posttoday

เปิดบ้านจอมพล ป. รำลึก 70 ปี กองทัพพายัพยึดเยงตุง

30 มิถุนายน 2555

ใช่แค่เมืองท่องเที่ยว ซึ่งมีภูมิประเทศสวยงาม แต่เชียงรายยังมีฐานะเป็นเมืองประวัติศาสตร์

โดย...ธีรวัฒน์ คำธิตา


ใช่แค่เมืองท่องเที่ยว ซึ่งมีภูมิประเทศสวยงาม แต่เชียงรายยังมีฐานะเป็นเมืองประวัติศาสตร์ และหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่น้อยคนจะทราบ นั่นคือ เชียงรายเป็นฐานบัญชาการในการส่งกองทัพสมัยใหม่เต็มรูปแบบเพื่อทำสงครามนอกประเทศเป็นครั้งแรก คือ การส่งกองทัพพายัพเข้าโจมตีและยึดครองพื้นที่รัฐฉานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

พล.ต.ธันยวัตร ปัญญา ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า หลังไทยและญี่ปุ่นทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีกำหนดการเดินทางมาตรวจราชการ จ.เชียงราย ช่วงต้นปี 2485

ดังนั้น ในช่วงปลายปี 2484 พ.ต.อ.พระนรากร บริรักษ์ ผวจ.เชียงราย ในขณะนั้น จึงสร้างบ้านพักรับรองนี้ขึ้นที่บริเวณดอยงำเมือง หลังชุมชนวัดพระแก้ว เขตเทศบาลนครเชียงราย มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ เป็นอาคาร 2 ชั้น ฝาผนังห้องก่อด้วยอิฐฉาบปูน พื้นปูด้วยไม้เนื้อแข็ง มีห้องโถง จำนวน 3 ห้อง ห้องน้ำ จำนวน 1 ห้อง

หลังจอมพล ป. กลับไป อีกไม่นานก็มีคำสั่งจัดตั้งกองทัพพายัพ มี พล.ต.จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เป็นแม่ทัพ พล.ต.ผิน ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) เป็นรองแม่ทัพ กระทั่งวันที่ 9 พ.ค. 2485 กองทัพพายัพ ซึ่งประกอบด้วย 3 กองพลทหารราบ 1 กองพลทหารม้า 2 กองพันทหารปืนใหญ่ และกองบินน้อย ก็เคลื่อนพลเข้ายึดรัฐเชียงตุง หรือดินแดนล้านนาตอนบน หรือสหรัฐไทยเดิม หรือรัฐฉาน คืนจากอังกฤษ

เปิดบ้านจอมพล ป. รำลึก 70 ปี กองทัพพายัพยึดเยงตุง

 

“บ้านพักรับรองหลังนี้ ถูกใช้เป็นที่บัญชาการของกองทัพพายัพ จนกระทั่งถึงวันที่ 9 พ.ค. 2489 รัฐบาลได้สั่งยุบกองทัพพายัพ บ้านรับรองได้อยู่ในความดูแลของสำนักงานจังหวัดเชียงราย ต่อมาฝ่ายทหารได้เข้ารับผิดชอบตั้งแต่ปี 2491 จนถึงปัจจุบัน บ้านพักรับรองหลังนี้ถือว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เป็นประวัติศาสตร์ของทหารและของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะชาว จ.เชียงราย”

จากปี 2485-2555 เป็นเวลาถึง 70 ปีเต็ม สถาปัตยกรรมย่อมทรุดโทรมลงตามกาลเวลา จังหวัดทหารบกเชียงรายจึงได้บูรณะบ้านพักรับรองหลังนี้ขึ้นใหม่ พร้อมทั้งจัดการให้เป็นพิพิธภัณฑ์ทางการทหาร แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในค่ายทหาร

นอกจากบ้านพักรับรองจอมพล ป. ซึ่งจะเป็นพิพิธภัณฑ์ทหารแล้ว ใกล้ๆ กันยังมีศาลารอยพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งประวัติรอยพระบาทนี้ คือ เมื่อปี 2524 กองพันทหารราบที่ 473 ซึ่งมี พ.ท.วิโรจน์ ทองมิตร เป็นผู้บังคับหน่วย ได้นำกำลังทหารเข้าปฏิบัติการพื้นที่ดอยยาวดอยผาหม่น รอยต่อ จ.เชียงรายพะเยา ตามแผนการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ยุทธการยึดเนิน 1188 บนดอยพญาพิภักดิ์

และเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์จอมทัพไทย พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยือนทหารหาญและราษฎร ณ ฐานปฏิบัติการ ดอยพญาพิภักดิ์ บนดอยยาว

เนื่องในโอกาสอันเป็นมิ่งมหามงคลนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานประทับรอยพระบาทของพระองค์ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ที่จัดเตรียมไว้ เพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ทหารกล้าทั้งปวง

ต่อมาได้อัญเชิญรอยพระบาทจากดอยยาวมาประดิษฐานอยู่ ณ ศาลารอยพระบาท บริเวณด้านหน้ากองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 17 ในพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของกำลังพลคู่กับอนุสาวรีย์ผู้เสียชีวิต

พล.ต.ธันยวัตร คาดว่าการปรับปรุงสถานที่และภูมิทัศน์สถานที่ดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย.นี้ และจะสามารถเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเที่ยวชมและศึกษาประวัติ ศาสตร์ได้ภายในเดือนเดียวกัน

ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ การทำหน้าที่ด้วยความเสียสละของทหารหาญบรรพบุรุษไทยในอดีตที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยจะมีรถรางนำเที่ยวไปยังจุดต่างๆ แล้วพบกันช่วงปลายปีในเดือน พ.ย.นี้