เจ้าจอมทับทิมตัวจริงไม่อิงนิยาย
ใครที่มีความเชื่อเรื่องราวต่างๆ ในหนังและละครแอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม ที่นางมาการ์เร็ต แลนดอน นำมาเสริมแต่งจากหนังสือที่นางแอนนา เลียวโนเวนส์ ผู้หญิงชาวอังกฤษที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงว่าจ้างให้มาสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักเมื่อปี 2405 เขียนขึ้นตามจินตนาการคงจะจำกันได้ว่า นวนิยายเรื่องนั้นได้กล่าวถึงเจ้าจอมทับทิม เด็กสาวอายุ 16 ปี ที่ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับบิดามารดา และชาติตระกูล แต่ได้เขียนเป็นตุเป็นตะว่า เป็นเด็กสาวที่ถูกเกณฑ์มาให้เป็นคนงานขนอิฐทุบดินที่วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม พร้อมกับสามีที่ชื่อ “แดง” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปประกอบพระราชพิธีฝังลูกนิมิตที่วันนั้นทรงพอพระทัยในความงามของทับทิม จึงมีผู้จัดเอาตัวทับทิมเข้าไปถวายจนเป็นที่โปรดปรานยิ่งกว่าเจ้าจอมคนอื่นๆ แต่ถึงแม้จะได้เข้าไปเป็นเจ้าจอมแล้ว สาวน้อยทับทิมยังคงคิดถึงนายแดงผู้สามี ซึ่งบวชเป็นพระอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์ฯ จนได้เป็นพระครูเรียกว่า “พระครูปลัด” ซึ่งได้รับนิมนต์เข้ามาบิณฑบาตภายในพระบรมมหาราชวังเสมอ จนกระทั่งวันหนึ่งเจ้าจอมทับทิมเห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงปลอมตัวเป็นเณรตามไปอยู่กับพระครูปล
ใครที่มีความเชื่อเรื่องราวต่างๆ ในหนังและละครแอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม ที่นางมาการ์เร็ต แลนดอน นำมาเสริมแต่งจากหนังสือที่นางแอนนา เลียวโนเวนส์ ผู้หญิงชาวอังกฤษที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงว่าจ้างให้มาสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักเมื่อปี 2405 เขียนขึ้นตามจินตนาการคงจะจำกันได้ว่า นวนิยายเรื่องนั้นได้กล่าวถึงเจ้าจอมทับทิม เด็กสาวอายุ 16 ปี ที่ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับบิดามารดา และชาติตระกูล แต่ได้เขียนเป็นตุเป็นตะว่า เป็นเด็กสาวที่ถูกเกณฑ์มาให้เป็นคนงานขนอิฐทุบดินที่วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม พร้อมกับสามีที่ชื่อ “แดง” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปประกอบพระราชพิธีฝังลูกนิมิตที่วันนั้นทรงพอพระทัยในความงามของทับทิม จึงมีผู้จัดเอาตัวทับทิมเข้าไปถวายจนเป็นที่โปรดปรานยิ่งกว่าเจ้าจอมคนอื่นๆ แต่ถึงแม้จะได้เข้าไปเป็นเจ้าจอมแล้ว สาวน้อยทับทิมยังคงคิดถึงนายแดงผู้สามี ซึ่งบวชเป็นพระอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์ฯ จนได้เป็นพระครูเรียกว่า “พระครูปลัด” ซึ่งได้รับนิมนต์เข้ามาบิณฑบาตภายในพระบรมมหาราชวังเสมอ จนกระทั่งวันหนึ่งเจ้าจอมทับทิมเห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงปลอมตัวเป็นเณรตามไปอยู่กับพระครูปลัด ที่วัดราชประดิษฐ์ฯ ต่อมามีผู้จับได้จึงถูกดำเนินคดีตัดสินประหารชีวิตทั้งสองคน โดยนางแอนนา เลียวโนเวนส์ ได้กล่าวสมอ้างในหนังสือนั้นว่า ตนเองมีส่วนรับรู้ในการประหารชีวิตนั้นด้วยการเข้าไปถวายบังคมทูลขอให้ทรงผ่อนผันโทษทัณฑ์แก่คนทั้งสอง แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ
ข้อความอันเป็นเท็จที่เกี่ยวเนื่องกับเจ้าจอมทับทิมของนางแอนนา เลียวโนเวนส์ นี้พิสูจน์ได้โดยข้อเท็จจริงที่ว่า เจ้าจอมทับทิม ผู้ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีอยู่ถึง 3 ท่าน และแต่ละท่านล้วนแต่เป็นลูกหลานของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีที่มาที่ไปด้วยกันทั้งสิ้น โดยเจ้าจอมทับทิมท่านแรกนั้น เป็นธิดาของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ซึ่งรับราชการสนองพระเดชพระคุณ เป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังทรงผนวชและยังไม่ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้รับการโปรดปรานมาก จนเป็นที่กล่าวกันว่า ทรงชุบเลี้ยงนายเพ็งราวกับบุตรบุญธรรม และเมื่อเสด็จขึ้นทรงครองราชย์แล้ว เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงจึงถวายธิดาทับทิมอันเกิดจากภรรยาที่ชื่อหุ่นให้เป็นเจ้าจอม เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว เจ้าจอมทับทิมได้ออกจากพระบรมมหาราชวังไปอยู่กับบิดา จากนั้นก็ได้สมรสกับพระยาราชาประพันธ์(สุดใจ) เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงได้รับราชการสืบต่อมาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้สนองพระเดชพระคุณในทางราชการที่สำคัญๆ หลายเรื่อง จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม
เจ้าจอมมารดาทับทิม ท่านที่ 2 เป็นธิดาของพระยาราชสุภาวดี (ปาน) ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่สืบเชื้อสายมาจากขุนนางชาวมอญที่ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่คราวประกาศอิสรภาพจากพม่า มีผู้สืบสายสกุลรับราชการสนองพระเดชพระคุณมาโดยตลอดทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในตั้งแต่อยุธยามาจนรัตนโกสินทร์ พระยาราชสุภาวดีนั้นได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ถวายธิดาชื่อ ทับทิม ให้เป็นเจ้าจอมรับราชการฝ่ายใน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เจ้าจอมทับทิมท่านนี้ก็ยังคงรับราชการ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนได้ดำรงตำแหน่งเป็น “เสมียนหลวง” ฝ่ายในเป็นที่รู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดีของบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และสนมนางในทั้งหลายในพระบรมมหาราชวัง
เจ้าจอมทับทิมท่านสุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ เจ้าจอมทับทิม ธิดาของพระจำนงภูษิต (อยู่ วัชโรทัย) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากขุนนางข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ว่า “ต้นตระกูลของพระจำนงภูษิตนั้น เป็นผู้เชิญพระกลดกั้น ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ยังทรงดำรงตำแหน่งขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในที่เจ้าพระยาจักรี เมื่อครั้งแม่ทัพพม่าอะแซหวุ่นกี้ ขอดูตัวในสงครามไทยพม่า ในปี 2318 และมีทายาทสืบเชื้อสายรับราชการสนองพระเดชพระคุณมาทุกรัชกาล จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระจำนงภูษิตได้รับราชการเป็นข้าราชสำนักสังกัดกรมพระภูษามาลาได้ถวายธิดาชื่อ ทับทิม เข้ารับราชการในราชสำนักฝ่ายในเป็นเจ้าจอม แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จสวรรคตแล้ว แต่เจ้าจอมทับทิมท่านสุดท้ายนี้ก็ได้ดำเนินชีวิตอยู่อย่างปกติสุขในพระบรมมหาราชวังต่อมาจนสิ้นอายุ
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจึงเห็นได้ว่าเรื่องราวของเจ้าจอมทับทิมที่ถูกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตัดสินประหารชีวิตพร้อมด้วยสามีนั้น เป็นเรื่องที่นางแอนนา เลียวโนเวนส์ แต่งขึ้นตามความเพ้อฝันจะมีความจริงอยู่บ้างก็เป็นแต่เพียงบรรยากาศในพระบรมมหาราชวังที่นางแอนนาได้พบเห็นในสมัยนั้น กับชื่อบรรดาเจ้าจอมทั้งหลายที่ผิดบ้างถูกบ้าง การรู้เหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ในพระบรมมหาราชวังก็เป็นแต่เพียงผิวเผินมิได้มีความลึกซึ้ง การเขียนนวนิยายในราชสำนักสยามของนางแอนนาจึงเป็นการจับแพะชนแกะ และสร้างภาพขึ้นมาเองเป็นส่วนมาก ตัวละครต่างๆ ในราชสำนักสยามที่นางแอนนาได้สร้างขึ้นมาให้โลดแล่นอยู่ในหนังสือของนาง แม้จะมีชื่อของคนที่มีตัวตนอยู่จริง แต่เรื่องราวของบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงนั้นก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่นางแอนนาสร้างขึ้นด้วยความคิดและจินตนาการอันเพ้อฝันของนางเอง โดยปราศจากความจริงแทบทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้จากเรื่องราวของเจ้าจอมทับทิมและนายแดงในหนังและละครเรื่องแอนนากับพระเจ้ากรุงสยามนั่นเอง