posttoday

"นิติราษฎร์"เสนอแก้รธน.นิรโทษม็อบการเมือง

13 มกราคม 2556

กลุ่มนิติราษฎร์เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มหมวดนิรโทษแกนนำ-ม็อบชุมนุมทางการเมืองทุกกลุ่ม ย้ำเพื่อลดความขัดแย้ง ไม่เกี่ยวกับ "ทักษิณ"

กลุ่มนิติราษฎร์เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มหมวดนิรโทษแกนนำ-ม็อบชุมนุมทางการเมืองทุกกลุ่ม ย้ำเพื่อลดความขัดแย้ง ไม่เกี่ยวกับ "ทักษิณ"

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงยื่นข้อเสนอทางวิชาการเรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง” หลังจากก่อนหน้านี้ได้ออกแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ ฉบับที่ 41 ที่มีเนื้อหาเน้นไปเสนอแนวทางขจัดความขัดแย้ง จากกชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้น อันเป็นผลพวงมาจากการการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การรัฐประหาร19ก.ย.49 ได้เป็นต้นตอของความขัดแย้งก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ อาทิ การชุมนุมของกลุ่มประชาชนหลายกลุ่ม การก่อคดีอาญาที่มีมูลเหตุทางการเมือง

ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทาความขัดแย้งและการสร้างความเป็นธรรมในการใช้กฎหมาย คณะนิติราษฎร์สนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งจะมีการเขียนลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร แต่ระหว่างที่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่เกิดขึ้น นิติราษฎร์ขอเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ 1.เพิ่มหมวดว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง ซึ่งมีเนื้อหาการนิรโทษกรรมแก่บุคคลที่ร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมืองทุกกลุ่ม ทุกสี ตลอดจนการแสดงความคิดเห็น ที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองในช่วงเวลานับตั้งแต่ 19ก.ย.49-9 พ.ค.55 ไม่ว่าจะเป็นแกนนำหรือผู้ชุมนุม

นายวรเจตน์กล่าวว่า ความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรมนั้นต้องเป็นความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นความผิดอันมีโทษปรับสถานเดียวหรือเป็นความผิดอันมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีตามกฎหมายอื่น ซึ่งผู้กระทำความผิดในส่วนนี้ จะพ้นการรับผิดโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม การนิรโทษกรรมในส่วนนี้ต้องไม่ขัดกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งในระดับผู้สั่งการหรือระดับปฏิบัติการ เพราะในส่วนเจ้าหน้าที่นั้น หากมั่นใจว่าปฏิบัติตามกฎหมายแล้วจะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  ม.17 รองรับอยู่อยู่แล้ว

ทั้งนี้หากการกระทำใดที่ไม่เข้าข่าย หรืออยู่ในข้อสงสัยว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายมีมูลเหตุหรือไม่ มีความผิดที่ไม่ใช่ความผิดลหุโทษ หรือมีความผิดลงโทษจำคุกมากกว่า2ปี จะมีการตั้งคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งเพื่อวินิจฉัย โดยระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ และถ้ามีการฟ้องร้องเป็นคดีและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ให้ศาลระงับการดำเนินกระบวนพิจารณา และให้ปล่อยตัวจำเลยไป ขณะในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ให้คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งมีคำสั่งปล่อยตัวผู้ต้องขังไป จนกว่าคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งได้มีคำวินิจฉัย ทั้งนี้หากวินิจฉัยว่าการกระทำไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง จะถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ

นายวรเจตน์กล่าวว่า สาเหตุที่ขอเสนอดังกล่าวให้มีการแก้ไขในรูปแบบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ใช่ร่างพระราชบัญญัตินั้น เพื่อป้องกันปัญหากรณีร่างพระราชบัญญัติขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ป้องกันการถูกเหนี่ยวรั้งจนทำให้เกิดความล่าช้า เพราะสรุปจากกรณีการรวบรวมรายชื่อแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา112 แล้วจะเห็นว่าถูกปฏิเสธเข้ารับการพิจารณา เพราะประธานสภาตีความว่าไม่เข้าข่ายหมวด3และ5ของรัฐธรรมนูญ ทำให้การพิจารณาไปไม่ถึงการหารือของ ส.ส.-ส.ว.แต่เมื่อมีมีการเสนอเป็นร่างเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะช่วยร่นระยะเวลาการพิจารณาเพราะจะมีการเปิดประชุมพิจารณาร่วมกันของ ส.ส.-ส.ว.ได้

แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์กล่าวอีกว่า ขอยืนยันว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างแน่นอน เพราะกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ เกี่ยวข้องในส่วนการลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร แต่ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเรื่องของการขจัดความขัดแย้ง 

ด้านนายปิยะบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งมีจำนวน 5 คน ประกอบไปด้วย1.จากคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ 1 คน 2.จาก ส.ส.2คน ทั้งจากฝ่ายค้านและรัฐบาล 3.จากผู้พิพากษาหรืออดีตผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมรัฐสภา 1คน 4.พนักงานอัยการหรืออดีตพนักงานอัยการซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมรัฐสภา จำนวน 1 คน โดยให้ดำเนินการเลือกกรรมการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับทั้งนี้คณะกรรมการฯ จะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และจะยุติเมื่อไปมีการดำเนินการแล้วเสร็จ โดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งมีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร และไม่อาจเป็นวัตถุแห่งการพิจารณาขององค์กรตุลาการหรือองค์กรอื่นใด

นายปิยะบุตรกล่าวว่า ยืนยันการออกแบบแนวทางการนิรโทษกรรมดังกล่าว คณะนิติราษฏร์เขียนด้วยภาวะวิสัยปกติ ไม่ได้เข้าข้างใดข้างหนึ่ง เพียงแต่ต้องยอมรับว่ากลุ่มคนเสื้อแดงถูกดำเนินคดีมากกว่าเสื้อสีอื่นๆ จึงดูได้ประโยชน์มากกว่ากลุ่มอื่นๆ และแนวทางนิรโทษกรรมเช่นนี้จะสร้างวัฒนธรรมไม่นิรโทษให้แก่บุคคลทั้งหมดเหมือนในประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา ที่ทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองต้องจำยอมนิรโทษกรรมแก่ผู้ใช้อำนาจ