แม่หญิงพะเยาเดือด'แรงงเงา'หมิ่นสาวดอกคำใต้
แม้เวลาจะผ่านไปนานและสิ่งต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว แต่ก็มีผู้ฟื้นภาพในอดีตกลับมาทำร้ายความรู้สึกคนดอกคำใต้
โดย..สายอรุณ ปินะดวง
แม้เวลาจะผ่านไปนานและสิ่งต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว แต่ก็มีผู้ฟื้นภาพในอดีตกลับมาทำร้ายความรู้สึกคนดอกคำใต้ จ.พะเยา อีกครั้ง เมื่อ “แรงเงา” ละครโทรทัศน์ ซึ่งเรตติ้งพุ่งสูงสุดในขณะนี้ กลับมีบทตอนหนึ่งพาดพิงถึงตัวละครเอก “มุตตา” และ “มุนินทร์” ว่าเป็นสาวดอกคำใต้ ในเชิงเหยียดหยามส่อว่าเป็นพื้นที่ของผู้หญิงขายบริการ
“เมื่อ 40 กว่าปีก่อน หากบอกว่าเป็นคนดอกคำใต้จะถูกมองตั้งแต่หัวจรดเท้า นั่งแอบร้องไห้ทุกครั้ง แต่ก็ยังภูมิใจที่เป็นคนที่นี่” ครูมุกดา อินต๊ะสาร เจ้าของรางวัล “นักต่อสู้เพื่อบรรเทาปัญหาความยากจน (The race Against Poverty Award) ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำปี 2542 เล่าถึงอดีตที่ภาพของผู้หญิงดอกคำใต้ถูกมองในแง่ลบ ซึ่งภาพลักษณ์แง่ลบดังกล่าว เป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้เธอ ทุ่มเทต่อสู้ทำทุกอย่างเพื่อให้บ้านเกิดพ้นจากการถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม กระทั่งได้รับรางวัลระดับโลก
“การพัฒนาวิธีคิดของผู้คนเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่มีการสื่อสาร สร้างความเข้าใจร่วมกันใช่เรื่องง่าย มาวันนี้ละครแรงเงาทำให้เกิดอาการที่ครูต้องมาขบคิดว่า เราคงต้องต่อสู้ต่ออีกสักเท่าไหร่ ทั้งที่ดอกคำใต้วันนี้พวกเราภูมิใจ คนรุ่นหลังอาจเห็นว่าถ้อยคำที่เอ่ยอ้างในละครธรรมดา ไร้สาระ แต่คนที่เคยตกอยู่ในอาการเจ็บปวดมาก่อนเท่านั้นจะรู้ว่า เอาอีกแล้ว ทำไม? ต้องดอกคำใต้ ทำไม? ต้องพะเยา”
ในมุมมองด้านสังคมศาสตร์ ผศ.มนตรา พงษ์นิล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) เห็นว่า บทละครที่พาดพิงดังกล่าว ตั้งอยู่บนฐานคิดและทัศนะในการมองแบบเหมา ตีตราต่อผู้หญิงดอกคำใต้ให้แช่แข็งอยู่ในภาพตายตัว ซ้ำยังตอกย้ำและผลิตซ้ำความเป็นอื่นและผู้หญิงไม่ดีอยู่ร่ำไป
ผศ.มนตรา มองว่า ภาพเหล่านี้เกิดมาจากสังคมไทย โดยเฉพาะชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และจังหวัดในภูมิภาคอื่น ที่ผลิตและถูกปลูกฝังภาพนี้ขึ้นมาในยุคแห่งความทันสมัยจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งกลับกลายเป็นพายุพัดโหมกระหน่ำความยากจนต่อชนบท ทำให้ผู้หญิงภาคเหนือต้องล่องใต้ ผู้ชายต้องไปขายแรงงานยังเมืองหลวงและต่างจังหวัด จนสาวดอกคำใต้เป็นแบรนด์ด้านการขายบริการที่คนทั่วไปรับรู้ ทั้งๆ ที่สาวจากจังหวัดและภาคอื่นๆ ก็ประสบชะตากรรมของการพัฒนาเช่นเดียวกันกับสาว จ.พะเยา
“ปัญหาคือ การรับรู้ต่อภาพลักษณ์สาวดอกคำใต้ของคนกรุงเทพฯและชนชั้นกลาง ยังคงฝังหัวและไม่ได้สลัดหลุดไปเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลง ทัศนะในเชิงดูถูกเหยียดหยามสาวพะเยากลับยังคงอยู่กับสังคมในเมืองหลวง”
ในฐานะที่เป็นสาวดอกคำใต้ อณิรา ธินนท์ ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เห็นว่าการเกิดมาเป็นสาวดอกคำใต้ ไม่ใช่ความผิด และ จ.พะเยา ก็ภาคภูมิใจกับสิ่งดีงามหลายอย่างที่เกิดขึ้น
“พะเยาเป็นจังหวัดบูรณาการงานด้านพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระดับประเทศ เป็นพื้นที่ต้นแบบ “พะเยาโมเดล” ที่สถาบันพระปกเกล้าลงมาทำการวิจัย เพราะพะเยามีจุดแข็งด้านการดำเนินชีวิตด้วยความสันติ ไม่มีความขัดแย้ง แม้แตกต่างแต่ไม่แตกแยก และ “ดอกคำใต้” เป็นอำเภอแรกที่เป็นพื้นที่นำร่อง ที่สำคัญพะเยา คือพื้นที่เมืองน่าอยู่ที่ติดใน 10 อันดับมาตลอด”
สิ่งที่อณิราต้องการสะท้อน คือ คุณงามความดีต่างๆ ของ จ.พะเยา ไม่สามารถสร้างได้ภายในเวลาแค่เพียงปีเดียวหรือสองปี ยิ่งการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์เก่ายิ่งต้องใช้เวลานานกว่ามาก ซึ่งสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือความภูมิใจของคนพะเยา
ด้าน ธวรรธน์วัชร์ พรหมเผ่า รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พะเยา และประธานกลุ่มรักบ้านเกิด จ.พะเยา นักการเมืองท้องถิ่นรุ่นใหม่ แสดงความไม่พอใจต่อบทละครที่มีคำพูดดังกล่าว
“แม่ของผมก็คือผู้หญิงพะเยาคนหนึ่ง การพาดพิงอย่างไม่มีความรอบรู้ถึงบริบทของดอกคำใต้และพะเยาผมรับไม่ได้ ภาพลักษณ์ของผู้หญิงดอกคำใต้และพะเยาถูกเหมารวมไปแล้ว เพราะละครที่สร้างตราบาป โดยที่ผู้ถูกพาดพิงไม่ได้รับการอธิบายเลย”
ในฐานะนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่ทำงานการพัฒนาร่วมกับหลากหลายกลุ่ม ธวรรธน์วัชร์ ตระหนักว่า ผู้หญิงพะเยาปัจจุบันมีความรู้ ความสามารถ เป็นนักการเมืองระดับชาติ ท้องถิ่น เป็นนักต่อสู้ระดับโลก
“ผมอยากให้คนทำสื่อมีจริยธรรม คุณธรรม และรับผิดชอบกับสังคม รับผิดชอบกับผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางความรู้สึกและการกระทำครับ! เพราะผมถือว่าเป็นความรุนแรงที่กระทบต่อจิตใจและศรัทธาของคนทุกคน การนำภาพที่คนในอำเภอหรือจังหวัดถูกยัดเยียดให้ในสมัยก่อน เพื่อมาเล่นกับความรุนแรงของอารมณ์คนชม ก็เท่ากับว่าคุณกระทำความรุนแรงกับชาวพะเยาและสาวเหนือ”
แน่นอนว่า ดอกคำใต้วันนี้ย่อมเปลี่ยนแปลงไปจากดอกคำใต้เมื่อหลายสิบปีก่อน เพียงแต่ภาพอดีตยังคงเป็นฝันร้ายตามหลอน ซึ่งหากไม่มีการรื้อฟื้นขึ้นมาให้ร้ายต่อไป อนาคตของดอกคำใต้จะมีแต่สิ่งดีๆ ให้ผู้คนรับรู้และน่าจดจำ มากกว่าเรื่องราวแต่ครั้งอดีต