วอนสธ.ยุติแผนควบคุมยาสูบแบบสุดโต่ง
กลุ่มผู้ค้าปลีกวอนกระทรวงสาธารณสุขล้มเลิกมาตรการควบคุมยาสูบแบบสุดโต่ง หวั่นกระทบผู้ค้าปลีกรายย่อย
กลุ่มผู้ค้าปลีกวอนกระทรวงสาธารณสุขล้มเลิกมาตรการควบคุมยาสูบแบบสุดโต่ง หวั่นกระทบผู้ค้าปลีกรายย่อย
นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวว่า รู้สึกกังวลผลกระทบจาก ร่างพ.ร.บ.ควบคุมยาสูบ ฉบับใหม่ ที่กำลังทำประชาพิจารณ์และเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในปีหน้า เนื่องจากมีเนื้อหากว้างมากเกินไป คลุมเครือ และให้อำนาจกับกระทรวงสาธารณสุขในการออกกฎระเบียบในภายหลัง โดยไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนหรือผ่านกระบวนการตรวจสอบกลั่นกรองของรัฐสภา
“ข้อบังคับอย่าง ให้ร้านค้าปลีกจัดส่งรายงานประจำปีให้แก่คณะกรรมการอำนวยการ การควบคุมอายุของผู้ขาย กำหนดให้ร้านค้าต้องแสดงสื่อรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ภายในร้าน หรือการจำกัดการแสดงราคาขายของผลิตภัณฑ์ยาสูบนั้น สร้างภาระค่าใช้จ่ายของร้านค้าปลีกที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ร่างกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบยังจะห้ามร้านค้าปลีกรายใหญ่เข้ามาเป็นพันธมิตรในการทำกิจกรรมการกุศลเพื่อสังคมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น การสนับสนุนความช่วยเหลือเมื่อเกิดวิกฤตอุทกภัยอีกด้วย” นางวราภรณ์กล่าว
ทั้งนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบที่เป็นร้านค้าปลีกทั่วประเทศ พบว่า ร้านค้าปลีกกว่า 78% เชื่อว่ามาตรการควบคุมยาสูบแบบสุดโต่งนี้จะส่งผลเสียหายให้แก่ธุรกิจร้านค้า อีก 72% คิดว่ารัฐบาลควรเน้นเรื่องการศึกษาให้ความรู้ มากกว่าจะนำเสนอร่างกฎหมายใหม่ นอกจากนี้ ร้านค้าปลีก 50% มีความเห็นว่าการปรับปรุงกฎหมายฉบับปัจจุบันที่มีอยู่แล้วน่าจะเป็นทางเลือกในการลดอัตราการสูบบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายใหม่ ยังระบุให้ใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ ซึ่งหมายถึงการห้ามแสดงเครื่องหมายที่สื่อถึงแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายการค้า โลโก้ สี และกราฟิกต่างๆ โดยบนซองผลิตภัณฑ์ยาสูบจะมีเพียงแค่ชื่อยี่ห้อ ซึ่งใช้ตัวอักษรแบบมาตรฐานเหมือนกันหมดทุกซอง โดยกลุ่มผู้ค้าปลีกเชื่อว่ามาตรการซองบุหรี่แบบเรียบนี้จะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อธุรกิจ รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการค้าของเถื่อนในอุตสาหกรรมยาสูบ
นางวราภรณ์ กล่าวว่า สิ่งที่แสดงถึงการควบคุมการบริโภคยาสูบแบบสุดโต่ง นอกเหนือจากผู้ขายต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ผู้ซื้ออายุ 20 ปีขึ้นไป ห้ามแบ่งขาย การกำหนดรูปแบบซองที่เหมือนกันแล้ว ยังรวมถึงการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง โดยเฉพาะค่าปรับตั้งแต่ 4 หมื่น - 5 แสนบาท จะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยที่มี 4.8 แสนร้านทั่วประเทศอย่างแน่นอน จึงอยากให้มีการทบทวนถึงผลกระทบอย่างจริงจังอีกครั้ง
วราภรณ์ นะมาตร์