posttoday

เสรีประเมินปี55แล้งหนัก-ฝนมาเร็ว

25 มกราคม 2555

"เสรี"ประเมินปี55ไทยเผชิญภัยแล้งหนัก-ฤดูฝนมาเร็ว ฟันธงมวลน้ำเท่าเดิมท่วมแน่ แต่แบบไหนขึ้นอยู่กับการจัดการ

"เสรี"ประเมินปี55ไทยเผชิญภัยแล้งหนัก-ฤดูฝนมาเร็ว ฟันธงมวลน้ำเท่าเดิมท่วมแน่ แต่แบบไหนขึ้นอยู่กับการจัดการ

“ปี 2555 จะเกิดน้ำท่วมอีกหรือไม่? ถ้ามวลน้ำเท่าเดิมน้ำท่วมแน่ๆ แต่จะท่วมแบบไหนนั้นอยู่ที่การบริหารจัดการ” เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรและคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ หรือ กยน.กล่าวในวงเสวนา “เรียนรู้ สู้น้ำ”

เสรีประเมินปี55แล้งหนัก-ฝนมาเร็ว เสรี

เสรี ระบุถึงการพยากรณ์อากาศและการเตือนภัยว่า ด้วยเทคโนโลยีขึ้นสูงสุดที่มีอยู่ในขณะนี้สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้เพียง 7 วัน โดยการพยากรณ์จะต้องการสร้างแบบจำลองที่ใช้เงื่อนไขของสภาพอากาศ ณ ปัจจุบันที่มีการคำนวณ การพยากรณ์ล่วงหน้าจึงไม่มีความแม่นยำและคลาดเคลื่อนได้ เพราะสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นสิ่งข้อจำกัดที่ไม่สามารถควบคุมได้ การจะบอกว่าน้ำจะท่วมปี 2555 อีกหรือไม่ จึงไม่สามารถบอกได้ ณ ขณะนี้

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำได้คือ การใช้ข้อมูลทางสถิติมาสร้างแบบจำลอง ซึ่งเมื่อลองศึกษาและสร้างแบบจำลองตามข้อมูลตามสถิติแล้ว ถ้ามีมวลน้ำเท่าเดิมน้ำจะท่วมแน่ๆ แต่จะท่วมแบบไหนนั้นอยู่ที่การบริหารจัดการว่าจะมีการผันน้ำไปในทิศทางใด จะเก็บกักน้ำไว้ที่ใดบ้าง รวมทั้งการบริหารจัดการความเสี่ยงของเขื่อนก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะต้องมีการตัดสินใจว่าจะปล่อยน้ำหรือไม่ หากปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่เหนือระดับน้ำควบคุม(Rule Curve)

ดังนั้น กยน.จึงเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลในส่วนนี้ โดยการตัดสินใจปล่อยน้ำหรือไม่นั้น ต้องมีการประเมินผลกระทบของผู้ที่อยู่กับชุมชนที่อยู่ท้ายน้ำและจังหวัดใกล้เคียงด้วย

นอกจากนี้ ในปีนี้มีการคาดการณ์ไว้ว่าฝนจะมาเร็ว สิ่งที่อาจจะเห็นใน 2 เดือนข้างหน้าคือ ปริมาณน้ำในแม่น้ำจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปล่อยน้ำของเขื่อนเพื่อการทำนาปรังครั้งที่ 1 จำนวนพื้นที่ทั้งสิ้น 10 ล้านไร่ ทำให้ฤดูข้าวนาปีต้องเริ่มขึ้นในเดือน พ.ค. และต้องเก็บเกี่ยวให้เสร็จในเดือน ส.ค.-ก.ย. เพราะในเดือนต.ค.เขื่อนจะเก็บน้ำอย่างเต็มพิกัดและจะต้องเอาให้อยู่  เพื่อไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพ ดังนั้นกรมชลประทานจึงต้องทำความเข้าใจและร่วมมือกับเกษตรกรให้มีการเก็บเกี่ยวตามเดือนดังกล่าว

ขณะเดียวกันหลายแบบจำลองพบว่า กลางปี 2555 มีแนวโน้มอาจจะเกิดภัยแล้ง เนื่องจากมีปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เปลี่ยนไปจากลานิญาไปเป็นเอลนีโญมากขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่กรมชลฯ จะต้องบริหารความเสี่ยงนี้ให้ได้ เพราะเชื่อว่าปัญหาการขาดน้ำจะสร้างความเสียหายที่หนักหนายิ่งกว่าน้ำท่วมอีก ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องรับฟังข้อมูลและตัดสินใจว่าจะมีการบริหารความเสี่ยงอย่างไร

เช่นเดียวกัน การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในระยะยาวด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำก็จำเป็นต้องนำข้อมูลต่างๆ ไปคิดประกอบ เช่น การกระจายของน้ำฝน อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นอาจจะไม่ได้รองรับน้ำทั้งหมดเพราะฝนมีการกระจายตัวในหลายพื้นที่ และไม่มีทิศทางที่แน่นอน ข้อมูลหรือแนวโน้มที่ได้จากแบบจำลองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างหนึ่งในอนาคต

นอกจากนี้ อาจารย์เสรีได้ชี้บทเรียนที่ได้รับผ่านมหาอุทกภัยเมื่อปีก่อน ดังนี้

1.ข้อมูลไม่ไปถึง จึงควรมีการแปรข้อมูลไปสู่ภาคประชาชนให้เกิดความตระหนัก ซึ่งจะนำไปสู่ความตระหนักของชุมชนและประเทศต่อไป

2.ขาดระบบการสนับสนุนการตัดสินใจ ต้องมีแผนรองรับ โดยมีการประเมินผลกระทบของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียว่าเป็นอย่างไร ต้องประเมินทันทีและสื่อสารในทันทีในภาวะปกติ

3.Floodway หรือ Flood all ways ต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าทางผ่านน้ำไม่ใช่น้ำผ่านทุกทาง เพื่อประกอบการตัดสินใจและสามารถวางแผนได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

4.นิคมอุตสาหกรรมจมน้ำ สิ่งที่ประเมินแล้วว่าโครงการต่างๆ ทำแล้วมีประสิทธิผล ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมใช้วิธีการสร้างผนังกั้นน้ำ 2 ชั้น สูง 4 – 6 เมตร เพื่อสร้างความเชื่อมั่น แต่สิ่งสำคัญคือชุมชนเพราะโรงงานต้องมีแรงงานคน การสร้างความเชื่อมั่นจึงต้อง สร้างจากชุมชนให้มีความเข้มแข็งและสามารถเดินต่อไปได้

5.จุดอพยพ เกิดการย้ายแล้วย้ายอีก เช่น ศูนย์อพยพมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้ายไปดอนเมืองและย้ายต่อไปกระทรวงพลังงาน ทั้งนี้เกิดจากการขาดระบบประเมินที่ไม่สามารถประเมินเหตุการณ์ได้ทั้งก่อนและขณะเกิดเหตุ จึงต้องมีการหาระบบในการตัดสินใจต่อไป

6.ผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถสื่อไปยังประชาชนได้ เนื่องจากขาดระบบการประเมินนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเองก็มี พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ที่ถือว่าเป็นกฎหมายที่ดีฉบับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่เคยได้ประกาศใช้ เช่นกันกับกฎหมายให้ชุมชนมีส่วนร่วมระบุว่าในชุมชนมีหมู่บ้าน หน่วยงานเอกชน ฯลฯ เท่าไหร่ แล้วไปต่อกับชุมชนอื่นเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ โดยมีภาครัฐดูแลให้เป็นภาพรวม

“สุดท้าย ในเมื่อแผนต่างๆ ของรัฐยังคงต้องใช้ระยะเวลา สิ่งสำคัญที่สุดจึงเป็นท้องถิ่นที่ต้องมีแผนรับมือภัยพิบัติ โดยสามารถบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐได้ แต่ระยะยาวคงหนีไม่พ้นการสร้างฟลัดเวย์” เสรี ระบุ