ประมงเพาะปลาใบมีดโกนสำเร็จในไทย
กรมประมงเพาะพันธุ์ “ปลาใบมีดโกน” สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศ หลังถูกจับขายจนเสี่ยงสูญพันธุ์
กรมประมงเพาะพันธุ์ “ปลาใบมีดโกน” สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศ หลังถูกจับขายจนเสี่ยงสูญพันธุ์
นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า นักวิจัยของกรมประมงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาใบมีดโกนเป็นครั้งแรก ซึ่งนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปลาในทะเล และส่งผลดีต่อตลาดปลาสวยงามของไทยพัฒนาและเพิ่มรายได้เข้าประเทศ เนื่องจากเป็นปลาทะเลสวยงามที่ตลาดมีความต้องการจึงมีการลักลอบจากธรรมชาติจำนวนมากจนเสี่ยงสูญพันธุ์ โดยศูนย์วิจัย และพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาคร กรมประมง ได้ทำการศึกษาวิจัยเพาะขยายพันธุ์ปลาใบมีดโกนได้จนถึงระยะเหมือนตัวเต็มวัยได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
น.ส.วารินทร์ ธนาสมหวัง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งปลา กล่าวว่า ปลาใบมีดโกน หรือ ปลาข้างใส มีชื่อภาษาอังกฤษว่า razorfish หรือ shrimpfish มีลักษณะเด่นที่รูปร่างและวิธีการว่ายน้ำ รูปร่างบางเฉียบ ปากเรียวแหลม และเกล็ดพัฒนาเหมือนเกราะบางใสหุ้มตัว ว่ายน้ำหัวทิ่มลงลำตัวตั้งฉากกับพื้นตลอดเวลา หางแหลมเหมือนมีกระดูกเล็กๆ ชี้ขึ้นข้างบน คล้ายๆ ส่วนหางของใบมีดโกนที่ช่างตัดผมสมัยโบราณใช้นิ้วเกี่ยวไว้เวลาใช้งาน ความยาวประมาณ 12 เซนติเมตร ปกคลุมด้วยแผ่นกระดูกใส ครีบหลังมี 2 อันและอยู่ในแนวราบ หางกลมมน ปากเรียวแหลม บางชนิดลำตัวใส บางชนิดมีแถบคาดตามยาวสีดำ อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง และอาศัยหนามของเม่นทะเลเป็นเกาะป้องกันตัว ด้วยเหตุนี้เองตามแนวปะการังที่มีเม่นทะเลจึงมักพบปลามีดโกนว่ายน้ำหันเอาหัวปักลงอยู่ระหว่างหนามของเม่นทะเล
นายสุทธิชัย ฤทธิธรรม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาคร กรมประมง กล่าวถึงขั้นตอนการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ว่า ทีมนักวิจัยของศูนย์ฯ เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในระบบน้ำหมุนเวียน ประกอบด้วยถังไฟเบอร์ทรงกลม ขนาด 2 ลูกบาศก์เมตร ถังกรองชีวภาพ และโปรตีนสกิมเมอร์ ให้อาหารวันละครั้งด้วยเคยฝูง (Lucifer) เสริมด้วยอาร์ทีเมียตัวเต็มวัยมีชีวิต ความเค็มน้ำ 30 ส่วนในพันส่วน ปลาวัยเจริญพันธุ์นั้นจะมีขนาดเฉลี่ย 11.68 เซนติเมตร มักวางไข่เป็นฝูงช่วงเวลา 18.00–22.00 น. การรวบรวมไข่ปลาใบมีดโกนนั้นจะใช้กระชังผ้าโอล่อนแก้วกรองน้ำที่ทางน้ำล้น แยกไข่ปลาออกแล้วนำมาฟักในตู้กระจก ไข่มีลักษณะกลมใส ครึ่งจมครึ่งลอย ใช้ระยะเวลาในการฟักออกเป็นตัว 1 วัน ซึ่งปริมาณไข่ที่วางในแต่ละครั้งไม่เท่ากัน โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 460 ฟอง
การฟักของไข่ที่ได้รับการผสมเฉลี่ยอยู่ที่ 89.13 เปอร์เซ็นต์ ลูกปลาแรกฟักมีขนาดเฉลี่ย 2.51 มิลลิเมตร สำหรับการอนุบาลลูกปลานั้นจะอนุบาลลูกปลาในถังไฟเบอร์ทรงกลม ขนาด 2 ลูกบาศก์เมตร ให้อาหารวันละครั้งด้วยแพลงตอนพืช โรติเฟอร์ โคพีพ อด และอาร์ทีเมียแรกฟัก ที่ความเค็มน้ำ 28+2 ส่วนในพันส่วน และมีการควบคุมคุณภาพน้ำให้มีค่าอัลคาไลน์อยู่ระหว่าง 130–150 มิลลิกรัมต่อลิตร ลูกปลาเริ่มกินโคพีพอดได้เมื่ออายุ 1 วัน กินอาร์ทีเมียแรกฟักร่วมกับโคพีพอตได้เมื่ออายุ 10 วัน ลูกปลาอายุ 15 วัน เริ่มมีพฤติกรรมการรวมฝูง ลูกปลาพัฒนารูปร่างเหมือนปลาตัวเต็มวัยในระยะเวลา 25 วัน