posttoday

จุดตายคอร์รัปชั่นลงทุนน้ำ ''เงินทอน" ก้อนมหึมา

09 มีนาคม 2555

พลันที่โครงการลงทุนน้ำรอบแรก 2.48 หมื่นล้านบาท ที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย

โดย...จตุพล สันตะกิจ

พลันที่โครงการลงทุนน้ำรอบแรก 2.48 หมื่นล้านบาท ที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่มี ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา

ก่อนที่จะมีการประทับ “ตรายาง” ซ้ำถึงอำนาจในการบริหารจัดการเงิน โครงการที่จะผ่านไปลุยน้ำในการประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) วันที่ 12 มี.ค.นี้

ขณะที่แผนงานและโครงการลงทุนน้ำที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ที่ริเริ่ม เติมเต็ม และการันตีถึงความเหมาะสม เพราะเป็นการระดมความคิดเห็นจากมืออาชีพที่เป็นผู้รู้เรื่องน้ำโดยตรง หลายรายการกลับเดินไปไม่ถึงฝัน เพราะถูก “ตัดตอน” กลางทาง

ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้างกันในทำเนียบรัฐบาลว่า แฟ้มโครงการลงทุนน้ำประเภทรายการ “จับยัด” ทยอยขึ้น “โต๊ะ” ปลอดประสพ อย่างไม่ขาดสาย

นั่นเพราะว่าเวทีนี้เต็มไปด้วยผลประโยชน์ และ “เงินทอน” ในระดับที่จูงใจยิ่ง

ในขณะที่ประชาชนทั่วไปอยู่ในภาวะที่ถูก “ปิดหูปิดตา” ไม่ให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร ทำให้ระดับความ “แคลงใจ” ว่าการลงทุนน้ำมีคอร์รัปชันอยู่ในระดับ “สีแดง”

สะท้อนได้จากผลสำรวจศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลในสายตาคนกรุงเทพฯ” พบว่า ประชาชน 31.9% เป็นห่วงกังวลมากที่สุดเมื่อรัฐบาลเริ่มใช้เงินกู้วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนจัดการน้ำและการสร้างอนาคตประเทศของรัฐบาล คือ “ความโปร่งใส”

รองลงมาเป็นเรื่องการดำเนินการที่ล่าช้า ไม่ทันกับน้ำที่จะมารอบใหม่ 15.9% และยังไม่มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน 11.1%

เช่นเดียวกับเสียงของภาคเอกชนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการพิจารณากลั่นกรองการลงทุนโครงการระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท หรืออย่างน้อยต้องให้เอกชนมีสิทธิรับรู้ เพราะน้ำท่วมครั้งที่แล้วเขาเสียหายหนัก

แต่ทว่ากลับไม่มีการตอบสนองใดๆ จากรัฐบาล

ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ไม่นิ่งนอนใจ และกระโดดเข้าร่วมวงการตรวจสอบโครงการน้ำ หวังใช้เป็น “โปรเจกต์นำร่อง” ก่อนขยายผลไปยังโครงการลงทุนปกติ หรือโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่วงเงินโครงการตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป

แต่การตรวจสอบทุจริตโครงการต่างๆ ของ ป.ป.ช. กลับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะติดเงื่อนไขที่สำคัญ ที่ส่งผลให้การตรวจโครงการที่กลิ่นทุจริตตุๆ ทำได้ยากลำบาก

จุดตายคอร์รัปชั่นลงทุนน้ำ \'\'เงินทอน\" ก้อนมหึมา

แม้มีความพยายามของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้การตรวจสอบโครงการลงทุนน้ำระยะเร่งด่วน 1.8 หมื่นล้านบาท เป็นไปด้วยความโปร่งใส

โดยสั่งให้หัวหน้าส่วนราชการต้องรายงานข้อมูลความคืบหน้าโครงการผ่านเว็บไซต์ www.pmocflood. com ให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้

เช่น ชื่อโครงการ สถานที่ดำเนินการ วงเงินจัดสรร วงเงินลงนามในสัญญา วันเริ่มโครงการและวันสิ้นสุดโครงการ ผลการเบิกจ่าย ร้อยละความสำเร็จของการดำเนินโครงการ สถานะโครงการ และการสิ้นสุดโครงการ

ที่ฮือฮามาก คือ ให้ใช้โทรศัพท์มือถือถ่าย “รูปภาพ” พื้นที่ดำเนินโครงการที่ระบุพิกัดจีพีเอส “ยิงตรง” ขึ้นเว็บไซต์ พร้อมทั้งมีรูปเปรียบเทียบ “ก่อน-หลัง” มีโครงการ

ด้วยความหวังว่าจะป้องกัน “ข้อครหา” ว่าโครงการลงทุนน้ำตรวจสอบไม่ได้ หวัง “ปิดช่อง” ทุจริตไปในตัว

แต่เรื่องนี้กลับถูกตีแสกหน้าทันที

เมื่อมีการเปิดเผยว่า เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. ทำหนังสือถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ให้รัฐบาลทบทวนการสั่งการให้ส่วนราชการที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง ที่นอกจากต้องเปิดเผย “ราคากลาง” แล้ว ต้องเปิดเผย “วิธีการคำนวณราคากลาง” ด้วย

เพราะราคากลางเป็นสิ่งที่ “ปั้น” ขึ้นมาได้บนกระดาษเอกสารราชการ

การรายงานข้อมูลโครงการผ่านเว็บไซต์ให้คนเข้าไปดู ก็ไม่ได้ “ตอบโจทย์” การปั้นตัวเลขราคากลางแต่อย่างใด

ขณะที่วิธีการรายงานข้อมูลโครงการน้ำที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำอยู่ เป็นวิธีการเดียวที่ไม่ต่างจากครั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ทำโครงการ “ไทยเข้มแข็ง” ที่มีเสียงลืออื้ออึงกันหนาหูว่ามี “เงินทอน” ระดับ 20-30%

หากจำกันได้ ป.ป.ช.เคยเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ปีที่แล้ว ให้หน่วยงานต้องเปิดเผยวิธีคำนวณราคากลาง แต่ ครม.สั่งการให้ไปทบทวน และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ อัดซ้ำในวง ครม.ว่า ข้อเสนอของ ป.ป.ช. แสดงให้เห็นว่าลุแก่อำนาจ ต้องการสั่ง ครม.ให้ทำตามที่ต้องการ ทำตัวเป็นรัฐอิสระ

เป็นการเบี่ยงประเด็นอย่างเห็นได้ชัด เพราะ ป.ป.ช.ต้องการให้การจัดทำ “ราคากลาง” จัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่กลับถูกต่อว่าจากคนอย่างเฉลิมว่า “ลุแก่อำนาจ”

เพราะหากทำตามวิธีการที่ ป.ป.ช.เสนอ ก็ไม่ต่างอะไรกับเป็นการ “ทุบหม้อข้าว” ตัวเอง

“วันนี้เมื่อมีการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนราชการเขาจะบอกว่าราคากลางโครงการนี้เป็นเท่าไหร่ ซึ่งเท่าที่พูดคุยกับผู้รับเหมา เขาบอกว่าแบ่งใต้โต๊ะไป 20-30% แล้วยังมีกำไรเหลือ” แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช. ระบุ

ทั้งนี้ เป็นเพราะโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ส่วนราชการเปิดเผยราคากลางออกมานั้น ไม่มีการรายงานว่า “ไส้ใน” ของค่าใช้จ่ายแต่ละส่วนเป็นอย่างไร คนที่คิดโครงการก็รู้อยู่คนเดียว ไม่เปิดเผยให้คนนอกรู้

ถามว่าประเด็นเหล่านี้รัฐบาลรู้หรือไม่ คำพูดของ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม ที่เปิดเผยถึงการบริหารจัดการงบประมาณที่ ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณให้กระทรวงคมนาคมนำไปใช้ในโครงการป้องกันน้ำท่วม 246 โครงการ จำนวน 2.48 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับถนน รวมถึงการทำทางระบายน้ำและการขยายสะพานว่า ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา

จารุพงศ์ ยอมรับว่างบประมาณส่วนนี้ถูกจับตามองจากหลายฝ่าย อาทิ ป.ป.ช. ที่จะลงมาตรวจสอบการใช้งบประมาณดังกล่าว ดังนั้นทุกอย่างต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลรู้แต่ไม่ดำเนินการในลักษณะป้องกันภัย ทำได้แค่กำชับด้วยวาจา

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้ในเรื่องงบประมาณบริหารจัดการน้ำ คือ

1.มีการแทรก “ปริมาณเกินจริง” เช่น โครงการนี้ต้องใช้อิฐ หิน ทรายจริงอย่างละ 5 คิวบิกเมตร แต่ปริมาณที่คำนวณราคาบนกระดาษกลับบวกปริมาณเพิ่มเป็น 10 คิวบิกเมตร แน่นอนว่าถ้าไม่เปิดเผยตรงนี้ ก็ไม่มีใครรู้ว่ามีการกำหนดปริมาณวัสดุเกินความเป็นจริง ทำให้ราคากลางเพิ่มขึ้น

2.มีการแทรก “ราคาต่อหน่วย” เช่น ราคาอิฐในตลาดหรือราคาตามประกาศราคาวัสดุของกระทรวงพาณิชย์อยู่ที่ 10 บาทต่อก้อน ก็มีการปรับเพิ่มราคาต่อก้อนเป็น 12 บาท ก็ทำให้ราคากลางสูงขึ้นได้

นี่จึงเป็นที่มาว่า ทำไมราคากลางบางโครงการจริงแพงระดับ “โอเวอร์” หรือเป็นโครงการเดียวกันแท้ๆ แต่พอเปลี่ยนผู้บริหารหน่วยงาน เปลี่ยนตัวรัฐมนตรี ราคากลางบางโครงการเพิ่มขึ้นเป็นพันล้านบาท

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนระบบน้ำที่ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างแทบทั้งสิ้น เช่น สร้างคันกั้นน้ำ ยกระดับถนน ปรับปรุงประตูระบายน้ำ มีความเสี่ยงที่จะมีการปั้นราคากลางเพื่อให้เกิดเงินทอนในระดับ “ประทับใจ”

ขนาดแค่คิกออฟ บรรดาพ่อค้า นักลงทุน ผู้รับเหมางานภาครัฐ ต่างรับรู้กันแล้วว่า ถ้าอยากได้งานเรื่องน้ำต้องไปหา “เฮีย ส.” กับ “เจ๊ ด.” ไม่ก็ “ปลัด ศ.” เพราะคนเหล่านี้มีพลังมากมายขนาดจับยัดได้

หากคิดจากวงเงินโครงการลงทุนน้ำ 3 แสนล้านบาท หากมี “เงินทอน” ที่ระดับ 20-30% ต่อโครงการ มูลค่าเงินทอนจะสูงตั้งแต่ 3-9 หมื่นล้านบาท

เรียกได้ว่าเกือบแตะหลัก “แสนล้าน” สูงในระดับที่ประชาชนผู้เสียภาษีต้องจับจ้องมองอย่าง “ไม่กะพริบตา”

ไม่ต้องพูดถึงโครงการขุดลอกคูคลอง แม่น้ำ ที่การตรวจสอบทุจริตเป็นไปได้ยากยิ่ง เพราะมองไม่เห็นด้วยตาว่าระดับน้ำลึกเป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่

“นายช่างคุมงาน” จึงเป็นตัวจักรสำคัญที่จะทำให้งานขุดลอกคูคลองเป็นไปตาม “สเปก” ที่กำหนดไว้ แต่จะหวังได้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง

อย่างที่รู้ๆ กันว่า กรมชลประทาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ หรือท้องถิ่น ที่ตั้งงบปกติขุดลอกคลอง แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำกันทุกปี ปีละเป็นหมื่นล้าน แต่แหล่งน้ำยัง “ตื้นเขิน” เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำที่รับน้ำได้เต็มศักยภาพ แต่พบว่า “บางอ่าง–บางเขื่อน” เก็บน้ำจริงได้ไม่ถึงครึ่ง

ท่ามกลางสถานการณ์ที่การเมืองที่สอดมือเข้ามา “ล้วงลูก” การลงทุนโครงการน้ำ เพื่อแสวงหาประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะช่องทางการทุจริตยังเปิด “อ้าซ่า” จึงเป็นที่น่ากังวลของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะ กยน. ที่มองว่าหากการลงทุนระบบน้ำไม่เป็นตามแผน แล้วอย่างนี้ใครต้องรับผิดชอบ!

หากการป้องกันน้ำท่วมไม่ได้ผล