ค้นพบไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของโลกที่โคราช
ทีมวิจัยค้นพบไดโนเสาร์กินพืชพันธุ์ใหม่ของโลกที่โคราช ตั้งชื่อตามถิ่นค้นพบ “ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ”
ทีมวิจัยค้นพบไดโนเสาร์กินพืชพันธุ์ใหม่ของโลกที่โคราช ตั้งชื่อตามถิ่นค้นพบ “ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ”
ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมาค้นพบซากไดโนเสาร์กินพืชพันธุ์ใหม่ของโลกในพื้นที่ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่เมืองนครราชสีมาว่า “ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ” โดยจะเตรียมนำเข้าร่วมจัดแสดงในงาน มหกรรมฟอสซิลหรือฟอสซิลเฟสติวัล 29 พ.ย. – 5 ธ.ค. นี้ ที่โรงแรมสีมาธานี ซึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจะเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานพิธีเปิดงานดังกล่าว โดยขณะนี้มียอดจองเข้าชมแล้วมากกว่า 25,000 คน
ดร. ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทีมวิจัยที่ค้นพบ “ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ” เปิดเผยว่า ไดโนเสาร์ “ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ” ที่ค้นพบในครั้งนี้ เป็นไดโนเสาร์กินพืชจำพวก อิกัวโนดอนต์ ซึ่งตามรูปศัพท์หมายถึงฟันแบบอิกัวนา ในทางไดโนเสาร์วิทยา จัดอยู่ในประเภทไดโนเสาร์ที่มีกระดูกสะโพกแบบนก พบซากในบริเวณขุดสระน้ำของหมู่บ้านโป่งแมลงวัน ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เนื่องจากเป็นไดโนเสาร์ชนิดแรกที่คณะผู้วิจัยจากสถาบันและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิ ได้ทำการวิจัย
นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นพันธุ์ใหม่ของโลก และได้รับการยอมรับตีพิมพ์ในวารสารด้านธรณีวิทยาของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทางทีมผู้วิจัยจึงได้ให้ใช้ชื่อสกุลว่า “ราชสีมาซอรัส” เพราะเป็นไดโนเสาร์ที่พบในจังหวัดนครราชสีมา การไม่ใช้ชื่อโคราโตซอรัส เพราะชื่อดังกล่าวมีปรากฏอยู่ก่อนแล้วในสื่อสาธารณะหรือเอกสารที่มีการเผยแพร่ แม้จะยังเป็นชื่อที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันในทางวิชาการขณะนี้ ส่วนชื่อชนิด “สุรนารีเอ” ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่วีรสตรีผู้นำในอดีตที่กล้าหาญของจังหวัดนครราชสีมาหรือท่านท้าวสุรนารี