ทำร้ายร่างกาย
เมื่อเสาร์ที่แล้ว เราได้คุยกันไปถึงเรื่องของเสรีภาพ ทีแรกคิดว่าจะพูดคุยกันต่อเนื่องเป็นเรื่องสิทธิ
โดย...เจษฏ์ โทณะวณิก
เมื่อเสาร์ที่แล้ว เราได้คุยกันไปถึงเรื่องของเสรีภาพ ทีแรกคิดว่าจะพูดคุยกันต่อเนื่องเป็นเรื่องสิทธิ เพราะมีคนถามหนาหูอยู่เหมือนกัน แต่มีเรื่องแรงแซงขึ้นมาเป็นคำถามที่ร้อนแรงกว่า คือเรื่องของการทำร้ายร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดและโทษจากการทำร้ายร่างกาย รวมไปถึงรูปแบบต่างๆ ที่ถือว่าเป็นการทำร้ายร่างกาย
การทำร้ายร่างกายมีตั้งแต่ที่เป็นแบบเบาะๆ ถือว่าเป็นลหุโทษคือ โทษเบา ซึ่งโดยทั่วไปก็มีอัตราโทษจำคุกนิดหน่อยและมีการปรับไม่มากนัก ซึ่งในกฎหมายไทย ประมวลกฎหมายอาญาก็มีกำหนดอยู่ในมาตรา 391 ความว่า
“ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
การกระทำตามมาตรานี้ เช่น การตบหน้าเป็นรอยมือขึ้น หรืออาจจะเป็นฟกช้ำดำเขียว มีรอยขีดข่วน มีบาดแผลถลอกไม่ถึงหนังกำพร้า หรือหัวปูดหัวโนเล็กน้อย ไม่ถึงกับเลือดตกยางออกเสียทีเดียว ไม่ต้องไปถึงโรงหมอ โรงพยาบาล แค่ปฐมพยาบาลก็เรียบร้อย ความผิดมาตรานี้โทษก็เลยไม่หนักเท่าไร
ถ้าการทำร้ายร่างกายนั้นกระทำรุนแรงขึ้นไปอีก ก็อาจจะกลายเป็นทำให้เขาเจ็บกาย เจ็บใจได้ ความผิดก็จะเป็นไปตามมาตรา 295 และโทษานุโทษก็จะหนักขึ้น ดังที่ประมวลกฎหมายอาญากำหนดไว้ว่า
“ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ซึ่งการกระทำตามมาตรานี้ก็จะต้องลงไม้ลงมือหนักกว่าที่เกิดขึ้นภายใต้มาตรา 391 ค่อนข้างมาก เช่น ชกต่อยจนเลือดกำเดาไหล ไหล่เดาะ หัวร้างข้างแตก ปากฉีก หูวิ่น ขาหัก แขนหัก ซี่โครงร้าว ซึ่งการกระทำอาจจะเป็นด้วยมือ ด้วยไม้ หรือด้วยวัตถุใดๆ ซึ่งยังไม่ถึงขั้นที่จะเรียกได้ว่าเป็นการประสงค์ที่จะฆ่าก็จะเข้าบทนี้ ซึ่งเป็นบทที่หนักกว่ามาตรา 391 ก็จำคุกได้ถึง 2 ปีเลยทีเดียว
ส่วนถ้าไปทำร้ายใครให้เจ็บกาย เจ็บใจ โดยความประมาทพลาดพลั้งก็โทษเบาหน่อย เพียงเท่ากับไปทำร้ายใครเขาโดยเจตนา แต่ไม่ถึงกับเจ็บกาย เจ็บใจ ดังปรากฏในมาตรา 390 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ความว่า
“ผู้ใดกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ทีนี้ถ้าไปทำร้ายใครเขารุนแรงไปมากเลย ก็อาจจะเข้าบทหนักของมาตรา 295 ก็คือ มาตรา 297 ซึ่งเรียกกันง่ายๆ ว่า ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส ซึ่งมาตรา 297 แห่งประมวลกฎหมายอาญากำหนดไว้ ความว่า
“ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี
อันตรายสาหัสนั้น คือ
(1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
(2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
(3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด
(4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
(5) แท้งลูก
(6) จิตพิการอย่างติดตัว
(7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
(8) ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน”
ถ้าได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส โทษก็จะเบาลงกว่าไปทำโดยเจตนา ดังที่ปรากฏตามมาตรา 300 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ความว่า
“ผู้ใดกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ถ้าหากว่าความผิดฐานทำร้ายร่างกายต่างๆ นั้น ได้ทำโดยเป็นการกระทำตามมาตรา 289 นั่นคือ กระทำต่อ (1) บุพการี (2) เจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่ (3) ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วยหรือได้ช่วยเจ้าพนักงาน ดังกล่าวแล้ว หรือกระทำโดย (4) ไตร่ตรองไว้ก่อน (5) โดยทรมาน หรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย (6) เพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น หรือ (7) เพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำไว้ โทษก็จะหนักขึ้น
ถ้าเป็นการกระทำแบบเดียวกับในมาตรา 295 แต่ไปเข้าลักษณะใดตามมาตรา 289 มาตรา 296 ก็กำหนดโทษหนักกว่ามาตรา 295 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนถ้าหากว่าเป็นการกระทำตามมาตรา 297 แต่ไปกระทำเข้าลักษณะตามมาตรา 289 มาตรา 298 ก็กำหนดโทษไว้ที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2–10 ปี
จริงๆ แล้ว มีผู้ถามอีกด้วยว่า มีข้อยกเว้นหรือไม่
ก็ต้องตอบว่ามี นั่นคือ การป้องกันตัวกับการกระทำไปด้วยความจำเป็น ตามที่ปรากฏในมาตรา 68 และ 67 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งหากมีโอกาสจะได้พูดถึงกัน
เกือบลืมไป ยังมีอีกคำถามว่า การพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นไปอย่างรวดเร็วเสมอหรือไม่
อันนี้ก็ต้องแล้วแต่กรณีครับ บางกรณีก็เร็ว บางกรณีก็ช้า ก็ว่ากันไป ลองไปพิจารณากันตามข้อมูลที่มีอยู่ตามที่ต่างๆ ดูนะครับว่าเหตุใดช้า เหตุใดเร็ว คำตอบคงจะมีหลากหลาย อภิปรายกันดูละกันครับ