posttoday

3เดือน ยิ่งลักษณ์แก้ผิดทาง

03 พฤศจิกายน 2554

สถานการณ์น้ำท่วมมาถึงจุดวิกฤตที่สุด ภายหลังนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงนามในคำสั่งให้กรุงเทพมหานคร (กทม.)

สถานการณ์น้ำท่วมมาถึงจุดวิกฤตที่สุด ภายหลังนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงนามในคำสั่งให้กรุงเทพมหานคร (กทม.)

เปิดประตูระบายน้ำคลองสามวา ทำให้น้ำไหลเข้าคลองแสนแสบ ซึ่งผ่านพื้นที่ชั้นใน ล่าสุดนิคมอุตสาหกรรมบางชันกำลังได้รับผลกระทบจากน้ำที่เอ่อล้นตามท่อระบายน้ำ นอกจากนี้ อาจกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน จนถึงขั้นท่วมทั่วกรุงเทพฯ

การแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมาของรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดความรู้ความเข้าใจ ทำให้ตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่างๆ ผิดพลาด ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยันว่าไม่ได้อ่อนแอ หรือไม่กล้าตัดสินใจ แต่ปัญหาน้ำท่วมมีปัจจัยใหม่ตลอด และในช่วงเวลาที่เข้ามารับตำแหน่งน้ำได้เต็มความจุของทุกเขื่อนแล้ว

3เดือน ยิ่งลักษณ์แก้ผิดทาง

 

จากการตรวจสอบข้อมูลของกรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมอุตุนิยมวิทยา มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) พบว่ารัฐบาลเองไม่ตื่นตัวต่อสถานการณ์น้ำที่ก่อตัวมาตั้งแต่เดือน ส.ค. ที่ผ่านมาทำเพียงแค่การระดมความช่วยเหลือประชาชนเท่านั้น แต่ไม่เคยเตรียมป้องกันวิกฤตครั้งนี้แต่เนิ่นๆ

นับแต่วันที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งช่วงต้นเดือน ก.ค. ก็มีฝนตกหนาแน่นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระดับน้ำในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก อยู่ที่ระดับ 58% ของความจุ ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีระดับน้ำกักเก็บ 65% ของความจุ แม้กระทั่งพายุนกเตนที่พาดผ่านด้านเหนือของประเทศไทยช่วงปลายเดือน ก.ค. ระดับน้ำเขื่อนภูมิพลเพิ่มเป็น 62% ส่วนเขื่อนสิริกิติ์อยู่ที่ 76% ของความจุ

ดังนั้น ช่วงต้นเดือน ส.ค. ก็มีน้ำท่วมพื้นที่ภาคเหนือ 14 จังหวัด

20 ส.ค. นายกรัฐมนตรีประชุม ศอส. สั่งการกรมชลประทานสำรวจพื้นที่รับน้ำเพิ่ม ช่วยแก้ปัญหาอุทกภัย และใช้บางระกำโมเดลแก้ปัญหาในพื้นที่อื่นๆ

29 ส.ค. หลัง ครม.แถลงนโยบายต่อรัฐสภา กรมชลประทานแจ้งเตือนหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ เพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าปริมาณน้ำจะอยู่ในเกณฑ์สูงสุดประมาณ 2,500–2,600 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ต่อวินาที ให้ประชาชนที่เสริมกระสอบทรายป้องกันพื้นที่ พร้อมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง

5 ก.ย. กรมชลประทานแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างอีกครั้ง เนื่องจากปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เปลี่ยนแปลงจาก 2,400 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที พื้นที่น้ำท่วมขยายเป็น 22 จังหวัด

มาตรการของรัฐบาลในขณะนั้น คือ รายการพิเศษ “ร่วมใจช่วยภัยน้ำท่วม” เพื่อรับบริจาคช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในวันที่ 14 ก.ย.

13 ก.ย. กรมชลประทานแจ้งเตือนอีกครั้ง เนื่องจากฝนตกหนักระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ 3,8003,900 ลบ.ม.ต่อวินาที เกินกว่าความจุลำน้ำที่รับได้เพียง 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที

วันเดียวกันนี้ ประตูน้ำบางโฉมศรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี แตก น้ำไหลเข้าท่วม จ.ลพบุรี และอีกเพียง 1 สัปดาห์ต่อมา คันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.อ่างทอง ก็แตก น้ำเข้าท่วม จ.อ่างทอง ซึ่งการที่ประตูน้ำและคันกั้นน้ำแตกทั้งสองที่ เป็นสัญญาณอันตรายแสดงให้เห็นว่าปริมาณน้ำนั้นมีมากเกินความจุลำน้ำ จนทำให้ระบบการควบคุมน้ำเสียหายใช้การไม่ได้

17 ก.ย. นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และนครสวรรค์ และได้สั่งการแก้ไขปัญหาโดยให้จังหวัดบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ แก้ไขปัญหาน้ำล้นตลิ่งข้ามแนวป้องกัน โดยระดมสรรพกำลังเพื่อแก้ไขปัญหาให้บรรเทาเบาบางลง

ในช่วงที่สัญญาณวิกฤตเริ่มปรากฏ แต่รัฐบาลก็ยังไม่มีท่าทีตื่นตัวต่อปัญหา แม้นายกรัฐมนตรีจะประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ แต่ก็เพียงสั่งให้แต่ละจังหวัดแก้ปัญหา ช่วยเหลือประชาชน และให้ประสานขอรับการสนับสนุนมาที่ ศอส. ขณะที่นายกฯ ก็เพียงแค่เดินทางไปมอบของยังชีพแก่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ

ท่าทีการตื่นตัวต่อปริมาณน้ำและความรุนแรงในการเคลื่อนตัวของน้ำเริ่มปรากฏให้เห็น หลังพายุไห่ถางและเนสาดเคลื่อนตัวเข้ามาสร้างผลกระทบช่วงปลายเดือน ก.ย.

นายกฯ สั่งการให้จังหวัดต่างๆ รายงานข้อมูลปริมาณน้ำและความรุนแรงในการเคลื่อนของมวลน้ำ และมอบหมายให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแลรายจังหวัด เดินทางเข้าพื้นที่เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือแก้ไขปัญหา โดยให้รัฐมนตรีพักค้างคืนที่จังหวัด และให้ ปภ.เร่งสนับสนุนตามที่จังหวัดต่างๆ ขอขุดลอกคูคลอง ขณะเดียวกันขอให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหารือเร่งด่วนร่วมกับกรมชลประทานในการเร่งระบายและดันน้ำออก โดยเฉพาะในเขตตะวันตกของกรุงเทพฯ

ที่สำคัญ มีการแต่งตั้ง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ให้เป็นผู้อำนวยการ ศปภ. เมื่อวันที่ 4 ต.ค.

5 ต.ค. พายุโซนร้อนนาลแกขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามตอนบน ฝนตกหนักในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายกฯ ได้ประชุมทางไกลร่วมกับ ศอส. และ จ.ปทุมธานี นนทบุรี ร้อยเอ็ด และยโสธร ให้ทุกจังหวัดแจ้งเตือนประชาชน และให้กรมชลประทานร่วมกับจังหวัดตรวจสอบความแข็งแรงของคันกั้นน้ำ

ขณะนั้นปริมาตรน้ำในเขื่อนใหญ่ภาคเหนือ ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ต่างมีระดับน้ำกักเก็บเกิน 100% ของความจุแล้วทั้งสิ้น และในวันที่ 5 ต.ค. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตัดสินใจระบายน้ำเขื่อนต่างๆ เหล่านี้เพิ่มขึ้น รวมเป็นวันละ 300 ล้านลบ.ม. เป็นเวลา 5 วัน

และในคืนเดียวกันนี้เอง คันกั้นน้ำ จ.พระนครศรีอยุธยา ก็แตก น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาก็สมทบกับแม่น้ำป่าสักที่ไหลบ่ามาจาก จ.ลพบุรี ท่วมทุกพื้นที่ของ จ.พระนครศรีอยุธยา ภายใน 1 สัปดาห์ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร โรจนะ ไฮเทค แฟคตอรี่แลนด์ ทยอยถูกน้ำท่วมเสียหายตามลำดับ

8 ต.ค. ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติให้เฝ้าระวังภาคกลางตอนล่างและกรุงเทพฯ ที่อาจประสบปัญหาน้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งข้ามคันกั้นน้ำ จากภาวะน้ำทะเลหนุนสูงสุดช่วงกลางเดือนและปลายเดือน ต.ค. โดยคาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และระดับน้ำจะสูงขึ้นจากปริมาณน้ำฝนและน้ำเหนือที่จะไหลมาสมทบ

ขณะนั้น วีระ วงศ์แสงนาค ที่ปรึกษาอธิบดีกรมชลประทาน ประเมินว่าน้ำเหนือไหลบ่าตามทุ่งน่าจะมีปริมาตรถึง 1 หมื่นล้าน ลบ.ม. แต่รัฐบาลกลับไม่ยอมรับ และมั่นใจว่าสามารถป้องกันพื้นที่กรุงเทพฯ ได้

9 ต.ค. ศปภ.สั่งการให้กรุงเทพฯ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ปทุมธานี นนทบุรี และฉะเชิงเทรา ป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และพิจารณาว่าจะป้องกันพื้นที่สำคัญและพื้นที่เศรษฐกิจได้หรือไม่ รวมทั้งทำแผนการอพยพ โดยประเมินว่ามวลน้ำในเขต อ.นครหลวง และอุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา จะไหลลงสู่เขตพื้นที่ อ.บางปะอิน และวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

แต่เป็นการแจ้งเตือนหลังจากนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครและโรจนะถูกน้ำท่วมเสียหายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 7 และ 9 ต.ค. ส่วนนิคมฯ ไฮเทคถูกน้ำท่วมเสียหายตามมาในวันที่ 13 ต.ค.

เวลานั้นรัฐบาลยังไม่เปิดเผยข้อมูลมวลน้ำมหาศาลถึง 1.2 หมื่นล้าน ลบ.ม. ที่อยู่ด้านเหนือ แม้แต่วันที่ 14 ต.ค. หลังไม่อาจซ่อมประตูน้ำคลองบ้านพร้าว จ.ปทุมธานี ได้ ทำให้ ปลอดประสพ สุรัสวดีแจ้งให้ประชาชนรีบอพยพโดยด่วน แต่ภายหลัง พล.ต.อ.ประชา กลับแจ้งว่าขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ไม่ต้องรีบอพยพ เพราะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

มวลน้ำมหาศาลกว่าหมื่นล้าน ลบ.ม. หลุดมาให้ประชาชนได้รับรู้ก็เมื่อ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ชี้แจงหลังจากนั้นผ่านมาอีก 1 สัปดาห์ ซึ่งหลังจากนั้น ศปภ. ก็เริ่มที่จะประกาศขอให้ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมอพยพ โดยเตรียมจุดอพยพรองรับไว้ใน 9 จังหวัด

รัฐบาลโดย ศปภ. มิได้ทำให้ประชาชนได้เข้าใจต่อสถานการณ์ที่แท้จริง หลังภาวะน้ำทะเลหนุนช่วงกลางเดือนผ่านไป ก็แถลงว่ามวลน้ำก้อนใหญ่ได้ผ่านกรุงเทพฯ ไปแล้ว และเชื่อมั่นว่าจะรับมือภาวะน้ำทะเลหนุนช่วงปลายเดือน ต.ค.ได้ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา คือ คันกั้นน้ำแตกหลายจุด มวลน้ำทะลักเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ หลายเขต มีการอพยพประชาชนแล้วนับหมื่นคน

ถึงกระนั้นนายกฯ ก็ยังทำให้เกิดความสับสนมากเข้าไปอีก เมื่อบอกว่าหลังวันที่ 31 ต.ค. เมื่อหมดภาวะน้ำทะเลหนุนสูง สถานการณ์จะคลี่คลายและน้ำจะลดลง กระทั่งโพสต์ทูเดย์เปิดเผยข้อมูลว่ามวลน้ำค้างทุ่งด้านเหนือยังมีมากกว่าหมื่นล้านลบ.ม. และยังต้องเผชิญภาวะน้ำทะเลหนุนสูงอีก 2 ครั้งในช่วงกลางเดือนและปลายเดือน พ.ย. นายกฯ และนักวิชาการใน ศปภ.ถึงออกมาแถลงข่าวยอมรับ

วิกฤตใหญ่ยังไม่คลี่คลาย แต่การแก้ปัญหากลับไม่คืบหน้า กระทั่ง ธีระวงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ถึงขนาดใช้คำว่า “ฉิบหาย” กลางที่ประชุม ศปภ. โดยขอให้นายกฯ ตัดสินใจเลือกดำเนินการอย่างใดให้เด็ดขาด เพราะหากมัวแต่ละล้าละลัง ฟังแต่ความเห็นนักวิชาการรอบตัว ก็ถึงคราวต้องเสียหายรุนแรงมากกว่านี้

เพียงแต่ความเด็ดขาดของนายกฯ ครั้งล่าสุด เมื่อออกคำสั่งให้ กทม.เปิดประตูน้ำคลองสามวา อาจนำมาซึ่งความฉิบหายตามที่ ธีระ เคยกล่าวไว้ก็ได้

วิกฤตที่เผชิญอยู่ขณะนี้ ป่วยการที่จะโทษน้ำจากเขื่อน หรือฟ้าฝนที่ไม่อาจควบคุมได้ แต่ความหนักหนาสาหัสของสถานการณ์ในวันนี้เป็นเพราะความไม่รู้ ไม่ตื่นตัว และไม่ตัดสินใจของรัฐบาล