6 เดือนสึนามิ ญี่ปุ่นสาหัสกว่าเก่า เศรษฐกิจไม่ฟื้น ซ้ำเงินเยนถล่มหนัก
ในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3
ในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3
โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ
ในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลกที่เพียบพร้อมด้วยศักยภาพในการผลิตสินค้าและบริการ ญี่ปุ่นน่าจะยังคงเป็นทางเลือกที่สำคัญสำหรับนักลงทุน ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนจากวิกฤตของสหรัฐและยุโรป
ถ้าหากว่าในวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา จะไม่เกิดเหตุธรณีพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ให้กับชายฝั่งตะวันออก ซึ่งถือเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมรถยนต์
แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะเร่งลงมือฟื้นฟูเยียวยาอย่างรวดเร็วเพียงใด แต่พิษของสึนามิก็เล่นงานญี่ปุ่นจนจับไข้ และมีทีท่าว่าอาจจะต้องนอนซมจากพิษไข้ยาวนานกว่าที่บรรดานักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้
หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดก็คือ รายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจของทางการญี่ปุ่นที่เปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ 6 เดือนหลังจากที่เกิดเหตุสึนามิถล่ม ตัวเลขในรายงานดังกล่าวระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. หดตัวมากกว่าช่วงก่อนหน้าถึง 2.1% ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า
ด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการผลิตสินค้าและบริการของประเทศก็ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 1.3% ขณะที่วิกฤตที่เกิดขึ้นส่งผลให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นต่างหันมาอดออมกันมากขึ้น โดยรายงานฉบับล่าสุดที่เปิดเผยออกมาระบุว่า ตัวเลขการใช้จ่ายของประชาชนภายในประเทศหดตัวลง 0.9%
ข้อมูลในรายงานบวกกับการที่มูดี้ส์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกตัดสินใจปรับลดระดับความเชื่อมั่นเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากเดิม Aa2 มาอยู่ที่ Aa3 เมื่อกลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์ทั้งหลายต่างเริ่มวิตกกังวลแล้วว่าสุขภาพทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นแม้ไม่เข้าขั้นวิกฤตรุนแรง แต่ก็ส่อแววชะลอตัวซบเซายาว
ทั้งนี้ ปัญหาแรกสุดที่รัฐบาลญี่ปุ่นยังแก้ไม่ตกเสียทีก็คือ วิกฤตพลังงาน ซึ่งแน่นอนว่าสึนามิที่สร้างความเสียหายให้กับโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ส่ายหน้าไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
แต่สำหรับประเทศที่ต้องพึ่งพาพลังไฟฟ้านิวเคลียร์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม โดยยังไม่มีพลังงานไฟฟ้าตัวใดมาทดแทนได้ การตัดขาดจากนิวเคลียร์ย่อมไม่ใช่ทางออกที่ดีนักในช่วงที่ประเทศจำต้องกระตุ้นให้ธุรกิจมีความเคลื่อนไหว
นอกจากนี้ สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายหนักขึ้นไปอีกสำหรับรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะฟื้นฟูประเทศ เมื่อสภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอยจน ยูอิจิ โคดามะ จากบริษัทประกันชีวิตเมจิ ยาสุดะ ยอมรับว่ากระบวนการฟื้นฟูประเทศชะลอตัวลง
เพราะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทำให้ความต้องการสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นลดลง จนส่งผลให้บรรดาบริษัทไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากตัดลดการใช้จ่าย ยืนยันได้จากตัวเลขการลงทุนของภาคธุรกิจในส่วนของโรงงานและเครื่องจักรร่วงลง 7.8% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า
ขณะเดียวกันสภาพเศรษฐกิจโลกที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ส่งผลให้บรรดานักลงทุนเริ่มหาแหล่งพักเงินที่ปลอดภัย และสกุลเงินเยนคือหนึ่งในเป้าหมายจนค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ
ผลที่ได้ทำให้บริษัทห้างร้านที่เพิ่งจะเงยคอจากวิกฤตสึนามิและเริ่มเดินหน้าผลิตสินค้า ต้องกุมขมับอีกครั้ง เพราะเงินเยนที่แข็งค่าทำให้สินค้าส่งออกราคาแพงกว่าคู่แข่งในตลาด
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ต่างเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่าการแข็งค่าของเงินเยนไม่เพียงแต่ทำร้ายการส่งออกของญี่ปุ่น แต่ยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เจ้าของกิจการชะลอการลงทุนในประเทศออกไปก่อน
มาร์ติน ชูลซ์ จากสถาบันวิจัยฟูจิตสึ ระบุว่า บริษัทหลายแห่งเริ่มพุ่งเป้าการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าราคาถูกตอบสนองความต้องการของตลาดในปัจจุบัน
ความคิดของ ชูลซ์ สอดคล้องกับความวิตกกังวลของนายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ ของญี่ปุ่น ที่มองว่าหากรัฐบาลญี่ปุ่นไม่เร่งแก้ปัญหาค่าเงินเยนและวิกฤตพลังงานนิวเคลียร์อย่างจริงจัง เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นอาจจะอยู่ในสภาพกลวงโบ๋ คือไม่มีการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกจากประเทศญี่ปุ่นเลย
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองมองว่า ที่ผ่านมาญี่ปุ่นไม่สามารถแก้ปัญหาค่าเงินและวิกฤตนิวเคลียร์ได้ เพราะความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล
ความขัดแย้งภายในที่เกิดขึ้นจากบรรดาคณะรัฐมนตรี ทั้งเรื่องอื้อฉาวจากการรับสินบน ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมต่อสาธารณะ ทำให้ต้องเปลี่ยนตัวคณะรัฐมนตรีบ่อยครั้ง จนนโยบายที่รัฐมนตรีคนก่อนหน้าทำไว้ต้องชะงัก ขาดความต่อเนื่อง หรือต้องยุติไป
ขณะที่โลกเริ่มจะวางใจเมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นได้เลือกรัฐบาลใหม่ แต่การลาออกของรัฐมนตรีด้านการค้าเพียงแค่ 8 วันหลังการรับตำแหน่ง และการที่ตัวนายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหาจากคู่แข่งทางการเมืองว่ารับเงินบริจาคจากชาวต่างชาติ ก็กลายเป็นชนวนครั้งใหม่ให้นักวิเคราะห์เริ่มไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะดีขึ้นภายในสิ้นปีนี้ตามที่ผลสำรวจความคิดเห็นของรัฐบาลญี่ปุ่นจาก 40 นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้หรือไม่
เพราะตราบใดที่รัฐบาลรวมถึงฝ่ายค้านยังไม่เลิกเล่นเกมทางการเมืองแล้วหันมาร่วมมือฟื้นฟูประเทศอย่างจริงจัง ตราบนั้นประเทศญี่ปุ่นก็มีเหตุให้ต้องสะดุดอยู่ร่ำไป