posttoday

ศาลยก4เหตุผลบุญจงพ้นข้อหาทุจริตเลือกตั้ง

20 มีนาคม 2555

เปิดคำวินิจฉัยศาลฎีกาฯระบุเหตุผล 4 ประการไม่ฟันบุญจงทุจริตเลือกตั้งซ่อมโคราช

โดย.....ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษากรณีนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ สส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย คดีทุจริตการเลือกตั้งซ่อมสส.เขต6 จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2553 กรณีนำบุคคลที่มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 300 คน ไปจัดอบรมสัมมนาที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งในอ.แถลง จ.ระยอง พร้อมทั้งมีการแจกสิ่งของให้กับผู้ร่วมเข้าสัมมนา ภายหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง ให้ใบแดงนายบุญจง

ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้พิจารณาความโดยแบ่งออกเป็น 4 ประเด็น ตามที่นายบุญจง (ผู้คัดค้าน) ได้ยื่นร้องต่อศาล คือ 1.กกต.ในฐานะ (ผู้ร้อง) มีอำนาจสืบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย มาตรา 235 วรรคสอง ซึ่งรวมถึงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสส.และการได้มาซึ่งสว. และตามระเบียบกกต.ว่าด้วยการสืบสวนและวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2550 ข้อ 8 วรรคสอง

ศาลยก4เหตุผลบุญจงพ้นข้อหาทุจริตเลือกตั้ง บุญจง

ดังนั้น เมื่อมีการร้องว่าผู้คัดค้านกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ผู้ร้องจึงมีอำนาจดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้ ซึ่งเป็นอำนาจที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้งแล้วหรือไม่ หรือพ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อใด ข้อต่อสู้ของผู้คัดค้านในประเด็นนี้จึงฟังไม่ขึ้น

2.การที่ผู้ร้องอ้างว่าความผิดจะระงับไปเพราะมีพ.ร.ฎ.ให้ยุบสภาแล้วหรือไม่ เห็นว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 106 บัญญัติว่าสมาชิกภาพการเป็นสส. จะสิ้นสุดลงเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร แต่การยุบสภามีผลเพียงให้สมาชิกภาพสส.ของผู้คัดค้านสิ้นสุดลงเท่านั้น ซึ่งหากผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะเหตุที่มีการกระทำตามคำร้งตามคำร้อง

การวินิจฉัยและมีคำสั่งศาลฎีกาก็จะไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป คดีนี้ผู้ร้องมีคำขอเพียงประการเดียว คือ ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการสิ้นสภาพการเป็นสมาชิกสส.ของผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงยังคงร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งในกรณีนี้หาได้ระงับไปเพราะเหตุมีการยุบสภาไม่ ข้อคัดค้านของผู้คัดค้านข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

3.กรณีการแต่งตั้งร.ต.อ.ชัยวัฒน์ ศรีสูงเนิน เป็นคณะกรรมการสอบสวน ชอบหรือไม่ ทั้งนี้ ในการแต่งคณะกรรมการสอบสวนเป็นดุลพนิจของผู้ร้องที่จะมีความเห็นตั้งผู้ใดเป็นคณะกรรมการก็ได้ หากบุคคลนั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาเลือกตั้งบัญญัติไว้ ไม่ได้มีข้อห้ามตั้งเจ้าหน้าที่ที่มีความเกี่ยวพันกับผู้ร้องคัดค้าน อีกทั้ง ตามทางการไต่สวนก็ไม่ปรากฎว่าร.ต.อ.ชัยวัฒน์กระทำอันใดที่เป็นอคติไม่เป็นกลางให้การสืบสวนไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

ดังนั้น ข้ออ้างของผู้คัดค้านดังกล่าวต้องวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง ว่ามีเหตุอันควรเชื่อถือได้หรือไม่เพียงใดเท่านั้น การที่ผู้ร้องวินิจฉัย และมีคำสั่งโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมของร.ต.อ.ชัยวัฒน์ มาประกอบการพิจารณา จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ ข้อคัดค้านของผู้คัดค้านจึงฟังไม่ขึ้น

4.กรณีที่ผู้ร้องคัดค้านมีส่วนสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสส.และการได้มาซึ่งสว. พ.ศ. 2550 มาตรา 53 (1) (3) และ (4) ทำให้ผู้คัดค้านได้รับประโยชน์การเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งสส.เขต6 จ.นครราชสีมา ไม่เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม  เป็นเหตุให้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของผู้คัดค้านเป็นเวลา 5 ปี

ทั้งนี้ จากการที่นางสามาตย์ พิรักษา และน.ส.หัด สมศรี ที่มาเบิกความต่อศาล โดยนางสมมาตย์เบิกความว่า เห็นผู้คัดค้านยื่นอยู่ข้างรถตู้สีบรอนซ์ข้างที่ว่าการอ.จักราช ส่วนน.ส.หัดเบิกความว่า เห็นผู้คัดค้านยืนอยู่ข้างรถตู้สีบรอนซ์ในบริเวณโรงแรม แต่พยานทั้ง 2 ปากเข้ามาให้การโดยร.ต.อ.ชัยวัฒน์นำมาภายหลัง แต่พยานทั้งสองปากไม่ได้ให้ถ้อยคำต่อร.ต.อ.ชัยวัฒน์ว่าเห็นผู้คัดค้านซึ่งเป็นข้อสำคัญในสำนวนการสอบสวน

อีกทั้ง หากผู้คัดค้านไปอยู่ในสถานที่และเวลาเช่นนั้น ก็น่าจะมีบุคคลอื่นในสำนวนประมาณ 300 คน ที่เห็นผู้คัดค้านบ้าง แต่ไม่ปรากฏตามทางการสอบสวนของผู้ร้อง คำเบิกความของพยานทั้งสองปากดังกล่าวจึงมีพิรุธและมีน้ำหนักน้อย

สำหรับประเด็นการจัดทำโครงการสัมมนา ได้รับการอนุมัติจากนายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ดำเนินโครงการแบ่งเป็น 42 รุ่น อบรมครั้งละ 3 รุ่น รวม 14 ครั้ง เมื่อดำเนินการมาถึงรุ่น 37-39 ซึ่งมีกำหนดการจัดอบรมเป็นครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 26-27 ก.ย. 2553 แต่ได้มีการเลื่อนการฝึกอบรมออกไปเป็นระหว่างวันที่ 20-21 ต.ค. 2553 เนื่องจากเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกระดับ ได้รับมอบหมายจากทางจังหวัดให้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย

จึงมีการเลื่อนจัดอบรมอีกครั้งหนึ่งออกไป เป็นระหว่างวันที่ 19-20 พ.ย. 2553 ตามเอกสารหมาย ร.7 แผ่นที่ 19 ถึง 21 เห็นว่าการจัดอบรมและศึกษาดูงานที่จ.ระยอง ตามโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน เป็นโครงการที่ทางราชการได้จัดให้มีขึ้นแต่เดิมอยู่แล้ว ก่อนวันที่ 3 พ.ย. 2553 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกของผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจ.นครราชสีมา สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 106 (6)

ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดอบรมและดูงาน เป็นต้นว่า ค่าอาหาร ค่าเช่าที่พัก ค่าพาหนะผู้เข้าร่วมอบรม ค่าตอบแทนวิยากร และค่าวัสดุฝึกอบรมก็กำหนดมาจากงบประมาณทางราชการทั้งสิ้น  นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสภาของโรงแรมบ้านสบ๊าย สบาย ปรากฎว่าเป็นโรงแรมที่สามารถรองรับจำนวนผู้เข้าพักและจัดอบรมสัมมนา ซึ่งคณะบุคคลและหน่วยงานราชการอื่นอาจเช่าหรือใช้บริการได้ ไม่ต่างไปจากโรงแรมใหญ่ทั่วๆไป

โดยไม่มีเหตุสนับสนุนให้เห็นว่า การเข้าใช้บริการจะต้องอาศัยบารมีของบุคคลใดเป็นพิเศษดังที่นางสายพิรุณ กล่าวอวดอ้าง ทั้งนี้ ในคำเบิกความของนางอัฒฑนี เชิดชู เจ้าของโรมแรม และนายภากรณ์ ทองไพจิตร์ ผู้จัดการโรงแรมดังกล่าว ประกอบกันว่า ผู้ที่ไปติดต่อห้องพักและจัดอบรม คือ นายปรีชา กิตติสัตยกุล นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ สำนักงานพัฒนาชุมชนจ.นครราชสีมาเท่านั้น หาใช่ผู้คัดค้านเป็นผู้ติดต่อไม่

ส่วนอาหารและเครื่องดื่มในงานจัดเลี้ยงก็ไม่ปรากฏตามทางไต่สวนว่ามีพยานปากใดเบิกความว่าเป็นอาหารชั้นดียิ่งกว่าทางอาหารที่โรงแรมจัดให้ตามปกติ การแสดงบนเวทีตามที่ปรากฏใน (VCD) และ (DVD) ก็เป็นการแสดงกันเอง ไม่มีวงดนตรี คงมีแต่เครื่องเสียงคาราโอเกะ นักร้องเพียง 2-3 คน ผู้เต้นประกอบเพลง 4-5 คน แสดงว่าค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก สำหรับของขวัญที่แจกส่วนมาเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูก ซึ่งซื้อมากบริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สาขาระยอง ตามใบเสร็จรับเงิน ซึ่งทางโรงแรมเป็นผู้จัดสนับสนุนให้ทั้งสิ้น โดยคิดรวกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การที่นางสายพิรุณได้ยืมเงินมาจากทางจ.นครราชสีมา มาใช้ในการจัดงานดังกล่าวและขอให้ทางโรงแรมออกใบเสร็จรับเงินลงวันที่ย้อนหลังเพื่อให้ถูกต้องตามวิธีการงบประมาณจะเป็นการชอบหรือไม่อย่างไรนั้น ไม่ใช่เหตุที่จะแสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว

โดยสรุปศาลฎีกาเห็นว่า ตามทางไต่สวนยังไม่ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านมีส่วนสนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจ อันเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสส.และการได้มาซึ่งสว. พ.ศ. 2550 มาตรา 53 (1) (3) และ (4) ดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง กรณีนีจึงไม่มีเหตุที่จะมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของผู้คัดค้านได้ตามคำร้อง จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง