แรงงานอาการสาหัส
สถานการณ์เศรษฐกิจไทยยามนี้เข้าขั้น “สาหัส” จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ขณะที่น้ำก้อนใหญ่กำลังทะลักเข้าท่วม
โดย...ทีมข่าวการเงิน
สถานการณ์เศรษฐกิจไทยยามนี้เข้าขั้น “สาหัส” จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ขณะที่น้ำก้อนใหญ่กำลังทะลักเข้าท่วม “กรุงเทพฯและปริมณฑล” ศูนย์กลางเศรษฐกิจประเทศที่มีมูลค่าเศรษฐกิจร่วม 50% ของประเทศ
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มวลน้ำถาโถมเข้าถล่มนิคมอุตสาหกรรมหลักของประเทศไปแล้ว6 แห่ง มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท
แต่ในแง่ผลกระทบต่อแรงงานและการ “จ้างงาน” พบว่า ตัวเลขสาหัสไม่แพ้กัน นั่นหมายถึง “กำลังซื้อ” ในประเทศจะหดหายไป และการว่างงานในอัตราที่สูงยังส่งผลกระทบต่อเชิงสังคม
“น้ำเข้าท่วมเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมตั้งแต่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี แล้ว 3 จุด และหากเข้าท่วมพื้นที่ จ.สมุทรปราการอีก ผมประเมินว่า น่าจะมีแรงงานได้รับผลกระทบ 4-5 แสนคน จากสัปดาห์ก่อนที่มีการรายงานว่ามีแรงงานได้รับผลกระทบแล้ว 2.7 แสนคน” อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าว
แต่หากพิจารณาตัวเลขทางการของกระทรวงแรงงาน “อาทิตย์ อิสโม” อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) จะพบว่า ข้อมูลของสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ณ วันที่ 20 ต.ค.มีสถานประกอบการใน 28 จังหวัดประสบภัยน้ำท่วม มีจำนวน 14,246 แห่ง ลูกจ้าง 664,577 คน
เมื่อนำแรงงานในอุตสาหกรรมมารวมกับพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับความเสียหายแล้ว 15 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 13 ล้านไร่แล้ว
“อภิชาต จงสกุล” เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินว่ามีเกษตรกรได้รับผลกระทบแล้ว 1 ล้านคน
ตรงนี้ไม่นับรวมผลกระทบแรงงานที่อยู่ในภาคบริการที่จะได้รับผลกระทบหลายแสนคน หลังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี นักท่องเที่ยวจะหายไป5 แสน-1 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขอัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เดือน ส.ค. 2554 อยู่ที่ 0.7% หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 2.7 แสนคน
ดังนั้น จากการประเมินตัวเลขการว่างงานเบื้องต้นในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ น่าจะไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน ถือว่ารุนแรงกว่าวิกฤตการเงินโลกเมื่อปลายปี 2551 ต่อเนื่องปี 2552 ที่ขณะนั้นมีการประเมินว่าจะมีคนตกงานแค่1 ล้านคน
แน่นอนว่าหลังน้ำลด รัฐบาลจะอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าฟื้นฟูสถานการณ์ ทั้งเงินงบประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปแล้ว การเร่งอัดฉีดสินเชื่อจากธนาคารรัฐเข้าสู่ระบบ รวมทั้งกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ เอกชนไทย ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมด้วย เพื่อที่จะทำให้โรงงานกลับมาเดินเครื่องและแรงงานที่ตกงานเข้าสู่ระบบการจ้างงานอีกครั้ง
ขณะที่รัฐบาลเตรียมออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ อีกหลายแสนล้าน เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและการจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาภาคการผลิตที่ได้รับความเสียหาย
“ภายใน 45 วันหลังน้ำลด รัฐบาลจะมีมาตรการต่างๆ ที่จะเร่งรัดให้โรงงานอุตสาหกรรมกลับมาผลิตอีกครั้ง” กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ มั่นใจ
แต่ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่การฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมจะทำได้ในระยะเวลาอันสั้น
เพราะขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่ยุติ แม้ระดับน้ำที่ จ.นครสวรรค์ และพระนครศรีอยุธยา ระดับทรงตัวและเริ่มลดลง แต่ต้องใช้เวลานานนับเดือนกว่านักอุตสาหกรรมจะเข้าไปฟื้นฟูโรงงาน ทั้งการซ่อมแซมและการสั่งซื้อ ติดตั้งเครื่องจักรใหม่ทดแทนเครื่องจักรที่เสียหาย
“ผมประเมินว่าอุตสาหกรรมในพื้นที่น้ำท่วมจะเริ่มกลับมาเดินเครื่องจักรตามปกติ น่าจะใช้เวลา 3-6 เดือน” อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมิน
นั่นหมายถึงว่า การฟื้นฟูความเสียหายสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และขนาดกลาง ที่มี “ทุนหนา” เมื่อโรงงานกลับมาเดินเครื่อง “แรงงานทักษะ” จะกลับเข้าสู่สายการผลิตอีกครั้ง
แต่หากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่เป็น “เอสเอ็มอี” และที่สัดส่วนเกิน 80% ของโรงงานที่เสียหายจากน้ำท่วมและเป็นแหล่งจ้างงานหลัก ที่ต้องใช้เวลาฟื้นฟูความเสียหายนานกว่านั้น
หรือไม่บางรายอาจถึงขั้น “ล้มละลาย” จึงยังประเมินไม่ได้ว่าจะมีแรงงานที่ต้องตกงาน “ถาวร” จำนวนเท่าไหร่ แต่คาดว่าน่าจะไม่น้อยไปกว่า 3-4 แสนคน
ครั้นแรงงานเหล่านี้จะกลับไปทำงานในภาคเกษตร ก็จะพบว่าภาคเกษตรกรรมไม่สามารถรองรับแรงงานเหล่านี้ได้ทั้งหมด เพราะลำพังพื้นที่เกษตรในที่ลุ่มภาคกลางก็เสียหายอย่างหนัก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ได้รับผลกระทบบางส่วน
ที่น่าเป็นห่วง คือ พื้นที่เกษตรภาคใต้ที่อาจได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักและน้ำท่วมเป็นลำดับถัดไป
“แรงงานส่วนใหญ่ โดยเฉพาะแรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขายที่ดิน และย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคกลางอย่างถาวร ทำให้ไม่มีที่ไป คาดว่าแรงงาน 50% ที่ต้องตกงานและตกค้างในเมือง” ลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการ สศช.ชี้แจง
มาตรการที่รัฐบาลเตรียมไว้เพื่อช่วยเหลือแรงงาน เช่น การขยายเวลา หรืองดการนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของลูกจ้าง ขอความร่วมมือผู้ประกอบการเพื่อรักษาสถานภาพการจ้างงานในสถานประกอบการ จัดทำโครงการช่วยเหลือแรงงานและผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งผู้สำเร็จการศึกษาที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่
และการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมและปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ประกันตนภายใต้กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน พร้อมทั้งมีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมเอสเอ็มอี มาตรการภาษีหรือยกเว้นภาษีและการขยายสิทธิประโยชน์การลงทุน
ยาหม้อชุดนี้ ไม่น่าจะเพียงพอที่จะรับมือกับวิกฤตการณ์ที่ “หนักหนาสาหัส” เช่นนี้ได้
ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นที่มีนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่สอดประสานกันเพื่อประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นไปได้
เช่น เมื่อครั้งเกิดวิกฤตการเงินโลกและลุกลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยอย่างแรง โดยปลายเดือน ธ.ค. 2551 ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจาก 3.75% เหลือ 2.75% และการประชุม กนง.เดือน ม.ค. 2552 ได้ลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% อัตราดอกเบี้ยลดลงสู่ระดับ 2%
“มีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยอย่างแรงเช่นเดียวกับวิกฤตเศรษฐกิจปลายปี 2551 ต่อเนื่องปี 2552 เพื่อให้ผู้ประกอบการที่กำลังจมน้ำได้มีที่ยืนพอสำหรับหายใจ แต่ต้องรอประเมินความเสียหายหลังน้ำลดก่อนว่าความสูญเสียจะเป็นเท่าไหร่” กรรมการนโยบายรายหนึ่งชี้โพรง
ขณะที่นโยบายการคลังต้องเร่งอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างรวดเร็ว ทั้งการเยียวยาความเสียหายเฉพาะหน้า เช่น ต้องมีระบบที่ทำให้เงินเยียวยาแรงงาน และเกษตรกรที่พื้นที่เกษตรเสียหายได้รับเงินช่วยเหลือโดยเร็ว ในยามที่ “รายได้” หายไป จนกว่าสถานการณ์การจ้างงานและการเพาะปลูกจะกลับสู่ภาวะปกติ
โดยเฉพาะ “ลูกจ้างรายวัน” และ “ลูกจ้างในสถานประกอบการเอสเอ็มอี” จะต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ส่วนเกษตรกรต้องมีการจัดหาสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อกลับมาสร้างผลผลิตอีกครั้ง
ปรากฏการณ์ในเรื่องการ “คิดนอกกรอบ” จะต้องถูกนำเสนออย่างเร่งด่วน เช่น สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้คิดค้นนวัตกรรมการให้ “เช็คเงินสด 2,000 บาท” เพื่ออัดเงินเข้าสู่มือเหล่าผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แทนที่จะอัดฉีดเงินผ่านระบบราชการที่ไม่คล่องตัว และเสี่ยงต่อการทุจริตและยักยอกเงินช่วยเหลือ
และที่สำคัญที่สุด รัฐบาลต้องเดินหน้าทุกมาตรการที่จะฟื้นฟูเอสเอ็มอีที่เป็น “เสาหลัก” สำคัญของการจ้างงาน ให้กลับมาดำเนินการโดยเร็วที่สุด
เพราะมาตรการภาษี “พิเศษ” สำหรับเอสเอ็มอีออกมา ในขณะที่มาตรการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปี 2555 และเหลือ 20% ในปี 2556 จะพบว่า “เอสเอ็มอี” ได้รับอานิสงส์น้อยมาก
ส่วนวงเงินที่รัฐบาลสั่งการให้ธนาคารออมสินจัดเตรียมเพื่อให้เอสเอ็มอี-ผู้ประกอบอาชีพอิสระกู้เป็นทุนทำอาชีพใหม่ อาจต้องมีการเพิ่มวงเงิน พร้อมทั้งต้องมีการผ่อนปรนเงื่อนไขในการปล่อยกู้ด้วย
เพราะแม้จะมีการคาดการณ์ว่า ปีหน้า หรือปี 2555 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 5-6% จากเงินที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูสถานการณ์น้ำท่วม การซ่อมแซมหรือลงทุนเครื่องใหม่ที่จะย้อนกลับมาเป็นตัวเลข “จีดีพี” และการลงทุนแก้ปัญหาน้ำระยะยาว ที่วงเงินลงทุนหลายแสนล้านบาท การจ้างงานจะกลับมาแน่
“พอโรงงานฟื้นเครื่องจักรได้ แรงงานก็จะทำงานต่อได้เลย โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะที่โรงงานต้องเก็บคนไว้ ผมว่าโรงงานก็ต้องจ่ายเงินเดือนต่อ ส่วนแรงงานที่ไม่มีทักษะจะเข้าสู่การจ้างงานในรูปงานฟื้นฟู และงานบูรณะ ก่อสร้าง ปีหน้างานจะเยอะมาก จะไปกลัวอะไร รับรองได้ว่าปีหน้าการจ้างงานเต็มที่แน่นอน” อำพน กล่าวอย่างมั่นใจ
แต่ในสถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างน้อย 3-4 เดือน แรงงานทั้งที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคบริการ ต้องได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ ก่อนสถานการณ์จะลุกลามกลายเป็น “จลาจล” และจำนวน “อาชญากรรม” ที่เพิ่มขึ้นกระจายไปทุกหย่อมหญ้า