มหาวิทยาลัยเพื่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เคยได้รับการโหวตว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย
เคยได้รับการโหวตว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย
โดย...อณุศรา ทองอุไร
เคยได้รับการโหวตว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย แต่นอกจากสวยแล้วยังถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีพื้นที่สีเขียวมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่รวม และยังมีสำนักวิชาที่ศึกษาและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเปิดสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกอีกด้วย และคาดว่าในปีการศึกษาหน้าอาจจะเปิดสอนในระดับปริญญาตรี
น.อ.ยุทธนา ตระหง่าน รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าวว่า ในปีหน้านี้มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการเพื่อทำให้มหาวิทยาลัยเป็น Green University อย่างเต็มตัว เพราะตระหนักถึงความสำคัญในการมีส่วนรณรงค์และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเสียค่าไฟฟ้าประมาณปีละ 40 ล้านบาท
โดยในปัจจุบันเราได้มีการรณรงค์เรื่องการประหยัดไฟฟ้า ทั้งในส่วนของหอพักนักศึกษา ห้องเรียน และสำนักงานภายในมหาวิทยาลัย เช่น การจัดระบบเปิดปิดไฟอัตโนมัติในพื้นที่ส่วนกลาง ภายในตัวอาคารสำนักงานได้จัดให้มีสวิตช์ไฟแบบเปิดเฉพาะจุดที่ต้องการ การเปิดปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงพัก หรือก่อนเลิกงาน หรือเลิกชั่วโมงเรียน
ทั้งนี้ มฟล.เป็นมหาวิทยาลัยที่มีบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิดธรรมชาติ ทำให้นอกจากฤดูร้อนแล้ว มฟล.แทบจะไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศเลย นอกจากนี้ในส่วนของเสาไฟฟ้าทั่วมหาวิทยาลัยก็ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการนำไปใช้ที่อาคารหอพักนักศึกษาด้วย ทำให้มหาวิทยาลัยลดภาระค่าใช้จ่ายไปได้อีกส่วนหนึ่ง
ส่วนการจัดการระบบน้ำนั้น มีอ่างเก็บน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาขึ้นใช้เอง ซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่ที่วันละ 4,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้จริงเพียง 500 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น สำหรับการใช้น้ำเพื่อดูแลต้นไม้ภายในมหาวิทยาลัยทั้งหมด จะนำมาจากน้ำที่ใช้แล้วไปบำบัดจากน้ำเสียจนกลายเป็นน้ำมีคุณภาพดีพอประมาณมารดน้ำต้นไม้ ล้างรถ เพื่อทำให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งรถที่รับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยก็เป็นรถไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษควันดำต่างๆ และเพื่อเป็นการประหยัดน้ำมัน
ด้านขยะนั้น ในส่วนที่มหาวิทยาลัยดำเนินการเองจะเป็นในส่วนของการจัดจุดบริจาคขวดน้ำดื่มแล้วนำไปจำหน่ายเพื่อเข้ากองทุนการศึกษา และในขณะนี้ได้เริ่มโครงการหลายโครงการที่จะนำขยะมาใช้ประโยชน์ให้สูงสุด เช่น การร่วมมือกับศูนย์ศึกษาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในการนำขยะมาร่วมผลิตปุ๋ยจากมูลไส้เดือน ซึ่งอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัยได้เป็นผู้คิดค้นขึ้น หรือการนำขยะมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์
การจัดการพื้นที่สีเขียวของ มฟล.นั้น อาจารย์บอกว่า 13 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการเข้ามาฟื้นฟูพื้นที่กว่า 4,997 ไร่ เพราะเริ่มแรกที่จะมีการก่อสร้างอาคารเรียนต่างๆ ที่นี่ไม่ต่างอะไรจากภูเขาหัวโกร๋น เพราะถูกยึดครองโดยผู้ไม่มีสิทธิ และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ดำเนินงานภายใต้พระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการ “ปลูกป่า สร้างคน” มาโดยตลอด จะเห็นได้ว่ามีโครงการต่างๆ มากมายที่ให้คณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา บุคลากร บุคคลภายนอกที่เข้ามาร่วมกิจกรรมในมหาวิทยาลัยได้มีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้ หรือทำนุบำรุงต้นไม้ที่มีอยู่ เช่น โครงการน้องใหม่ปลูกป่า ที่ให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคนได้ปลูกต้นไม้อย่างน้อยคนละ 3 ต้นในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยระยะเวลาในการปลูกจะเป็นช่วงปลายร้อนต้นฝน ทำให้ลดภาระในการรดน้ำต้นไม้ไปในตัว
รวมทั้งอาจารย์และบุคลากรทุกคนที่เข้ามาทำงานครั้งแรก ทุกคนจะต้องปลูกต้นไม้อย่างน้อยคนละ 1 ต้น และในบางโอกาสจะทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการที่จะทำการขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อการสำรวจพื้นที่ ทางมหาวิทยาลัยจะขอนำเมล็ดต้นไม้ไปโปรยในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยที่ยากแก่การเข้าถึง เพื่อให้เกิดต้นไม้ใหม่ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย
ขณะนี้มหาวิทยาลัยกำลังจัดทำโครงการสวนพฤกษศาสตร์บนเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ โดยจะแบ่งพื้นที่เป็นโซนย่อยๆ ประมาณ 15 ไร่ แบ่งเป็นต้นไม้ใหญ่ พืชล้มลุก สวนสมุนไพร สวนดอกไม้ โซนต้นไม้หายาก ซึ่งขณะนี้เฟสแรกที่เป็นไม้ดอกขนาดเล็กเริ่มแล้ว คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่ว่า “ปลูกป่า สร้างคน” อย่างแท้จริง
&<2288;
&<2288;
&<2288;
&<2288;
&<2288;
&<2288;