posttoday

ชาวบ้านรับกรรมการเมืองสร้างเงินเฟ้อเทียม

30 สิงหาคม 2554

โครงสร้างเงินเฟ้อของไทยในขณะนี้ ในทางวิชาการถือว่าบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริงมาหลายปี

โครงสร้างเงินเฟ้อของไทยในขณะนี้ ในทางวิชาการถือว่าบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริงมาหลายปี

โดย...ทีมข่าวการเงิน

โครงสร้างเงินเฟ้อของไทยในขณะนี้ ในทางวิชาการถือว่าบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริงมาหลายปี อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งเป็นผลมาจากฝีมือการบริหารงานของรัฐบาลหลายชุด สะสมมาหลายรัฐบาล

เงินเฟ้อสะสมนี้ ตัวการใหญ่มาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ จากแรงเก็งกำไรของนักลงทุนที่ลดการถือครองเงินสกุลเหรียญสหรัฐ มาลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งน้ำมัน ทองคำ และสินค้าเกษตร ตั้งแต่เกิดวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้รัฐบาลสหรัฐก็ยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้

แรงกดดันให้เงินเฟ้อสูงยังไม่ยอมหยุด การเกิดภัยธรรมชาติทั่วโลก ทั้งพายุ แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม ได้ทำให้พืชผลทางการเกษตรในหลายประเทศเสียหาย ราคาสินค้าอาหารจึงพุ่งพรวดแพงแบบฉุดไม่อยู่ขึ้นมาดื้อๆ

ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค. 2554 คาดว่าเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.3% เทียบกับ 4.1% ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

นั่นแสดงว่าราคาสินค้าแพงขึ้นอีก ซึ่ง สศค.ยืนยันว่าการเร่งตัวของเงินเฟ้อเป็นผลมาจากราคาข้าวที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากน้ำท่วม และโรงสีแห่ซื้อข้าวกักตุนรับนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล

ด้านราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่ยังคงมีราคาที่ค่อนข้างสูง ไข่ไก่ ราคาผักและผลไม้ที่แพงขึ้นจากผลผลิตที่ลดลง

ในส่วนนี้จะส่งผลให้ราคาอาหารสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ต้นทุนการดำรงชีวิตของประชาชนจึงเพิ่มขึ้นไม่หยุด

ดูจากตัวเลขเงินเฟ้อเพิ่มไม่มาก แต่ดูจากจำนวนเงินที่เหลือในกระเป๋าของประชาชนแล้วก็ใจหาย บางครัวเรือนแทบจะไม่มีอะไรเหลือไว้สำหรับออมเพื่ออนาคต

ทำไมตัวเลขเงินเฟ้อจึงดูต่ำในขณะที่ค่าครองชีพที่แท้จริงของประชาชนสูงลิ่ว

คำตอบนี้ตอบได้ไม่ยาก เพราะนโยบายประชานิยมต่างๆ ของรัฐบาลเป็นตัวกดให้เงินเฟ้อต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ไล่มาตั้งแต่การอุ้มราคาก๊าซแอลพีจี จากราคากิโลกรัมละ 25 บาท ก็ตรึงไว้ที่กิโลกรัมละ 18.13 บาท มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ คือ รถเมล์ฟรีเพื่อประชาชน รถไฟชั้น 3 ฟรี ค่าน้ำค่าไฟสำหรับผู้มีรายได้น้อย

นโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 31 บาท สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ การตรึงราคาสินค้าและการไม่อนุมัติให้สินค้าหลายรายการขึ้นราคาทั้งที่ต้นทุนจริงสูงขึ้น

ชาวบ้านรับกรรมการเมืองสร้างเงินเฟ้อเทียม

และในสมัยของรัฐบาลเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ได้ประกาศจะกระชากค่าครองชีพของประชาชนลงมา ด้วยการงดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ราคาน้ำมันลดลงทันที โดยลดราคาน้ำมันเบนซิน 95 ลงไปลิตรละ 8.20 บาท ลดราคาน้ำมันเบนซิน 91 ลงไปลิตรละ 7.17 บาท ส่วนราคาน้ำมันดีเซลลดลงไปลิตรละ 3 บาท

ส่วนนี้จะช่วยกดให้ต้นทุนราคาสินค้าลดลง ทำให้ตัวเลขการคำนวณเงินเฟ้อต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

แต่ในความเป็นจริงเงินเฟ้อที่ประชาชนเจอไม่ได้ต่ำเหมือนตัวเลขที่ดูสวยหรูดูไม่สูงมากนัก ในทางตรงกันข้าม เงินเฟ้อในความรู้สึกของประชาชน ตัวเลขของรัฐวัดไม่ได้เลย รัฐบาลพยายามบอกว่าราคาน้ำมันเป็นเพียงต้นทุนส่วนหนึ่งของการผลิต

นักวิเคราะห์มองว่า หากรัฐบาลไม่อุดหนุนราคาสินค้าและแทรกแซงกลไกราคาให้เป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริง อัตราเงินเฟ้อจะต้องเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่อีกไม่น้อยกว่า 23% หากรวมกับเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมา อัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงควรจะอยู่ที่ระดับ 56%

การบิดเบือนกลไกราคาทำให้เงินเฟ้อเพี้ยนไปจากความเป็นจริงนั้น จะเป็นปัญหาในระยะยาว หากเอกชนอั้นต้นทุนไม่ไหว และรัฐบาลไม่ให้ขึ้นราคาสินค้า เอกชนก็จะพากันล้มหายตายจากไป หรือลดจำนวนการผลิตลง ซึ่งจะมีผลต่อการจ้างงาน และจำนวนสินค้าในตลาด รวมทั้งมีผลต่อการชำระหนี้ของผู้ประกอบการกับธนาคารเจ้าหนี้

ในที่สุดแล้วนี่จะเป็นผลต่อฐานะการคลังของรัฐบาล

นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อปีนี้จะสูงขึ้นจากปีก่อนอยู่แล้ว เพราะราคาสินค้าแห่ปรับขึ้นจากการเกทับบลัฟแหลกของพรรคการเมือง ที่หาเสียงว่าจะให้นั่นนี่กับประชาชน ทำให้เกิดผลทางด้านจิตวิทยามองว่ารายได้ประชาชนจะสูงขึ้น ราคาสินค้าจึงขึ้นไปดักล่วงหน้าไว้ก่อน

การเมืองจึงเป็นตัวการที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นจนเกินกว่าจะควบคุมได้ ทั้งราคาสินค้าและบริการ ที่เมื่อขึ้นไปแล้วก็ยากที่จะลดลง และทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นดอกเบี้ยให้สูงยิ่งขึ้นซ้ำเติมลูกหนี้เข้าไปอีก

ธนาคารโลกแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายการบิดเบือนกลไกตลาด เพราะเห็นว่าอาจจะสร้างปัญหาต่อภาระการคลังในอนาคต ดังนั้นควรทยอยยกเลิกและนำเงินอุดหนุนส่วนดังกล่าวมาพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ดีกว่า

“นโยบายอุดหนุนทางด้านราคาผู้ที่ได้รับประโยชน์มีทั้งคนรวยและผู้มีรายได้น้อย ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น ดังนั้นหากรัฐบาลจะมีนโยบายประเภทนี้ควรจะทำเฉพาะเจาะจงกับผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก เพื่อลดขนาดของภาระทางการคลัง” นักวิเคราะห์จากธนาคารโลกกล่าว

สิ่งที่ธนาคารโลกเป็นห่วงก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะตระหนักเช่นกัน เพราะหากใช้จ่ายเกินตัวแล้ว สุดท้ายหากรีดภาษีไม่ได้ตามเป้าหมาย รัฐบาลก็จะต้องกู้เงินมาปิดหีบงบประมาณ และสัดส่วนหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น

แต่เรื่องนี้ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ก็ยืนยันแล้วว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องทำงบประมาณให้สมดุลในปี 2558 ตามที่รัฐบาลชุดที่แล้วลงนามในสัตยาบันร่วมกับ 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการทำให้ประเทศเข้าสู่งบประมาณสมดุลในปี 2558 ก็ได้หากสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนไป

นอกจากนี้ รมว.คลัง ยังได้ยกเอาคำเตือนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอยมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดจากปัญหาเงินเฟ้อ จึงไม่จำเป็นต้องรีบทำงบประมาณสมดุลก็ได้

และหากรีบใช้นโยบายดังกล่าวเร็วเกินไปอาจทำให้การแก้ไขปัญหาจากผลกระทบของเศรษฐกิจของโลกทำได้ยากขึ้น

เป็นโชคส่วนหนึ่งของไทย ที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า ทำให้ช่วยตรึงให้ราคาน้ำมันไม่สูงไปมากกว่านี้

นักเศรษฐศาสตร์จาก ธปท. กล่าวว่า ความเสี่ยงที่อยากชี้ให้เห็นคือ การตรึงราคาสินค้าและลดราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลของภาครัฐคงไม่สามารถทำได้ตลอดไป เพราะจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมาก และไม่ชัดเจนว่าจะทำให้ราคาสินค้าลดลง

หากรัฐบาลปล่อยราคาน้ำมันกลับไปที่เดิมในขณะที่ราคายังไม่เป็นขาลง ก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว และจะเป็นแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก ทำให้ดูแลลำบากมากกว่าการปล่อยราคาน้ำมันแบบค่อยเป็นค่อยไป

มุมมองของ ธปท.ไม่ใช่เรื่องเล่น และเป็นเรื่องที่นักวิชาการแสดงความเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะจะส่งผลระยะยาวต่อระบบเศรษฐกิจ จะทำให้การลงทุนหดตัว

พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มีความเป็นห่วงสถานการณ์เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น และยังมีภาวะเงินเฟ้อเทียมที่แฝงจากนโยบายการตรึงราคาสินค้าของภาครัฐ

ประธาน ส.อ.ท. มองว่า ภาวะเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ทั่วโลกมีความกังวลมากในช่วง 12 ปีข้างหน้า เพราะขณะนี้ราคาน้ำมันและวัตถุดิบต่างๆ มีการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าระเบิดขึ้นมาจะเป็นปัญหา หากคุมไม่อยู่ก็จะส่งผลกระทบลุกลามเป็นวงกว้าง

ขณะที่นโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองที่ตรึงราคาสินค้าในระยะยาวก็ไม่ได้ช่วยควบคุมเงินเฟ้อได้ จึงควรผ่อนคลายสินค้าบางรายที่มีความจำเป็นต้องขึ้นราคาได้ เพราะหากผู้ประกอบการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าอาจทำให้สินค้ามีการขาดแคลนได้