อินโดนีเซียประกาศแบนภาษาอังกฤษ
กลายเป็นเรื่องฮือฮาพอสมควรเมื่อผู้เขียนไปเจอข้อมูลชิ้นหนึ่งจากเว็บไซต์ของ “Economy Watch” แล้วก็อดไม่ได้ที่จะนำมาเสนอเป็นเรื่องราวให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้รับทราบและช่วยกันคิดวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปในอนาคตข้างหน้า เรื่องของเรื่องก็คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาและวัฒนธรรมของรัฐบาลประเทศอินโดนีเซียคนปัจจุบันชื่อว่า ท่าน มุสไลอาร์ คาสลิม ออกมาประกาศว่า นับตั้งแต่ต้นปีหน้า (พ.ศ. 2556) เป็นต้นไปโรงเรียนประถมทุกโรงในอินโดนีเซียจะไม่มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กอีกต่อไป
กลายเป็นเรื่องฮือฮาพอสมควรเมื่อผู้เขียนไปเจอข้อมูลชิ้นหนึ่งจากเว็บไซต์ของ “Economy Watch” แล้วก็อดไม่ได้ที่จะนำมาเสนอเป็นเรื่องราวให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้รับทราบและช่วยกันคิดวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปในอนาคตข้างหน้า เรื่องของเรื่องก็คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาและวัฒนธรรมของรัฐบาลประเทศอินโดนีเซียคนปัจจุบันชื่อว่า ท่าน มุสไลอาร์ คาสลิม ออกมาประกาศว่า นับตั้งแต่ต้นปีหน้า (พ.ศ. 2556) เป็นต้นไปโรงเรียนประถมทุกโรงในอินโดนีเซียจะไม่มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กอีกต่อไป
สำหรับเหตุผลของท่าน รมช.ก็คือ ต้องการให้เด็กอินโดฯ เรียนรู้ภาษาอินโดฯ ให้เก่งก่อนที่จะไปเรียนภาษาตะวันตกอย่างภาษาอังกฤษ และต้องการให้เด็กในประเทศของตนเองรู้จักคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งภาษาอินโดฯ มากกว่าจะให้เด็กเก่งภาษาอังกฤษก่อน และปล่อยปละละเลยการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ท่าน รมช.ศึกษาบอกอีกว่า ท่านรู้สึกสงสารเด็กเล็กตัวน้อยๆ ในระดับอนุบาลที่ปัจจุบันต้องไปหาโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษกันตั้งแต่ยังเยาว์วัย ท่านรัฐมนตรียังกล่าวต่ออีกว่า การประกาศห้ามการเรียนภาษาอังกฤษไม่ได้ห้ามตลอดกาล เพียงแต่จะกำหนดอายุการศึกษาอีกครั้งว่าอายุเท่าใดถึงควรเริ่มเรียนภาษาอังกฤษ แต่ไม่ใช่ระดับประถมอย่างแน่นอน
“ในระดับประถมศึกษาเราต้องการที่จะให้มีการสอนให้เด็กอินโดนีเซียเรียนรู้ในเรื่องของการเป็นคนดี รู้จักคุณค่าของอุดมการณ์ วัฒนธรรม และจริยธรรมของรัฐ การเรียนรู้ด้านศาสตร์ต่างๆ เช่น ภูมิศาสตร์และสังคมศาสตร์ ควรเรียนรู้เมื่อเด็กถึงวัยอีกระดับหนึ่ง เช่น ในระดับมัธยมต้น ส่วนในระดับมัธยมปลาย เราต้องสอนวิชาที่พวกเด็กๆ ต้องใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย” รมช.คาสลิม กล่าวกับหนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ พร้อมกล่าวต่ออีกว่า การสอนคนให้เป็นคนเก่งทำได้ง่ายกว่าสอนคนให้เป็นคนดีและเป็นคนซื่อสัตย์ มีความรักในความเป็นชาติและมีจริยธรรม
ก่อนที่จะมีการประกาศห้ามการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษา กระทรวงศึกษาและวัฒนธรรมของอินโดนีเซียก็ประกาศมาแล้วก่อนหน้า ห้ามการสอนด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ในระดับประถมศึกษา โดยให้เหตุผลว่า “เร็วเกินไปที่จะสอนวิชาที่ยากให้แก่เด็กๆ”
ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปท่าน รมช.บอกว่าจะมีการปรับหลักสูตรในระดับประถมศึกษาในประเทศ โดยวิชาที่จะมีการเรียนการสอนจะเหลือ 6 หมวดหมู่ คือ 1) ศาสนา 2) ภาษาอินโดนีเซีย 3) การศึกษาชุมชน 4) ศิลปะและทักษะ 5) พลศึกษา และ 6) ความรู้ทั่วไป ส่วนวิชาที่เกี่ยวข้องกับสังคมศาสตร์ไม่ได้ถูกตัดออกไปจากหลักสูตรใหม่ เพียงแต่จะมีการควบรวมมาอยู่ภายใต้หมวดวิชาภาษาอินโดนีเซีย และที่สำคัญก็คือโรงเรียนประถมของรัฐบาลทั่วประเทศจะไม่มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอีกต่อไปอย่างเด็ดขาด และกำลังจะพิจารณาตัดสินใจห้ามสอนภาษาอังกฤษให้ครอบคลุมไปถึงโรงเรียนระดับประถมศึกษาในภาคเอกชนและโรงเรียนนานาชาติอีกด้วย
เมื่อมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านก็คงจะเริ่มคิดและเริ่มวิจารณ์แนวคิดของท่าน รมช.กันแล้ว น่าสนับสนุนหรือไม่ อย่างไรบ้าง และเพราะเหตุใด
เราต้องไม่ลืมนะครับว่า อีกไม่ถึง 3 ปี กลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งในด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและวัฒนธรรม การใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการติดต่อจะกลายเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประชากรของอาเซียน ถ้าเราศึกษากันอย่างแท้จริง แม้กระทั่งในปัจจุบันประชากรใน 10 ประเทศอาเซียนที่ใช้ภาษาอังกฤษติดต่อสื่อสารในระดับที่ “ใช้การได้” ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำถึงต่ำมาก โดยการใช้ภาษาอังกฤษยังคงกระจุกตัวอยู่เฉพาะในกลุ่มคนในภาครัฐบาลและกลุ่มนักธุรกิจเท่านั้น
ประการที่สอง เราต้องไม่ลืมว่าจากทฤษฎีขีดความสามารถในการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศของเด็กที่มีการยืนยันกันมาโดยตลอดว่า ถ้าจะให้เกิดประสิทธิภาพควรเริ่มให้เรียนกันตั้งแต่ยังเยาว์วัย ถ้าท่าน รมช.อินโดฯ พิสูจน์ได้ว่าทฤษฎีของท่านที่ว่าเด็กควรเรียนรู้ภาษาอังกฤษเมื่อถึงอายุระดับหนึ่งไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก ผู้เขียนมองว่าก็คงจะต้องมีรายการหักปากกาเซียนด้านทฤษฎีการศึกษาภาษาอังกฤษอย่างมโหฬารทั่วโลก โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนเห็นว่าการรักษาไว้ซึ่งคุณค่าทางภาษาหรือวัฒนธรรมท้องถิ่นสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องตัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษออกไปจะดีเสียอีกที่เด็กเก่งภาษาอังกฤษและใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือพัฒนาชาติในด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากประสบการณ์ส่วนตัวยังพบว่าการเรียนรู้ภาษาตั้งแต่เด็กจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ด้านภาษาอย่างต่อเนื่อง จนถึงช่วงที่เด็กมีการเจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่
ประการที่สาม โลกของเราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ การติดต่อสื่อสารและการเรียนรู้ผ่านทางเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ เกือบจะเรียกได้ว่า “ร้อยละร้อยเปอร์เซ็นต์” ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ ลองคิดดูว่าถ้าเด็กไทยเริ่มเรียนรู้ภาษาอังกฤษตอนอายุประมาณ 10 ขวบ เด็กประเทศอื่นๆ เขาจะแซงหน้าเราไปมากแค่ไหน (ตัวผู้เขียนเองเริ่มเรียนภาษาอังกฤษเมื่อตอนอยู่ประถมศึกษาปีที่ 5 อายุประมาณ 1112 ปี) ถ้าลูกหลานของเราที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีไปต่างประเทศและไม่รู้เรื่องภาษาอังกฤษเลยแม้แต่น้อย อะไรจะเกิดขึ้น
จริงๆ แล้วเป็นเอกสิทธิ์ของประเทศอินโดนีเซียที่จะทำอะไรก็ได้เกี่ยวกับการศึกษาในประเทศของเขา แต่อยากจะฝากถึงท่าน รมต.ศึกษาคนใหม่ของรัฐบาลไทยยุคปัจจุบันไว้ว่า ไม่ว่าท่านจะมีความรู้ภาษาอังกฤษดีหรือไม่ดีไม่ใช่เป็นเรื่องที่สำคัญมากไปกว่าท่านจะต้องมีภารกิจหน้าที่ทำให้เด็กไทยทุกระดับมีความรู้ภาษาอังกฤษที่ดีถึงขั้นใช้งานได้ (สื่อสารได้เป็นที่เข้าใจและสามารถแสดงความคิดเห็นเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างมั่นใจ) เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยเห็น รมต.ศึกษาไทยเอาจริงเอาจังเรื่องนี้กันเสียที