posttoday

4ยอดครูผู้มีอุดมการณ์

16 มกราคม 2554

เปิดใจ 4 คุณครูเจ้าของรางวัล “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากโครงการตามรอยเกียรติยศครูผู้มีอุดมการณ์ เนื่องในวันครู 16ม.ค.

เปิดใจ 4 คุณครูเจ้าของรางวัล “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากโครงการตามรอยเกียรติยศครูผู้มีอุดมการณ์ เนื่องในวันครู 16ม.ค.

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

หากเด็กคืออนาคตของชาติ วิชาชีพที่ต้องแบกภาระกุมอนาคตของชาติไว้ในมือ ย่อมตกเป็นของ “ครู” การเปรียบเปรยอาชีพนี้เป็นแม่พิมพ์ของชาติ เป็นคำกล่าวที่บอกความหมายในตัวเองเรื่องหลักประกันในอนาคตที่วาดหวังได้จากอาชีพนี้เช่นกัน และสิ่งนั้นก็ทำให้สังคมไทยเบาใจขึ้นได้ เมื่อหมายถึงครูทั้ง 4 คนที่โพสต์ทูเดย์กำลังจะพาไปรู้จัก

4ยอดครูผู้มีอุดมการณ์ ศรัทธา

“จำได้ฝังใจว่ามีครูท่านหนึ่งเคยเมตตา เคยสอนให้รู้ทุกเรื่องที่ต้องเผชิญหน้าในอนาคต อาชีพนี้จึงสำคัญมาก ชี้ทางสว่าง สร้างโอกาสให้คนอื่นๆ ได้ โตขึ้นมาก็ตั้งใจจะเป็นครูเพียงอาชีพเดียว ไม่เคยเลือกอาชีพอื่นเลย” นั่นคือคำยืนยันความมุ่งมั่นของ ศรัทธา ห้องทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองน้ำใส ที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติมาแล้วกว่า 30 ปี ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ที่ถูกประกาศว่าระอุไปด้วยความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง ครูหลายคนตัดสินใจย้ายออกจากพื้นที่ เพราะครูเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายของผู้ก่อการร้าย

คุณครูศรัทธา เล่าว่า เมื่อปี 2550 โรงเรียนถูกลอบวางเพลิงจากโจรผู้ก่อการร้าย กระทั่งชุมชนได้ร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ จนได้รับการประกาศให้เป็นหมู่บ้านเข้มแข็ง แม้จะยังมีฐานของหน่วยทหารตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนจำนวน 1 หมวด เพื่อรักษาความปลอดภัยให้เด็กนักเรียนและครู

ชุมชนนี้เป็นชาวมุสลิม 100% แต่ผู้อำนวยการและครูส่วนหนึ่งนับถือศาสนาพุทธ ท่ามกลางวิถีที่พุทธและมุสลิมอยู่ร่วมกันได้ จนถูกยกย่องให้เป็นโรงเรียนคุณธรรมต้นแบบ รวมถึงผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับดีมาก

ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และสภาพของโรงเรียนที่ผู้อำนวยการศรัทธา ครูคนอื่นๆ ในโรงเรียน พัฒนาขึ้นจนกลายเป็นที่พึ่งของชุมชน ย่อมเป็นประจักษ์พยานสำคัญด้านอุดมการณ์ และจิตวิญญาณความเป็นครูของผู้อำนวยการศรัทธา

“ผมผูกพันกับโรงเรียนคลองน้ำใสมาก อยู่ที่นี่มากว่า 10 ปี ตั้งแต่ยุคแรกๆ ค่อนข้างกันดาร เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่บริเวณตะเข็บชายแดนไทย-มาเลเซีย ตั้งอยู่บนไหล่เขา เป็นขั้นบันได ไม่มีพื้นราบ แบ่งออกเป็น 4 ชั้น ชั้นล่างสุดเป็นเหว ไม่มีสนามฟุตบอล ครูต้องเดินกันเหนื่อย สมัยก่อนถนนที่ใช้เดินทางมาโรงเรียนเป็นดินลูกรังขรุขระมาก หน้าฝนลำบาก จนเป็นถนนที่ทำให้ครูผู้หญิงในโรงเรียน 4 คนที่ตั้งท้องมาสอน ต้องแท้งลูกไปถึง 3 คน” เขากล่าว

ความลำบากของสถานที่ยังพอรับมือได้ แต่ที่ยากกว่าก็คือจะต้องยืนหยัดอยู่ท่ามกลางความรุนแรงที่ต้องอาศัยกำลังใจและแรงศรัทธาที่เปี่ยมล้นมาช่วยหนุน ซึ่งผู้อำนวยการบอกว่า แรงที่ว่านั้นก็คือสิ่งที่ตระหนักรู้อยู่เต็มอกว่าครูจะเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่ง เป็นตัวแปรที่มีพลังพลิกสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ให้คลี่คลายลงไป ลดความขัดแย้งด้วยความเข้าใจ ด้วยความรู้และพลังทางความคิด หากถอยไปหรือยอมแพ้ ปัญหาก็จะยิ่งลุกลามและบานปลายขึ้นไปอีก

4ยอดครูผู้มีอุดมการณ์ ศิริยุพา

“หากลดความหวาดระแวงต่อกันระหว่างพี่น้องชาวไทยมุสลิมและไทยพุทธ มีความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ร่วมมือกัน วิกฤตที่เกิดขึ้นก็จะเปลี่ยนไปอย่างยั่งยืน ซึ่งครูและการศึกษามีส่วนเป็นอย่างมากที่จะสร้างกระบวนการที่กล่าวมาให้ลดลงได้ สิ่งนี้เองที่ทำให้เพื่อนครูของเราตกเป็นเป้าหมาย”

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการศรัทธา บอกว่า มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าจิตวิญญาณของครูที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ทุกคนต่างระลึกอยู่เสมอว่านี่เป็นพื้นที่ที่ทิ้งไปไม่ได้

“ถามว่ากลัวว่าจะเกิดเหตุร้ายมั้ย แน่นอน ยังกลัวอยู่ ไม่รู้ชะตากรรมว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร แต่ก็มีความสุขในการสอนทุกวัน ผมไม่หนีไปจากที่นี่ ที่ผ่านมาเสียใจและน้อยใจมากที่มีกระแสข่าวว่านักเรียนที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทในกรุงเทพฯ ต้องถูกลงโทษด้วยการส่งไปที่สามจังหวัด ข้าราชการคนไหนถูกลงโทษก็ส่งไป หากยังคิดกันอย่างนี้ อะไรไม่ดีก็ส่งไปให้พวกเขา ผมอยากจะถามว่าถ้าคิดกันอย่างนี้แล้ว พื้นที่นี้จะดีขึ้นได้อย่างไร” ผู้อำนวยการศรัทธา กล่าวทิ้งท้าย

สุพิทยา เตมียกะลิน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสล่าเจียงตอง จ.ลำปาง ซึ่งตั้งอยู่ในป่าลึกกลางหุบเขา ติดแนวชายแดนพม่า เด็กนักเรียนเป็นชาวเขาเผ่าไทยใหญ่ และกะเหรี่ยง ใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสาร มีเด็กนักเรียนทั้งหมด 160 คน เส้นทางที่จะเดินทางมาถึงโรงเรียนทำได้ด้วยการเดินเท้าเพียงทางเดียวเท่านั้น

ผู้อำนวยการสุพิทยา เล่าว่า นักเรียนที่มีบ้านห่างจากโรงเรียนที่สุดคือ ประมาณ 64 กิโลเมตร โรงเรียนจึงจำเป็นต้องมีเรือนนอนให้เด็กพักประจำ ขณะที่เด็กนักเรียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขา นอกจากจะได้รับการพัฒนาการศึกษา ส่งเสริมให้มีโอกาสเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ท่ามกลางความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมแล้ว พวกเขายังได้รับการฝึกอาชีพ ความรู้ด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต แม้จะตั้งอยู่ในที่ห่างไกล แต่ผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนนี้ก็อยู่ในระดับดีมาก

4ยอดครูผู้มีอุดมการณ์ สุพิทยา

“นักเรียนที่นี่ปลูกผัก เลี้ยงปลากินเอง มีอาชีพที่ทำให้พวกเขาพึ่งพาตัวเองระหว่างที่เรียนอยู่ได้ สิ่งที่น่าภูมิใจที่สามารถสัมผัสได้จากเด็กที่นี่ก็คือ ได้เห็นพวกเขาตั้งใจเรียน เด็กที่นี่ไม่ชอบเวลาช่วงปิดเทอม หลายคนได้เรียนถึงระดับสูง และอยากกลับมาสอนที่นี่ สร้างวงจรที่ดีงามให้ที่นี่” ผู้อำนวยการสุพิทยา เล่า

ขณะที่ ศิริพร หมั่นงาน ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านวังอ้ายคง อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ก็ระบุเช่นกันว่า แม้จะเป็นครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในถิ่นที่ทุรกันดาร แต่ก็ไม่เคยท้อถอย เพราะสิ่งที่กำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่

“อาชีพครูคืออาชีพที่ทำให้คนเป็นคนที่สมบูรณ์ มอบโอกาสให้ทุกคนเท่าเทียมกันมากที่สุด สิ่งที่ภาคภูมิใจมากที่สุดก็คือ สามารถสอนเด็กนักเรียนซึ่งเป็นเด็กพิเศษคนหนึ่งให้เรียนหนังสือได้จนจบระดับปริญญาตรี สิ่งที่ทำนั้นพิสูจน์ได้ว่าเราสามารถเปลี่ยนชีวิตเด็กคนหนึ่งให้ดีขึ้นได้ ถ้าเราให้โอกาสเขาตามศักยภาพที่เขามี”

ครูศิริพร มีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการสืบสานความรู้ดั้งเดิมจากท้องถิ่น ชุมชนเป็นคนภูเขา (ชาติพันธุ์ญัฮกุร) ที่เรียกตนเองว่า “ชาวบน” หรือ “คนดง” กลุ่มเล็กๆ ซึ่งมีแต่ภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ถูกศึกษาและริเริ่มเป็นโครงการวิจัยภาษาและวัฒนธรรมของชาวญัฮกุรขึ้นมา ถือเป็นแบบเรียนภาษาท้องถิ่นญัฮกุร เป็นเล่มแรกของโลก ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล มีการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน (เด็กญัฮกุร) ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ให้สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้

พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีปัญหาต่างจากโรงเรียนในภูมิภาคอื่น คือ มีความซับซ้อนกว่า และกระจายตัวได้อย่างรวดเร็วจากสื่อที่อยู่รายรอบ สิริยุพา ศกุนตะเสฐียร ผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษานารี กรุงเทพมหานคร ระบุว่า เมื่อตระหนักถึงเรื่องนี้ สิ่งที่น่าจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ดีที่สุดก็คือเรื่องการจัดการ

4ยอดครูผู้มีอุดมการณ์ ศิริพร

“โจทย์ที่ได้รับตอนเป็นผู้อำนวยการก็คือ เห็นแล้วว่าโรงเรียนศึกษานารีเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีปัญหานักเรียนยากจนมาก โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่รายรอบไปด้วยชุมชนแออัด แต่ประสบการณ์จากการบริหารงานโรงเรียนต่างๆ ที่ผ่านมา ทั้งโรงเรียนถาวรานุกูล จ.สมุทรสงคราม โรงเรียนราชินีบูรณะ จ.นครปฐม ทำให้รู้ว่าสิ่งที่ต้องทำคือ ทำอย่างไรให้โรงเรียนมีส่วนช่วยแก้ปัญหาให้กับสังคมที่สังกัดอยู่ได้ด้วย จึงใช้แนวคิดที่ว่าเปิดโอกาสให้ชุมชนรายรอบเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียน เชิญคนในชุมชน ผู้ปกครอง เข้ามาประชุมระดมความเห็น”

ผู้อำนวยการสิริยุพา ระบุว่า แนวคิดดังกล่าวต่อยอดไปถึงวิธีแก้ปัญหาที่ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง และโรงเรียน เผชิญอยู่ด้วยความเข้าใจ และทั้งหมดนั้นไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็บรรเทาเบาบางลงได้

ครูทั้ง 4 ท่าน ได้รับรางวัล “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากโครงการตามรอยเกียรติยศครูผู้มีอุดมการณ์ โดยได้รับรางวัลเงินสดท่านละ 3 แสนบาท เข็มเสมาทองคำ โล่รางวัล และเกียรติบัตรจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ใน “วันครู” วันที่ 16 ม.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ