ปัตตานีมหานคร ผิดที่ผิดทาง-โครงสร้างไม่ชัดเจน
กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง กับแนวความคิดเรื่อง พ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร
โดย...ธนพล บางยี่ขัน
กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง กับแนวความคิดเรื่อง พ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร ที่ถูกจุดประเด็นโดยคณะอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความมั่นคง ในคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎร (กปพ.) ที่มี ประสพ บุษราคัม อดีต สส.อุดรธานี เป็นประธาน
แม้จะยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน แต่สัญญาณจาก “ประสพ” ต้องการให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “เขตปกครองตนเอง” ที่เป็นลักษณะกระจายอำนาจ มากกว่า “เขตปกครองพิเศษ” หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปเหมือนกรุงเทพมหานคร (กทม.)
จากแนวคิดที่ถอดรหัสจากความสำเร็จจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ให้อำนาจรัฐบาลท้องถิ่นปกครองตนเอง กลายเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว กลายเป็นธงที่ “ประสพ” เดินหน้าแก้ไขให้จังหวัดสามารถจัดการตนเอง ไม่ควรหวังพึ่งแต่รัฐบาลกลาง ที่เริ่มทำไปทั้งที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และ อ.แม่สอด จ.ตาก
เจาะจงไปที่ “ปัตตานีมหานคร” จะเปิดให้เลือกตั้งผู้ว่าการนคร เสนอทีมผู้บริหาร ให้ประชาชนเลือก ผิดกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่เปิดให้ประชาชนเลือกนายก อบจ.ได้เพียงคนเดียว
แนวคิดทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เสียทีเดียว เพราะสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยจุดประเด็น “นครรัฐปัตตานี” ขึ้นมา แต่ถูกกระแสคัดค้านจากหลายฝ่าย ไม่ได้รับการตอบรับและเงียบหายไปในที่สุด
ย้อนไปไม่นาน สมัย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งนั่งเก้าอี้ มท.1 ก็เคยออกมาโยนหินถามทาง เรื่องเขตปกครองพิเศษ ทว่าสุดท้ายก็ไปไม่ถึงไหน ความชัดเจนมากที่สุดเวลานั้นคือการกำหนดรูปแบบอำนาจที่ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการตัวเองทางด้านวัฒนธรรมหรือเศรษฐกิจ
ไม่น่าแปลกใจที่ทิศทางนโยบายเรื่องนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะไม่ได้มาในแนวทางนี้ แต่กลับไปให้ความสำคัญกับกลไกในองค์กรการแก้ปัญหา อย่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หรือกองบัญชาการผสมตำรวจ พลเรือน ทหาร ที่ 43 (พตท.43) เพราะส่วนหนึ่งฐานเสียงของ ปชป.ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ยังเป็นกลุ่มไทยพุทธที่ไม่ได้คล้อยตามไปกับรูปแบบเขตปกครองพิเศษ
ความพยายามช่วงชิงฐานเสียงจากมุสลิมในพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย (พท.) จึงมาเน้นให้น้ำหนักกับเรื่องเขตปกครองพิเศษ ที่ให้อำนาจบริหารจัดการตัวเองในเชิงวัฒนธรรม ทั้งการเรียกร้องให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการที่ 2 การกำหนดรูปแบบการศึกษา ระบบการเงินแบบอิสลาม ทว่ากลับยังถูกกระแสคัดค้านจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกองทัพหรือฝ่ายค้าน
ไล่มาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ที่ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการกระจายอำนาจอยู่แล้ว มีการเลือกตั้งในทุกระดับ ทั้ง อบต. อบจ. เหลือเพียงแค่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ยังมาจากส่วนกลาง อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ 99% ก็ไม่ได้มีความต้องการเรื่องนี้
“สิ่งที่เรียกร้องกันมาทุกวันนี้เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ได้หวังดีต่อประเทศชาติเท่าไหร่นัก อีกกลุ่มหนึ่งคืออยากเข้ามามีส่วนร่วมมาแก้ปัญหา แต่ไม่ได้รู้ข้อเท็จจริง คนไทยไม่ว่าจะเป็นภาคไหนก็ตาม ไม่ได้เหมือนที่อื่น คิดแบบสากลก็ไม่ได้ คิดแบบประเทศอื่นไม่ได้ เพราะคนไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะ คือชอบอิสระเสรี จนบางครั้งก็ลืมไปว่าต้องมีกฎกติกา”
ไม่ต่างจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป. ที่ออกมาค้านแนวคิดนี้ที่จะเพิ่มเติมความขัดแย้งในสังคม เพราะเชื่อว่าคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คงไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่เลือก พท. ทั้งๆ ที่ พท.ชูนโยบายนครปัตตานีในช่วงหาเสียง แม้จะเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ เพิ่มเติมให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมมากขึ้น แต่จะต้องมาดูรูปแบบความเหมาะสม เพราะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่จังหวัดเล็กๆ ถ้ามีศูนย์อำนาจอยู่ที่จุดเดียว คนท้องถิ่นก็ต้องวิ่งมาที่ จ.ปัตตานี จุดเดียว ทั้งๆ ที่มีท้องถิ่นอยู่ใกล้ๆ แล้ว
ในหลักการแล้ว แนวคิดเรื่อง “ปัตตานีมหานคร” ที่กระจายให้ท้องถิ่นนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะให้อำนาจด้านใดให้ท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมตัดสินใจบ้าง นี่จึงนำมาสู่ความเป็นห่วงว่าจะช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ที่หมักหมมสะสมมายาวนานให้คลี่คลายไปได้หรือไม่
โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอำนาจของผู้บริหารที่ท้องถิ่นจะเลือกกันเองในพื้นที่นั้น สามารถเข้าไปบริหารจัดการอะไรได้บ้างในพื้นที่ ทั้งงบประมาณ การบริหารจัดการ ไปจนถึงความมั่นคง
ยิ่งพิจารณาถึงโครงสร้างอำนาจปัจจุบันยังอยู่กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ร่วมกับ ศอ.บต. ซึ่งยังมีข้อกังขาในเรื่องการใช้งบประมาณในพื้นที่ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา รวม 4-5 แสนล้านบาท หากกระจายอำนาจการดูแลงบประมาณให้ท้องถิ่นดูแลจะกระทบไปถึงการปฏิบัติงานของกำลังพลในพื้นที่ 5-6 หมื่นนายหรือไม่
ที่ยังต้องติดตาม คือ ประเด็นรายละเอียดที่จะออกมา รวมไปถึงประเด็นอำนาจบริหารจัดการในพื้นที่ ด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ว่าจะไปติดขัดกับการดำเนินการของ อบต. หรือเข้าไปบริหารจัดการเรื่องภาษี เงินสนับสนุนได้มากน้อยแค่ไหน หรือการเดินหน้าตั้งศูนย์กลางยาง รูปแบบการปกครองในพื้นที่รูปแบบใหม่จะให้อำนาจอย่างไร ขัดแย้งหรือซ้ำซ้อนกับรูปแบบ อบต.ที่เป็นอยู่เดิมหรือไม่
การโพล่งจุดประเด็น พ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร แบบยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนท่ามกลางบรรยากาศทั้งเหตุการณ์ทหารพรานยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพ ที่ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นชนวนปลุกกระแสความขัดแย้งระหว่างรัฐและชาวบ้านในพื้นที่ ไปจนถึงคลิปฉาวทหารข่มขืนชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้ “ปัตตานีมหานคร” ไม่ได้รับการขานรับจากพื้นที่เท่าที่ควร