posttoday

ปชป.กับจุดที่ยังไม่ลงตัว

04 สิงหาคม 2554

ทำท่าจะลงตัว แต่ทำไปทำมาการยกเครื่องปรับทัพกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์

ทำท่าจะลงตัว แต่ทำไปทำมาการยกเครื่องปรับทัพกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ทำท่าจะลงตัว แต่ทำไปทำมาการยกเครื่องปรับทัพกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์เที่ยวนี้ยังวุ่นต่อเนื่องจนฝุ่นตลบอีกรอบในโค้งสุดท้าย

จากเดิม “หล่อเล็ก” อภิรักษ์ โกษะโยธิน มาแรงแซงทุกโผ ภายใต้แรงดันแบบสุดลิ่มทิ่มประตูของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่กุมเสียงส่วนใหญ่ในประชาธิปัตย์

ทว่า “คดีรถ-เรือดับเพลิง” ที่เป็นชนักปักหลัง กลับทำให้ฝันต้องสะดุด หลุดโผ !!!

เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สั่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งวันที่ 24 ส.ค.นี้ จะได้รู้ว่าศาลจะรับฟ้องหรือไม่

งานนี้แม้เจ้าตัวจะออกมายืนยันความบริสุทธิ์พร้อมสู้คดีจนถึงที่สุด และตัดตอนว่าเรื่องคดีไม่เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่งในพรรค เพราะเป็นคนละส่วนกับตำแหน่งทางการเมือง

ปชป.กับจุดที่ยังไม่ลงตัว

 

ที่สำคัญเจ้าตัวชี้แจงว่าได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. สมัยที่ 2 ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ตรงนี้กลับยังไม่รวมถึงความสง่างามในการดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค

แผลนี้ถูกขยายผลจน “อภิรักษ์” ถึงขั้นสะดุดหัวคะมำก่อนถึงเก้าอี้เลขาฯ โดยเฉพาะเกมบีบจากกลุ่มก๊วนที่ต้องการปลดแอกสร้างอำนาจใหม่ ตัดตอนไม่ให้ “สุเทพ” เข้ามาชักใยผ่าน “อภิรักษ์”

โอกาสจึงมาตกอยู่ที่ “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ซึ่งซุ่มเงียบเดินสายไล่เก็บคะแนนจากกลุ่มก๊วน สส. ไปจนถึงทางสาขาพรรค จนตุนคะแนนได้เป็นกอบเป็นกำ

ด้วยบุคลิก “ใจถึงพึ่งได้” จนสมาชิกพรรคหลายคนหวังฝากผีฝากไข้

แต่อีกด้านหนึ่งกลับทำให้ผู้ใหญ่ในพรรคหลายคนเป็นห่วงกับสไตล์การเมืองแนวนี้ ที่ไม่ใช่แนวประชาธิปัตย์

จุดเด่นที่ทำให้ “เฉลิมชัย” มาแรงเที่ยวนี้ เนื่องจากผลงานที่สั่งสมไว้ตั้งแต่เลือกตั้งครั้งก่อนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงกวาดเก้าอี้ สส.ภาคกลางได้เป็นเนื้อเป็นหนัง

ไปจนถึงการทำพื้นที่แนว “ประจวบโมเดล” ที่ได้รับการยอมรับในประสิทธิภาพ รักษาฐานคะแนน สร้างมวลชนที่เขาบุกเบิกไว้เป็นแบบอย่าง และหลายพื้นที่ต้องการนำโมเดลนี้ไปใช้

คอนเนกชันของ “เสี่ยต่อ” ก็ไม่ใช่ธรรมดาเมื่อสัมพันธ์แนบแน่นกับ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” จากฝั่งภูมิใจไทย ไปจนถึงมิตรต่างพรรค ไปจนถึงกลุ่มทุนต่างๆ

การเติบโตภายในพรรคที่ขยับขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าภาคกลาง และเป็นรัฐมนตรีแรงงาน ทำให้เส้นทางการเมืองในพรรคโดดเด่นขึ้นมาตามลำดับ

แรงหนุนครั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะ สส.ภาคกลาง แต่ยังรวมไปถึง กทม. บางส่วน ไปถึงภาคเหนือ ในปีกของ “ไพฑูรย์ แก้วทอง” ที่สำคัญ ยังได้ กรณ์ จาติกวณิช มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสนับสนุน

ทว่าจากสไตล์ “ทุ่มไม่อั้น” ที่โดนใจหลายคน แต่ขัดหูขัดตาผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรค กระบวนการสกัดจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะฝั่ง สส.ใต้ ปีก “สุเทพ”

หลายคนมองว่า สไตล์ทำงานแบบนี้ ไม่ต่างจากเมื่อครั้ง “ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์” นั่งเป็นเลขาธิการพรรค ยุค บัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค

ดังนั้น เมื่อหลังจาก “กระแสอภิรักษ์” ต้องดับมอดไป แนวคิดปั้น “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ขึ้นมาขัดตาทัพเป็นตัวแทนลงสนาม

ยังไม่รวมกับกระแสพยายามเข็น คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ขึ้นมาชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรคด้วยความตั้งใจจะให้มาช่วยทำงานในพื้นที่อีสาน จากเดิมที่ไม่ได้รับการเหลียวแลเต็มที่

ต้องยอมรับว่าเข้าโค้งสุดท้ายเลือกกรรมการ บริหารพรรคประชาธิปัตย์รอบนี้ที่จะเลือกกันในวันที่ 6 ส.ค. การเดินเกมเริ่มหนักหน่วงขึ้น

จากเดิมที่น้ำหนักเทมา “อภิรักษ์” ก่อนมีกระแสที่เรียกร้องให้เป็น เลขาธิการพรรคคนนอก เหมือนในยุค “อนันต์ อนันตกูล” กับ “ชวน หลีกภัย”

ยังไม่รวมกับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคในส่วนภาคต่างๆ ที่แต่ละภาคก็ยังไม่ลงตัว ไล่มาตั้งแต่ภาคเหนือ ที่ ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ กับ จุติ ไกรฤกษ์ ต้องมาแข่งขันกัน ภาคกลาง ที่ สาธิต ปิตุเตชะ ประกาศตัวลงแข่งกับ อลงกรณ์ พลบุตร

ไปจนถึงภาคใต้ที่แข่งกันหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น จุรินทร์ ถาวร เสนเนียม วิรัช ร่มเย็น ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ขณะที่ วิทยา แก้วภราดัย ถอนตัวออกไปก่อนหน้านี้

ส่วนหนึ่งที่ออกอาการแกว่งกันหนักขนาดนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นเพราะประชาธิปัตย์ยังปั้นคนรุ่นใหม่โตขึ้นมาทำงานไม่ทัน โดยเฉพาะในยุคเปลี่ยนผ่านที่ต้องเดินหน้ายกเครื่องพรรค

ไม่ต่างจากเสียงสะท้อนของ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปัตย์ว่าทุกครั้งที่แพ้การเลือกตั้งก็จะแย่งชิงอำนาจการเมืองกันภายในพรรค

“พรรคประชาธิปัตย์อ้างตัวเองเป็นพรรคที่ประชาธิปไตยสูง เป็นพรรคที่มีการจัดตั้งมาอย่างยาวนานเป็นสถาบัน แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็กำลังทำตัวเองเหมือนพรรคการเมืองทั่วไปไม่ได้แปลกอะไร”

ตอกย้ำด้วยเสียงสะท้อนจากหัวหน้าพรรครุ่นเก่าอย่าง “พิชัย รัตตกุล” ที่วิพากษ์ “อภิสิทธิ์” ว่าใช้คนไม่เป็น ใช้คนไม่กี่คนที่ล้อมรอบ แม้กระทั่งนายกฯ ชวน คุณบัญญัติ (บรรทัดฐาน) ก็เคยเตือน แต่ก็ไม่มีใครฟัง

ไปจนถึงการมองว่า “วัฒนธรรม” ประชาธิปัตย์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเคารพผู้ใหญ่ ทั้ง สส.ป้ายแดงที่ได้เป็นรัฐมนตรี แต่ หยิ่งยโส ไม่มีสัมมาคารวะ

อย่างไรก็ตาม กระบวนการเลือก “เลขาธิการพรรค” ตามระเบียบข้อบังคับพรรค ข้อ 22 ระบุให้ทุกอย่างขึ้นกับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ว่าที่หัวหน้าพรรคคนใหม่ที่จะเป็นผู้เสนอรายชื่อเลขาธิการขึ้นมาสองชื่อ เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่เลือกในชั้นสุดท้าย

คนชี้ขาดขั้นแรกจึงอยู่ที่ “อภิสิทธิ์” ว่าจะเลือกใคร?!!!

แม้จะเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งสำหรับพรรคการเมืองเก่าแก่ที่ไม่ต้องการให้ผูกขาดการตัดสินใจไว้แค่คนกลุ่มเดียว แต่อีกด้านหนึ่งก็กลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรค

ทุกอย่างที่เหมือนจะลงตัว จึงกลายเป็นเรื่องไม่ลงตัว