posttoday

โจรปล้นโจร

24 กรกฎาคม 2555

ขโมยที่โกงบ้านโกงเมือง หนีคดีไปเสวยสุขอยู่ต่างประเทศ ไปเจอดีเหมือนกรรมติดจรวด ถูกขโมยไปอีกต่อหนึ่ง

โดย...สมผล ตระกูลรุ่ง นักวิชาการกฎหมายอิสระ

โจรปล้นโจร มิใช่มีแต่ในนวนิยายฝรั่ง เช่น โรบินฮูด เท่านั้น ในความเป็นจริงก็มีให้เห็นๆ กันอยู่ ในเมืองไทยเราเองก็มีมานานแล้ว

คนไทยเราเรียกโจรที่ตัดช่องย่องเบาลักทรัพย์สินของคนอื่นว่า ขโมย และเรียกคนที่ไปลักทรัพย์สินจากขโมยอีกต่อหนึ่งว่า ขมาย หรือขะมาย

คนไทยเราเป็นคนช่างสรรหาคำมาเรียกให้สอดคล้องกัน และทำให้เข้าใจความหมายได้ดี

คำว่า ขโมย ในความหมายของไทยเรา น่าจะหมายถึงการลักทรัพย์สินของผู้อื่นโดยเจ้าของไม่รู้ จึงน่าจะตรงกับความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบัน คือ มาตรา 334 และ 352 ส่วนการวิ่งราว การชิงทรัพย์ หรือการปล้นทรัพย์ ซึ่งเป็นการทำผิดต่อผู้เสียหายเฉพาะหน้า ผู้เสียหายเห็นการกระทำความผิดนั้น เรามักจะเรียกว่า โจร มากกว่าจะเรียก ขโมย

โจรปล้นโจร

ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์...”

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ ประกอบด้วย “ผู้ใด” ซึ่งหมายถึงว่าต้องเป็น “คน” และ|ต้องเป็นคนปกติที่รู้ผิดชอบชั่วดี ไม่ใช่คนวิกลจริตหรือคนบ้า เพราะถือว่าคนบ้าไม่มีเจตนาในการกระทำ ฉะนั้น เมื่อมีการทำความผิดอาญาเกิดขึ้น บางคนจึงแกล้งบ้าเพื่อจะได้ไม่เป็นความผิด จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่ให้คุณตำรวจใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ดำเนินคดีกับคนทำผิด โดยอ้างว่าเป็นคนบ้า (แต่กลับจะพาขึ้นเครื่องบินไปต่างประเทศโดยผ่านช่องทางพิเศษ)

ด้วยเหตุนี้แมวที่ชอบขโมยปลาย่างของชาวบ้าน จึงไม่ผิดกฎหมายเพราะแมวไม่ใช่คน เจ้าของแม้ก็ไม่มีความผิดด้วย แต่ถ้าเจ้าของแมวฝึกแมวจนเก่ง ให้รู้จักขโมยของชาวบ้านได้ อย่างนี้แม้แมวจะไม่มีความผิดต้องติดคุก แต่เจ้าของแมวจะต้องติดคุก หรือพวกแมวขโมยที่ใช้เปรียบเทียบคนที่ชอบลักเล็กขโมยน้อยชาวบ้าน อย่างนี้ก็มีความผิดนะครับ

องค์ประกอบที่สำคัญต่อมาคือ “ทรัพย์” อันเป็นวัตถุหลักแห่งการกระทำความผิด เรียกว่าเป็นพระเอกของความผิดฐานนี้ก็ว่าได้ และคำว่า ทรัพย์ นี้ เป็นปัญหาสำหรับนักกฎหมายมาทุกยุคทุกสมัย

มาตรา 334 ใช้คำว่า ทรัพย์ แต่ในมาตรา 337 เรื่องกรรโชกทรัพย์ มาตรา 338 เรื่องรีดเอาทรัพย์ ใช้คำว่า “ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน”

คำว่า ทรัพย์ กับ ทรัพย์สิน ในความหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ ให้ความหมายไว้ว่า ทรัพย์หมายถึงวัตถุมีรูปร่าง (ตามมาตรา 137) ส่วน ทรัพย์สิน หมายรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ (ตามมาตรา 138)

วัตถุที่มีรูปร่างจะถือเป็นทรัพย์ทั้งหมดหรือไม่ เช่น ขยะที่เราไม่ต้องการ และทิ้งไปแล้ว คนเก็บขยะมาเก็บเอาไป จะถือเป็นการลักทรัพย์ของเราหรือไม่

กรณีเช่นนี้นอกจากจะไม่ถือว่าคนเก็บขยะทำผิดฐานลักทรัพย์แล้ว เรายังต้องจ่ายเงินให้กับคนเก็บขยะเป็นค่าเก็บขยะด้วย และมักจะให้รางวัลพิเศษ หากมีสิ่งของที่ต้องการทิ้งนอกเหนือจากขยะประจำวัน และยังขอบคุณเขาที่ช่วยทำให้บ้านเราไม่รกรุงรังไปด้วยขยะ

มีปัญหาว่าศพจะถือเป็นทรัพย์ตามความหมายของกฎหมายอาญาหรือไม่ โดยปกติเนื้อตัวร่างกายของเราไม่ถือเป็นทรัพย์อยู่แล้ว ใครมาตัดนิ้วเราไป ไม่ถือเป็นการลักทรัพย์ แต่จะผิดฐานทำร้ายร่างกาย ชิ้นส่วนของร่างกายที่หลุดออกไป จึงไม่น่าจะถือเป็นทรัพย์

องค์ประกอบต่อไป คือ ต้องมีการ “เอาไป” คือต้องทำให้ทรัพย์เคลื่อนที่พ้นไปจากการครอบครองของผู้อื่น แต่ถ้าเพียง “เอาอยู่” คือยังไม่ได้เอาไปไหน นั่งทับไว้เฉยๆ ยังไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

ทรัพย์ที่ลักขโมยตามกฎหมาย ต้องเป็นทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ฉะนั้น การลักทรัพย์ที่เป็นของตนเองจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ เช่น เอาสร้อยคอไปจำนำไว้กับผู้อื่น แล้วไปลักเอากลับคืนมา ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะกรรมสิทธิ์ยังเป็นของตนเองอยู่ แต่จะไปผิดฐานอื่นๆ เช่น โกงเจ้าหนี้ เป็นต้น

สำหรับ โจรปล้นโจร หรือขมาย จะมีความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่

ถ้าดูตามองค์ประกอบของความผิดแล้ว ขมายย่อมเป็นขโมยประเภทหนึ่ง เพียงแต่ไปขโมยมาจากคนที่เป็นขโมยอีกทีหนึ่ง ขมายจึงกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ได้

เรื่องนี้น่าจะไม่มีคำพิพากษาฎีกาให้ศึกษากัน เพราะรายไหนรายนั้น ไม่มีขโมยคนใดกล้าไปแจ้งความเอาผิดกับขมายสักราย มีแต่ปฏิเสธว่าเงินที่ยึดได้จากขมาย และขมายรับว่าได้ลักเอามาจากขโมยนั้น ไม่ใช่ทรัพย์สินของตนเอง

ดูท่านปลัดคนดังเป็นตัวอย่างเถอะครับ ไม่ว่าจะสอบสวนอย่างไร ท่านคงนั่งยันนอนยันอย่างเดียวว่า เงินที่ยึดได้ไม่ใช่เงินของท่าน เป็นของใครก็ไม่รู้

จะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างเป็นกรณีพิเศษ คือ ขโมยที่โกงบ้านโกงเมือง หนีคดีไปเสวยสุขอยู่ต่างประเทศ ไปเจอดีเหมือนกรรมติดจรวด ถูกขมายไปอีกต่อหนึ่ง

เงินที่ถูกขมายไป 3,000 หน่วยนั้น เป็นเงินจิ๊บจ๊อยสำหรับขโมยผู้นี้ เพราะวันนี้จะเอาอีกเป็นกี่แสนหน่วยก็ได้ เพราะคนไทยไม่รู้เท่าทัน คนไทยหลอกง่าย เอาเศษเงินมาล่อก็ตกหลุมแล้ว

แต่ที่เจ็บหัวใจเพราะเสียรู้แขก ถูกแขกลบเหลี่ยม เกรงว่าถ้าถูกลบเหลี่ยมบ่อยๆ หน้าจะเหลือสามเหลี่ยม

เสียเอกลักษณ์ประจำตัวหมด