ผ่าแผน"เอาอยู่"ภาวะวิกฤต
ชำแหละแผนการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตของรัฐบาลที่ครอบคลุมการรับมือม็อบการเมืองด้วย
โดย....ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว
สถานการณ์อุทกภัยรุนแรงในช่วงปี 2554 สะท้อนให้เห็นปัญหาของระบบและกลไกของรัฐหลายประการที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินภารกิจหน้าที่ในสภาวะวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนขาดระบบการบริหารจัดการที่ดี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องนำบทเรียนที่เกิดขึ้นไปใช้ปรับกระบวนการใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤติ เพื่อให้มั่นใจว่าภารกิจหลักของทางราชการหรืองานบริการประชาชนที่สำคัญๆ จะต้องได้รับการดำเนินงาน หรือการบริการอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ผ่านความเห็นชอบ “การบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤต” ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) เสนอ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นมีการหารือในที่ประชุม ครม. ถึงแผนดังกล่าวให้ครอบคลุมไปถึงการรับมือ "ภัยชุมนุมทางการเมือง" ด้วยโดยให้ฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพ รับไปบูรณาการ
สำหรับกรอบแนวทางการดำเนินการเตรียมความพร้อมต่อสภาวะวิกฤติ ประกอบด้วย 2 ระยะ 4 ขั้นตอนระยะเร่งด่วนดำเนินการในช่วงมี.ค.ถึงมิ.ย.55 กำหนดให้เป็นขั้นตอนที่ 1 เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ โดย ก.พ.ร.ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการให้แก่ส่วนราชการไปแล้วเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งกำหนดแบบประเมินความพร้อมของการบริหารจัดการในสภาวะวิกฤติ ซึ่งครอบคลุมทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดเหตุให้ส่วนราชการนำไปในการประเมินองค์การด้วยตนเอง พร้อมกับพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ด้วยตนเองให้แก่ส่วนราชการและพัฒนาช่องทางการเรียนรู้ผ่าน e-learning
ขั้นตอนที่ 2 เป็นการเตรียมความพร้อมให้ส่วนราชการ เริ่มมี.ค.-เม.ย. กำหนดให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติงานสำรอง เพื่อให้มีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานทันทีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้โดยมีมาตรการเตรียมความพร้อมของส่วนราชการ 4 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการเตรียมความพร้อมด้านกระบวนการ จัดสรรทรัพยากรรองรับเหตุการณ์และสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. มาตรการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร โดยส่วนราชการต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กรในสภาวิกฤติ เช่นฝึกอบรมบุคลากร ฝึกซ้อมตามแผนที่เตรียมไว้ การควบคุม ติดตาม แก้ไขปัญหาในการดำเนินการ การสื่อสารและทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ให้ส่วนราชการสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤติไว้ในหลักสูตรการฝึกอบรมม
3. มาตรการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูล ด้วยการสร้างระบบการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นในการให้ข้อมูลข่าวสารต่อประชาชน เช่น งานบริการใดเปิดให้บริการ ณ จุดใด สร้างระบบข้อมูลการติดต่อสื่อสารทั่วประเทศ เช่น Call Center เป็นต้น วางระบบสำรอง ป้องกัน และกู้คืนข้อมูลสารสนเทศของแต่ละหน่วยงาน
4. มาตรการเตรียมความพร้อมด้านสถานที่และงบประมาณ โดย สำรวจพื้นที่เพื่อเตรียมตั้งเป็นสถานที่ปฏิบัติงานสำรอง เพือ่ให้สามารถใช้เป็นสถานที่ทำงานได้ทันทีหรือภายในระยะเวลาที่กำหนด ประสานงานในการย้ายสถานที่ทำงานไปยังสถานที่ปฏิบัติงานสำรอง จัดหาอุปกรณ์สำนักงานและอุปกรณ์ด้านไอทีรวมถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่พร้อมใช้งาน สร้างระบบเครือข่ายด้านทรัพยากรที่จำเป็นแต่ละประเภทกระจายในแต่ละพื้นที่
ขั้นตอนที่ 3 ซักซ้อมแผนและนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งจะเริ่ม พ.ค.-มิ.ย. 55 ส่วนราชการต้องจัดให้มีการอบรมและประชาสัมพันธ์แผนรองรับการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤติให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งจัดให้มีการสื่อสารเพื่อป้องกันและลดความตระหนกของผู้เกี่ยวข้องและสาธารณชน รวมทั้งสามารถแจ้งเหตุแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างทันท่วงที
ส่วนระยะยาว ดำเนินการตั้งแต่ก.ค.เป็นต้นไป เป็นขั้นตอนที่ 4 ส่งเสริมให้มีการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤติอย่างยั่งยืน โดยส่วนราชการต้องติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามระบบที่วางแผนไว้ปรับปรุง สือสารสร้างความเข้าใจ และซักซ้อมแผนการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตให้ครอบคลุมทั้งกระบวนการตามพันธกิจหลักและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านระบบต่างๆอย่างสม่ำเสมอ