posttoday

ทัวร์ นกแก้ว-นกขุนทอง ตอกย้ำจัดการแบบเบ็ดเสร็จ

20 กุมภาพันธ์ 2555

เสร็จสิ้นแล้วกับภารกิจทัวร์ลุ่มน้ำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ลงย่ำพื้นคอนกรีตกระดานไม้

เสร็จสิ้นแล้วกับภารกิจทัวร์ลุ่มน้ำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ลงย่ำพื้นคอนกรีตกระดานไม้

โดย...จตุพล สันตะกิจ

เสร็จสิ้นแล้วกับภารกิจทัวร์ลุ่มน้ำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ลงย่ำพื้นคอนกรีตกระดานไม้ เยี่ยมชมสารพัดโครงการในพื้นที่เกือบ 10 จังหวัด ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน 4 คืน แบบค่ำไหนนอนนั่น

ทว่าดีกรีในการลงพื้นที่กลับไม่เข้มข้นติดดินเหมือนสมัยทัวร์นกขมิ้นภาคเหนืออีสาน ของ “พี่ชายอดีตนายกฯ ทักษิณ” ที่ลงทุนนอนศาลาวัด ขับรถอีแต๋นบนทางฝุ่น ทางลูกรัง ตั้งวงเปิบข้าวเหนียวร่วมกับชาวบ้าน

งานนั้นได้มือเขียนสคริปต์ระดับ “เซียน” อย่าง “เนวิน ชิดชอบ” ที่ขอ “พักร้อนยาว” ทางการเมืองด้วยความสมัครใจ

แต่ “ทัวร์นกแก้ว” หนนี้เขียนบทโดย “นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” รมต.ประจำสำนักนายกฯ อดีตซีอีโอตึกชินฯ ที่ถนัดงานด้านบริหารมากกว่างาน “มวลชน”

เริ่มจากวันที่ 13 ก.พ. นายกฯ ได้ตรวจเยี่ยมเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ก่อนลงมาที่ จ.พิษณุโลก ติวเข้มผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือ 10 จังหวัด

ทัวร์ นกแก้ว-นกขุนทอง ตอกย้ำจัดการแบบเบ็ดเสร็จ

วันที่ 14 ก.พ. สั่งทุกจังหวัดฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม สร้างฝายชุ่มน้ำชะลอน้ำ ปลูกหญ้าแฝก ปรับปรุงแก้มลิง อ่างเก็บน้ำ ขีดเส้น 3 เดือน ทุกอย่างต้องทำให้ “ครบ”

หลังประชุม ยิ่งลักษณ์ ลงพื้นที่ตรวจโครงการพัฒนาแก้มลิงบึงระมาณ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ก่อนตรวจพื้นที่บึงสีไฟ จ.พิจิตร ซึ่งเป็นแก้มลิงรับน้ำตามธรรมชาติ รับฟังรายงานจาก ผวจ.พิจิตร ที่บอกว่า ได้จัดเตรียมพื้นที่รับน้ำไว้ 8 อำเภอ พื้นที่ 2.59 แสนไร่ และศึกษาผลกระทบต่อประชาชนเรียบร้อยแล้ว

ทัวร์นกแก้ววันที่ 2 นอกจากนายกฯ จะลงเรือตรวจโครงการพัฒนาบึงบอระเพ็ด อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ไฮไลต์น่าจะฉายไปที่ ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงพื้นที่ไม่ทันถึง 2 วัน ยกข้อมูลวิชาการและสถิติแบบ “หยั่งรู้ดินฟ้า” ว่า ปีนี้จะมีพายุโซนร้อนเข้าไทย 34 ลูก คิดเป็นน้ำ 56 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พร้อมอธิบายภาพการบริหารจัดการน้ำเป็นฉากๆ ว่า...

พื้นที่ป่าจะซับน้ำไว้ 50% ของน้ำฝนทั้งหมด อีก 5,000 ล้าน ลบ.ม. เก็บในเขื่อน ไหลลงแก้มลิง 5,000 ล้าน ลบ.ม. พ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ลงมาจะเหลือน้ำ 1 หมื่นล้าน ลบ.ม. ไหลผ่ากลางลงทะเลที่แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง และคาดว่าปลายเดือน พ.ย. น้ำจะไหลลงทะเลหมด

“เอาคอเป็นประกัน หัวเด็ดตีนขาด น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ แน่” ปลอดประสพ บอกอย่างมั่นใจ

แต่มีข้อแม้ว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องไปขุดลอกคลองให้ดี

ทัวร์นกแก้ววันที่ 3 ตั้งขบวนกันที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ โดยเริ่มประชุมแผนการป้องกันพื้นที่กลางน้ำและลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันอุทกภัยเทศบาลนครนครสวรรค์

จากนั้นลงตรวจเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ประตูระบายน้ำพลเทพ ก่อนเดินทางไปประตูระบายน้ำบางโฉมศรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เพื่อติดตามการปรับปรุงประตูระบายน้ำและรับฟังสรุปแนวทางแผนเผชิญเหตุเพื่อรับมือน้ำท่วม ที่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี

ทัวร์นกแก้ววันที่ 4 ยิ่งลักษณ์ และคณะ ได้ลงพื้นที่วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจเยี่ยมการบูรณะโบราณสถานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย รับฟังรายงานสรุปงบเพื่อฟื้นฟูโบราณสถานจากน้ำท่วม 805 ล้านบาท และสั่งร่างแผนป้องกันเกาะเมืองอยุธยาโดยด่วน

ช่วงบ่ายลงพื้นที่ไป อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ตรวจเยี่ยมการปรับปรุงประตูระบายน้ำและการหาพื้นที่แก้มลิง ซึ่งก่อนหน้านี้ ผวจ.พระนครศรีอยุธยา รายงานว่า สามารถจัดหาพื้นที่รับน้ำ 1 ล้านไร่ ในพื้นที่จังหวัดกลางน้ำได้เรียบร้อยแล้ว นายกฯ ถึงกับประกาศขอบคุณชาว อ.บางบาล ที่เสียสละเป็นพื้นที่รับน้ำ

“ความรู้สึกประทับใจที่ประชาชนเสียสละให้กับรัฐบาลในการหาพื้นที่รับน้ำ ถ้าเราจัดให้น้ำอยู่เป็นระบบ เราก็จะแก้ไขปัญหาน้ำที่ไม่มีจุดจบได้” นายกฯ ยิ่งลักษณ์ กล่าว จากนั้นลงตรวจพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน พร้อมมีเสียงยืนยันหนักแน่นว่านักลงทุน “ไม่ย้ายหนีไปไหน”

วันที่ 17 ก.พ. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการลุยทัวร์ลุ่มน้ำ นายกฯ ปักหลักที่ศาลากลาง จ.พระนครศรีอยุธยา แถลงภาพรวมภารกิจ 5 วัน ในการลงตรวจพื้นที่จังหวัดต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีการประชุมร่วมกับผู้ว่าฯ กว่า 20 จังหวัด กำชับและซักซ้อมแผนป้องกันน้ำท่วม

พร้อมสรุปว่าได้อนุมัติวงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับโครงการป้องกันน้ำท่วม 117 โครงการ เช่น สร้างคันกั้นน้ำ ขุดลอกคลอง ปรับปรุงประตูระบายน้ำ และจัดหาพื้นที่รับน้ำ รวมทั้งความพร้อมของระบบพยากรณ์และโทรมาตรวัดน้ำ เป็นต้น โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติจัดสรรงบต่อไป

ก่อนกลับ กทม. นายกฯ ได้เยี่ยมชมประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ เทศบาลนครรังสิต จ.ปทุมธานี และหวนคืนสู่ประตูทำเนียบรัฐบาลในบ่ายวันเดียวกัน

งานนี้เรียกว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยอมทุ่มสุดตัว ยอมเหนื่อยสุดหัวใจ

แต่หาก “โฟกัส” พิเคราะห์ภารกิจนายกฯ เห็นภาพชัดว่า นายกฯ ไม่ได้ลงไป “คลุก” ปัญหาอย่างแท้จริง โดยมีเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ

หนึ่ง มีการลงตรวจพื้นที่จริง แต่ส่วนใหญ่เน้นประชุมกับผู้ว่าฯ ที่ให้ข้อมูลเพียง “ด้านเดียว”

ขณะที่การตรวจความคืบหน้าสิ่งปลูกสร้างและระบบป้องกันน้ำท่วมก็ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการที่ ครม.อนุมัติงบไปเรียบร้อยแล้วเมื่อครั้งเริ่มฟื้นฟูน้ำท่วมช่วงต้นๆ เช่น การบูรณะฟื้นฟูโบราณสถานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา คันกั้นน้ำเทศบาลนครนครสวรรค์

นอกจากนี้ จะพบว่าโครงการที่นายกฯ ลงไปตรวจจะเป็นโครงการที่อยู่ในแผนการป้องกันน้ำท่วมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) อยู่แล้ว

ขณะที่งบประมาณที่นายกฯ สื่อสารกับชาวบ้านว่าอนุมัติ ก็ไม่ใช่ “งบใหม่” ล้วนแล้วแต่เป็นงบที่อยู่ในแผนงานเดิมทั้งสิ้น เช่น โครงการขุดลอกบึงสีไฟและบึงบอระเพ็ดเพื่อเป็นแก้มลิงรับน้ำเพิ่ม หรือการตรวจการซ่อมประตูน้ำบางโฉมสี

เรียกได้ว่าโครงการทั้งหลายมีการสั่งการและอนุมัติเสร็จสรรพแบบ “TopDown” ตั้งแต่แรก

การลงพื้นที่รอบนี้จึงเป็นการส่งสัญญาณว่า “เอาจริง” แต่ยังไม่แน่ว่าจะ “เอาอยู่”

ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่แทบไม่มีส่วนร่วมเลย มีแต่ “กองเชียร์” คอยให้กำลังใจเท่านั้น

สอง ในระหว่างทัวร์ลุ่มน้ำ มีบางพื้นที่ เช่น อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ถูกน้ำท่วมขังอยู่ เพราะการเร่งพร่องน้ำออกจากเขื่อน แต่นายกฯ กลับไม่ลงไปดูพื้นที่เลย นายกฯ เคยถามชาวบ้านในพื้นที่รับน้ำหรือไม่ว่า ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพิ่มเติมอย่างไร

แต่ไม่มีคำอธิบาย ไม่มีการชี้แจง จากผู้นำประเทศที่จะสร้างความมั่นใจให้คนเหล่านี้ว่า พื้นที่รับน้ำที่ผู้ว่าฯ บอกว่าจังหวัดนั้นได้พื้นที่แล้ว 1 ล้านไร่ จังหวัดนี้ได้พื้นที่ 2 แสนไร่ ชาวบ้านเขาจะได้หรือเสียอะไร

สาม การร่ายแผนจัดการน้ำหรือโชว์วิสัยทัศน์จัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำในแต่ละวงประชุมก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะแผนเหล่านี้มีการชี้แจงซ้ำหลายรอบแล้ว แทบจะบอกว่า ได้จำจนขึ้นใจ ท่องได้เป็น “นกขุนทอง” แต่ผลสำเร็จในทางปฏิบัติล่าช้าเป็น “เต่าคลาน”

กระทั่งการตรวจระดับน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ หรือรับทราบรายงานแผนพร่องน้ำ ก็เปรียบเสมือนการ “ฟังเลกเชอร์” ในสถานที่จริงเท่านั้น

สรุปฟันธงทัวร์ลุ่มน้ำรอบนี้ ไม่ต่างจาก “ทัวร์นกแก้วนกขุนทอง” เล่นตามบท อ่านตามสคริปต์ที่จัดไว้ให้

ไม่เพียงเท่านั้น ระหว่างการทัวร์ลุ่มน้ำของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เกิดปรากฏการณ์ “ภาพซ้อน”

นั่นคือการลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ของ บรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ปัญหาน้ำท่วม จ.พระนครศรีอยุธยา จากที่ก่อนหน้านี้ “บรรหาร” เข้าหารือกับ กทม.เกี่ยวกับแผนการจัดการน้ำใน กทม.

ภาพ “หลงจู๊” เด่นชัดขึ้นอีกครา

สะท้อนว่า หัวรถจักรขับเคลื่อนการจัดการน้ำยุคนี้แบ่งเป็น 3 ฝ่ายเช่นเดิม คือ รัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และ กทม.

โดยเฉพาะ “ปัจจัยบรรหาร” เป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้ เพราะมีผลต่อการบริหารจัดการน้ำอย่างมาก

ในขณะที่มีเสียงค่อนขอดจากนักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุน้ำท่วมไหลบ่าลงพื้นที่เศรษฐกิจหลัก อย่างเช่นมีการ “จงใจ” ไม่ยอมให้จังหวัดตัวเองเป็นพื้นที่รับน้ำในยามน้ำท่วม แต่ยามแล้งกลับมีน้ำท่าบริบูรณ์

มีการตั้งข้อสังเกตว่า “ประตูระบายน้ำบางโฉมศรี” ที่พังลง เร่งซ่อมเท่าไหร่ก็ไม่เสร็จสักที แต่ประตูน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกกลับซ่อมเสร็จอย่างรวดเร็วและมีการเสริมคันกั้นน้ำจาก 1 เมตร เป็น 2 เมตร

หรือแม้แต่เสียงครหาไปยังพรรคฝ่ายค้านว่า “ยุยง” ให้เขื่อนใหญ่ “อมน้ำ” กักน้ำทำนารับราคาจำนำข้าว 1.5 หมื่นบาท โดยหวังผล 2 ด้าน คือ 1.รัฐบาลจัดการน้ำผิดพลาดและเป็น “FailState” และ 2.พรรคแกนนำรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล “แตกคอ” ที่นำไปสู่การ “แยกทาง” ในที่สุด

เช่นเดียวกับฟลัดเวย์เส้นแม่น้ำท่าจีนและการเสริมคันกั้น ที่เดิมไม่อยู่ในแผน กยน. กลับถูกจับยัดใส่ในแผนเพราะความต้องการของฝ่ายการเมือง ทั้งๆ ที่การลงทุนสูงและรู้กันอยู่ว่างานนี้ใครได้ไปเต็มๆ

จับสัญญาณการจัดการน้ำของรัฐบาลแล้ว ต้องบอกว่า ยามนี้ถือว่าการบริหารจัดการน้ำไม่ให้ท่วมในปีนี้ยัง “น่าห่วงจริงๆ”