ดั๊บเบิ้ล เอ ผู้นำกระดาษเพื่อสิ่งแวดล้อม
Paper From KHANNA หรือ “กระดาษจากคันนา” คือ แนวคิดการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนของดั๊บเบิ้ล เอ
Paper From KHANNA หรือ “กระดาษจากคันนา” คือ แนวคิดการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนของดั๊บเบิ้ล เอ
โดย..วันพรรษา อภิรัฐนานนท์
Paper From KHANNA หรือ “กระดาษจากคันนา” คือ แนวคิดการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนของดั๊บเบิ้ล เอ หนึ่งในการเดินไปสู่เป้าหมายของการเป็น Corporate Shared Value (CSV) ที่นำไปสู่การสร้างคุณค่าที่แท้จริงขององค์กรและสร้างคุณค่าที่แท้จริงต่อสังคม รวมทั้งยังเป็นโมเดลการดำเนินธุรกิจที่ได้รับเกียรติให้เข้ารับรางวัล Asian CSR Award 2011 จากประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เบนิญโญ อาควิโน ที่ 3 ในฐานะองค์กรที่ช่วยขจัดความยากจนในเอเชีย จากการริเริ่มโครงการปลูกต้นกระดาษบนคันนา ซึ่งกระตุ้นความยั่งยืนในภาคเศรษฐกิจ การเกษตร สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
กระดาษจากคันนา
ชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ กล่าวถึงโครงการกระดาษจากคันนาว่า เพราะดั๊บเบิ้ล เอ มีปรัชญาการดำเนินธุรกิจที่แตกต่าง ทำให้ดั๊บเบิ้ล เอ มิได้เป็นเพียงแค่กระดาษ แต่เป็นกระดาษที่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน เป็นกระดาษที่ช่วยสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกร และเป็นกระดาษสร้างพลังงาน
“นี่คือเหตุผลที่ทำให้ดั๊บเบิ้ล เอ เป็นธุรกิจที่แข่งขันได้ในระดับโลก จนมีตลาดส่งออกกว่า 100 ประเทศทั่วโลก สร้างรายได้จากการส่งออกไม่น้อยกว่าปีละ 1 หมื่นล้านบาท และยังสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรที่ปลูกต้นกระดาษนับล้านครอบครัว”
ชาญวิทย์ กล่าวว่า ในปี 2525 บริษัทเริ่มวิจัยและพัฒนาพันธุ์ไม้ที่จะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ ซึ่งจะต้องเป็นพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับภูมิประเทศและภูมิอากาศแถบร้อนชื้น ในที่สุดผลการพัฒนาสายพันธุ์ก็ออกมาเป็น “ต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ” ที่เหมาะที่สุดในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นรายได้เสริม และพัฒนารูปแบบการส่งเสริมจากการปลูกแบบแปลง เป็นการปลูกบนคันนา
“กระดาษจากคันนา” จึงเป็นทางเลือกให้เกษตรกรใช้สิ่งที่มีอยู่ เช่น พื้นที่ว่างบนคันนา จอบ เสียม หรือเครื่องมือการเกษตร และแรงงานที่ว่างจากฤดูเก็บเกี่ยวพืชหลัก มาสร้างเงินออมที่ยั่งยืนให้กับครอบครัวแบบไม่ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่ม โดยหากเป็นพื้นที่นา 10 ไร่ จะมีพื้นที่ว่างบนคันนาเพียงพอปลูกต้นกระดาษได้ประมาณ 1,000 ต้น
“นอกจากจะมีรายได้จากการปลูกข้าวแล้ว เกษตรกรยังสามารถเปลี่ยนคันนาเป็นเงินออมได้อีก 34.5 หมื่นบาท ในทุกๆ 3 ปี ให้กับครอบครัวได้อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น คือ การกระจายรายได้สู่เกษตรกรนับล้านรายที่เป็นรูปธรรม” ชาญวิทย์ กล่าว
โมเดล CSV เพื่อสังคมที่ยั่งยืน
สำหรับต้นกระดาษที่เกษตรกรช่วยกันปลูกขึ้น ได้เปลี่ยนให้พื้นที่ว่างให้กลายเป็นพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้นและแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ยั่งยืนแหล่งใหม่ให้กับโลก ทำให้ผู้บริโภคกระดาษมีทางเลือก การบริโภคกระดาษไม่ใช่การทำลายป่าธรรมชาติทางเดียวอีกต่อไป แต่ยังเป็นทางเลือกที่จะช่วยลดโลกร้อน เพราะไม้ที่ปลูกขึ้นใหม่ดังกล่าว จะช่วยกันดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในเนื้อไม้ การบริโภคกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ 1 รีม มีส่วนช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากบรรยากาศได้ถึง 12.5 กิโลกรัม หรือปีละ 6.7 ล้านตัน
“การบริโภคกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ 1 รีม มีส่วนช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 6.7 ล้านตัน นี่คือสิ่งที่เราภาคภูมิใจ” ชาญวิทย์ กล่าว
ด้วยแนวคิดที่ว่า “ของเหลือใช้ ไม่ถูกทิ้งให้ไร้ค่า” ยังเป็นที่มาที่ทำให้ดั๊บเบิ้ล เอ เป็น “กระดาษสร้างพลังงาน” ด้วยการนำเศษไม้เปลือกไม้น้ำมันยางไม้ ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันดั๊บเบิ้ล เอ สามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าใช้หมุนเวียนได้เองภายในโรงงาน และมีไฟฟ้ามากเพียงพอที่จะกระจายสู่ชุมชนได้อีกกว่า 4 แสนครัวเรือน ลดการใช้น้ำมันหรือเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ถึง 340 ล้านลิตรต่อปี หรือนัยหนึ่งเท่ากับประหยัดการนำเข้าน้ำมันปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท
กระบวนผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โรงงานกระดาษมักเป็นจำเลยด้านสิ่งแวดล้อม หากดั๊บเบิ้ล เอ ใช้ความพยายามอย่างที่สุดเพื่อทำในสิ่งที่ดีที่สุด ด้านการจัดการน้ำ บริษัทสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นเอง เพื่อรองรับน้ำฝนเก็บไว้ใช้เองภายในโรงงาน โดยไม่รบกวนแหล่งน้ำสาธารณะ และเลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตเยื่อที่ใช้น้ำน้อยที่สุดในโลก มีการหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่ ไม่มีการปล่อยน้ำทิ้งลงแหล่งน้ำสาธารณะ
ด้านการจัดการสารเคมี บริษัทนำสารเคมีกลับมาใช้ใหม่ โดยสารละลายลิกนินที่ได้จากไม้ในกระบวนการต้มเยื่อ เมื่อนำไปเผาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแล้ว จะได้เป็นสารหลอมเหลวนำมาทำปฏิกิริยากับน้ำปูนขาว ทำให้ได้น้ำยาต้มเยื่อกลับมาใช้ได้อีก รวมทั้งมีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาผลิต PCC โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกดักจับเพื่อนำมาแปรรูปเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต หรือหินปูนสังเคราะห์ (PCC) เพื่อใช้ในการผลิตกระดาษ เพิ่มความทึบแสงและขาวสว่าง แทนการใช้หินปูนจากธรรมชาติ (GCC)
“ดั๊บเบิ้ล เอ เลือกตั้งโรงงานใน จ.ปราจีนบุรี ซึ่งสะดวกต่อการขนส่ง รวมทั้งออกแบบโรงงานให้เป็น Integrated Mill ซึ่งมีวัตถุดิบ โรงงาน และการขนส่งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทำให้ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน เราวางผังโรงงานให้มีบ้านพักพนักงานใกล้โรงงาน รวมทั้งรณรงค์ให้พนักงานใช้จักรยาน ออกมาตรการห้ามใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในเขตรั้วโรงงาน ลดการใช้พลังงาน ลดการสร้างมลภาวะ สุขภาพของพนักงานดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา”
นอกจากนี้ ก็มีอีกหลายมาตรการ เช่น การนำความร้อนกลับคืน ลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต ความร้อนที่เหลือทิ้งจากการผลิต เช่น น้ำร้อน ลมร้อน ถูกนำกลับมาใช้ในการอุ่นวัตถุดิบแทนการปล่อยทิ้งและใช้ทดแทนน้ำมันเตา ช่วยกำจัดของเสียจากอุตสาหกรรม การใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ T5 แทนการใช้หลอดแบบเก่า ซึ่งลดพลังงานลง 30%
เริ่มจากการคิดดี ก็ช่วยสร้างอะไรดีๆ ให้กับโลก ดั๊บเบิ้ล เอ สร้างคุณค่าให้กับเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ด้วยการเป็น “กระดาษแก้โลกร้อน” “กระดาษสร้างพลังงาน” และ “กระดาษเปลี่ยนคันนาเป็นเงินออมเกษตรกร” ...Paper for the World เพื่อโลก เพื่อสิ่งแวดล้อม