posttoday

โอกาสใหม่ในวิกฤตโควิด-19 รอดได้....เรียนรู้และปรับตัว

29 มกราคม 2564

โดย... ดร.อนุชา เจริญโพธิ์ บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

*******************

เหตุการณ์สถานการณ์แพร่ระบาดนี้เกิดขึ้นครั้งแรก ที่เมืองหวูฮั่นเมื่อเดือนธันวาคม ปี2562 โดยแพร่ระบาดจากตลาดค้าขายเนื้อสดและของทะเล และ ขยายไปทั่วโลกนับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลาประมาณ 14 เดือน มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกจากการรายงานของเว็บไซต์ worldometers.info/coronavirus/ณ วันนี้อยู่ประมาณ 102 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 2.2 ล้านคน และมีผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วอยู่ประมาณ 73 ล้านคน ใน 221 ประเทศทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย รายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด 19 รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด 19 วันนี้ สรุปว่า มีผู้ติดเชื้อสะสม 17023 คน เสียชีวิต 76 คน และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาหาย 11535 คน ซึ่งตัวเลขที่สูงขึ้นในครั้งนี้เกิดมาจากการแพร่ระบาดของกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่จังหวัดสมุทรสาครซึ่งตรวจพบเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

การแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด 19 ในหลายๆประเทศ รวมถึง ประเทศไทยทำให้คนทั่วโลกเกิดความวิตกกังวลรัฐบาลในหลายๆประเทศได้มีการปิดเมือง ปิดประเทศ การประกาศเคอร์ฟิวห้ามผู้คนออกจากบ้านในเวลากลางคืน และยามวิกาล รวมถึงมาตรการอื่นๆ อีกที่พวกเราคนไทย และคนทั่วโลกกำลังเผชิญกันอยู่ กรมการท่าอากาศยานของประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้สายการบินพาณิชย์ทุกสายการบินลงจอดในประเทศไทยนอกจากจะได้รับอนุญาตมาก่อนหน้า สถานที่ท่องเที่ยวในทุกประเทศไม่มีผู้คนเดินทางไปท่องเที่ยว หรือมีก็เหลือเพียงจำนวนน้อย ผู้คนไม่จำเป็นก็ไม่ออกนอกบ้าน ไม่กล้าอยู่ในที่คนพลุกพล่าน แต่กลับคอยติดตามข่าวสารเพื่ออัพเดทการแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้เพื่อให้รอดพ้นจากการตกเป็นเป็นคนไข้โควิด 19

ธุรกิจจำนวนมาก โดยเฉพาะเอส เอ็ม อี ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จนต้องลดพนักงาน เลิกจ้าง หรือปิดตัวเองลง ในส่วนที่พอจะทำธุรกิจต่อไปไหวก็ตัดสินใจลดเงินเดือนพนักงาน ตัดเงินเดือนพนักงาน เป็นต้น เพื่อให้เห็นภาพว่าไวรัสโควิด 19 ได้สร้างวิกฤติกับคนไทยอย่างพวกเรา โดยเฉพาะพนักงานมนุษย์เงินเดือนบริษัทเอกชนว่าได้รับผลกระทบขนาดไหน

เมื่อสองวันที่ผ่านมา มีรายงานข่าวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพบว่าตอนนี้ ทางผู้บริหารได้อนุมัติเงินจำนวน 366 ล้านบาทเพื่อเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้เพื่อช่วยเหลือ อดีตพนักงานลูกจ้างจากบริษัทเอกชนที่ได้รับผลกระทบกว่า 137,000 คนที่จะเข้าโครงการนี้ เพราะพวกเขาไม่มีเงินส่งต่อสำนักงานประกันสังคมเหมือนเมื่อก่อน และนี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และใกล้ตัวอย่างคนไทยอย่างพวกเราเป็นอย่างมาก

วิกฤติที่เห็นได้อย่างชัดเจนอีกเรื่องหนึ่ง หนีไม่พ้นเรื่องการศึกษา จากการแพร่ระบาดในรอบแรกทำให้กระทรวงศึกษาต้องประกาศให้โรงเรียนทั้งหมดในประเทศไทยต้องเลื่อนการเปิดเทอมปีการศึกษา 2563 ไป ซึ่งปกติจะเปิดวันที่ 16 พฤษภาคมของทุกปีแต่ในปีที่ผ่านมาจำเป็นต้องเลื่อนไปเปิดเดือนกรกฎาคม 2563 และถึงแม้จะเปิดได้บางโรงเรียนบางพื้นที่ยังต้องใช้นโยบายบการเปิดเหลื่อมเวลา เช่นนักเรียนชั้น มัธยมศึกษาตอนปลายเรียนวันคี่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาต้อนต้น เรียนวันคู่ ใครที่ไม่สามารถมาเรียนได้ให้เรียนผ่านออนไลน์ หรือ ห้องเรียนเสมือน

สำหรับการแพร่ระบาดรอบที่สองของประเทศไทยตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศปิดโรงเรียนมาตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2563 จนกระทั่งถึง 31 มกราคม 2564 และเมื่อกลางสัปดาห์นี้ทางคณะกรรมการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด 19 ได้มีมติให้โรงเรียนทั่วประเทศเปิด ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ยกเว้นในจังหวัดสมุทรสาครที่ยังมีสถานะการควบคุมเข้มงวดสูงอยู่

การปิดโรงเรียนอันเนื่องมาจากสถานการณ์ โควิด 19 นี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือนักเรียน ถึงแม้ว่าทางโรงเรียนได้จัดห้องเรียนเสมือนให้เด็กกับครูได้ เรียนได้สอนกัน แต่ก็พบว่า ประสิทธิภาพทางการศึกษาที่เกิดขึ้นนั้นยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าจะยอมรับได้ จนกระทั่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ นายณัฐพล ทีปสุวรรณ ถึงกับเคยออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในประเด็นนี้ แต่อย่างไรก็ดี หวังว่าในการประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19ในวันศุกร์นี้ จะอนุมัติให้ เด็กนักเรียนได้กลับมาเรียนพร้อมเพรียงกันในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ทุกคน

เมื่อถามว่าแล้วส่วนตัวในฐานะนักสื่อสารมวลชนมองวิกฤตินี้อย่างไร และเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากวิกฤตินี้

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านักข่าว และคนที่ทำงานในวงการสื่อสารมวลชนจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 14 เดือนกับการเผชิญกับปัญหานี้ องค์กรสื่อได้มีการปรับตัวเองเป็นอย่างมากในแง่ของการปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ ก็ได้ปฏิบัติตามนโยบายให้พนักงานได้ทำงานอยู่ที่บ้าน ลดการเดินทางออกไปในพื้นที่เสี่ยงและพบปะผู้คน แน่นอนในเรื่องการผลิตเนื้อหานักข่าวที่เกี่ยวข้องยังต้องผลิตเนื้อหาอยู่ ก็ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมประชุมสัมมนาที่องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และบริษัทจัดเพื่อดำเนินการหาข่าวสัมภาษณ์แหล่งข่าว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้นักข่าวต้องรู้จักการพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารหาและบันทึกข้อมูล และพัฒนาผลิตเนื้อหาอยู่อย่างต่อเนื่องซึ่งก็เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้

ในส่วนของการหารรายได้เพื่อให้องค์กรอยู่รอด ทางองค์กรต่างๆ คงต้องได้มีการปรับตัวไปสู่การทำงานเพื่อไปสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้นในทุกๆช่องทาง และทุกๆแพลตฟอร์มเพื่อเปิดฐานลูกค้าให้มากขึ้นและเพื่อเป็นช่องทางในการหาโฆษณาให้มากขึ้นเพื่อให้องค์กรนั้นๆอยู่รอดได้เช่นกัน เพื่อให้ผ่านสถานการณ์วิกฤติโควิด 19 เช่นนี้ไปให้ได้

อย่างไรก็ดีหากมองในแง่ดี ในมุมที่กว้างขึ้น การระบาดในวงกว้างของโควิด 19 ทำให้ผู้คนทั่วโลก รวมถึงตัวผมเอง และคนไทยจำนวนมาก ได้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคภัยต่างๆ มากขึ้น มีการระมัดระวังตัวเองมากขึ้นในการเดินทางออกไปนอกบ้าน หรือจำเป็นต้องวิสาสะกับผู้คน ผู้คนยึดระยะห่างซึ่งกันและกัน หน้ากากอนามัย และแอลกอฮอล์ เจล ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเอาไปติดตัวแทบทุกครั้ง หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกก็จะชอบเช็ดมือด้วยแอลกอฮอล์อยู่บ่อยๆ ที่ผ่านมาทั้งวิกฤติครั้งที่ 1 เมื่อปีที่แล้ว และ ทั้งวิกฤติครั้งที่ 2 ที่เพิ่งเกิดขึ้น คนไทยที่ ทำงานทั้ง ในภาครัฐ และภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ก็ตระหนักถึงการต้องปรับเปลี่ยน และปรับตัว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในเชิงรุก เพื่อลดความเสี่ยงในการการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆ ในอนาคตมากขึ้นด้วย

ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ผมต้องชมเชยรัฐบาลนี้ที่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็วภายใต้การทำงานตามคำแนะนำของแพทย์ชั้นครูระดับประเทศ และบุคลากรทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขในการจัดตั้งทีมงานมาวิเคราะห์โรค ความคงอยู่ แนวโน้มของโรค และคำแนะนำต่างที่มีให้ประชาชนอย่างต่อเนื่องในการดูแลตนเองให้ปลอดจากการ ติดเชื้อโควิด 19 ถ้ายังคงจำกันได้อยู่ การที่รัฐบาลตั้งศูนย์บริหารงานสถานการณ์โควิด 19 ขึ้นมาทำงานเรื่องนี้ โดยมีนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน เป็นโฆษกออกมาให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องในทุกๆมิติที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด และเพื่อรายงานข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบผมถือว่าเป็นการตั้งรับที่ดีมากและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นที่ดีของประชาชนต่อรัฐในเรื่องการสาธารณสุข และการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับ เศรษฐกิจที่ประชาชนได้รับ

มาถึงตรงจุดนี้ผมอยากจะบอกว่า แม้โควิด 19 จะเป็นโรคที่ร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงก็แล้วแต่คนจะคิดเห็น แต่ที่แน่ๆ ไม่ได้เป็นโรคที่คนที่เป็นแล้วจะจบด้วยการเสียชีวิตทุกคนก็ตาม แต่โรคนี้ก็แพร่กระจายไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ซึ่งย่อมทำให้เกิดความหวาดระแวงไปทั่ว จนกระทั่งหลายสิ่งหลายอย่างชะลอตัว ไปจนถึงขั้นหยุดชะงักแต่ในทางกลับกันมันก็ยังเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ นั่นคือวิกฤตินี้ทำให้ คนไทยส่วนใหญ่ในทุกภาคส่วนได้มีการปรับวิธีคิดในการใช้ชีวิตให้อยู่รอดได้ภายในสถานการณ์เช่นนี้ อาจบอกได้ว่าวิกฤตนี้กระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนเพื่อเป็นทางเลือกสู่ทางรอดมากขึ้นในหลากหลายวงการอาชีพ สิ่งที่ผมเห็นอยู่มีดังนี้

ในภาคธุรกิจ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าคนไทยหลายคน มีความคิดสร้างสรรค์สามารถทำธุรกิจโดยผ่านการใช้แพลทฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ ดีลิเวอรี่ การสอนหนังสือผ่านออนไลน์ การขายของผ่านออนไลน์ เป็นต้น

ในภาคสาธารณสุข ทำให้เราเห็นถึงความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น การค้นคว้าวิจัยวัคซีนโควิด 19 การผลิตอุปกรณ์ต่างๆในการป้องกันโควิดเช่น หน้ากากอนามัยที่ไม่มีมาตรฐานสูงสามารถป้องกันเชื้อโควิด19 ได้

ในภาคอุตสาหกรรม มีการคิดค้นอุปกรณ์หลายอย่างที่ลดการสัมผัสชะบบสั่งการผ่านทางออนไลน์มากขึ้น

ในภาคธนาคาร และการเงิน มีการใช้ ระบบชำระเงินออนไลน์จะเป็นตัวเลือกในการใช้จ่ายมากขึ้น เพราะทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคเองก็เริ่มกังวลในการสัมผัสธนบัตร หรือเงินเหรียญ ซึ่งอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้ง่าย เช่นกัน ประกันภัยต่างๆ ที่ออกมาจะทันต่อสถานการณ์มากขึ้น และซื้อได้ง่ายโดยไม่ต้องเดินทางเพื่อออกไปซื้อ

ภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เราทราบว่าคนไทยเป็นนักคิด นักสร้าง นวัตกรรมใหม่ๆ ที่มาจัดการกับโควิด 19 เช่น เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับรางวัล “ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นตอบรับชีวิตวิถีใหม่และการปรับตัวอันเนื่องมาจากภาวะวิกฤติโควิด-19”ผลงาน DDC-Care ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คว้านวัตกรรมเด่นรับมือวิกฤติโควิด-19 จากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พร้อมเตรียมประสานงานร่วมสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร นำระบบไปใช้กับแรงงานต่างด้าวที่ถูกกักตัวจากตลาดกุ้ง DDC-Care เป็นระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขในการประเมินสถานการณ์ เตรียมการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

ในภาคการศึกษา ทำให้เราเห็นว่าครูและนักเรียน มีทักษะการใช้ virtual classroom และมีทักษะการสอน การใช้เทคโนโลยีทางการศึกษามาสอนมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียนรู้เกิดความสนุกสนานในการเรียน

และสุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุดในภาคประชาสังคม มีการทำจิตอาสามากขึ้นในกลุ่มคนไทย ทำให้ผมเห็นว่าคนไทยมีความโอบอ้อมอารีย์ มีน้ำใจช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากจากวิกฤต โควิด19 นี้มากขึ้น เช่น โครงการตู้ปันสุข ที่กลุ่มคนไทยที่สร้างแนวคิดนี้ขึ้นมาได้นำตู้กับข้าวไปวางตามจุดชุมชนที่ได้รับผลกระทบต่างๆ และให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมาหยิบมานำของใช้อุปโภคบริโภคไปใช้มีการเติมเต็มกันอย่างต่อเนื่องเป็นต้น

สุดท้ายนี้ผมอยากจะบอกว่า ในทุกวิกฤต ย่อมมีโอกาสแฝงตัวอยู่เสมอ ผมขอให้ทุกคนรับมือกับมันอย่างมีสติ และรู้จักที่จะเรียนรู้และหาหนทางในการแก้ไขปัญหาไปกับวิกฤตินี้ อย่าท้อแท้ แต่ให้มองหาโอกาสที่เป็นทางเลือกสู่ทางรอดในยามวิกฤตของเราและประเทศไทยของเรา

*************

หมายเหตุ - บทความนี้ถูกเรียบเรียงจากการบรรยายทางวิชาการของ ดร.อนุชา เจริญโพธิ์ บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในหัวข้อ สถานการณ์โควิด 19 คนไทยมองวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างไร ที่จัดขึ้นผ่าน Live151yamaah และเพจโรงเรียนสอนศาสนูปถัมภ์ คลองเคล็ด เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 เวลา 10.00 น

***************