posttoday

สพฉ. แม่งานคัดกรองป่วงฉุกเฉิน กด 1669 เบอร์เดียวส่งทุก รพ.

27 มีนาคม 2555

1 เม.ย.นี้ นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้เวลาทำคลอดเพียง 17 วัน จะเกิดเป็นรูปธรรม

1 เม.ย.นี้ นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้เวลาทำคลอดเพียง 17 วัน จะเกิดเป็นรูปธรรม

แน่นอนว่าอาจยังมีข้อกังวลในรายละเอียดในนิยามของคำว่า “ฉุกเฉิน”

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ในฐานะหน่วยงานผู้กำหนดกฎเกณฑ์และคัดกรองผู้ป่วยว่าฉุกเฉินหรือไม่ อธิบายว่า โดยปกติ สพฉ.จะแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ สีแดง สีเหลือง และสีเขียว

สำหรับสีแดง คือ ผู้ป่วยที่มีอาการหนักสุด หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีมีโอกาสเสียชีวิต หรือพิการได้ อาทิ หยุดหายใจ ช็อก สัตว์กัดต่อย ท้องนอกมดลูก ตกเลือด เส้นเลือดสมองตีบ อัมพาต อัมพฤกษ์ฉับพลัน

สีเหลือง คือ ผู้ป่วยที่มีอาการก้ำกึ่งและสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะสีแดง เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่ลืมกินอาหารเช้า อาจทำให้น้ำตาลในเลือดตกและหมดสติได้

นพ.ประจักษวิช อธิบายว่า ผู้ป่วยสีแดงไม่มีปัญหา ทุกคนยอมรับว่าจำเป็นต้องรักษา โดยเฉพาะโรงพยาบาลไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.สถานพยาบาล มาตรา 36 ระบุชัดไว้ว่า หากไม่รักษาตามมาตรฐานวิชาชีพมีโอกาสถูกยึดใบประกอบการสถานพยาบาลได้

สพฉ. แม่งานคัดกรองป่วงฉุกเฉิน กด 1669 เบอร์เดียวส่งทุก รพ.

 

“ปัญหามันอยู่ที่ผู้ป่วยสีเหลืองอ่อนๆ ตรงนี้ต้องตีความว่าโรงพยาบาลจะรักษาหรือไม่ ฉุกเฉินหรือไม่ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องงบประมาณ คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็จะงงว่าต้องจ่ายเงินหรือไม่ ตรงจุดนี้ต้องนิยามในเชิงปฏิบัติการ และคัดแยกกันให้ดีว่าจะทำอย่างไร” รองเลขาธิการ สพฉ. ระบุ

รองเลขาธิการ สพฉ. ให้รายละเอียดการคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นว่า จะใช้นิยามของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน 13 อาการ โดยสายด่วน 1669 จะเป็นแม่งานในการรับผู้ป่วยไปส่งยังโรงพยาบาล อย่างไรก็ดีจากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพียง 10% เท่านั้นที่ใช้บริการ 1669 ส่วนอีก 90% เลือกไปโรงพยาบาลด้วยตัวเอง ตรงนี้แพทย์และฝ่ายคัดกรองอาจเกิดปัญหา

“ตัวอย่างเช่น คนไข้บอกปวดท้องจะตายแล้วทำไมไม่ให้เป็นฉุกเฉิน แต่ทางโรงพยาบาลบอกว่าคุณเป็นโรคกระเพาะเท่านั้น มันเถียงกันยังไงก็ไม่จบ ที่ประชุมจึงคุยกันว่าให้เริ่มต้นโทร.ไปยัง 1669 ให้ไปรับ เขาก็จะคัดกรองให้ ตัดสินให้” นพ.ประจักษวิช ให้คำแนะนำ

คุณหมอประจักษวิช บอกอีกว่า หากพิจารณาแล้ว พ.ร.บ.สถานพยาบาลกำหนดเพียงห้ามไม่ให้สถานพยาบาลปฏิเสธคนไข้ ขณะที่ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินก็พูดถึงเรื่องการรักษาเพียงอย่างเดียว โดยกฎหมายทั้งสองฉบับไม่ได้ระบุว่าใครเป็นผู้จ่ายเงิน

อย่างไรก็ตาม เมื่อกำหนดกันได้แล้วว่า สปสช.จะเป็นผู้จ่ายเงินทั้งหมด ก็นำ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับข้างต้นมารวมกันให้เป็นเรื่องเดียวได้ จากนี้คือชัดเจนแล้วว่า มีคนจ่าย มีคนรักษา ซึ่งก็ลงตัวดี

“เมื่อตกลงกันแล้วว่า สปสช.จะจ่ายให้ผู้ป่วยฉุกเฉิน สำหรับผู้ป่วยขาเข้า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลางก็ต้องห้ามปฏิเสธ หากมีปัญหาภายหลังก็ให้มาเอาผิดกับ สพฉ.ว่าคัดกรองอย่างไรจึงผิดพลาด ทั้งหมดไม่ใช่ความผิดของคนไข้

“ส่วนผู้ป่วยขาออก อาจมีความวุ่นวายเกิดขึ้น เนื่องจากไม่มีโรงพยาบาลไหนอยากรักษาคนไข้ต่อจากคนอื่น นั่นเพราะเขาไม่รู้ว่าที่ผ่านมาผู้ป่วยได้รับการรักษามาอย่างไรแล้วบ้าง”

“อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือปัญหาความแออัดของโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลในระบบ ที่ผ่านมาพบว่าเตียงเต็มตลอดเวลา ตรงนี้ต้องเคลียร์ทั้งระบบ เมื่อส่งต่อผู้ป่วยกลับมารักษาปัญหาจะได้ไม่เกิด” นพ.ประจักษวิช ชี้ให้เห็นถึงปัญหา

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ จะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพ เพื่อเริ่มใช้นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวให้ทันวันที่ 1 เม.ย.นี้ โดยมี นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ เป็นผู้นำในการลงนาม พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง