ความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่อประเทศกำลังพัฒนา
ปัจจุบันนี้ไม่ใช่แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วที่ตระหนักว่าต้องหันกลับไปทุ่มเทกำลังให้กับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
ปัจจุบันนี้ไม่ใช่แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วที่ตระหนักว่าต้องหันกลับไปทุ่มเทกำลังให้กับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
โดย...พวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์
ปัจจุบันนี้ไม่ใช่แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วที่ตระหนักว่าต้องหันกลับไปทุ่มเทกำลังให้กับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แต่ประเทศกำลังพัฒนาที่เจริญก้าวหน้ากว่าประเทศไทย เช่น สิงคโปร์ บราซิล หรือแม้แต่อินเดีย ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่เพิ่งมาสนใจในปัจจุบัน แต่วางนโยบายรากฐานมาเป็นเวลาพอสมควร จนประเทศเขามีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น นอกจากนั้นองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการพัฒนา เช่น อังค์ถัด (UNCTAD : United Nations Conference on Trade and Development) ก็ให้การสนับสนุน นอกจากนี้อังค์ถัดยังไปไกลถึงขั้นการสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเอง หันมาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่กัน โดยให้มีความร่วมมือระหว่างกันในเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นการเสริมจากที่ประเทศกำลังพัฒนาได้รับจากประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเมื่อประมาณปลายเดือนที่ผ่านมา เลขาธิการอังค์ถัดก็ได้มาเปิดรายงาน (Launch) ของอังค์ถัดในเรื่องนี้ที่กรุงเทพฯ ชื่อว่า Technology and Innovation Report 2012 ; Innovation, Technology and SouthSouth Collaboration
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคงจะไม่กล่าวถึงรายละเอียดในรายงานเสียทีเดียว เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะขององค์การระหว่างประเทศ ได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งโดยสรุปอาจพูดได้ว่า สมัยที่เราๆ ท่านๆ เรียนเศรษฐศาสตร์กันอยู่ ก็จะทราบดีว่าความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็เปรียบเสมือนขบวนการย้าย (Mobilize) ปัจจัยการผลิตรวมถึงการรวบรวมปัจจัยการผลิตด้วย เพื่อที่จะขยับ (Shift) โครงสร้างการผลิต ตลอดจนขยายขอบเขต (Frontier) ของการผลิตออกไป และปัจจัยทั้งหลายที่พูดถึงก็คือ การสะสมทุน การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และความหลากหลายทางเศรษฐกิจ (Economic Diversification) ผู้เขียนขอวงเล็บภาษาอังกฤษไว้มากหน่อย เพราะน่าจะอ่านแล้วเข้าใจได้ดีกว่า ที่ผู้เขียนพยายามแปลภาษาไทยที่เป็นวิชาการออกมาเป็นภาษาไทยธรรมดา เดี๋ยวท่านผู้อ่านจะงงไปกันใหญ่
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศกำลังพัฒนาได้เคยมีการศึกษามาแล้ว พบว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม ต่างก็มีแรงสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องจากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการผลิต และในทางกลับกันยิ่งเศรษฐกิจเจริญเติบโตเท่าใดก็ยิ่งช่วยให้มีการเรียนรู้การวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เป็นขั้นสูงและซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ ความสามารถทางเทคโนโลยียังจำเป็นในแง่ที่ทำให้ความเจริญเติบโตนั้นไม่ใช่เป็นการเติบโตแบบฟองสบู่ แต่เป็นการเติบโตที่มั่นคง
เรื่องของความจำเป็นด้านเทคโนโลยีต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ เห็นได้จากแนวโน้มการนำเข้าเทคโนโลยีของที่ประเทศกำลังพัฒนาที่ค่อนข้างเจริญแล้วว่ามีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนี้ก็ยังเห็นได้จากความต้องการ (อุปสงค์) ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นในประเทศเกิดใหม่ (Emerging Countries) เช่น จีน และอินเดีย เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและอำนาจซื้อของผู้มีรายได้ปานกลางเพิ่มขึ้นตามชาร์ตที่ปรากฏ (ตารางที่ 1)
และถ้าดูการผลิตเอกสารวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของประเทศกำลังพัฒนาก็จะเห็นว่ามีเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะประเทศอย่างบราซิล อินเดีย และจีน(ตารางที่ 2)
คราวนี้ก็เลยเขียนเป็นวิชาการหน่อย เพื่อสนับสนุนสิ่งที่ผู้เขียนได้เขียนไปในฉบับที่แล้วว่า หากไทยจะก้าวกระโดดให้ทันชาวบ้านเขาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันก็ควรหันมาช่วยกันผลักดันทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และขอเพิ่มอีกหนึ่งคำคือ นวัตกรรม
แต่ในส่วนรายงานของอังค์ถัดที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างต้นนั้น ได้ก้าวไปไกลอีก 1 ก้าว คือ สนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาหันมาร่วมมือกันเอง โดยสาระสำคัญของรายงานฉบับปี 2012 สรุปได้ว่า ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะประเทศเกิดใหม่สามารถเป็นคู่ที่สำคัญ (Partner) ในการส่งเสริมความสามารถด้านเทคโนโลยีในประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเองได้ รายงานจึงวิเคราะห์ว่าจะส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนาร่วมมือกันในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบอย่างไร และเน้นว่าการที่ประเทศกำลังพัฒนาจะแลกเปลี่ยนความสามารถด้านเทคโนโลยีกันได้ จะทำอย่างไร ประเด็นสำคัญคืออะไร อะไรจะเป็นผลดีที่สุด