็งให้กลายเป็นทางเลือกของระบบอุตสาหกรรมที่มีอยู่ หรือตลาดแรงงานเฉพาะกลุ่มได้

ขณะที่การสอนเฉพาะทางก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องสั่งสมองค์ความรู้และรักษาคุณภาพไว้ให้ได้อย่างยาวนานจนเป็นที่ยอมรับในแวดวงการศึกษาว่า ถ้าอยากเรียนสาขานี้ ต้องมาเรียนที่นี่ เช่นที่เคยเกิดขึ้นกับสิงคโปร์ แมเนจเมนต์ ยูนิเวอร์ซิตี้ ที่เปิดสอนเพื่อปั้นนักธุรกิจโดยเฉพาะ กว่าที่จะสร้างแรงดึงดูดผู้เรียนได้ ต้องมีการทำวิจัยที่ลงลึกถึงเนื้อหาด้านต่างๆ สามารถสร้างชื่อเสียงต่อเนื่อง จนแบรนด์ของมหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับ” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าว

นอกจากการปรับตัวแบบที่กล่าวมาแล้ว แบบที่สาม หรือหันไปสอนหลักสูตรระยะสั้นก็มีปัญหาเช่นกัน หากอาจารย์ผู้สอนไม่มีความสามารถ มีชื่อเสียงดึงดูดผู้เรียนมากพอ

“คนเก่งในเมืองไทยมีเพียงหยิบมือเดียว จะเกิดปรากฏการณ์ผู้สอนชื่อดังไม่กี่คนเวียนไปสอนตามที่ต่างๆ ที่สุดแล้วมหาวิทยาลัยก็จะกลายเป็นเพียงสถานที่ให้เช่าจัดสัมมนา ซึ่งไม่ได้ช่วยให้มหาวิทยาลัยนั้นๆ มีจุดแข็งเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว เราไปก๊อบปี้กลยุทธ์ในการแก้ปัญหา แต่ขาดความลึก ขาดเนื้อแท้ที่เป็นองค์ความรู้ที่สะสมมาจะกลายเป็นชื่อเสียงที่ผู้เรียนไว้ใจได้ว่า หากมาเรียนแล้วจะได้ความรู้มากกว่าที่จะหาได้จากที่อื่น ก็ไปต่อได้ยาก

ตอนนี้มหาวิทยาลัยทุกแห่งยังมีโอกาสรอดจากการปิดตัวได้ หากวางกลยุทธ์ได้ถูกต้อง และเร่งสร้างองค์ความรู้เชิงลึกให้เป็นที่ประจักษ์ให้กับอาจารย์ เพราะความเป็นครูที่เก่งจริงถือเป็นแรงดึงดูดสำคัญที่สุดที่จะทำให้ผู้เรียนตัดสินใจเข้ามาเรียน เด็กรุ่นใหม่นั้นเก่งพอที่จะแยกได้ว่า อะไรคือภาพลักษณ์ อะไรคือสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์กับการเรียนรู้ที่จะใช้รับมือกับอนาคต” เกียรติอนันต์ กล่าวทิ้งท้าย