ชำแหละกฎหมายคู่ชีวิต กลุ่ม LGBT หนุนขอมีบุตรบุญธรรม
รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ฉายภาพ ร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตว่า ทะเบียนคู่ชีวิตเป็นเพียงแค่สัญญาของคนสองคนที่พร้อมใจจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ไม่ใช่การจดทะเบียนสมรส
โดย...เอกชัย จั่นทอง
หลังจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกระทรวงยุติธรรม เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจดทะเบียนคู่ชีวิต ผ่านเว็บไซต์จากประชาชนทั่วประเทศและกลุ่มความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่ม LGBT ในช่วงเดือนที่ผ่านมา รวมระยะเวลากว่า 15 วัน ปัจจุบันการ รับฟังความคิดเห็นในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีความเห็นหลากหลายจากทุกกลุ่มที่ร่วมแสดงความคิดเห็นในร่างกฎหมายฉบับนี้
เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ฉายภาพอธิบาย ร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตว่า ทะเบียนคู่ชีวิตเป็นเพียงแค่สัญญาของคนสองคนที่พร้อมใจจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ไม่ใช่การจดทะเบียนสมรส แต่มันคือการสัญญากันระหว่างคนสองคนแล้วจูงมือกันไปจดทะเบียนที่สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นพยานว่า ทั้งคู่สัญญาจะดูแลซึ่งกันและกัน โดยไม่เกี่ยวข้องหรือเหมือนกับทะเบียนสมรส และไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา
"การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะมีเรื่องของสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนจะได้รับเหมือนปกติทั่วไป แต่สิ่งที่ไม่ได้รับคือเรื่องของการขอมีบุตรบุญธรรม เรื่องขอลดหย่อนภาษี และสวัสดิการรัฐกรณีการเบิกค่ารักษาพยาบาล จะไม่ได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้จะให้สิทธิขั้นพื้นฐานทุกอย่างที่คนปกติได้รับทั่วไป และเพื่อแก้กฎหมายระหว่างคู่รักให้สามารถอยู่ด้วยกันได้ ทั้งการเซ็นรับรองรักษาพยาบาล การเซ็นรับศพ การบริหารทรัพย์สินร่วมกัน โดยจะทำกฎหมายนี้ให้ออกมาชัดเจน ปรับแก้ถ้อยคำให้สอดคล้องอย่างไร"เกิดโชค กล่าว
รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ระบุด้วยว่า หลักการของ พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต เราพยายามที่จะสื่อให้สังคมเห็นและมีการยอมรับในภาษากฎหมาย โดยเป็นการยอมรับว่ามีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ รองรับด้วยตัวกฎหมายที่พูดถึงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ มีการเขียนคำจำกัดความ ถ้าหากกฎหมายฉบับนี้ผลักดันสำเร็จจะเกิดประโยชน์ใน 3 มิติ เช่น มิติของการยอมรับในทางกฎหมายที่ถูกต้อง และเกิดมิติใหม่ของการอยู่ร่วมกันแทนที่จะจดทะเบียนสมรสเหมือนคู่หญิงชายปกติแต่จะเป็นการจดทะเบียนคู่ชีวิตระหว่างกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ
การเปิดรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตเป็นอย่างดี อาจพบปัญหาเล็กน้อยในพื้นที่ภาคใต้คือเรื่องของศาสนา ที่ยังไม่เปิดกว้างเรื่องสิทธิทางหลากหลายทางเพศ ส่วนใหญ่เสนอไม่ให้บุคคลหลากหลายทางเพศที่นับถือศาสนาอิสลามจดทะเบียน พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต เนื่องจากเป็นการกระทำที่ขัดต่อศาสนา
เกิดโชค ยังบอกด้วยว่า จากการ รับฟังความคิดเห็นพบข้อเรียกร้องจาก ผู้แสดงความเห็นที่ต้องการขอให้ปรับแก้ไขเพิ่มเติมในร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตมากที่สุด พบว่า 1.เรื่องการขอมีบุตรบุญธรรม 2.ให้แก้ไขกฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์ 3.ไม่อยากให้มีการระบุถึงเรื่องติดต่อร้ายแรงจนเป็นเหตุให้หย่าร้างกัน 4.ขอให้ปรับแก้ให้สิทธิคนพิการเข้ามาเป็นพยานได้
"กฎหมายที่เกิดขึ้นต้องเป็นกฎหมายที่ยอมรับได้ทั้งในสังคม ระดับประเทศ และสังคมโลก ต้องให้การยอมรับกับกฎหมายด้วย เพราะถ้าหากเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจะไม่ต้องกังวลในเรื่องของกฎหมาย เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ถูกต้องและทุกฝ่ายให้การยอมรับแล้ว" เกิดโชค ยกผลลัพธ์ให้ฟัง
รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าวว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต เพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของกลุ่มคู่รักเพศเดียวกันนั้น จากการเปิดความรับฟังความเห็นประชาชนทั่วประเทศ สามารถคัดแยกประกอบไปด้วย กลุ่มเพศที่เข้ามาแสดงความเห็น แยกเป็น เพศหญิง 638 คน หรือ 20.9% เพศชาย 576 คน หรือ 18.9% กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) 1,841 คน หรือ 60.3%
ส่วนการสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. การจดทะเบียนคู่ชีวิตฯ แยกเป็น กลุ่มสนับสนุน 2,991 คน หรือ 97.9% กลุ่มไม่สนับสนุน 64 คน หรือ 2.1% นอกจากนี้ยังแยกเป็นกลุ่มสาขาอาชีพ ประกอบด้วย กลุ่มข้าราชการและบุคลากร ของรัฐ คิดเป็น 20.9% กลุ่มนักวิชาการและนิสิตนักศึกษา 17.6% กลุ่มประชาชนทั่วไป 57.1%" เกิดโชค เผยข้อมูล ตัวเลข
เกิดโชค ระบุอีกว่า ส่วนกลุ่มอายุที่แสดงความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตฯ กลุ่มอายุไม่เกิน 30 ปี คิดเป็น 52.6% กลุ่มอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 40 ปี 29.8% กลุ่มอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 50 ปี 9.3% กลุ่มอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 60 ปี 7.5%
ทั้งนี้ สำหรับจำนวนประชากรของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอาจมีตัวเลขไม่คงที่ แต่จากการประเมินน่าจะอยู่ประมาณหลักล้านคนอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะทำความเห็นจากการเปิดเวทีรับฟังความเห็นเสนอให้อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ก่อนส่งมอบให้กระทรวงยุติธรรมเพื่อนำเสนอพิจารณากฎหมายให้เสร็จต่อไป