เตือนระวังทองปลอมตีตราห้างดังหลอกขาย
สมาคมร้านทองร้อง สตช.หลังพบแก๊งมิจฉาชีพนำทองเปอร์เซ็นต์ต่ำชุบยัดไส้ทองแดงตีตราร้านค้าชื่อดังออกหลอกขาย
สมาคมร้านทองร้อง สตช.หลังพบแก๊งมิจฉาชีพนำทองเปอร์เซ็นต์ต่ำชุบยัดไส้ทองแดงตีตราร้านค้าชื่อดังออกหลอกขาย
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. นายกิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ ตัวแทนสมาคมร้านค้าทองทั่วประเทศกว่า 7,000 ร้านค้า เข้าร้องเรียนกับ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.)และ พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น) กรณีที่มีมิจฉาชีพปลอมแปลงทองรูปพรรณ ทองยัดไส้โลหะเงิน ทองชุบ ทองเปอร์เซ็นต์ต่ำ หลอกขายให้กับร้านทอง
ทั้งนี้ การระบาดของทองยัดไส้โลหะเงิน ทองชุบ หรือ ทองเปอร์เซ็นต์ต่ำ จะอยู่ที่ประมาณ 65-90 เปอร์เซ็นต์ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งทางร้านค้าทองได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจค่อนข้างน้อย โดยคาดว่ากระบวนการมิจฉาชีพอาจจะมีผู้อิทธิพลหนุนหลัง
พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า หลังทางสมาคมค้าทองคำร้องเรียนถึงปัญหา รูปแบบการปลอมแปลงต่างๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นกัน ทาง สตช. สืบทราบว่า ขบวนการนี้ทำกันเป็นทีม ซึ่งกลุ่มผู้ต้องสงสัยหลัก คือ ช่างทองมืออาชีพ เพราะต้องใช้ความชำนาญสูง เริ่มจากแก๊งมิจฉาชีพจ้างช่างทองทำการผลิต เมื่อผลิตทองเสร็จคนร้ายจะทำการขายทองรูปพรรณ โดยจ้างให้ ผู้หญิง คนท้อง หรือคนชรา มารับทองปลอมรูปพรรณไปขายให้กับร้านทองอีกที
"ที่ผ่านมาร้านทองจะไม่รับซื้อทองที่ไม่มีตราร้านค้าแต่ตอนนี้แก๊งมิจฉาชีพมีการพัฒนารูปแบบการปลอม โดยผลิตตราร้านค้าที่มีชื่อเสียงและทำการปั้มให้เห็นชัดเจน ทำให้ร้านค้าที่ยังไม่มีความชำนาญไม่ทราบว่าเป็นทองปลอม และนำทองที่ได้รับซื้อจากคนร้ายมาขายต่อ เมื่อมีลูกค้ามาซื้อทองพบว่าเป็นทองที่มีเปอร์เซ็นต์ทองต่ำกว่ามาตรฐาน ก็คิดว่าถูกทางร้านค้า หรือทางตราร้านค้าหลอก ทำให้ทางร้านค้าเสื่อมเสียชื่อเสียง และขาดความไว้วางใจจากลูกค้า"พล.ต.อ.เอกกล่าว
รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า ได้สั่งการให้ ทาง ผบช.น เข้มงวดกับคดีปลอมแปลงทองคำ ห้ามผู้เสียหายทำการยอมความจนกว่าจะดำเนินการคดีเสร็จ และจะจัดตั้งคณะกรรมการรวบรวมข้อมูลการซื้อและการจำหน่ายทองคำของร้านค้า ซึ่ง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการนี้อย่างที่นายกสมาคมค้าทองคำเข้าใจ
"คดีทองปลอมส่วนใหญ่ตั้งข้อหาได้แค่ฉ้อโกง และการดำเนินคดียุ่งยาก ทำให้ผู้เสียหายส่วนใหญ่ทำการยอมความเอง และพนักงานสืบสวนก็ไม่สามารถดำเนินคดีต่อได้" พล.ต.อ.เอกกล่าว
นายกิตติ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันการตรวจสอบทองทำได้ยากขึ้น เพราะส่วนใหญ่ทองที่คนร้ายปลอมแปลงจะเป็นทองรูปพรรณลายโปร่ง แล้วทำการยัดไส้โลหะเงินหรือทองแดงไว้ข้างใน เพื่อการขึ้นรูปทองแล้วทางช่างทองจะทำการกัดกรด เอาโลหะเงินหรือทองแดงออกหมด แต่แก๊งมิจฉาชีพจะใช้เทคนิคข้ามขั้นตอนกัดกรดโลหะเงิน ทำให้ทองที่ผลิตออกมามีเปอร์เซนต์ทองแค่65-90 เปอร์เซนต์ต่ำกว่ามาตรฐาน และนำไปหุ้มทองให้มีความหนาทำให้การตรวจสอบยากมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อทางร้านรับทองรูปพรรณมาจะไม่กล้าทำการตรวจสอบ วิธีเดียวที่ทางร้านจะตรวจสอบได้ชัดเจนคือการตะไบ หรือตัดให้เห็นภายใน