posttoday

ม็อบยึดอำนาจรัฐล้มเหลว

01 พฤศจิกายน 2554

ปัญหาแทรกซ้อนที่รัฐบาลไม่คาดคิดมาก่อน คือการที่ม็อบชุมชนต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้เปิดประตูระบายน้ำในพื้นที่

ปัญหาแทรกซ้อนที่รัฐบาลไม่คาดคิดมาก่อน คือการที่ม็อบชุมชนต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้เปิดประตูระบายน้ำในพื้นที่

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ปัญหาแทรกซ้อนที่รัฐบาลไม่คาดคิดมาก่อน คือการที่ม็อบชุมชนต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้เปิดประตูระบายน้ำในพื้นที่ เพราะเกรงน้ำจะท่วมชุมชนตัวเอง ดูท่ากำลังลุกลามส่งผลให้การแก้ปัญหาน้ำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผิดแผนไปหมด

จากจุดเล็กๆ เกิดกรณีเอาอย่างลามไปอีกจุดสองจุด เหตุสำคัญเพราะรัฐบาลไม่ทำความเข้าใจ โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวประตูระบายน้ำจุดสำคัญๆ ที่ต้องขอแรง ยอมเสียสละเพื่อส่วนรวมเปิดพื้นที่ให้รับน้ำ หรือเป็นทางผ่านของน้ำ จะได้รับการช่วยเหลือชดเชยเต็มที่

“ม็อบน้ำ” เลยแพร่ระบาดกว้างขวางในหลายจุดชุมชน โดยไม่สนใจคำสั่งคำอ้อนวอนของทางการ บางแห่งต่อต้านหนักถึงขั้นใช้อาวุธปืนยิงข่มขู่จนเจ้าหน้าที่ต้องถอยล่า

ล่าสุดกรณีม็อบชาวบ้านคลองสามวาหลายร้อยคนลุกฮือปิดถนนกดดันให้รัฐเปิดประตูระบายน้ำคลองสามวา แม้ทางรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเจรจาถึงขั้นส่งบิ๊กตำรวจนำกำลังปราบจลาจลมาป้องกัน แต่ก็ต้านอารมณ์ชาวบ้านไม่ได้ จนเข้าไปใช้ค้อน เสียม ทุบพังประตูระบายน้ำ รื้อแนวกระสอบทรายสำเร็จ

ไม่เพียงเท่านั้น กับการปรากฏตัวของ วิชาญ มีนชัยนันท์ สส.เพื่อไทย เข้าเจรจาท่ามกลางกระแสข่าวเป็นความพยายามของนักการเมืองที่สนับสนุนประชาชนกดดันให้เปิดประตูระบายน้ำ

ที่สุด นายกฯ ยิ่งลักษณ์หมดท่า ต้องยอมเปิดประตูระบายน้ำเพิ่มอีก 1 เมตร จากที่ชาวบ้านเรียกร้อง 70-150 ซม. กระทบแผนการแก้ปัญหาน้ำรวนไปหมด เพราะทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมชุมชนริมคลองอีกหลายพื้นที่และพื้นที่ด้านล่าง ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจ เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางชัน

ม็อบยึดอำนาจรัฐล้มเหลว

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ตอบคำถามว่า “เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะนี้อีก เราจึงให้คณะทำงานลงพื้นที่เจรจากับประชาชน รวมถึงต้องเฝ้าระวังคันกั้นน้ำในพื้นที่อื่นด้วย”

แม้รัฐบาลยอมเปิดประตูระบายน้ำ แต่ม็อบชาวบ้านก็ไม่ยอม ส่งตัวแทนปักหลัก เฝ้าประตูระบายน้ำ 24 ชั่วโมง ไม่ไว้ใจกลัวทางการจะปิดประตูระบายน้ำอีก

สภาพรัฐไร้อำนาจ ปล่อยให้ชาวบ้านถือกุญแจประตูน้ำ คุมการเปิดปิดตามใจชอบ เป็นความล้มเหลวในการแก้ปัญหา ที่ลึกกว่านั้นบางกรณีมีนักการเมืองท้องถิ่นและผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ให้ท้าย

ก่อนหน้านี้มีเสียงเตือนรัฐบาลให้ระวังการต่อต้านจากชาวบ้านชุมชนต่างๆ ที่จะไม่ยินยอม ซึ่งอาจเป็นปัญหาบานปลายลามเป็นลูกโซ่ แต่รัฐบาลประเมินสถานการณ์ต่ำไป ใช้วิธีแก้ปัญหาไปทีละจุด ส่งคนไปเจรจาเป็นคราวๆ กระทั่งมีข้อเสนอให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มอบอำนาจเจ้าหน้าที่แก้ปัญหาเบ็ดเสร็จในบางพื้นที่ แต่รัฐบาลปฏิเสธเพราะกลัวทหารจะมายึดอำนาจ

นี่ไม่ใช่กรณีแรก แต่เป็นสิบๆ กรณี ที่เกิดภาพชุมนุมคัดค้านขึ้นข่าวสื่อโทรทัศน์และหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นความขัดแย้งหลายระดับ ระหว่างคนในชุมชนข้างเคียงกันและชุมชนขัดแย้งกับรัฐ

เช่นที่ จ.ปทุมธานี ชาวบ้านหมู่บ้านปาริชาติ ต.บางคูวัด รวมตัวชุมนุมหน้าหมู่บ้าน ทะเลาะกับเทศบาลเมืองบางคูวัดที่มาดูแลแนวคันดินกั้นน้ำใต้สะพานเกาะเกรียง เพราะกลัวชาวบ้านจะรื้อคันดินออก เกรงจะทำให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมเขตโรงงานและพระตำหนักจักรีบงกช ชาวบ้านไม่พอใจจึงใช้รถหกล้อปิดถนน

ที่ อ.ธัญบุรี หลังหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี ต.ประชาธิปัตย์ ชาวบ้านรวมตัว 200 คน หลังชาวบ้านอีกกลุ่มนอกหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมจากน้ำในคลองเปรมประชากรได้แอบมาดึงกระสอบทรายที่กั้นไม่ให้น้ำไหลเข้าหมู่บ้านจนเกือบมีการปะทะ แต่ตำรวจเข้ามาคุมสถานการณ์ได้ก่อน

ถัดมา ชาวบ้านจาก ต.บางพูน กว่า 300 คน รวมตัวกันปิดถนนรังสิตปทุมธานี เรียกร้องให้ ผวจ.ปทุมธานี ออกคำสั่งให้ปิดประตูน้ำพระอินทร์ราชา เพราะการเปิดประตูทำให้น้ำจากคลองระพีพัฒน์ จาก อ.วังน้อย ไหลเข้ามาในคลองเปรมประชากร สร้างความเดือดร้อนให้กับคนริมคลอง จน สุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล รมช.ศึกษาธิการ สส.ปทุมธานี บอกให้ ธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลดบานประตูระบายน้ำลงครึ่งหนึ่ง ทำให้ชาวบ้านพอใจยอมเปิดถนน

ไล่เลี่ยกันเกิดเหตุการณ์หน้าอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อกลุ่มชาวบ้านกว่า 500 คน รวมตัวประท้วงหลังพบว่ามีเจ้าหน้าที่แขวงการทางนำรถที่ราดยางถนนมาจอดเตรียมที่จะทำคันกั้นน้ำบนถนนวิภาวดีรังสิต ระหว่างการชุมนุมมีเสียงปืนดังขึ้น

ที่วิกฤตอีกที่คือ จ.นครปฐม ชาวบ้าน ต.กระทุ่มล้ม นำเสาคอนกรีตไปขวางทางน้ำในคลองปทุม เพื่อกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าพื้นที่จนเกิดการปะทะคารมกับชาวบ้านอีกหลายหมู่บ้านจนรวมตัวปิดถนนพุทธมณฑลสาย 4 มีชาวบ้าน ต.ศาลาแดง อ.สามพราน ยกพวกมาสนับสนุนกลุ่มชาวบ้านที่ปิดถนนจนเกิดเหตุโกลาหลตะลุมบอนกัน สุดท้ายตำรวจต้องยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อระงับเหตุ

รายงานข่าวระบุว่า สถานการณ์บานปลาย การจราจรติดขัดอย่างหนัก ส่งผลให้ผู้ขับขี่ยวดยานไม่พอใจ บางรายถึงกับขับรถจะพุ่งชนเต็นท์ของผู้ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมกรูเข้าไปทุบทำลายรถและทำร้ายผู้ขับขี่ด้วย ตำรวจต้องขอกำลังเสริมจากทุกโรงพักเข้าระงับเหตุ

อีกกรณีที่ครึกโครม เมื่อเกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวบ้านแถวดอนเมืองกับย่านปากเกร็ด กระทั่งนายอำเภอปากเกร็ดออกมาแฉว่า การุณ โหสกุล สส.เขตดอนเมือง พรรคเพื่อไทย นำรถแบ็กโฮเข้ารื้อทำลายแนวคันดินที่ทางเทศบาลนครปากเกร็ดและ อ.ปากเกร็ด ได้ไปสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมคลองประปาในฝั่ง อ.ปากเกร็ด จนได้รับความเสียหายเป็นระยะทางยาวกว่า 1 กม. กรณีนี้แม้แต่ สส.พรรคเพื่อไทยด้วยกันใน จ.นนทบุรี กับเขตดอนเมืองยังตกลงกันไม่ได้จนชาวบ้านต้องทะเลาะกันเอง

บางกรณี นายกฯ ยิ่งลักษณ์ต้องเดินทางไปเคลียร์ด้วยตัวเอง เช่นที่ชุมชนคลอง 9 พัฒนา อ.ธัญบุรี ที่มวลชนขัดขวางไม่ให้รัฐขุดถนนเลียบคลองรังสิตนครนายก ระบายน้ำจากคลองรังสิตให้ไหลผ่านไปสู่คลองหก ออกคลองแสนแสบ จนต้องรับปากกับชาวบ้านว่ารัฐบาลจะเร่งเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเส้นทางไหลผ่านของน้ำ โดยจะให้ท้องถิ่นสำรวจรายชื่อบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบ

“ขอบคุณชาวบ้านที่เสียสละ ไม่เช่นนั้นหากเกิดปัญหาคันกั้นน้ำหรือประตูระบายน้ำพัง น้ำทะลักเข้า กทม. ต่างชาติก็ไม่มั่นใจว่าทำไมเราถึงรักษาเมืองหลวงไว้ไม่ได้ หากชาวบ้านคนใดที่ได้รับความทุกข์ยาก ยืนยันว่าจะเร่งเยียวยาให้อย่างเต็มที่”

จากคำขอบคุณของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ สะท้อนว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบต่างกังวลว่าจะหาเงินที่ไหนมาซ่อมแซมบ้าน ทรัพย์สิน แต่รัฐบาลก็ไม่ได้สร้างความเข้าใจเรื่องเยียวยาให้ชัดเจน

น่าเป็นห่วงว่าสภาพโกลาหลที่แต่ละชุมชนก่อม็อบออกมาต่อต้านมากขึ้น จะยิ่งทำให้แผนการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้กระทบกรุงเทพฯ ชั้นในล้มเหลว และคำมั่นที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ให้ไว้ต้นเดือน พ.ย. หรือ 1 วันจากนี้ สถานการณ์จะคลี่คลาย คงไม่ได้เป็นดังนั้น