posttoday

ปลูก ปะการัง ฟื้นฟูชีวิตใต้ผืนทะเล

24 กุมภาพันธ์ 2553

แม้ตอนนี้จะกลับมาอยู่บนบกแล้วก็ตาม แต่ความทรงจำที่ได้ปลูกปะการังนั้นยังประทับใจมิรู้ลืม เพราะเคยแต่ดำน้ำดูปะการังมาหลายหน ทว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสปะการังจริงๆ

แม้ตอนนี้จะกลับมาอยู่บนบกแล้วก็ตาม แต่ความทรงจำที่ได้ปลูกปะการังนั้นยังประทับใจมิรู้ลืม เพราะเคยแต่ดำน้ำดูปะการังมาหลายหน ทว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสปะการังจริงๆ

โดย...มัลลิกา นามสง่า

"72545" ไม่ใช่มาใบ้หวย เพราะตัวเลขหายไปตั้ง 1 ตัวแน่ะ (อุ๊บส์) แต่เป็นหมายเลขกิ่ง ปะการังที่ได้ไปปลูกมา พร้อมๆ กับชาวชิลเอฟเอ็มอีก 30 กว่าชีวิต ที่มารวมตัวร่วมใจกันในกิจกรรม Chill Love The Sea By Corolla Advance CNG ณ เกาะทะลุ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

แม้ตอนนี้จะกลับมาอยู่บนบกแล้วก็ตาม แต่ความทรงจำที่ได้ปลูกปะการังนั้นยังประทับใจมิรู้ลืม เพราะเคยแต่ดำน้ำดูปะการังมาหลายหน ทว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสปะการังจริงๆ (ก็เวลาดำน้ำเขาให้ดูแต่ตามือห้ามแตะเท้าห้ามเหยียบ) ซึ่งมี "วิกรม ภูมิผล" ผู้จัดการมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ โดยความอุปถัมภ์ของ บริษัท วินีไทย เป็นผู้ให้ข้อมูลและสอนวิธีการปลูกปะการังด้วยท่อพีวีซี

ปลูกปะการังด้วยท่อพีวีซี

ปลูก ปะการัง ฟื้นฟูชีวิตใต้ผืนทะเล

ทำไมเราต้องปลูกปะการัง คำถามนี้นักดำน้ำหรือนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการดำน้ำดูปะการังคงจะได้เห็นถึงเค้าลางของปัญหาและตระหนักกันได้ว่า สภาพของปะการังใต้ท้องทะเลไทยตอนนี้ โดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทยนั้นเปลี่ยนไปมาก จากอดีตที่มีแนวปะการังอุดมสมบูรณ์มีฝูงปลาน้อยใหญ่หลากสีสันหลายพันธุ์ แต่ปัจจุบัน หรือนับย้อนไปสัก 10 ปี จะเห็นได้ว่าใต้ผืนทะเลกำลังประสบกับวิกฤตการสูญเสียปะการังเป็นจำนวนมาก

สาเหตุนั้นเกิดทั้งจากน้ำมือของมนุษย์และจากธรรมชาติ อาทิ การทำประมงผิดวิธี การก่อสร้างในพื้นที่ชายฝั่งที่ทำให้เกิดตะกอนลงสู่แนวปะการัง การระเบิดปลา การทิ้งสมอ การใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่มากเกินไป การดำน้ำผิดวิธีไปเหยียบย่ำปะการังเสียเอง ส่วนสาเหตุจากภัยธรรมชาติ อาทิ ปรากฏการณ์ ปะการังฟอกขาว การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในมหาสมุทร และพายุ

จุดนี้เองทำให้ "ประสาน แสงไพบูลย์" อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จ.จันทบุรี พร้อมนักเรียนนักศึกษาและอาสาสมัครผู้รักท้องทะเลประจำศูนย์กิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ ได้ริเริ่มแนวคิดจากการทดลองปลูกปะการังด้วย "ท่อพีวีซี" ครั้งแรกของโลกตั้งแต่ปี 2538 ที่บริเวณหาดแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และทำการดัดแปลงให้เป็นแปลงปลูกและอนุบาลปะการังเขากวางต่อมาในปี 2541 เพื่ออนุรักษ์และพลิกฟื้น วิกฤตปะการัง

วิกรมเล่าถึงการปลูกปะการังด้วยท่อพีวีซีว่า "เป็นการปลูกในแปลงอนุบาล โดยใช้ระยะเวลา 5 ปี เพื่อนำกิ่งไปขยายพันธุ์ปะการังไปเรื่อยๆ จนได้ปริมาณเพียงพอฟื้นฟูปะการัง เพราะการปลูกในแปลงอนุบาลเป็นการปลูกเพื่อเป็นกิ่งพันธุ์เท่านั้น ส่วนการเลือกปลูกบนท่อพีวีซีนั้น จากการที่อาจารย์ประสานศึกษาได้หาวัสดุที่เหมาะสม หาง่าย ไม่เป็นพิษในท้องทะเล ซึ่งท่อพีวีซีจะเป็นพิษก็เกิดจากการเผาไหม้ ปะการังมีความบอบบางมากๆ อ่อนไหวง่ายต่อสิ่งแวดล้อม แต่เขาสามารถเคลือบกันได้กับท่อพีวีซีใน 2 อาทิตย์ หลังจากการปลูก และหลังจาก 5 ปี ทางบริษัทก็จะมาดูว่าท่อพีวีซีที่ใช้แล้วนั้นจะนำมารีไซเคิลยังไงต่อไป ส่วนปะการังนั้นตอนนี้กำลังทำการวิจัยอยู่ว่าจะนำไปฟื้นฟูด้วยวิธีการใด โดยไม่มี สิ่งแปลกปลอมจากธรรมชาติ ซึ่งตอนนี้คิดค้นกันหลายวิธี แต่ขอปิดไว้ก่อน"

1 กิ่ง 1 ความหวัง

ปลูก ปะการัง ฟื้นฟูชีวิตใต้ผืนทะเล

ปะการังที่เราปลูกไปนั้นอย่าคิดไปเองว่ามันจะ "รอด" แม้ว่าการปลูกปะการังจะมีวิธีการ ไม่ยาก แต่ถ้าไม่เข้าใจและไม่ทะนุถนอมแล้วละก็ ปะการังก็อาจตายได้ในมือคุณ จากจะช่วยกลายเป็นทำร้ายเสียนี่ วิกรม วิทยากรของเราจึงย้ำนักย้ำหนาถึงรายละเอียดแต่ละขั้นตอน ที่จะปลูก ปะการังด้วยท่อพีวีซีให้รอด 100 เปอร์เซ็นต์

เราตั้งใจฟังและทำตาม...

เริ่มตั้งแต่ได้ท่อพีวีซีขนาดความสูงประมาณ 8 เซนติเมตร พร้อมป้ายโลหะสเตนเลสที่บอกลำดับต้นที่เราจะปลูก ซึ่งเราได้หมายเลข 72545 (แต่ไม่ได้หมายความว่าเราปลูกเป็นกิ่งที่ 72545 แต่เป็นหมายเลขประจำกิ่ง เพราะ ณ ปัจจุบันมีปะการังปลูกด้วยท่อพีวีซีไปแล้ว 3 หมื่นกิ่งเท่านั้น) นำมาร้อยกันไว้ และจะมีแผ่นกระดาษมาให้กรอกรายละเอียด ชื่อ ที่อยู่ อีเมล และได้กิ่งลำดับที่เท่าไหร่ ตรงนี้สำคัญมาก กรอกให้ชัดเจน เพราะหลังจากเราปลูกปะการังไปแล้วนั้น ทุกๆ 3 เดือน จะมีเจ้าหน้าที่มาติดตามผลและจะสุ่มถ่ายรูปปะการังและส่งภาพถ่ายทางอีเมลไปให้เจ้าของที่ปลูกตามหมายเลขที่แจ้งไว้ ตรงนี้ละที่คุณจะได้รู้ว่าปะการังที่คุณปลูกนั้นรอดหรือไม่รอด และมันงอกงามอย่างไร

ขั้นตอนต่อไปก็เตรียมตัวลงแพหรือเรือไปยังจุดที่จะวางท่อพีวีซี จุดนี้สำคัญมากเพราะเราจะได้สัมผัสกับปะการัง ซึ่งปะการังที่นำมาปลูกนั้นเป็นปะการังเขากวาง ที่ล้ม แตกหักอยู่ใต้ทะเล แต่ยังไม่ตายและมีแนวโน้มจะรอดชีวิต จงท่องไว้ให้ขึ้นใจว่า ปะการังเป็นสิ่งมีชีวิต อย่าจับ อย่ากำเขาแน่น เดี๋ยวปะการังจะตายคามือเสียก่อน และให้พิจารณาดูว่าส่วนไหนโคนส่วนไหนปลาย สังเกตง่ายๆ คือ ปลายจะเรียว โคน จะหนา ต่อจากนั้นนำส่วนโคนเสียบลงในท่อ พีวีซีไม่ต้องลึกประมาณ 1 เซนติเมตรพอ เพราะส่วนที่อยู่ในท่อจะตาย

จากนั้นขันให้แน่นด้วยนอตเพื่อตรึงกิ่งปะการังกับท่อเอาไว้ ช่วงที่ขันนอตจะยากหน่อย เพราะต้องขันให้แน่นพอดี ถ้าหลวมไปปะการังไม่สามารถยึดเกาะกับท่อพีวีซีได้ เวลาจะจับแพลงก์ตอนกินโยกไปโยกมาก็จะตาย หรือถ้าขันแน่นไปปะการังก็จะแตกหักได้ ดังนั้นให้โยกที่กิ่งดูอย่าสะบัดเด็ดขาด และถ้าหากใช้เวลานานจงจำไว้ว่าปะการังอยู่ใต้น้ำอย่าให้เขาขาดน้ำนาน ช่วงระหว่างทำให้นำปะการังจุ่มน้ำบ่อยๆ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็นำท่อพีวีซีเล็กๆ ของเราที่ปลูกปะการังไปเสียบบนแปลงพีวีซีเพื่อนำลงไปวางยังใต้น้ำ

"2 อาทิตย์ปะการังจะสร้างหินปูนมาเคลือบท่อพีวีพี 1 ปี เขาจะโต 10-14 เซนติเมตร ปีต่อๆ ไปเขาจะโตแค่ไหน ปะการังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแต่ทุกวันนี้เรามองข้ามเขาไป จริงอยู่ที่ ปะการังสามารถฟื้นตัวเองได้ตามธรรมชาติ แต่นั้นต้องมีคุณภาพน้ำที่เหมาะสม แต่ทุกวันนี้หาพื้นที่ที่ปะการังฟื้นตัวเองได้ยาก กว่าจะฟื้นก็ใช้เวลานานมาก สิบกว่าปีที่ผ่านมาที่ไม่ได้ฟื้นฟูก็ตาย

แม้การปลูกปะการังด้วยท่อพีวีซีจะไม่เหมือนการฟื้นตัวเองโดยธรรมชาติแต่ก็เป็นสิ่งทดแทน ถ้าในทะเลไม่มีปะการัง ปลาตัวเล็กไม่มีที่หลบภัยจากปลาตัวใหญ่ แล้วถ้ามีคนใจบุญมาสร้างบ้านให้ปลาตัวเล็กไปหลบภัยได้คุณจะรู้สึกอย่างไร เรามาช่วยกันอนุรักษ์ การปลูกปะการังวันนี้ไม่ได้ปลูกให้พวกเรา แต่ปลูกให้รุ่นต่อไป แต่ละแปลงมีข้อต่อเหมือนมือของแต่ละคนที่จับกันไว้ ข้อต่อจะแน่นต้องใช้กาวเหมือนคำมั่นสัญญาว่าเราจะช่วยกันอนุรักษ์ สิ่งสำคัญการปลูกปะการังเราหวังให้เขาโต ดังนั้นอย่าให้ฐานใดฐานหนึ่งหลวม ก็เหมือนบ้านเราไม่แข็งแรง เราต้องให้รากฐานเรามั่นคงด้วย

เราไม่ได้เน้นปริมาณต้องปลูกให้มากให้เร็วแต่เน้นความเข้าใจ ปลูกปะการังต้องได้ต้นจิตสำนึกกลับไปด้วย ไม่ใช่มาปลูกแล้วกลับบ้านไปทิ้งขยะ ตัดต้นไม้ เราต้องการให้เรียนรู้และเข้าใจกับท้องทะเลว่าปลูกปะการังแล้วได้อะไร เพราะปะการังเป็นแหล่งโปรตีนที่ปลาเข้ามาอยู่กินอาศัย คนก็กินปลา ปะการังเป็นด่านเริ่มต้นของธรรมชาติในทะเล อย่างน้อยๆ คนที่มาปลูก ปะการังเขาได้เรียนรู้การอนุรักษ์ เขาจะได้คิดว่าที่บ้านของเขามีอะไร จะกลับไปพัฒนาที่บ้านได้ การปลูกปะการังไม่ยากแต่การอนุรักษ์ยากกว่า" วิกรม กล่าว

8 หมื่นกิ่งฟื้นฟูปะการัง

ปลูก ปะการัง ฟื้นฟูชีวิตใต้ผืนทะเล

โครงการขยายพันธุ์ปะการังด้วยท่อพีวีซี มีระยะเวลา 5 ปี นับจากปี 2551-2555 เป้าหมายคือปลูกปะการังให้ได้ 8 หมื่นต้น โดยแบ่งพื้นที่ปลูกออกเป็น 5 แห่ง มีช่องแสมสาร จ.ชลบุรี 4 หมื่นกิ่ง เกาะหวาย จ.ตราด 1 หมื่นกิ่ง เกาะ เสม็ด จ.ระยอง 1 หมื่นกิ่ง เกาะขาม จ.ชลบุรี 1 หมื่นกิ่ง และเกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อีก 1 หมื่นกิ่งสุดท้าย (ลำดับกิ่งที่ 70,001-80,000) ซึ่งตอนนี้รวมทุกพื้นที่ปลูกมาทั้งหมดประมาณ 3 หมื่นกิ่งแล้ว

โดยกิ่งลำดับที่ "00001" สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานปลูกปะการังเขากวางบนแปลงท่อพีวีซี เมื่อครั้งเปิดโครงการ "วีนิไทย ร่วมใจปลูกปะการัง 80,000 กิ่งที่เริ่มต้น เพื่อล้นเกล้า" เมื่อปีที่แล้วที่ จ.ชลบุรี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในโอกาสมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา

สำหรับการเลือกพื้นที่ปลูกปะการังนั้น วิกรมบอกว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากจะพิจารณาจากปัยจัยสภาพแวดล้อมธรรมชาติแล้วคนในพื้นที่นั้นๆ ก็เป็นอีกปัจจัยในการตัดสินใจเลือก "ทุกพื้นที่มีการปลูกปะการังจะมีคนในชุมชนเห็นความสำคัญ ให้ความร่วมมือ เพราะเราไม่มีงบประมาณที่จะจ้างคนมาดูแล การปลูกนั้น ไม่ยาก สำคัญที่การดูแล เราไม่ปลูกในพื้นที่ ที่ไม่มีคนดูแล ดังนั้นคนในพื้นที่ต้องเห็นว่าบ้านของเขาจะต้องฟื้นฟู ถ้าคนไม่เห็นความสำคัญปลูกไปก็ไม่มีค่าสำหรับเขา แต่ถ้าเขาเห็นคุณค่าเขาก็จะหวงแหน

ส่วนการวางแปลงปลูกปะการังนั้นต้องใช้ความเชี่ยวชาญของนักวิจัย ดูจากความลึกที่เหมาะสม เพราะปะการังไม่ได้ปลูกได้ทุกพื้นที่ ดูจากพื้นที่มีแนวปะการังอยู่ว่าการฟื้นตัว ของปะการังมีปะการังตัวอ่อนมาเกาะไหม มีความเป็นบวกหรือลบจากเดือนที่แล้วต้อง ติดตามดูผลก่อน ถ้าลบไม่ควรไปปลูก สิ่งแวดล้อมไม่เหมาะ"

อย่าลืมมาช่วยกันปลูกปะการัง เพราะตอนนี้ยังเหลืออีก 5 หมื่นกิ่ง ให้คุณมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูสภาพใต้ทะเล