posttoday

วิศวกรมือใหม่

20 ตุลาคม 2555

ผมเริ่มทำงานกับบริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด ไทยแลนด์ ในตำแหน่งเริ่มต้นคือวิศวกรประจำคลังน้ำมันที่ช่องนนทรี

ผมเริ่มทำงานกับบริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด ไทยแลนด์ ในตำแหน่งเริ่มต้นคือวิศวกรประจำคลังน้ำมันที่ช่องนนทรี

บริษัทน้ำมันต่างชาติ เช่น เอสโซ่ เชลล์ และคาลเท็กซ์ จะมีคลังน้ำมันอยู่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านช่องนนทรีและคลองเตย ขณะที่องค์การน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐบาลจะมีคลังเก็บน้ำมันอยู่แถวๆ พระโขนงและบางจาก ที่ดินซึ่งเป็นทำเลที่ตั้งของบริษัทน้ำมันต่างชาติมักจะเป็นที่เช่าระยะยาวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย จุดไหนที่เป็นที่ตั้งคลังน้ำมัน จะมีท่าเรือ สถานีรถไฟ และถนนให้รถบรรทุกวิ่งเข้าออกได้ตลอดเวลา เพราะต้องขนส่งน้ำมันไปทั่วประเทศ ทั้งทางน้ำ ทางราง และทางถนน

คลังน้ำมันที่ช่องนนทรีเป็นคลังหลักและใหญ่ที่สุดของแต่ละบริษัท มีหน้าที่รับและจ่ายน้ำมันไปทั่วประเทศ โดยแต่ละบริษัทจะมีคลังย่อยๆ อยู่ตามภูมิภาคเพื่อให้บริการลูกค้าในท้องถิ่น เช่น ที่ จ.ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครสวรรค์ เด่นชัย ขอนแก่น และอุดรธานี ฯลฯ

คลังที่ใดอยู่ชายทะเลก็สามารถรับน้ำมันจากทั้งทางน้ำและทางรถไฟ แต่ถ้าเป็นคลังตามจังหวัดอื่นๆ จะใช้การขนส่งทางรถไฟเป็นหลัก ฉะนั้นคลังน้ำมันที่ จ.ภูเก็ต จึงได้เปรียบกว่าที่อื่น เพราะสะดวกที่จะรับน้ำมันจากสิงคโปร์เพื่อให้บริการลูกค้าทางภาคใต้ได้โดยตรง ค่าขนส่งน้ำมันจากสิงคโปร์ไปภูเก็ตจึงถูกกว่าส่งจากกรุงเทพฯ หรือศรีราชา

ส่วนที่ดอนเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งสนามบินนานาชาติในเวลานั้น ทุกบริษัทจะมีคลังน้ำมันของตนเองไว้ให้บริการสายการบินที่เป็นลูกค้าของตัวกันถ้วนหน้าเช่นกัน

ยุคนั้นธุรกิจน้ำมันอยู่ในมือของบริษัทต่างชาติทั้งสิ้น องค์การเชื้อเพลิงมีบทบาทเพียงซื้อขายให้กับหน่วยงานรัฐเป็นสำคัญ มีการค้าขายกับเอกชนน้อยมาก หลังจากนั้นอีกประมาณ 15 ปี ถึงมีการตั้ง “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” ขึ้น เป็นรัฐวิสาหกิจและโอนกิจกรรมที่เกี่ยวกับน้ำมันทั้งหมดของรัฐมารวมไว้ที่หน่วยงานนี้แห่งเดียว และปรับปรุงระบบบริหารให้ทันสมัยทัดเทียมต่างชาติ จน “ปตท.” พัฒนาเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจนถึงปัจจุบัน

ในระยะนั้นประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกแล้วที่ อ.ศรีราชา

โรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกนี้คือ บริษัท ไทยออยล์

ระยะแรกเป็นการให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชน 25 ปี โดยที่มีบริษัท เชลล์ ไทยแลนด์ เป็นแกนนำ รัฐได้รับผลตอบแทนจากการแบ่งกำไรในอัตราส่วนที่กำหนดไว้ล่วงหน้า

การมีโรงกลั่นในประเทศนั้นมีความสำคัญมาก เพราะเป็นก้าวแรกที่จะสร้างความมั่นคงทางพลังงานน้ำมัน สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่กำลังเติบโตในประเทศ

โรงกลั่นแห่งนี้สามารถรับน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง หรือจากแหล่งอื่นทางเรือที่มีขนาดใหญ่ 34 หมื่นตันจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ต่อมาภายหลังมีการขยายท่าออกไปอีกจนรับเรือขนาด 1 แสนตันได้ ทำให้ค่าขนส่งลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์มาที่กรุงเทพฯ เนื่องจากเรือขนาดใหญ่ที่สุดบรรจุได้เพียง 1.8 หมื่นตัน เพราะต้องผ่านสันดอนที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา

ส่วนน้ำมันที่กลั่นจากบริษัท ไทยออยล์ จะขนส่งโดยเรือชายฝั่งที่มีขนาด 58,000 ตัน เพื่อความคล่องตัวของการจราจรโดยไม่ต้องรอน้ำขึ้นลงของแม่น้ำ ด้านการขนส่งไปคลังชายฝั่งที่ จ.สุราษฎร์ธานีและสงขลานั้น สามารถทำตรงได้จากศรีราชา

เวลานั้นคลังน้ำมันเอสโซ่ที่ช่องนนทรีมีคุณนิพิทธิ์ สุตันตานนท์ เป็นหัวหน้า หรือที่เราเรียกว่า “นายคลัง” มีพนักงานประจำและผู้รับเหมาทำงานหลายร้อยคน มีตั้งแต่นักเรียนนอกจบปริญญาตรีหรือโท จนถึงกรรมกรที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้

นอกนั้นมีรุ่นพี่วิศวะของผมที่ทำงานอยู่แล้วหลายคน เช่น คุณชลิต เหราบัตย์ คุณปรีชา สีบุญเรือง คุณปรียพรรณ บุณยวิบูลย์ ที่เข้างานใกล้เคียงกับผมแต่เป็นรุ่นพี่คือ คุณฤาชัย กาญจนะวณิชย์ คุณประสบสุข แสงประภา และ น.อ.สุพรรณ ศีตะจิตต์ ส่วนเพื่อนรุ่นเดียวกันคือ พ.อ. (พิเศษ) ไพโรจน์ บูลภักดิ์ เพื่อนที่ผมเช่าบ้านพักในบริเวณบ้านเขาอยู่

ตอนเที่ยงเรามักจะไปรับประทานอาหารที่โรงอาหารพร้อมๆ กันเสมอ จึงมีโอกาสได้สนทนาเฮฮาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันเป็นประจำ เป็นประโยชน์สำหรับผมที่เป็นเด็กใหม่มาก เพราะเท่ากับมีพี่ๆ ที่ผ่านงานมาแล้วคอยให้คำแนะนำเป็นอย่างดี

ปัจจุบันนี้ถึงเราจะแยกย้ายจากกันไปนานแล้ว แต่ก็ยังพบกันบ้างเป็นครั้งคราวในสถานที่ต่างๆ

ส่วนหนึ่งของหน้าที่ของวิศวกรประจำคลัง คือดูแลความเรียบร้อยของเครื่องจักรกลประเภทต่างๆ ที่ใช้ในคลัง ตั้งแต่ระบบไฟฟ้า ปั๊มน้ำมัน ปั๊มน้ำ รถยก และรถที่ใช้ในงานต่างๆ แต่ละหน่วยงานจะมีหัวหน้างานที่ทำงานมาเป็นสิบๆ ปีแล้วควบคุม

หัวหน้าพวกนี้คือหัวจักรสำคัญในการทำงานจริงๆ

ส่วนวิศวกรโดยเฉพาะมือใหม่ๆ อย่างพวกเราช่วยดูเรื่องระบบและข้อปรับปรุงในการทำงานเป็นหลัก มีหลายสิ่งหลายอย่างที่พวกเราต้องเรียนรู้จากหัวหน้าเหล่านี้ เพราะเขาคือผู้มีประสบการณ์ถึงแม้อาจไม่มีความรู้ความชำนาญทางทฤษฎีก็ตาม

หัวหน้าเหล่านี้จะเรียกวิศวกรว่า “นาย” ซึ่งเป็นนิสัยที่ติดตัวมาตั้งแต่ครั้งยังมีฝรั่งเป็นผู้บังคับบัญชา แรกๆ ผมฟังแล้วก็เขินพอควร ต้องขอว่า พี่หรือน้าไม่ต้องเรียกผมว่า “นาย” หรอก แค่เรียกชื่อก็พอ แต่ไม่สำเร็จ เพราะพวกเขาเคยชิน บ่อยๆ เข้าเลยต้องยอมรับว่า “นาย” ก็ “นาย” ไม่ว่ากัน แต่หัวหน้าบางคนเวลาพูดกับลูกน้อง เราต้องสะดุ้งเหมือนกัน เพราะสัตว์เลื้อยคลานหลายประเภทจะออกมาพรั่งพรู

ไม่รู้ว่าเก็บกดจากพวกเราบ้างหรือเปล่า...